เกษตรกรสระบุรี เลี้ยงสุกรเน้นประหยัดต้นทุน สร้างผลกำไรดี แม้ยามราคาตก

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าทางการเกษตรบางอย่าง มีการปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้เกษตรกรบางรายถึงกับมีสภาพหนี้สินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงส่งผลให้การทำเกษตรกรรมของเกษตรกรไทย ไม่เป็นเรื่องง่ายที่จะให้มีผลกำไรงอกงามมาแต่ละครั้ง เพราะต้องฝ่าและผ่านอุปสรรคมากมายหลายประการกันเลยทีเดียว

ซึ่งสินค้าทางการเกษตรที่ตกต่ำไม่ได้มีแต่เพียงสินค้าที่เป็นผลผลิตที่เป็นพืชเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในเรื่องของการทำการประมง ตลอดไปจนถึงการทำปศุสัตว์เองก็ส่งผลต่อการเลี้ยงไม่น้อย โดยสัตว์บางชนิดเมื่อถึงเวลาที่ต้องจำหน่ายสู่ตลาด กลับมีราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต จึงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงเกิดสภาวะขาดทุนในแต่ละรอบการผลิต ดังนั้น การทำเกษตรกรรมของเกษตรกรไทย จึงควรคำนึงหรือเล็งเรื่องการลดต้นทุน ที่เป็นการสร้างบรรทัดฐานให้การประกอบอาชีพที่ทำอยู่ เพื่อผ่านวิกฤตในช่วงที่สินค้าตกต่ำลง

คุณพิชญ์ชญะพงศ์ ขำอุปถัมภ์ อยู่บ้านเลขที่ 150/1 หมู่ที่ 11 ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมากว่า 5 ปี โดยสุกรที่เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสม 3 สาย ได้แก่ พันธุ์ดูร็อค พันธุ์แลนด์เรซ และพันธุ์ลาร์จไวท์ และที่สำคัญเขายังมีการเลี้ยงให้ประหยัดต้นทุนในหลายๆ ด้าน บวกกับสร้างการตลาดที่หลากหลายช่องทาง จึงทำให้การผลิตสุกรที่ฟาร์มของเขาเมื่อต้องเจอกับปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ก็ยังสามารถประคองธุรกิจให้อยู่ได้ และพอมีผลกำไรในการทำอาชีพนี้ต่อไปได้เป็นอย่างดี

คุณพิชญ์ชญะพงศ์ ขำอุปถัมภ์ และภรรยา

ปรับเปลี่ยนจากทำไร่

มาเลี้ยงปศุสัตว์

คุณพิชญ์ชญะพงศ์ เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีทำการเกษตรที่มุ่งเน้นไปทางด้านปลูกพืชเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น พืชไร่ ต่อมาจึงเริ่มมีความสนใจที่อยากจะทำเกี่ยวกับด้านปศุสัตว์บ้าง เพราะในช่วงนั้นมีญาติที่ได้ทำอยู่เดิมและประสบผลสำเร็จดี จึงทำให้เขาเริ่มทดลองมาเลี้ยงสุกรเพื่อสร้างรายได้จากงานทางด้านนี้

“ช่วงนั้นประมาณปี 2553 ที่ได้มาเริ่มเลี้ยงหมู เพราะพี่น้องทำกัน เราก็รู้สึกว่าน่าจะทำได้และประสบผลสำเร็จ เพราะเขาทำกันแล้วก็มีกำไร ราคาขายก็พออยู่ได้ เมื่อเทียบกับปัจจุบันนี้ แต่ถ้าราคาถึงช่วงตกต่ำ การเลี้ยงให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุดก็ถือว่าจำเป็น เพราะเมื่อราคาต่ำลงมาเราก็สามารถประคองไม่ให้ขาดทุนได้ ดังนั้น พยายามหาวิธีการเลี้ยงให้ประหยดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ในแนวทางนี้ของเรา” คุณพิชญ์ชญะพงศ์ เล่าถึงที่มา

ซึ่งหลักการเลี้ยงแบบประหยัดต้นทุน คุณพิชญ์ชญะพงศ์ บอกว่า ควบคุมทั้งเรื่องของอาหารและลูกพันธุ์ให้เหมาะสม ก็จะช่วยทำให้ประหยัดต้นทุนในการเลี้ยงได้มาก และที่สำคัญเมื่อสินค้าปรับตัวลดลงจึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อฟาร์มของเขามากนัก

การขุนอาหาร

เน้นผลิตลูกพันธุ์เลี้ยงเอง

ทดแทนการซื้อเข้าฟาร์ม

ช่วงแรกที่เริ่มเลี้ยงใหม่ๆ คุณพิชญ์ชญะพงศ์ บอกว่า เลี้ยงสุกรจากจำนวนน้อยก่อน อยู่ที่ 30 ตัว ต่อมาเมื่อได้ผลกำไรและสามารถขยายฐานตลาดได้มากขึ้น จึงค่อยๆ ขยับการเลี้ยงให้มีมากพอต่อความต้องการของตลาด โดยเวลานี้ที่ฟาร์มของเขามีหมูที่เลี้ยงขุนมากกว่า 100 ตัว เลยทีเดียว

คอกที่ใช้เลี้ยงสุกรจะมีขนาดอยู่ที่ 6×4 เมตร ปล่อยเลี้ยงอยู่ที่ 10-15 ตัว ต่อคอก โดยในช่วงแรกที่ได้ลูกสุกรจากการคลอดใหม่ๆ จะให้ลูกสุกรอยู่กับแม่ประมาณ 30 วัน เมื่อเห็นลูกสุกรมีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะให้กินอาหารเลียรางสำหรับที่มีโปรตีน 20 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 1 เดือน โดยให้ลูกสุกรกินจนอิ่มตลอดทั้งวัน และส่วนแม่สุกรจะให้กินอาหารเป็นเวลาที่กำหนดไว้

พื้นที่ภายในคอก

“ช่วงแรกของลูกสุกรเราก็จะดูเรื่องการทำวัคซีนในช่วง 21 วันแรกที่คลอดออกมา ส่วนเรื่องป่วยไข้อื่นๆ เราก็ดูตามอาการที่เกิดขึ้น เป็นอะไรช่วงไหนก็แก้ไปตามอาการ แต่การทำวัคซีนเราจะมีโปรแกรมที่จัดเอาไว้แล้ว ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า สุกรที่เลี้ยงไม่เจ็บป่วยตายง่าย มีสุขภาพที่แข็งแรง ส่วนเรื่องการให้อาหารอื่นๆ เราก็จัดตามโปรแกรมที่เตรียมไว้ ก็จะช่วยทำให้สุกรภายในฟาร์มเจริญเติบโตดีได้คุณภาพ” คุณพิชญ์ชญะพงศ์ บอก

ลูกสุกรที่ทำการอนุบาล

เมื่อแยกลูกสุกรออกจากคอกแม่แล้ว จะทำการอนุบาลต่อไปอีก 45 วัน หลังจากนั้น จะนำมาเลี้ยงภายในคอกที่เตรียมไว้สำหรับเลี้ยงขุน โดยใช้เวลาเลี้ยงให้เจริญเติบโตจนสามารถจำหน่ายได้ ใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งน้ำหนักเฉลี่ยต่อตัวจะอยู่ที่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป

ส่วนในเรื่องที่ฟาร์มของเขาสามารถเลี้ยงให้ผ่านในช่วงที่ราคาตกต่ำไปได้นั้น คุณพิชญ์ชญะพงศ์ บอกว่า เกิดจากการที่เขาเน้นผสมพันธุ์ภายในฟาร์มเอง ทำให้ประหยัดต้นทุนในการซื้อลูกพันธุ์เข้ามาเลี้ยง จึงประหยัดต้นทุนในเรื่องนี้ได้มาก และอีกวิธีหนึ่งคือช่วงที่เห็นราคาตลาดปรับตัวลดลง การเลี้ยงก็จะมีการปรับอาหารลงไปด้วย โดยจะให้กินมันหมักยีสต์เข้ามาช่วย ทำให้การเลี้ยงประหยัดต้นทุนลงไปได้อีก 2 ต่อ เขาจึงมีผลกำไรในการเลี้ยงได้ดี แม้จะเกิดราคาตกต่ำก็ตาม

พื้นที่ภายในฟาร์ม

“ต่อไปนี้เรื่องการประหยัดต้นทุน เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำปศุสัตว์ เพราะยิ่งเราทำต้นทุนให้ต่ำลงมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีผลกำไรในการเลี้ยงค่อนข้างมาก อย่างการผลิตลูกสุกร หรือการสร้างแม่พันธุ์ทดแทนเอง ก็จะช่วยในเรื่องนี้ได้ เพราะไม่จำเป็นต้องไปซื้อลูกสุกรจากที่อื่นเข้ามาภายในฟาร์ม และส่วนเรื่องอาหาร ก็หมั่นศึกษาวิธีการต่างๆ ที่สุกรกินแล้วเจริญเติบโตมีคุณภาพ ก็สามารถทำให้ผลผลิตมีกำไร อย่างน้อยก็ไม่ขาดทุนในรื่องนี้ ก็จะสามารถประคองธุรกิจของฟาร์มเราไปได้อย่างไม่เข้าเนื้อ และเป็นหนี้ในการประกอบอาชีพนี้” คุณพิชญ์ชญะพงศ์ บอก

ทำตลาดหลากหลายช่องทาง

ช่วยให้จำหน่ายได้กำไรเพิ่มขึ้น

ในเรื่องของการทำการตลาดจำหน่ายสุกรนั้น คุณพิชญ์ชญะพงศ์ บอกว่า ไม่ได้เป็นที่หนักใจสำหรับเขามากนัก เพราะมีเพื่อนๆ ที่เป็นพ่อค้าเขียงหมูอยู่ตลอดไปจนถึงลูกค้าอื่นๆ ที่เขาหาเตรียมไว้ จึงทำให้สามารถทำการตลาดได้หลากหลาย และหมูที่เลี้ยงจึงไม่เกิดสภาวะล้นฟาร์ม โดยแต่ละช่วงจะมีการคำนวณเรื่องการเลี้ยงให้มีความเหมาะสม จึงทำให้สุกรระบายออกได้ตลอดเวลาตั้งแต่เลี้ยงมาจนถึงทุกวันนี้

“ราคาก็จะมีขึ้นลงสลับกันไป อย่างช่วงนี้ที่แย่สุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 46 บาท ส่วนราคาที่เคยขายได้มากสุดก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 79 บาท ซึ่งสมัยก่อนจะไม่เคยลงมาต่ำถึง 46 บาท ต่อกิโลกรัม จะอยู่ที่ช่วง 65 บาท ต่อกิโลกรัมเท่านั้น ปีนี้ถือว่าแย่มาก แต่อย่างที่บอกมาทั้งหมด ผมพยายามควบคุมในเรื่องของต้นทุนให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือลูกพันธุ์ ก็จะทำให้การเลี้ยงแม้จะเจอปัญหาในเรื่องของราคาที่ตกต่ำ ฟาร์มก็จะพยุงตัวอยู่ได้ถ้าควบคุมในเรื่องของต้นทุนได้” คุณพิชญ์ชญะพงศ์ บอกถึงการตลาด

ให้กินอาหารตามโปรแกรมที่จัดไว้

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะทำอาชีพทางด้านปศุสัตว์ให้ประสบผลสำเร็จ คุณพิชญ์ชญะพงศ์ ให้คำแนะนำว่า สิ่งแรกที่ต้องดูคือเรื่องสายพันธุ์และสิ่งที่ตามมาคือเรื่องของการตลาด เพราะเมื่อเห็นคนอื่นๆ เลี้ยงประสบผลสำเร็จแล้ว มีความสนใจที่อยากจะเลี้ยงบ้าง แต่ถ้ายังไม่มีเรื่องของการตลาดมารองรับอย่างเช่นคนอื่นๆ ต่อให้สายพันธุ์ที่นำมาเลี้ยงดีสักเพียงไร การเลี้ยงก็ถือว่าสร้างหนี้สินได้ ดังนั้น เลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับการตลาด และสำรองการตลาดให้มีความหลากหลาย ก็จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณพิชญ์ชญะพงศ์ ขำอุปถัมภ์ อยู่บ้านเลขที่ 150/1 หมู่ที่ 11 ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี โทรศัพท์ (081) 101-0226