หนองคายอากาศกำลังดี จิ้งหรีดเลี้ยงง่าย โตไว ส่งเข้าตลาดลาวจนไม่ทัน

วันที่ 7 ธันวาคม 2559 จากการที่จังหวัดหนองคาย อุณหภูมิลดลงต่อเนื่องมาหลายวัน ส่งผลให้อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อน ไม่หนาว และไม่ชื้น อุณหภูมิเฉลี่ย 20 – 25 องศาเซลเซียส นอกจากจะส่งผลดีกับพืชผลการทางการเกษตร และสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่แล้ว ยังส่งผลดีกับจิ้งหรีดที่เกษตรกรบ้านโพนงาม ต.วัดธาตุ อ.เมือง จ.หนองคาย เลี้ยงง่าย โตเร็ว อัตราการตายน้อยกว่าทุกช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับช่วงนี้จิ้งหรีดราคาดีถึงกิโลละ 150 บาท ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ทั้งในจังหวัดหนองคายและ สปป.ลาว ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และเกษตรกรได้ขยายพื้นที่เลี้ยงเพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด อีกทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดยังไม่ประมาทกับอากาศที่จะหนาวจัดที่จะกระทบกับการเลี้ยงจิ้งหรีด โดยได้มีการเตรียมความพร้อมของโรงเรือนที่ใช้เลี้ยงให้มิดชิด และเตรียมหลอดไฟที่จะสร้างความอบอุ่นให้กับจิ้งหรีด อีกทั้งได้มีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ให้มีความแข็งแรงทนทานต่อทุกสภาพอากาศมากขึ้น และมีอัตราการตายน้อย

นายบุญร้อย โพชราช สองสามีภรรยา เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านโพนงาม ตำบลวัดธาตุ อ.เมือง จ.หนองคาย บอกว่า ช่วงนี้อากาศดี ไม่ร้อน ไม่ชื้นเหมือนที่ผ่านมา อากาศกำลังพอดีไม่หนาวเกินไป ทำให้จิ้งหรีดเลี้ยงง่าย กินอาหารดี อัตราการตายน้อย ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่จิ้งหรีดเลี้ยงง่ายที่สุด ส่วนฤดูร้อนนั้นก็เลี้ยงง่าย แต่อัตราการตายสูง ฤดูหนาวถ้าอากาศหนาวจัดจิ้งหรีดไม่ค่อยกินอาหาร ทำให้ต้องเลี้ยงนานกว่าทุกฤดู ส่วนฤดูฝนนั้นก็เลี้ยงง่ายเช่นกัน แต่จะมีปัญหาเรื่องความชื้นของอากาศมาก ทำให้อัตราการตายยังสูงอยู่แม้จะไม่มากเหมือนฤดูร้อนก็ตาม ถ้าอากาศหนาวเย็นกว่านี้ อุณหภูมิลดลงอีก 5 – 6 องศาเซลเซียส ก็จะกระทบกับจิ้งหรีดทันที คือจิ้งหรีดไม่ขึ้นมากินอาหารทำให้โตช้า ตนก็จะนำหลอดไฟมาติดตั้งเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับจิ้งหรีดทันที และในปีนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์จิ้งหรีดที่เลี้ยงใหม่ เป็นพันธุ์ที่มีความแข็งแรงทนทานต่อทุกสภาพอากาศ และมีอัตราการตายน้อย ซึ่งคาดว่าจะสามารถทนกับสภาพอากาศที่ปีนี้คาดว่าจะมีอากาศหนาวจัดได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญราคาดีกว่าจิ้งหรีดพันธุ์เดิมที่พวกตนเคยเลี้ยงกัน

201612070851592-20041020104302-768x432-1

ส่วนในเรื่องของตลาดนั้น นายบุญร้อยกล่าวว่า ไม่มีปัญหา ขณะนี้ส่งทั้งตลาดทั้งในจังหวัดหนองคาย และ สปป.ลาว โดยเฉพาะ สปป.ลาว จะมีพ่อค้า-แม่ค้าชาวลาว มารับถึงในจังหวัดหนองคาย แต่ละครั้งจะรับซื้อไป 30 – 50 กก. สัปดาห์หนึ่งจะมาซื้อ 2 ครั้ง ซึ่งกลุ่มฯผู้เลี้ยงก็จะสลับกันขาย เนื่องจากโตไม่ทันกับความต้องการ