ไร่เดียว ก็เลี้ยงควายได้

ถ้าพูดถึง “กระบือ” ทุกคนก็คงรู้จักเพราะมีเอกลักษณ์ เขาสองข้างที่โค้งสวย กระบือเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง ใช้แม้กระทั่งในการทำสงครามของชาวบ้าน “บางระจัน” ปัจจุบันกระบือไม่ค่อยมีบทบาทในสังคมมากนักโดยเฉพาะการเกษตร เป็นเพราะคนส่วนใหญ่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำเกษตรมากขึ้น มีการประยุกต์สิ่งเก่าๆ ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้เกษตรกรสะดวก สบาย มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็ยังมีเกษตรกรบางกลุ่มที่มีการอนุรักษ์กระบือคงไว้อยู่ เลี้ยงไว้เพื่อขยายพันธุ์เป็นรายได้อีกทางหนึ่ง อาจจะไม่ได้ใช้งานในเรื่องของการเกษตรแบบเดิมก็ตาม

คุณไชยวัฒน์ ภิญโญเทพประทาน หัวหน้างานวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยแห่งนี้ก่อตั้ง พ.ศ. 2510 ที่นี่เป็นแหล่งผลิตสัตว์พันธุ์ดี และสนับสนุนเกษตรกรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้มีการเลี้ยงสัตว์อยู่ 3 ประเภท คือ กระบือ ไก่ และสุกร โดยปัจจุบันมีหน้าที่ผลิตกระบือเป็นส่วนใหญ่ มี สุกร 30 แม่, กระบือ 120 แม่, ไก่โรดไทย, ไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำ, และไก่ลูกผสม ปีหนึ่งก็ผลิตออกมาประมาณ 25,000 ตัว (รวมสัตว์ทุกชนิด) ศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ จังหวัดสุรินทร์ มีราคาการจำหน่ายสัตว์ต่อตัวก็จะขึ้นอยู่กับเพศและน้ำหนักตัวของสัตว์

คุณไชยวัฒน์ ภิญโญเทพประทาน หัวหน้างานวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์

กระบือพื้นเมืองราคาจำหน่ายต่อตัว ตามเพศและน้ำหนัก

  1. เพศผู้

– หย่านมถึง 8 ปี ราคากิโลกรัมละ 120 บาท

– มากกว่า 8 ปี ราคากิโลกรัมละ 110 บาท

  1. เพศเมีย

– หย่านมถึง 10 ปี ราคากิโลกรัมละ 120 บาท

– มากกว่า 10-11 ปี ราคากิโลกรัมละ 110 บาท

– มากกว่า 11-12 ปี ราคากิโลกรัมละ 90 บาท

– มากกว่า 12 ปี ราคากิโลกรัมละ 90 บาท

 

สุกรราคาจำหน่ายต่อตัวทั้งเพศผู้และเพศเมียหรือตามน้ำหนักตัว

  1. สุกรที่มีน้ำหนักตัวไม่เกิน 12 กิโลกรัม ราคาตัวละ 1,300 บาท
  2. น้ำหนักที่เกินกว่า 12 กิโลกรัม คิดราคาเพิ่มกิโลกรัมละ 50 บาท
  3. สุกรที่ผ่านการทดสอบพันธุ์ ราคากิโลกรัมละ 60 บาท

ไก่และลูกไก่ ราคาในการจำหน่าย

  1. ไก่พื้นเมืองกรมปศุสัตว์ อายุไม่เกิน 1 สัปดาห์ ราคาตัวละ 15 บาท
  2. ลูกไก่วันแรก ราคาตัวละ 12 บาท

คุณยุทธนา สรึมงาม นักวิชาการสัตวบาลปฏิบัติการ ประจำอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระบือปลัก” เป็นกระบือพื้นเมืองของประเทศไทย ซึ่งปรับตัวและสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ข้อดีของกระบือปลักสามารถใช้ประโยชน์จากอาหารคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว ส่วนเรื่องของการพัฒนากระบือให้เหมาะสมกับเกษตรกรนั้นคือจะปรับปรุงพันธุ์ที่ดีโดยมีพ่อพันธุ์ปลักที่มีลักษณะใหญ่โต น้ำหนัก 700-800 กิโลกรัมขึ้นไป แต่ในปัจจุบันเอกชนบางรายก็ปรับปรุงพันธุ์ให้มีน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัมขึ้นไปแล้ว

สำหรับแม่พันธุ์ที่ดีก็ต้องดูพฤติกรรมว่าเขาเชื่องไหม เขาเลี้ยงลูกดีไหม หากดุร้ายก็ไม่ควรนำมาทำพันธุ์ น้ำหนักที่เหมาะสมประมาณ 600 กิโลกรัมขึ้นไปก็จะดี ศูนย์วิจัยของสุรินทร์จะมีโปรแกรมทำวัคซีนให้เป็นประจำอยู่แล้ว หลักๆ จะเป็นวัคซีนโรคเท้าปากเปื่อย, วัคซีนคอบวม, มีโปรแกรมตรวจสอบโรค ทั้งโรคติดต่อและวัณโรค ปีละ 2-3 ครั้ง ต่อปี บริเวณข้างๆ คอกกระบือก็จะมีปลักเทียมหรือเรียกว่าสปาควายก็ได้ ธรรมชาติของกระบือนั้นมีต่อมเหงื่อค่อนข้างน้อย ดังนั้น กระบือจะต้องลงไปแช่ปลักเทียมเพื่อคลายร้อน ซึ่งหากไม่มีปลักเทียม กระบือก็ต้องไปแช่โคลนอยู่หรือตรงที่มีน้ำขัง ทำให้ตรงนั้นเป็นแอ่งก็ไม่น่าดู

ข้อดีของการทำปลักเทียม คือเวลากระบือมาแช่ปลักเทียมก็จะมาขับถ่ายของเสียที่ปลักจะได้เป็นปุ๋ยน้ำขึ้นมา ทางศูนย์จะระบายของเสียนี้ออกไปทางแปลงหญ้าด้านหลังเป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนกันให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในส่วนต่างๆ ของบริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือนั้นก็จะมีเป็นแปลงหญ้าแทะเล็มหมุนเวียน ทำไว้ 2 ล็อก ล็อกละ 1 ไร่ แปลงหนึ่งจะปล่อยให้กระบือเล็มประมาณ 20 วัน แล้วค่อยเปลี่ยนไปอีกแปลงหนึ่ง

คุณพิเศษ แสดกระโทก นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงกระบือแบบประณีต คือการเลี้ยงแบบมีข้อจำกัดเรื่องของสถานที่ จากเมื่อก่อนเคยเลี้ยงแบบทั่วไปปล่อยกินตามทุ่งหญ้าใหญ่ๆ เดินไปเรื่อยๆ แต่แบบประณีต ผู้เลี้ยงมีหน้าที่เฝ้าไม่ให้ไปไกลเกินที่เราจะมองเห็นแค่นั้น บางเวลาที่ปล่อยหากินตามที่สาธารณะแล้วไปรบกวนพื้นที่ของคนอื่น เช่น เกษตรกรที่ปลูกพืช ปลูกผัก โดยช่วงหลังมาได้มีการเลี้ยงแบบประณีตใช้พื้นที่จำกัดโดยเลี้ยงสัตว์ได้เพียงพอ กรณีตอนเช้าก็นำกระบือไปปล่อยที่แปลงหญ้า จะไม่ปล่อยซ้ำซากหลายครั้ง พอได้เวลาก็นำมาเข้าคอกแล้วค่อยตัดหญ้ามาเสริมให้กินอีกที หากปล่อยซ้ำซากจะทำให้หญ้าตายได้ ต้องปล่อยให้หญ้าได้มีการเติบโตขึ้นบ้าง เดี๋ยวนี้สามารถเลี้ยงกระบือ 1 ไร่ ต่อ 1 ตัวได้ เพราะเลี้ยงแบบประณีต

ปลักกระบือ

เกษตรกรทั่วๆ ไปก็สามารถที่จะทำได้เหมือนกันเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างหนึ่ง พื้นที่คอกจะอยู่ประมาณ 4 ตารางเมตร ต่อตัว ไม่ใช่การขังไว้ตลอด ต้องมีเวลาปล่อยลงแปลงหญ้าหรือลงปลักเทียมบ้าง ที่ศูนย์จะปลูกหญ้าเนเปียร์ หญ้าลูฟี หญ้ากินนี ให้กระบือกิน หญ้าเนเปียร์เหมาะที่จะตัดสด ไม่ควรที่จะให้กระบือลงไปกินที่แปลงหญ้าเนเปียร์เพราะว่ากอหญ้าจะตั้งต้นให้กระบือไปเหยียบไม่ได้ หากเป็นหญ้าลูฟีและหญ้ากินนีสามารถปล่อยลงแปลงได้เลย

ปัจจุบันหากมีเกษตรกรหรือใครที่สนใจในการเลี้ยงแบบประณีต ลองหันมาปลูกหญ้าเนเปียร์กันดูก่อนได้ เพราะปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่ได้ปลูกหญ้าเอง ช่วงหลังมีเกษตรกรส่วนใหญ่หาพันธุ์ไปปลูกมากขึ้น เวลาตัดหญ้าเนเปียร์ไปให้สัตว์กิน หญ้าเนเปียร์ที่ถูกตัดก็จะงอกขึ้นมาใหม่เห็นผลดีพอสมควร ไม่ได้ให้กระบือหรือวัวกินแต่หญ้าแห้งอย่างเดียว มีการให้กินหญ้าสดด้วย

หากมีใครสนใจสอบถามข้อมูลหรือติดต่อดูงานการเลี้ยงกระบือแบบประณีตหรือการปลูกหญ้าเนเปียร์ ได้ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือ ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เบอร์โทรศัพท์ 044-546-109

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561