“บลอนด์ดาคิแตน”…ทางเลือก สร้างโคเนื้อ “พรีเมี่ยมเกรด”

โคเนื้อในประเทศไทยลดลงเป็นอย่างมากในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา  สวนทางกับความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น จากความต้องการของประชากรในประเทศ นักท่องเที่ยวต่างประเทศ และความต้องการของตลาดต่างประเทศ

ในขณะที่การผลิตโคเนื้อของประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะการผลิตโคเนื้อต้นน้ำที่ต้องใช้เงินลงทุนต่อฟาร์มสูง และระยะเวลาคืนทุนใช้เวลานาน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในการให้ผลตอบแทน ทำให้เกษตรกรหันไปประกอบอาชีพเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่ผลผลิตมีราคาสูง คืนทุนเร็ว หรือรัฐบาลประกันรายได้ ส่งผลให้จำนวนโคเนื้อลดลงเป็นอย่างมาก จนในปัจจุบันจึงเกิดปัญหาการขาดแคลนโคเนื้อ เกษตรกรผู้ผลิตโคเนื้อต้นน้ำส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อแม่โคเนื้อมาเลี้ยงได้ เนื่องจากมีราคาแพง ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการผลิตโคเนื้อทั้งระบบของประเทศ

ในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา กรมปศุสัตว์ จึงได้จัดทำโครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ กรอบระยะเวลาดำเนินงาน 7 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2558-2567 เป็นโครงการบูรณาการงานร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงาน

โดยใช้งบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 1,005.2 ล้านบาท ในการจัดหาปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ได้แก่ แม่โคเนื้อพันธุ์ดี โรงเรือน และการจัดการอาหารสัตว์ ผ่านการกู้ยืมเงินของสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อที่เป็นสมาชิก โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อให้แก่สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร 4,000 ราย เพิ่มแม่โคเนื้อพันธุ์ดี 20,000 ตัว

ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการนำมูลโคไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในการผลิตภาคเกษตร ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนโคเนื้อแม่พันธุ์ ที่ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเพิ่มจำนวนโคเนื้อในประเทศไทยซึ่งลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 8.03 ล้านตัวในปี 2549 เหลือเพียง 4.31 ล้านตัว เนื่องจากปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดการนำเข้า และเป็นแหล่งวัตถุดิบผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงานทดแทนให้แก่เกษตรกรด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ การส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้น้ำเชื้อพันธุ์ดีเพื่อพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อที่เลี้ยง โดยหนึ่งในสายพันธุ์ที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการส่งเสริมคือ โคเนื้อพันธุ์ “บลอนด์ดาคิแตน” (Blonde d’ Aquitaine) อันเป็นโคเนื้อคุณภาพดีอีกหนึ่งสายพันธุ์ นอกเหนือจากพันธุ์โคเนื้อที่เกษตรกรเลี้ยงกันโดยทั่วไป ไม่ว่าโคพันธุ์กำแพงแสน บราห์มัน ชาร์โรเล่ส์ ซิมเมนทอล และแองกัส เป็นต้น

การส่งเสริมในปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำเชื้อแช่แข็งโคเนื้อพันธุ์ “บลอนด์ดาคิแตน” เพื่อผลิตลูกโคเนื้อคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาด  โคเนื้อพันธุ์บลอนด์ดาคิแตนเป็นโคเนื้อที่มีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ในฝรั่งเศส และได้รับความนิยมในการเลี้ยงเป็นอันดับ 3 ของประเทศฝรั่งเศส

โคเนื้อพันธุ์บลอนด์ดาคิแตนมีขนาดลำตัวใหญ่และยาว มีช่องอกและสะโพกใหญ่ มีกล้ามเนื้อเด่นชัด  แม่โคมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 150 เซนติเมตร น้ำหนักระหว่าง 850-1,000 กิโลกรัม และมีกระดูกเชิงกรานกว้างทำให้คลอดลูกง่ายแม้ว่าลูกโคจะมีขนาดใหญ่ ส่วนพ่อโคสูงเฉลี่ย 160 เซนติเมตร น้ำหนักอยู่ระหว่าง 1,200-1,500 กิโลกรัม

โคเนื้อพันธุ์นี้มีนิสัยเชื่อง เขามีลักษณะโค้งลง สีเหมือนเปลือกข้าวโพด จมูกสีชมพู กีบสีซีด โคเนื้อพันธุ์บลอนด์ดาคิแตน ให้เนื้อคุณภาพดี เนื้อมีความละเอียดและนุ่มมาก ทั้งยังมีไขมันน้อย จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเนื้อไขมันต่ำ โคเนื้อพันธุ์นี้มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่ที่อากาศเย็นจัดถึง -30 องศาเซลเซียส จนถึงร้อนจัดหรือประมาณ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการกินอาหาร

โคเนื้อพันธุ์บลอนด์ดาคิแตน นับเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาพันธุ์โคเนื้อไทยได้ดี เพราะมีทั้งพันธุกรรมด้านการสร้างกล้ามเนื้อ การเจริญเติบโต ความสามารถในการทนอากาศร้อน และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและรูปแบบการเลี้ยงในประเทศไทยได้

นายสัตวแพทย์อภิรักษ์ อุทธา หัวหน้าศูนย์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโคเนื้อพันธุ์บลอนด์ดาคิแตน กรมปศุสัตว์ได้นำเข้ามาในลักษณะตัวอ่อน หรือเอมบริโอ (Embryo) จากประเทศฝรั่งเศส จากนั้นใช้วิธีฝากอุ้มบุญในแม่โคเนื้อของไทยเมื่อปี 2550

เป้าหมายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรที่ต้องการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพแต่มีปัญหาด้านการจัดการ โดยเน้นกลุ่มแม่โคที่มีสายเลือดยุโรป อาทิ พันธุ์ชาร์โรเล่ส์ แองกัส และซิมเมนทอล เป็นต้น เพื่อให้สามารถผลิตลูกโคเนื้อคุณภาพสูงป้อนตลาด พร้อมตอบสนองและช่วยแก้ปัญหาด้านการจัดการของเกษตรกรรายย่อยในสภาพอากาศร้อนของไทยได้

ขณะนี้กรมปศุสัตว์มีพ่อพันธุ์โคเนื้อพันธุ์บลอนด์ดาคิแตน จำนวน 3 ตัว อยู่ในการดูแลของศูนย์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพ่อพันธุ์ 2 ตัว สามารถรีดน้ำเชื้อได้แล้ว มีกำลังการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งเพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกรได้ปีละกว่า 30,000 โด๊ส ส่วนอีก 1 ตัว อายุได้ประมาณ 6 เดือน หากโตเต็มที่และใช้งานได้ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งได้ไม่น้อยกว่า 45,000 โด๊ส/ปี

ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งโคเนื้อพันธุ์บลอนด์ดาคิแตน และให้การสนับสนุนน้ำเชื้อฯ ที่ผลิต ได้แก่หน่วยงานของกรมปศุสัตว์ไปแล้วกว่า 132,394 โด๊ส แยกเป็น ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพสระบุรี 2,389 โด๊ส ชลบุรี 3,276 โด๊ส นครราชสีมา 11,503 โด๊ส ขอนแก่น 300 โด๊ส เชียงใหม่ 4,608 โด๊ส พิษณุโลก 2,870 โด๊ส ราชบุรี 22,012 โด๊ส สุราษฎร์ธานี 22,154 โด๊ส สงขลา 43,776 โด๊ส และศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพอุบลราชธานี 19,506 โด๊ส

ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อส่วนหนึ่งได้ใช้น้ำเชื้อแช่แข็งโคเนื้อพันธุ์บลอนด์ดาคิแตนไปผสมเทียมแม่โคเนื้อในฟาร์มแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้  ที่น่าสนใจคือ บางฟาร์มมีลูกโคเนื้อลูกผสมบลอนด์ดาคิแตนเกิดแล้ว ซึ่งเกษตรกรมีความพึงพอใจในสายพันธุ์ หากมีระบบการจัดการดีสำหรับการเลี้ยงขุนโคเนื้อพันธุ์นี้ สามารถโตได้ถึง 1,000-1,200 กรัม/วัน   ส่วนอนาคตคาดว่า เกษตรกรจะหันมาใช้น้ำเชื้อแช่แข็งโคเนื้อพันธุ์ดังกล่าว เพื่อผลิตลูกโคเนื้อคุณภาพสูงรองรับความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะมีโอกาสทางการตลาดสูง

หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับ “โคเนื้อพันธุ์บลอนด์ดาคิแตน” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทร. (043) 263-017