“ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก” ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30

“ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ 1” เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองยอดนิยมที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะมีลักษณะเด่นตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งในด้านเนื้อและลักษณะภายนอก ทำให้“ ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ 1 เป็นที่นิยมเลี้ยงของเกษตรกรในประเทศแล้ว ยังแพร่กระจายพันธุ์ไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในรูปของลูกพันธุ์และไก่ชำแหละ เช่น พม่า เขมร ฯลฯ อีกด้วย

ปัจจุบัน “ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก” เป็นผลงานการต่อยอดการวิจัยที่เกิดขึ้นของกรมปศุสัตว์และสำนักงานพัฒนาการเกษตรวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ ให้มีประสิทธิภาพมากในด้านผลผลิต “ไข่” จึงเป็นที่มาของการร่วมมือดังกล่าวเพื่อสร้างไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดกให้เกิดขึ้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์จึงได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาพันธุ์ไก่พื้นเมืองแท้ 4 พันธุ์ ได้แก่ ไก่แดงสุราษฎร์ ไก่ชีท่าพระ ไก่เหลืองหางขาวกบินทร์บุรี ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดไก่พื้นเมืองทั้ง 4 สายพันธุ์ และขยายผลไปยังเกษตรกรให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ตรงตามความต้องการของตลาด และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทย ซึ่งสอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงานชีวภาพในระดับครัวเรือนและชุมชน

ในช่วงปี 2559-2564 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางแผนพัฒนาพันธุ์ “ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่” เป็น “ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก” ซึ่งเป็นการสร้างสายพันธุ์ใหม่ที่ให้มีผลผลิตไข่ที่เพิ่มขึ้น 30% เนื่องจากไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ เป็นไก่พื้นเมืองไทยพันธุ์แท้ ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและโรคระบาด และสามารถกินอาหารที่เกษตรกรหาได้ในท้องถิ่น มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี และให้ไข่ดกกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ ให้เนื้อที่มีคุณภาพที่ดีกว่าไก่เนื้อทางการค้า รสชาติอร่อย เป็นพันธุ์ที่ให้ไข่ดกที่สุดจึงถูกคัดเพื่อดำเนินโครงการนี้

กรมปศุสัตว์ วางเป้าหมายผลิตลูกไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ 900,000 ตัว/ปี แบ่งเป็นพันธุ์แท้ 400,000 ตัว ลูกผสมฯ 500,000 ตัว ฟาร์มเครือข่ายของกรมปศุสัตว์ 1,500,000 ตัว พันธุ์แท้ 620,000 ตัว ลูกผสมฯ 800,000 ตัว

โครงการการพัฒนาพันธุ์แท้ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดกนั้นใช้งบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) จำนวน 6.4 ล้านบาท โดยได้กำหนดเป้าหมายสร้างฝูงพันธุ์ไก่พื้นเมืองประดู่หางดำเชียงใหม่ที่ให้ไข่ดกเพิ่มขึ้นอีก 30% ในเวลา 5 ปี เลี้ยงได้ในรูปแบบฟาร์ม หรือตามการจัดการโดยเกษตรกรรายย่อย (ระบบหมู่บ้าน) โดยเป้าหมายในระบบฟาร์ม เพิ่มจาก 147 ฟอง/ตัว/ปี เป็น 191 ฟอง/ตัว/ปี ระบบหมู่บ้าน เพิ่มจาก 90 ฟอง/ตัว/ปี เป็น 117 ฟอง/ตัว/ปี

การสนับสนุนการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก ครั้งนี้ สอดคล้องกับแนวทางนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการลดต้นทุนให้เกษตรกร โดยการปรับใช้กับเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่จะเป็นทางเลือกใหม่ให้เกษตรกรรายย่อย รายกลาง นำไปเลี้ยงเพื่อบริโภคในชุมชน หรือจำหน่ายเป็นไข่ไก่พรีเมี่ยม รวมทั้งโครงการพระราชดำริในพื้นที่ห่างไกลที่มีปัญหาการขนส่งอาหาร

ข้อดีประการต่อมาคือ ลดการนำเข้าพันธุ์ไก่จากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีในครัวเรือนของเกษตรกร เพิ่มการใช้อาหารที่เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นไม่ต้องจัดซื้อ เป็นพื้นฐานในการสร้างไข่ไก่ธรรมชาติ และไข่ไก่อินทรีย์ เพื่อรองรับตลาดระดับสูงต่อไป นำไปสู่รายได้ที่มีความยั่งยืนในชนบทตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกิดความเข้มแข็งของชุมชนมากขึ้นในอนาคต

ด้าน สำนักงานพัฒนาการเกษตรวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้สนับสนุนทุนการวิจัยและพัฒนาด้านปศุสัตว์ โดยกำหนดกรอบงานวิจัยไว้ 3 กรอบ ได้แก่ หนึ่ง พัฒนาการปรับปรุงชนิดและพันธุ์ปศุสัตว์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สอง การพัฒนาระบบการจัดการฟาร์ม และ สาม การพัฒนาการส่งออก/ผลิตภัณฑ์

สำหรับงานวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่สายพันธุ์ไข่ดก เป็นการต่อยอดงานวิจัยที่ สวก. ทำร่วมกับกรมปศุสัตว์ เพื่อสร้างฝูงพันธุ์ไก่พื้นเมืองประดู่หางดำเชียงใหม่ให้ผลิตไข่ได้มากขึ้นกว่าเดิมร้อยละ 30 รวมทั้งมีต้นทุนการเลี้ยงต่ำ เนื่องจากเลี้ยงได้ทั้งในระบบฟาร์มและการเลี้ยงแบบปล่อย ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศได้มากกว่า 100 ล้านบาท ต่อปี

การพัฒนาสายพันธุ์ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของ นายอำนวย เลี้ยวธารากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ซึ่งมีการพัฒนาพันธุ์ด้วยการนำไก่พันธุ์เล็กฮอร์นเข้ามาผสม โดยใช้ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ 1 เป็นพ่อพันธุ์ และใช้แม่พันธุ์ไก่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร และการใช้พ่อพันธุ์ไก่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักรผสมกับแม่พันธุ์ไก่ประดูหางดำ 1

ทั้งนี้ ไก่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักรที่นำมาใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นไก่ที่มีขนาดเล็ก และเป็นไก่ไข่สายพันธุ์แท้ขนสีขาว ให้ไข่ดกและเร็ว เริ่มให้ไข่เมื่ออายุ 135-150 วัน ให้ไข่ปีละประมาณ 300 ฟอง เปลือกไข่สีขาว น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ เพศผู้ประมาณ 2.2-2.9 กิโลกรัม เพศเมียประมาณ 1.8-2.2 กิโลกรัม

จากการศึกษาวิจัยโดยเลี้ยงไก่แบบปล่อยพบว่า ฝูงพันธุ์ไก่พื้นเมืองประดู่หางดำเชียงใหม่ ให้ไข่ดกเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 30 อีกทั้งจากการเลี้ยงในรูปแบบฟาร์ม โดยเกษตรกรรายย่อย พบว่า แม่ไก่ 1 ตัว สามารถเพิ่มจาก 147 ฟอง/ตัว/ปี มาเป็นตัวละ 191 ฟอง/ปี ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาให้ได้ไข่ถึงตัวละ 200 ฟอง/ปี

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ โทร. (053) 311-836, (086) 090-6020