ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อรพรรณ พงษ์วิบูลย์ หรือ คุณนัท อยู่บ้านเลขที่ 135 หมู่ที่ 3 ตำบลซับสนุ่น อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
คุณนัท สาวมวกเหล็ก วัย 27 ปี เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตสมัยเด็กว่า เกิดมาในครอบครัวเกษตรกรเลี้ยงโคนม แต่ตอนนั้นไม่ได้สนใจอาชีพของครอบครัวเท่าไร พ่อแม่ส่งให้เรียนก็เรียนตามปกติ ไม่ได้รู้สึกอยากที่จะมาช่วยงานตรงนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปตนเองได้เข้าเรียนระดับปริญญาตรี ก็มีเรื่องราวเข้ามาในชีวิต ติดเพื่อนเกเร ทำให้พ่อแม่เสียใจ เมื่อคิดได้จึงอยากรีบเรียนให้จบ แล้วกลับมาช่วยพ่อกับแม่พัฒนาธุรกิจของครอบครัวให้ดี เพราะตอนที่รุ่นพ่อแม่ทำ ต้องเป็นหนี้เป็นสิน น้ำนมที่ขายราคาเท่าเดิม แต่ค่าอาหารกลับมีท่าทีจะสูงขึ้นๆ ทำมาจึงไม่เหลือ หลังจากนั้น จึงใช้ความคิดและประจวบเหมาะกับความที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างที่จะหัวไวเรื่องเทคโนโลยี จึงเริ่มคิดหาข้อมูล สูตรลดต้นทุนเพื่อนำมาพัฒนาครอบครัวชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
คุณนัท เล่าว่า ที่บ้านทำฟาร์มเลี้ยงโคนมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 อย่างที่บอกว่าตอนเด็กไม่ได้สนใจงานด้านนี้เลย คิดเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ไม่อยากทำงานหนัก ขลุกอยู่กับขี้วัว แต่เมื่อเวลาผ่านมาได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง และโตขึ้นมีความคิดมากขึ้น พ่อแม่แก่ลงไปทุกวันถ้าไม่ทำใครจะทำ จึงกลับใจ กลับมาอยู่บ้านช่วยพ่อแม่พัฒนาอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวคือการเลี้ยงโคนมให้ดีขึ้น ถึงแม้จะคลุกคลีมาตั้งแต่เล็กๆ แต่ไม่สนใจ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องสู้ สู้เพื่อตัวเอง สู้เพื่อครอบครัว
“เริ่มแรกที่จะเข้าสู่อาชีพเลี้ยงโคนมอย่างจริงจัง ต้องมีการเข้าอบรมก่อน ช่วงนั้นแถวบ้านมีจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมที่ไหน เราไปเข้าร่วมหมด มีการนำเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จมาให้ความรู้ และจากการที่ได้เข้าร่วมฟังอบรมจากหลายๆ ที่ จึงคิดอยากที่จะมาปรับปรุงพัฒนาที่บ้าน และอย่างแรกที่คิดว่าจะพัฒนาคือการลดต้นทุนค่าอาหาร ค่าอาหารถ้าซื้อเองคือแพงมาก ราคาขึ้นบ่อย ตรงนี้คือปัญหาใหญ่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม หากเราลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ ที่บ้านจะมีเงินเหลือเก็บ และไม่ต้องเป็นหนี้” คุณนัท บอก
สานต่ออาชีพเลี้ยงโคนม เริ่มต้นจากการเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
คุณนัทเริ่มลงมือช่วยครอบครัวอย่างเต็มตัวเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งจะมาเลี้ยงวัวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องเริ่มต้นใหม่หมดทุกอย่าง เลี้ยงโคนม 35 ตัว ไม่เพียงแค่เลี้ยงให้อาหารแล้วจะสำเร็จ ทุกอย่างคือต้นทุน ต้องคำนวณให้ดี เพราะฐานเดิมที่พ่อแม่ทำไว้คือติดหนี้ การติดหนี้เริ่มจากไม่มีการวางแผนมาก่อน ไม่มีการจดบัญชีรายรับรายจ่าย เมื่อไม่ยอมจดจะไม่รู้เลยว่าตรงไหนที่ไม่จำเป็นควรลดหรือเพิ่ม และอีกสาเหตุที่สำคัญคือไม่ยอมปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์ไว้ใช้เอง ซื้อจากข้างนอกทุกอย่าง ซึ่งตรงนี้ที่ทำให้ทำไปแล้วเงินไม่เหลือ เมื่อเริ่มเข้ามาดูแลจึงมองเห็นข้อบกพร่องจากพ่อกับแม่ที่ทำมาก่อน จึงเริ่มเปลี่ยนระบบใหม่ ช่วงแรกๆ เหนื่อยมากเพราะต้องศึกษาหาข้อมูลอาศัยความเป็นคนรุ่นใหม่พอมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีบ้าง ใช้ให้เป็นประโยชน์ค้นหาข้อมูล ดูคลิปวิดีโอต่างๆ จากยูทูป ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยง วิธีการลดต้นทุนค่าอาหาร การผลิตอาหารไว้ใช้เอง รวมถึงการจดบัญชีรายรับรายจ่าย สิ่งเหล่านี้ถือว่าได้ดูประสบการณ์จากรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่มีปัญหามาก่อน
เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ผลิตอาหารเอง ทุนมา เงินเก็บเกิด
การเลี้ยงวัวที่ฟาร์มของคุณนัทจะเลี้ยงปล่อยในพื้นที่กว้าง สิ่งแวดล้อมการเลี้ยงดูมีผล ปล่อยให้เดินหาหญ้ากินตามอิสระ เพื่อไม่ให้เครียดจนเกินไป เมื่อไม่เครียดเขาจะอารมณ์ดี ค่าของน้ำนมก็จะดีตาม
การเลี้ยงโคนมถ้าจะให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่ค่าอาหารมีราคาค่อนข้างสูง สิ่งที่ทำแล้วเห็นผลดีที่สุดคือการพึ่งตนเอง การปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์ไว้ใช้เอง หรือการปรับเปลี่ยนวิธีการให้อาหาร อย่างเช่น เมื่อก่อนเราจะให้วัวกินฟาง ฟางก้อนละ 35 บาท วัวไม่ได้กินแค่ก้อนเดียว ต้นทุนสูงเราก็เปลี่ยนจากให้ฟางมาปลูกหญ้าเนเปียร์เอง เพื่อลดต้นทุน ถือว่าทุ่นค่าอาหารได้มาก
วิธีให้อาหารควรคำนวณสูตรก่อนที่จะให้ คำนวณว่าวันหนึ่งต้องให้ปริมาณเท่าไร ผสมอะไรบ้าง เพียงพอต่อความต้องการหรือเปล่า ที่นี่เลี้ยงวัวระบบอินทรีย์ ดังนั้น อาหารที่เราใช้ต้องเป็นอินทรีย์ ข้าวโพด มันสำปะหลัง เพราะเราปลูกเองสามารถมั่นใจได้ว่าไม่มีการใช้สารเคมีแน่นอน หากไปรับจากที่อื่นมาเราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาปลูกอย่างไร ใช้สารเคมีหรือเปล่า
สูตรอาหารที่ทำไว้ใช้เลี้ยงลดต้นทุน ทำง่ายๆ มีดังนี้
- มันสำปะหลังหมัก นำมันสำปะหลังที่ปลูกเองมาใส่เครื่องบดให้ชิ้นเล็ก ใส่ถุงปุ๋ย 40 กิโลกรัม แล้วมัดปากถุงทิ้งไว้ 21 วัน เป็นการลด “ไซยาไนด์” แล้วนำมาใช้ได้
- ข้าวโพดหมัก วิธีการทำแบบมันสำปะหลัง นำมาใส่เครื่องบด แล้วใส่ถุงปุ๋ย 40 กิโลกรัม มัดปากถุงทิ้งไว้ 21 วัน
- รำ สั่งจากจังหวัดสุรินทร์ เป็นแหล่งที่เชื่อได้ สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้
- กากถั่วเหลือง
การให้อาหาร ให้เช้า-เย็น วัว 30 กว่าตัว อาหารที่ใช้คิดแล้วต้องใช้รำ 40 กิโลกรัม ข้าวโพดหมัก 8 ถุง ถุงละ 30 กิโลกรัม มันสำปะหลังหมัก 100 กิโลกรัม กากถั่วเหลือง 15 กิโลกรัม มาผสมกัน
การดูแลรักษาโรคเบื้องต้น ที่บริเวณแถวบ้านโรคปากเท้าเปื่อยระบาดมาก แต่ฟาร์มของนัทไม่เป็น เพราะจะใช้ปูนขาวกับเกลือหว่านไปที่คอกตามคำแนะนำของปศุสัตว์ทำแล้วได้ผล เห็บก็ไม่มีเพราะเลี้ยงไก่เพื่อช่วยในการจิกเห็บตามคอกวัวด้วย
วัว 16 ตัว ให้น้ำนม 280 กิโลกรัม ต่อวัน อยู่ได้แบบสบาย
โดยปกติวัวจะเริ่มให้นมได้ เมื่ออายุ 2 ปีเศษขึ้นไป ตอนนี้ที่ฟาร์มมีวัวพร้อมรีด 16 ตัว ที่เหลือเป็นลูกวัวเพิ่งคลอด และวัวที่ใกล้คลอดตั้งท้อง 5-6 เดือน เราก็จะหยุดรีด รอให้เขาคลอดแล้วค่อยกลับมารีดใหม่อีกครั้ง
เฉลี่ยแล้ววัว 1 ตัว สามารถให้น้ำนมได้ 16 กิโลกรัม ต่อวัน แต่ถ้าเป็นวัวที่เพิ่งคลอดจะได้เฉลี่ยวันละ 20 กิโลกรัม
ใน 1 วัน ที่ฟาร์มจะรีดนมได้วันละประมาณ 280 กิโลกรัม ต่อวัว 16 ตัว การให้น้ำนมของวัวแต่ละตัวไม่เท่ากัน ปริมาณการให้น้ำนมจะลดลงตามอายุของวัว
เลี้ยงโคนมทุนต้องหนา แต่คุ้มในระยะยาว
“ต้องบอกก่อนว่านัทไม่ต้องเริ่มลงทุนใหม่ ถือเป็นกำไรสำหรับนัท แต่ถ้าหากเกษตรกรมือใหม่อยากจะลงทุนถือว่าต้องมีเงินทุนหนา เพราะการที่จะซื้อแม่วัวที่พร้อมรีดนั้นในปัจจุบันราคาสูงถึงตัวละ 50,000 บาท แต่ถามว่าหากคิดและตัดสินใจดีแล้ว ศึกษาการตลาดแหล่งรับซื้อมาเรียบร้อยแล้ว ถือว่าคุ้มเพราะวัว 1 ตัว สามารถอยู่ได้นานถึง 10 ปี และในระหว่างนั้นคือต้องมีการผสมพันธุ์ตกลูกรุ่นต่อรุ่นอยู่แล้ว หากลูกออกมาเป็นตัวผู้ก็ขายออก หรือจะทำวัวขุนก็ได้
เมื่อนัทมีต้นทุนอยู่แล้วค่าแม่วัวนัทไม่ต้องเสีย ต้นทุนค่าอาหารก็น้อยมากเพราะเราผลิตเอง จะมีแต่ค่ารำ และค่ากากถั่วเหลืองเพียงเล็กน้อย
ราคาขายน้ำนมกิโลกรัมละ 17 บาท หากน้ำนมเราดีตรงกับความต้องการของแหล่งรับซื้อเขาจะให้เงินเพิ่มกิโลกรัมละ 50 สตางค์ วันหนึ่งมีรายได้ตกวันละ 5,000 บาท ตกเดือนละ 150,000 บาท หักลบต้นทุนการเลี้ยงค่าอาหาร 50,000 บาท ที่เหลือเก็บออม และใช้หนี้
เกษตรกรท่านที่กำลังเลี้ยงโคนมอาจจะคิดว่าเลี้ยงวัวแค่นี้ สามารถสร้างรายได้ขนาดนี้เชียวหรือ เขาทำไม่ได้ขนาดนี้เลย ก็อย่างที่นัทเคยบอกไปว่าให้เกษตรกรหันมาพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุด ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยง หันมาปลูกวัตถุดิบเอง ผสมอาหารเอง และต้องอย่าลืมจดบันทึกรายรับรายจ่าย ที่ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าควรลด หรือเพิ่มตรงไหน”
แหล่งรับซื้อ
ตอนนี้คุณนัทส่งน้ำนมที่บริษัทเอกชนที่อำเภอมวกเหล็ก คุณนัทบอกว่าก่อนหน้านี้เมื่อตอนที่ยังไม่ได้ทำน้ำนมมาตรฐานอินทรีย์จะขายได้กิโลกรัมละ 17 บาท มีเพิ่มบ้างตามคุณภาพของน้ำนม แต่ในขณะนี้เราได้ใบรับรองมาตรฐานคุณภาพน้ำนมอินทรีย์ราคาจะดีขึ้นจากเดิม 17 บาท เป็นกิโลกรัม 25 บาท ถือเป็นรายได้ที่เหมาะสมกับการที่ต้องทำมาตรฐานที่ทางกรมปศุสัตว์กำหนดมา การทำมาตรฐานนี้จะยากแค่ตอนแรกเท่านั้นเพราะเราต้องเริ่มต้นใหม่หมด แต่เมื่อทำจนอยู่ตัวแล้วหลังจากนั้นคือกำไรล้วนๆ
เลี้ยงโคนมพัฒนาสู่มาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์
คุณนัท บอกว่า การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ยากเสมอ ตอนนัทมาทำครั้งแรกคือเริ่มใหม่หมด จากที่ไม่เคยคิดที่จะทำมาตรฐานน้ำนมอินทรีย์ เพราะคือสิ่งที่ยากและไกลตัว แต่เมื่อได้เริ่มปรับเปลี่ยนจึงคิดว่าไม่น่ายากเกินความสามารถเรา จึงตัดสินใจที่จะลองทำดู
หลักการทั่วไปของการผลิตโคนมและน้ำนมอินทรีย์
- ต้องคำนึงถึงพื้นที่ ต้องได้รับการรับรองเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ โดยสามารถตรวจสอบได้ว่าไม่ได้ใช้สารเคมีในพื้นที่มาแล้วอย่างน้อย 1 ปี และเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่ใช้ต้องไม่คลุกยา
- การปรับเปลี่ยนฝูงโค หากต้องการติดฉลากเป็นน้ำนมอินทรีย์ ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนโคนมทั้งฝูง แม่โคจะต้องเลี้ยงในระบบอินทรีย์มาไม่น้อยกว่า 9 เดือน หรือนำเข้าแม่โคมาเลี้ยงในพื้นที่ก่อนรีดนม 1 ปี
- แหล่งที่มาของสัตว์ ต้องเกิดในฟาร์มหรือมาจากแม่พันธุ์ที่จัดการตามระบบปศุสัตว์อินทรีย์ขยายพันธุ์ที่จัดการตามระบบอินทรีย์ ขยายพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติ ห้ามใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ และการย้ายฝากตัวอ่อน แต่อนุญาตใช้การผสมเทียม
- การจัดการฟาร์มทั่วไป ดูแลการเลี้ยงสัตว์อย่างเอาใจใส่ มีอาหารอินทรีย์คุณภาพปริมาณที่เพียงพอต่อสัตว์ตลอดปี จำนวนโคนมที่เลี้ยงต้องสมดุลกับแหล่งพืชอาหารสัตว์ โดยพิจารณาความหนาแน่นของโคนมกับพื้นที่ภายในฟาร์ม ที่ไม่มีผลกระทบต่อดินและแหล่งน้ำผลิตอาหารสัตว์ในฟาร์มให้ได้มากที่สุด ต้องมีแปลงหญ้าให้สัตว์ทุกตัวได้ออกไปแทะเล็มเมื่ออากาศอำนวย ห้ามกักขังเดี่ยว ยกเว้นลูกโคนมคลอดใหม่เมื่อแข็งแรงแล้วต้องเลี้ยงปล่อย และห้ามเลี้ยงโคนมโดยวิธียืนโรงตลอดเวลา
- อาหารสัตว์ อาหารโคนมทุกชนิดต้องมาจากการเกษตรอินทรีย์ หรือพืช สัตว์ แร่ธาตุธรรมชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการเคมี และไม่เป็นผลผลิตจากการดัดแปลงพันธุกรรม GMOs พิจารณาใช้อาหารหยาบเป็นอาหารหลักไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการอาหาร (อาจต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ได้ในกรณีระยะให้นมระยะต้นและต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยตรวจรับรอง) ห้ามใช้สารสังเคราะห์ในอาหารสัตว์
- การจัดการที่อยู่อาศัย ต้องมีโรงเรือนที่กันแดด กันฝนสาด มีแสงสว่างและระบายอากาศตามธรรมชาติเพื่อให้สัตว์อยู่สบาย มีพื้นที่เพียงพอ ไม่หนาแน่นให้โคนมได้เคลื่อนไหวโดยพฤติกรรมตามธรรมชาติ และมีความสะดวกในการกินอาหารและน้ำ คอกสะอาด มูลสัตว์ไม่หมักหมม
- การดูแลสุขภาพสัตว์ ให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง ด้วยการจัดสวัสดิภาพสัตว์ความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์อย่างเหมาะสม ได้แก่ คัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมทนทานต่อโรคไข้เห็บ เต้านมอักเสบ ให้อาหารที่มีคุณภาพตามความต้องการ ให้ผลผลิตสัตว์อย่างเพียงพอมีพื้นที่ให้สัตว์ได้ออกไปแทะเล็มแปลงหญ้า จัดการพยาธิภายในและภายนอก จัดระบบการปล่อยแทะเล็มแปลงหญ้าแบบหมุนเวียน หากจำเป็นต้องป้องกันและรักษาให้ใช้สมุนไพร ยาแผนโบราณก่อน ในกรณีที่จำเป็นต้องรักษาทันทีเพื่อป้องกันการระบาดหรือช่วยชีวิตสัตว์อนุญาตให้ใช้ยาแผนปัจจุบันได้ โดยอยู่ในดุลพินิจของสัตวแพทย์และมีระยะหยุดยาเป็น 2 เท่าของปกติ สัตว์ได้รับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันจะต้องมีระบบคัดแยกจากฝูงอินทรีย์
อาชีพเลี้ยงโคนมให้ประโยชน์มากกว่าแค่เป็นเกษตรกร
ถ้าถามว่าอาชีพเลี้ยงโคนมให้อะไรกับนัทบ้าง
“1. คือให้ชีวิตใหม่กับเรา สอนให้เราเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ 2. สอนให้เราเป็นนักคิดนักวางแผน ทุกอย่างคือต้นทุน เราเริ่มต้นจากพ่อแม่เป็นหนี้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจทำอะไรต้องรอบคอบ 3. ความอดทน เพราะการทำอาชีพเกษตรไม่ใช่ว่าทำวันนี้แล้วเห็นผลพรุ่งนี้ ต้องใช้ความอดทนและขยันเป็นอย่างมาก” คุณนัท บอก
คุณนัทฝากถึงเกษตรกรมือใหม่กำลังสู้อยู่ให้สู้ต่อไป พร้อมทั้งให้รู้จักคิดรู้จักวางแผนก่อนลงมือทำแล้วสิ่งนั้นจะสำเร็จไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจ
หากอยากปรึกษาหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาสู่มาตรฐานอินทรีย์สามารถมาพูดคุยกันได้ ที่เบอร์ (092) 821-3036