ปศุสัตว์ จับมือวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมชาวบ้านที่ชนแดน เพชรบูรณ์ เลี้ยงหมูดำเชิงพาณิชย์

ราคาหมูตกต่ำมายาวนานหลายเดือน สร้างผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในระดับครัวเรือนเป็นอย่างมาก แม้ภาคราชการและเอกชนพยายามหาแนวทางแก้ปัญหาผลผลิตสุกรล้นตลาดและราคาตกต่ำ แต่ดูเหมือนว่าเป็นแนวทางเฉพาะหน้าที่ยังหาความชัดเจนในระยะยาวไม่ได้

ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ทางปศุสัตว์จังหวัดได้ร่วมมือกับ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน การเลี้ยงหมูขุนวิถีธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน” ได้หาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยให้ปรับมาเลี้ยงหมูดำเพิ่มขึ้น พร้อมกับการรับซื้อในราคาประกันที่สูงกว่าหมูทั่วไป สร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้าน

ขณะเดียวกัน ด้วยคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ทางโภชนาการหลายด้านของเนื้อหมูดำที่มีเนื้อนุ่ม ไขมันน้อย (ส่วนใหญ่เป็นไขมันชนิดดี) คอเลสเตอรอลต่ำ ฯลฯ ข้อดีเหล่านี้จึงทำให้ทางวิสาหกิจชุมชนเล็งผลเลิศทางการตลาดด้วยการนำไปผลิตเป็นเมนูอาหารยอดนิยมได้หลายอย่าง อาทิ สเต๊ก ไส้อั่ว ลูกชิ้น หมูยอ ฯลฯ จนเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องชนิดผลิตเท่าไรก็ไม่พอขาย

คุณมัณฑนา ทองนิ่ม เจ้าหน้าที่วิสาหกิจชุมชนฯ ด้านการขายและการตลาด โทรศัพท์ 082-503-1429 เปิดเผยว่า หมูดำที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงในตอนนี้เป็นพันธุ์เพชรบูรณ์ ที่ได้มาจาก 3 สายพันธุ์ คือหมูดำเชียงใหม่ หมูกระโดน (หมูพื้นบ้านของเพชรบูรณ์) และพันธุ์เบอร์กเชียร์ โดยมีลักษณะเด่นตรงที่เลี้ยงง่าย ทนทาน แข็งแรง กินอาหารง่าย ต้นทุนเลี้ยงต่ำ มีเนื้อนุ่ม มีคอเลสเตอรอลต่ำ มีไขมันดี มีโอเมก้า 3, 6 และ 9

“ทางวิสาหกิจชุมชนจะดูแลเรื่องพันธุ์หมู การเลี้ยง การตลาด และการแปรรูป ไปพร้อมกับทางปศุสัตว์ ซึ่งมีหน้าที่ช่วยดูแลให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีเลี้ยง การป้องกันโรค ตลอดจนมาตรฐานการเลี้ยง สำหรับแนวทางการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยเลี้ยงหมูดำในแต่ละพื้นที่ก็จะร่วมมือกับทางปศุสัตว์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมตลอดจนคุณสมบัติของชาวบ้าน”

เมนูหมูดำที่ได้รับความนิยม

คุณมัณฑนาชี้ว่า ต้องการให้ชาวบ้านที่ผ่านการพิจารณาความเหมาะสมหันมาเพาะ-ขยายพันธุ์ เมื่อได้ลูกหมูดำก็ให้นำไปขายให้แก่ชาวบ้านรายอื่นต่อๆ กันไป ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเพิ่มประชากรของหมูดำให้มีจำนวนมากทันกับความต้องการของผู้บริโภค

“สำหรับพื้นที่เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงหมูดำกำลังขยับขยายออกไปเรื่อยๆ โดยจะต้องสำรวจฟาร์มของชาวบ้านที่มีความพร้อมทั้งพื้นที่และวิธีการ จากนั้นวิสาหกิจชุมชนจึงนำแม่พันธุ์ไปให้เลี้ยง พร้อมกับขยายพันธุ์หมูดำด้วยวิธีผสมเทียม จนเมื่อชาวบ้านเลี้ยงหมูดำได้ตามเวลาและน้ำหนักที่กำหนดคือประมาณ 5-6 เดือน มีน้ำหนักเฉลี่ย 95-100 กิโลกรัม ต่อตัว พร้อมจับขายให้กับกลุ่มวิสาหกิจจะได้รับการประกันราคาขายในอัตรา 60-65 บาท ต่อกิโลกรัม”

ต้นทุนการเลี้ยงหมูดำต่อตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 4,500-5,500 บาท เนื่องจากสามารถใช้อาหารตามธรรมชาติเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่แล้วยังเป็นต้นทุนที่น้อยกว่าการเลี้ยงหมูพื้นบ้านอีก ดังนั้น ถ้าเลี้ยงหมูดำขายในราคาประกันกิโลกรัมละ 65 บาท หมูมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ต่อตัว ชาวบ้านจะมีรายได้ 6,500 บาท พอหักต้นทุนออกแล้วได้กำไรตัวละ 1,000 บาท ทั้งนี้ หากผู้เลี้ยงถ้าสามารถลดต้นทุนได้ก็ยิ่งมีกำไรเพิ่มขึ้นอีก แถมขายได้ราคาสูงกว่าการเลี้ยงหมูพื้นบ้านอีกด้วย

คุณสมบัติของเนื้อหมูดำจะมีประโยชน์ด้านโภชนาการต่อผู้บริโภคเนื่องจากอาหารของหมูดำส่วนใหญ่มาจากพืชผักและสมุนไพร นอกจากนั้น ยังเลี้ยงแบบระบบอิสระทำให้หมูไม่เครียด ขณะที่หมูชนิดนี้มีไขมันน้อยมาก เนื่องจากไขมันจะแทรกเข้าไปในเนื้อทำให้มีลักษณะคล้ายหินอ่อน จึงมีไขมันน้อยกว่าหมูพื้นบ้านมาก

หมูดำสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จต่างๆ ได้รับความสนใจและการตอบรับจากผู้โภคอย่างล้นหลามเกินคาด สำหรับผลิตภัณฑ์จากหมูดำที่มีจำหน่ายแล้ว ได้แก่ เนื้อหมูดำสเต๊ก หมูแดดเดียว ไส้อั่ว ขาหมู ซี่โครงหมูอบ อย่างไรก็ตาม ทุกชิ้นส่วนของหมูดำสามารถนำมาแปรรูปได้หมดโดยไม่ทิ้ง อย่างเช่น การนำไปผลิตเป็นลูกชิ้น, หมูยอ, หมูฝอย หรือหมูทุบ

เลี้ยงรวมแบบอิสระ

สถานที่จำหน่ายเป็นหลัก ได้แก่ ที่ตลาดกรีนมาร์เก็ต บริเวณองค์พระ ติดกับศูนย์ราชการ และจัดจำหน่ายโดยวิสาหกิจชุมชนการเลี้ยงหมูขุนวิถีธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้ จะรับออเดอร์จากจุดนี้แล้วส่งขายให้ตามร้านอาหารในจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั้งยังส่งตามจังหวัดอื่นด้วย ขณะเดียวกัน ยังนำผลิตภัณฑ์ไปออกขายตามบู๊ธงานต่างๆ เพื่อขยายตลาดให้มากขึ้นอีก ดังนั้น ตอนนี้หมูดำเพชรบูรณ์จึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของผู้บริโภค จึงทำให้พบปัญหาเพียงอย่างเดียวคือผลิตไม่ทัน

การเลี้ยงหมูดำถือเป็นอีกแนวทางของการแก้ไขปัญหาราคาหมูพื้นบ้านตกต่ำหรือไม่คงที่ ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์มองว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านต่อราคาหมูไม่คงที่ ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนเป็นอย่างมาก    ดังนั้น การส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงหมูดำเพิ่มเข้ามาอีกในช่วงประมาณปีกว่าจะช่วยสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ให้แก่ชาวบ้านได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการปรับเปลี่ยนราคาของหมูพื้นบ้าน

สำนักงานปศุสัตว์ชนแดนเข้ามาดูแลพร้อมวางระบบการเลี้ยงในแบบ GFM (Good Farming Management) ซึ่งต้องออกแบบจัดวางสถานที่เลี้ยงแบบควบคุมเพื่อให้ปลอดเชื้อ ส่วนการฉีดวัคซีนคงเป็นไปตามช่วงเวลาที่กำหนด

หมูขุน

คุณกฤษณา ทองเพิง อยู่บ้านเลขที่ 7 ตำบลซับพุทรา อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ โทรศัพท์ 080-029-4707 มีอาชีพเกษตรกรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะปลูกข้าวโพด ปลูกผักปลอดภัย เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู นอกจากนั้น ยังปลูกไม้ผลอย่างมะละกอ แก้วมังกร อินทผลัม ในพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 41 ไร่

“เดิมเลี้ยงหมูพื้นบ้านแล้วมีประสบการณ์มาหลายปี เพิ่งมาเลี้ยงหมูดำ โดยมีแม่พันธุ์ที่ได้จากวิสาหกิจชุมชนมาจำนวน 4 ตัว แล้วตกท้องได้ลูกอีกจำนวน 4 ตัว ทั้งนี้ ลูกหมูดำจะต้องเลี้ยงไปจนมีอายุประมาณ 5-6 เดือน และมีน้ำหนักประมาณ 100-110 กิโลกรัม ต่อตัว จึงขายได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาการเลี้ยงหมูดำจะนานกว่าหมูพื้นเมืองประมาณ 2 เดือน เนื่องจากมีอัตราการให้เนื้อที่ช้า”

คุณกฤษณา บอกว่า วิธีเลี้ยงหมูดำไม่ได้ยุ่งยาก แล้วใช้วิธีเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ เพียงกั้นแนวรั้วขอบเขตบริเวณป้องกันไม่ให้หมูไปไกลเท่านั้น ใช้อาหารเม็ดเพียงเล็กน้อย แต่จะหนักอาหารจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้แก่พืชผักชนิดต่างๆ ที่มีในท้องถิ่น โดยเฉพาะจะเน้นในเรื่องพืชสมุนไพร อย่าง กะเพรา บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร มะละกอ กล้วย ฯลฯ ขณะเดียวกัน ยังสามารถนำผักที่ปลูกขายแต่ไม่สมบูรณ์มาใช้เป็นอาหารหมูดำ ทั้งนี้ ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่อาจใช้พืชผักทางการเกษตรที่ต่างกันตามลักษณะพื้นที่นั้น

แม่พันธุ์ที่เตรียมคลอด

นอกจากนั้น เมื่อหมูดำถ่ายมูลลงไปผสมกับแกลบที่ใช้สำหรับรองพื้นคอกก็จะนำไปใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยในแปลงผัก เนื่องจากปลูกผักปลอดภัยหลายชนิดเป็นรายได้เสริมร่วมด้วย นับเป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยไม่ต้องลงทุนซื้อ

ยุทธศาสตร์การค้ายุคนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือและทำงานกันเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การตลาด และการจำหน่าย ทั้งนี้ เพื่อจะได้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามที่ตั้งไว้พร้อมกัน

สอบถามรายละเอียดการเลี้ยงและผลิตภัณฑ์หมูดำ ได้ที่ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน การเลี้ยงหมูขุนวิถีธรรมชาติ” โทรศัพท์ 096-669-5366 fb : Blackhog phetchabun

………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ.2561


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354