“สุจินต์ แสงแก้ว” กับการเลี้ยงไก่ฟ้าโกลเด้น เชิงพาณิชย์

“ไก่ฟ้าโกลเด้น” (GOLDEN PHEASANT) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ไก่ฟ้าสีทอง” เป็นสัตว์ป่าประเภทไก่ฟ้าที่นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบนภูเขาสูง พบมากทางภาคกลางและภาคตะวันตกของสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงบางพื้นที่ในปากีสถาน, อินเดียและศรีลังกา เป็นต้น

ลูกไก่ฟ้าโกลเด้น

มีความสวยงามและทนทานต่ออากาศหนาวได้เป็นอย่างดี ลักษณะที่โดดเด่นของไก่ฟ้าโกลเด้น ( ตัวผู้ ) มีสีสันสวยงาม จึงทำให้ไก่ฟ้าโกลเด้นแตกต่างจากไก่ฟ้าสายพันธุ์อื่นๆ คือ มี 5 สีในตัวเดียวกัน ได้แก่ สีเหลือง-ทอง, สีแดง ,น้ำเงิน ,เขียว และส้ม (เฉพาะตัวผู้เท่านั้น) ขนด้านบนหัวจะเป็นสีทอง ไล่โทนตั้งแต่ท้ายทอยเป็นสีส้มทองตัดด้วยวงแหวนเป็นคลื่นสีดำ ตรงด้านหลังคอมีลักษณะเป็นขนสีทองลายขีดสีดำยาวปกคลุมลงมาถึงหลัง ขนปีกสีดำจุดน้ำตาล และที่ใต้ปีกมีสีเหลืองทองอยู่ด้านใน ขนหางคู่กลางยาวมาก โคนหางสีน้ำตาลแดงอ่อนจุดดำไปจนถึงปลายหาง ด้านล่างของลำตัวใต้ท้องมีสีแดงเพลิงเลือดหมู ไม่มีหงอนบนหัวแข้งขาสีเนื้อ ขนาดตัวเล็กกว่าไก่ฟ้าสายพันธุ์ไทย

ส่วนไก่ฟ้าตัวเมีย สีขนทั่วทั้งลำตัวเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีลายขีดสีน้ำตาลดำ ลำตัวด้านล่างสีเหลืองอ่อนลายขีดสีดำ หางค่อนข้างยาวและมีลายขีดสีเหลืองอ่อนดำ และสีน้ำตาลแดง เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ไก่ฟ้าโกลเด้น จะมีน้ำหนักตัวประมาณ 500-700 กรัม เป็นที่สังเกตว่าไก่ฟ้าสีทองตัวผู้และตัวเมียเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีน้ำหนักตัวใกล้เคียงกันตาจะเป็นวงแหวนสีน้ำเงิน สำหรับตัวเมียจะมีสีน้ำตาลพื้นธรรมดา ตาไม่มีวงแหวน เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีน้ำหนักตัวประมาณ 500-700 กรัม มีลักษณะรูปร่างป้อมๆ ไม่มีหงอนเหมือนไก่ ส่วนหัวจึงดูคล้ายนกมากกว่าไก่เลี้ยงทั่วไป

ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ ผสมพันธุ์

ไก่ฟ้าสีทอง สามารถแยกแยะเพศออกได้เมื่อมีอายุ 3 เดือน ดูความแตกต่างที่วงแหวนของดวงตา ส่วนสีขนจะค่อยยาวขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งตัวเต็มวัยไก่ก็จะออกขนเต็มตัวสมบูรณ์สวยงาม เฉลี่ยประมาณ 1.5-2 ปี  โตเต็มวัยเมื่อมีอายุได้ 2 ปี ในธรรมชาติไก่ฟ้ามักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ตัวผู้จะคุมตัวเมียได้หลายตัว เมื่อนำมาเลี้ยงในกรงเดียวเดียวกัน ไม่ควรเลี้ยงตัวผู้หลายตัวในกรงเดียวกัน เนื่องจากมันจะต่อสู้ หรือตีกันจนถึงตาย ในบ้านเราไก่ฟ้ามีช่วงฤดูผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนเพียงปีละครั้ง สามารถทำให้ไก่ออกไข่ได้เฉลี่ยแล้วปีละถึง 12-25 ฟอง

ปัจจุบันในประเทศไทย มีการเพาะเลี้ยงกันเป็นฟาร์มเป็นที่แพร่หลาย เพราะสามารถเพาะเลี้ยงได้อย่างเสรี เนื่องจากไก่ฟ้าเหล่านี้ไม่จัดว่าเป็นสัตว์ที่จะจัดอยู่ในสถานะคุ้มครองตามกฎหมายแต่ประการใด

ความสวยงามของไก่ฟ้าโกลเด้น

คุณสุจินต์ แสงแก้ว ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง  เลขที่ 101/2 หมู่ที่ 6 ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 081-7247876 เป็นเกษตรกรแบบอย่างของชุมชนที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงไก่ฟ้ามานาน เริ่มต้นจากการไปอบรมและศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2545  ในโครงการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าสู่ประชาชน หลังจากที่ได้ศึกษาเรียนรู้ชีวิตของไก่ฟ้ามาพอสมควรแล้ว จึงได้กลับทดลองเลี้ยงไก่ฟ้า โดย ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ให้ยืมพ่อแม่พันธุ์ไก่ฟ้าสายพันธุ์ “โกลเด้น” มา 1 คู่ เพื่อนำมาเพาะขยายพันธุ์ โดยเงื่อนไขจะต้องส่งพ่อแม่พันธุ์ไก่ฟ้าที่ยืมมาคืนภายใน 1 ปี

หลังจากนั้น คุณสุจินต์ จึงเริ่มจากการสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ฟ้าขนาดเล็กดูก่อน จนสามารถสามารถเพาะลูกไก่ฟ้าได้ 12 ตัว ซึ่งเริ่มแรกไม่ได้คิดจะจำหน่าย เพียงชอบที่จะเลี้ยงไว้ดูเล่นเท่านั้น ครั้งแรกสร้างกรงไก่ฟ้าโดยใช้วัสดุท้องถิ่น คือไม้ไผ่ที่หาได้ง่าย หลังจากศึกษาและเลี้ยงไก่ฟ้ามาได้  4 ปี ไก่ฟ้าโกลเด้น ที่เพาะเลี้ยงเอาไว้เริ่มมีจำนวนมากขึ้น จึงขยายกรงเลี้ยงให้กว้างมีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น ต่อมามีคนเห็นและสนใจเลี้ยง จึงแบ่งขายไปบ้าง และเริ่มเป็นที่รู้จักก็ขายลูกไก่ฟ้าได้เรื่อยๆ ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายลูกไก่ฟ้า  จากนั้นจึงได้เลี้ยงและขยายพันธุ์เรื่อยมา

ไก่ฟ้าโกลเด้น กำลังออกจากไข่

วิธีเลี้ยงและดูแลไก่ฟ้าสีทอง  คุณสุจินต์ บอกว่า เลี้ยงไก่ฟ้าเลี้ยงไม่ยาก เป็นสัตว์ที่แข็งแรง  เพียงผู้เลี้ยงต้องมีความรัก ความชอบในการเลี้ยงไก่ฟ้าเป็นอันดับแรก ซึ่งไก่ฟ้ามีลักษณะคล้ายๆ ไก่ทั่วๆ ไป เพียงแต่จะมีนิสัยที่แตกต่างจากไก่บ้าน ตรงที่รักสงบ ตื่นตกใจง่าย แต่เมื่อเลี้ยงไปสักระยะหนึ่ง จะเชื่อง จนสามารถอุ้มได้ ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมไก่ฟ้าให้ดี โดยเฉพาะเมื่อแสดงว่าอาการว่าไม่สบาย เช่น มีอาการเซื่องซึม, ไม่กินอาหารและแววตาไม่สดใส เป็นต้น

เนื่องจากไก่ฟ้าเป็นสัตว์ที่มีความสวยงาม  “กรง” ที่ใช้เลี้ยงจึงค่อนข้างที่จะต้องให้ความสำคัญ โดยกรงเลี้ยงจะมีผลต่อความสวยงามของไก่ฟ้า กล่าวคือ กรงเลี้ยงต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับขนาดของสายพันธุ์ของไก่ฟ้า จึงไม่มีขนาดกรงที่เล็กเหมือนกรงนกทั่วไป แต่ก็ไม่สามารถเลี้ยงปล่อยได้เหมือนไก่บ้านหรือไก่แจ้ เพราะไก่ฟ้าบินได้เหมือนนก โดยเฉพาะเวลาที่ตกใจ แต่ก็มีบ้างท่านที่เลี้ยงแบบปล่อยได้เพราะบ้านมีบริเวณกว้าง ห่างไกลชุมชน ไม่มีเสียงดังรบกวน สิ่งที่ต้องคำนึงเกี่ยวกับกรงไก่ฟ้าก็ขึ้นอยู่ว่าเราเลี้ยงไก่ฟ้าสายพันธุ์ไหน กี่ตัว เพื่อจะได้สร้างกรงได้อย่างเหมาะสม

ไก่ฟ้าโกลเด้น ตัวเมีย

การสร้างกรงเลี้ยงไก่ฟ้า คุณสุจินต์ เลือกสร้างกรงเลี้ยง ขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 2-3 เมตร มีหลังคาป้องกันแดดและฝน ที่สำคัญต้องมีแสงแดดส่องถึง ควรวางแนวกรงหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเพื่อที่จะได้รับแสงแดดในตอนเช้าช่วยฆ่าเชื้อโรคและให้ไก่ฟ้าได้อาบแดด และควรมีต้นไม้หรือปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น โดยเฉพาะในทิศทางที่จะช่วยบังแสงแดดในช่วงบ่ายที่อากาศที่ร้อนเกินไป  บริเวณที่สร้างควรมีการระบายน้ำและอากาศได้ดี ไม่เป็นที่ลุ่มมีน้ำขังหรืออับชื้น ควรล้อมกรงเลี้ยงด้วยตาข่ายลวดตาถี่ เพื่อป้องกันนกกระจอกและหนูที่มักจะเข้ามาในกรงมา เพื่อแย่งกินอาหารไก่ฟ้า และอาจจะเป็นพาหะนำโรคมาสู่ไก่ฟ้าได้ และพื้นกรงให้ใช้ทรายหยาบเทพื้นกรง  และหมั่นเอาทรายมาเติมพื้นกรงบ้าง หรือหากทรายเก่าให้เปลี่ยนทรายภายในกรงใหม่

คุณสุจินต์ ได้บอกเล่าถึงการเลี้ยงไก่ฟ้า ว่าเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ตั้งแต่ที่เลี้ยงมายังไก่ฟ้าไม่ค่อยป่วยเลย เพื่อแต่เราต้องดูแล เอาใจใส่อยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องอาหาร  อาหารก็จะให้สำเร็จรูป อาหารเลี้ยงไก่ฟ้าที่มีจำนวนไม่มากนัก การซื้ออาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงไก่เนื้อ,ไก่ไข่หรืออาหารนกเขา ซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวกและประหยัดกว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงไก่ฟ้า ซึ่งควรเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปที่สดใหม่ ไม่หมดอายุ ปกติคุณค่าทางอาหารจะระบุไว้ที่ข้างถุงรวมทั้งวันผลิตและวันหมดอายุด้วย แต่ในระยะลูกไก่โปรตีนในอาหารสำเร็จรูปอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกไก่ฟ้า จึงจำเป็นต้องเสริมอาหารประเภทโปรตีนสูงให้ด้วย เช่น ไข่แดง ปลวก หรือหนอนเลี้ยงนก เป็นต้น

ไก่ฟ้าโกลเด้น จะมี 5 สีบนหัว

นอกจากอาหารสำเร็จรูปผู้เลี้ยง ควรมีอาหารเสริม ให้ไก่ฟ้าได้กินอย่างสม่ำเสมอ เช่น หญ้าขนนำมาหั่นละเอียดหรือมัดแขวนไว้ให้ไก่ฟ้าได้จิกกิน  ผลไม้ตามฤดูกาล  เช่น กล้วย,  มะละกอ, แตงโม ฯลฯ แต่ผลไม้ต้องระวังยาฆ่าแมลงที่อาจจะตกค้างติดมาด้วยเมล็ดพืชจำพวก ข้าวโพด, ข้าวฟ่าง, ถั่วเขียว ฯลฯ ส่วนพวกอาหารจำพวกวิตามินและแร่ธาตุ ปกติไก่ฟ้าต้องการปริมาณน้อยมาก และมักมีการผสมมาในอาหารสำเร็จรูปอยู่แล้ว แต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ ให้สังเกตดูที่เปลือกไข่ถ้าเปลือกไข่มีลักษณะอ่อนนิ่ม ควรเสริมแร่ธาตุแคลเซี่ยม ให้ในอาหารบ้าง แร่ธาตุแคลเซี่ยมมีอยู่ในเปลือกหอยป่น หรือผงแคลเซี่ยมสำเร็จรูป ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายอาหารสัตว์ทั่วไป

วิตามินรวมใช้เสริมในรูปสารละลายในน้ำ มีทั้งชนิดผงและชนิดน้ำ มีขายตามร้านขายอาหารสัตว์เช่นเดียวกัน โดยให้พร้อมๆ กับน้ำที่ให้ไก่ฟ้ากิน การให้วิตามินรวมแก่ไก่ฟ้าไม่จำเป็นต้องให้ทุกวันเพระเป็นการสิ้นเปลือง  อาจให้เพียงอาทิตย์ละ 1 – 2 ครั้งก็พอ และให้ทุกครั้งในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ช่วงที่มีการจับและขนย้าย ช่วงเปลี่ยนอาหารเพราะช่วยลดความเครียดที่จะเกิดกับไก่ฟ้าได้มาก และควรให้วิตามินรวมลูกไก่ตลอดระยะกกหรือระยะหลังฟักออกจากไข่ 5 สัปดาห์ เพื่อช่วยป้องกันการตายในระยะของลูกไก่ฟ้า   และ น้ำดื่ม ต้องสะอาดเปลี่ยนใหม่ทุกวัน โดยจะให้อาหารและน้ำ ในช่วงเวลาเช้าของทุกวัน วันละครั้ง

การเพาะขยายพันธุ์ไก่ฟ้าสีทอง คุณสุจินต์เล่าว่า  เหมือนการเลี้ยงไก่พื้นบ้าน โดยไก่ฟ้าตัวผู้ และตัวเมีย ควรมีอายุสักประมาณ 2 ปี ก็จะพร้อมเป็นพ่อแม่พันธุ์ผสมพันธุ์ได้แต่บางครั้งความพร้อมที่จะผสมพันธุ์ของไก่ฟ้าอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเสมอไป แต่ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปไก่ฟ้ามีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์เมื่ออายุ 2 ปีขึ้นไป และบางทีอายุเพียง 1 ปีครึ่ง ก็สามารถผสมพันธุ์ได้แล้ว แต่ได้ผลไม่ดีเท่าใดนัก เนื่องจากการผสมอาจจะได้รับเชื้อที่ยังไม่แข็งแรงพอ

สิ่งแรกที่ต้องดูก่อนว่าไก่ฟ้าเพศผู้ขึ้นผสมพันธ์แล้วหรือไม่ ถ้าเห็นมันผสมพันธุ์แน่นอนก็ค่อนข้างแน่นนอนว่าประสบผลสำเร็จที่จะได้ไข่ แต่กรณีที่ไข่ที่ได้ไม่มีเชื้อ สาเหตุมาจาก เชื้อยังไม่สมบูรณ์ อาจเกิดจากไก่ฟ้าตัวผู้ยังฉีดน้ำเชื้อให้ตัวเมียยังไม่สมบูรณ์นั่นเอง (ส่วนใหญ่ตัวเมียไม่ค่อยยอม) โดยช่วงฤดูผสมพันธุ์ไก่ฟ้านั้น จะเป็นช่วงหน้าร้อน ซึ่งที่นี่จะอยู่ช่วงประมาณเดือน มีนาคม – มิถุนายน ของทุกปี ในระยะ 3-4 เดือนนี้ จะปล่อยไก่ฟ้าตัวผู้ 1 ตัว ต่อ ไก่ฟ้าตัวเมีย 2-3 ตัว ต่อกรง ซึ่ง ไก่ฟ้าตัวเมีย 1 ตัวสามารถให้ไข่ได้ประมาณ 12 – 25 ฟอง

คุณสุจินต์ อธิบายเพิ่มว่า เมื่อคนนำไก่ฟ้ามาเป็นสัตว์เลี้ยง ทำให้มันลืมพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น การฟักไข่ และวิธีการเลี้ยงลูก ฉะนั้นจึงมีโอกาสที่จะดูแลไข่ได้ไม่ดีพอ  ถ้าต้องการอัตรารอดที่สูงควรใช้ตู้ฟักไข่ซึ่งค่อนข้างจะได้ผลดี ไข่ฟักเป็นตัวได้ดีกว่าแบบที่ให้แม่ไก่ฟ้าฟักเองตามธรรมชาติ  ถ้าเราเลี้ยงไก่ฟ้าในลักษณะเป็นฟาร์มควรจะใช้เครื่องฟักไข่เข้ามาช่วยในการฟักเลี้ยง  ถ้าให้ไก่ฟ้ามันกกไข่เอง มันจะออกไข่น้อย แต่ถ้าเราเก็บไข่ออกจากรังเอง วันเว้นวันหรือทุกครั้งที่ไก่มันไข่ (โดยเขียนวันที่เก็บกำกับไว้เพื่อจะได้นับอายุไข่ ) เข้าตู้ฟัก

“ไก่ฟ้ามันก็จะไข่ได้เรื่อยๆ เราก็จะได้จำนวนไข่ที่มากขึ้น แต่ถ้าวิธีปล่อยให้มันกกเองตามธรรมชาติ พอแม่ไก่ฟ้ามันออกไข่ได้เพียง  5-8 ฟอง ไก่ฟ้าก็จะขึ้นกก แล้วก็จะหยุดออกไข่ต่อ เพราะพวกนี้มันไม่ได้ไข่ทุกวันเหมือนไก่ไข่ ไก่ฟ้าจะออกไข่วันเว้นวัน หรือ 2-3 วันครั้ง วิธีการเลี้ยงแบบฟาร์ม สามารถได้ไข่ เฉลี่ยแล้ว 12 – 30 ฟองต่อปี  ซึ่งไก่ฟ้าแต่ละสายพันธุ์ออกไข่มีจำนวนฟองเท่ากัน และมีความน่าจะเป็นในการฟักออกมาเป็นตัว ราว 60-70 เปอร์เซ็นต์ โดย มีระยะในการฟักไข่  21-23 วัน ( เหมือนไก่เลี้ยงทั่วไป ) วันก็จะออกเป็นลูกเจี๊ยบ จากนั้นก็นำไปกกไฟขนาด 25 วัตต์ ประมาณ 15 วัน จึงจะนำมาเลี้ยงในกรงต่อไป ลูกไก่ฟ้าทั้งตัวผู้และตัวเมีย สีตัวจะออกเทา-น้ำตาล ไม่มีสีสันสวยงาม เมื่อโตขึ้น ตัวผู้สีขนจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงตอนอายุประมาณ 4-5 เดือน และสามารถดูเพศออก ประมาณอายุ 3 เดือน”

ไก่ฟ้าสายพันธุ์โกลเด้น สามารถแยกเพศได้ตั้งแต่อายุ 2-3 เดือน โดยดูความแตกต่างที่วงแหวนรอบดวงตาไก่ฟ้าตัวผู้จะมี นัยน์ตาจะเป็นวงแหวนสีทับทิมในขณะที่ตัวเมียจะไม่มีวงแหวน และตัวผู้จะมีดวงตาเป็นสีทับทิมทั้งหมด ส่วนสีตัวเมียจะเป็นสีพื้นเทา-น้ำตาลธรรมดาทั่วทั้งตัว ซึ่งผิดกับตัวผู้ที่มีสีสันโดดเด่นจึงดูแตกต่างจากตัวเมียอย่างสิ้นเชิง

ราคาขายไก่ฟ้าสีทองขึ้นอยู่กับอายุของแต่ละตัว ตกคู่ละ 5,000 – 6,000 บาท (อายุ 1.5 ปีขึ้นไป) เมื่อเต็มวัยจะมีสีสันสวยงาม แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าที่ทดลองเลี้ยง หรือนำไปเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน ก็จะเริ่มขายลูกไก่ฟ้าให้ เมื่ออายุไก่ได้ 3 เดือนเพราะสามารถดูเพศได้แล้ว ราคาประมาณตัวละ 1,000 บาท เพราะลูกค้านิยมเลี้ยงลูกไก่ฟ้าขนาดเล็กมากกว่า