เกษตรกรโคกเจริญ เลี้ยงแพะหนีแล้ง รายได้งาม

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ แพะ แกะ โคกเจริญ อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี เกิดจากการรวมตัวของผู้เลี้ยงแพะ แกะ ในพื้นที่ ปัจจุบัน มีสมาชิก 38 ราย มีพ่อพันธุ์ 31 ตัว แม่พันธุ์ 1,331 ตัว แยกเป็นแพะขุน 211 ตัว ที่เหลือจะเป็นแกะ และแพะเล็ก 420 ตัว รวมแพะทั้งกลุ่มทั้งสิ้น 1,995 ตัว

โดยการเลี้ยงแพะของกลุ่ม สามารถแบ่งประเภทการเลี้ยงได้ 2 ประเภท คือ 1. เลี้ยงเพื่อขุน และ 2. เลี้ยงเพื่อเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์

นายสัตวแพทย์จรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยปศุสัตว์อำเภอและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำเยี่ยมชมการเลี้ยงแพะของสมาชิก
นายสัตวแพทย์จรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยปศุสัตว์อำเภอและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำเยี่ยมชมการเลี้ยงแพะของสมาชิก

คุณศักดา พานสายตา ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ แพะ แกะ โคกเจริญ กล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤตภัยแล้งในพื้นที่ ส่งผลให้สมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้ เกษตรกรในอำเภอโคกเจริญส่วนใหญ่ทำอาชีพหลัก คือการปลูกพืชไร่ อาทิ ข้าวโพด และมันสำปะหลัง

แต่ด้วยวิกฤตภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตพืชไร่ไม่ดี จึงหันมาเลี้ยงแพะเป็นรายได้เสริม

“นอกจากแพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายแล้ว สภาพพื้นที่ของอำเภอโคกเจริญยังมีความเหมาะสม เพราะมีสภาพที่แห้งแล้ง ซึ่งแพะชอบและสามารถเจริญเติบโตได้ดี”

“ก่อนหน้านี้มีเกษตรกรในพื้นที่เพียง 2 ราย เท่านั้น ที่เลี้ยงแพะอยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤตภัยแล้งจึงได้เชิญชวนเพื่อนบ้านให้เลี้ยงแพะดู เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ทนแล้งได้ดี เลี้ยงง่าย กินง่าย และเหมาะกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ อีกทั้งการเลี้ยงแพะยังทำให้เกษตรกรมีเวลาว่าง สามารถทำไร่ควบคู่กันได้” คุณศักดา กล่าว

ข้างต้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกษตรกรโคกเจริญปรับเปลี่ยนมาทำอาชีพเสริมเลี้ยงแพะกันมากขึ้น   ปัจจุบัน เกษตรกรในอำเภอโคกเจริญมีทั้งที่เลี้ยงแพะอย่างจริงจัง และมีคุณภาพ จึงเสียงตอบรับจากผู้ซื้อที่มาซื้อแพะของทางกลุ่ม ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เนื้อแพะมีคุณภาพ

เกษตรกรผู้เลี้ยงกับลูกแพะคุณภาพ
เกษตรกรผู้เลี้ยงกับลูกแพะคุณภาพ

การประกอบอาชีพการเลี้ยงแพะของเกษตรกรในพื้นที่ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสำนักงานปศุสัตว์ อำเภอโคกเจริญ และสำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดลพบุรี นอกจากนี้ ยังได้รับความเห็นชอบและความร่วมมือจากอำเภอโคกเจริญ ให้การสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการยุทธศาสตร์อำเภอในการจัดหาพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์แพะมาเลี้ยงทั้งสิ้น 165 ตัว แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 15 ราย

สำหรับสมาชิก ช่วงเริ่มแรกของการเลี้ยงจะได้รับทุนจากกลุ่ม เป็นแพะพ่อพันธุ์ จำนวน 1 ตัว และแม่พันธุ์ 10 ตัว เมื่อให้ลูกตัวแรกสมาชิกต้องคืนลูกแพะให้กับกลุ่ม เพื่อเป็นทุนให้กับสมาชิกท่านอื่นรับเลี้ยงต่อไป

สมาชิกต้องเลี้ยงแพะอย่างน้อย 2 ปี แพะจึงจะตกเป็นของผู้เลี้ยงรายนั้น

นอกจากนี้ คุณศักดา ยังเล่าว่า ช่วงที่เริ่มต้นเลี้ยงเพื่อจำหน่ายนั้น สมาชิกจะเลี้ยงแพะจนกระทั่งมีน้ำหนักประมาณ 16-17 กิโลกรัม แล้วจะส่งขายให้เกษตรกรที่อื่นขุนต่อ แต่ปัจจุบัน ทางกลุ่มได้ปรับเปลี่ยนและส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแพะในรูปแบบต้นน้ำและกลางน้ำ คือการผลิตแม่พันธุ์และลูกแพะเพื่อป้อนสมาชิกขุนในพื้นที่ ซึ่งจะได้ราคาเพิ่มขึ้น กิโลกรัมละ 5 บาท และใช้เวลาในการขุนเพิ่มขึ้นอีก 2 เดือน เป็นการเพิ่มรายได้ให้สมาชิกมากขึ้น

อาหารสำหรับแพะส่วนใหญ่แล้วเป็นพืชที่หาได้ทั่วไปในพื้นที่อย่างกระถินเป็นหลัก โดยเป็นพืชอาหารที่ขึ้นอยู่มากในพื้นที่ รวมถึงหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ที่มีการส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่ และมันสำปะหลังสับ เสริมมื้อเย็น ล้วนแล้วเป็นพืชที่มีอยู่ทั่วไป และเป็นพืชไร่ที่เกษตรกรทำควบคู่กับการเลี้ยงแพะนั่นเอง

กระถินสด อาหารหลักสำหรับแพะ หาได้ง่ายในพื้นที่
กระถินสด อาหารหลักสำหรับแพะ หาได้ง่ายในพื้นที่

สำหรับในช่วงฤดูแล้ง จะพบปัญหา คือ อาหารหลักของแพะอย่างกระถินไม่เพียงพอ ทำให้เกษตรกรต้องไปหาไกล บางครั้งต้องเดินทางไปต่างอำเภอ เกษตรกรผู้เลี้ยงจะต้องรับมือแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการเตรียมอาหารไว้ โดยเกษตรกรที่อำเภอโคกเจริญจะหมักหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ไว้สำหรับให้แพะกินในหน้าแล้ง

ส่วนปัญหาด้านโรคต่างๆ ในการเลี้ยงแพะของกลุ่ม คุณจรินทร สุขประเสริฐ เจ้าพนักงานสัตวบาล สำนักงานปศุสัตว์ อำเภอโคกเจริญ กล่าวว่า ในช่วงเริ่มเลี้ยงเมื่อเกิดปัญหาแล้วมีความยากลำบากในการแก้ไข เนื่องจากประสบการณ์และความรู้ของเกษตรกรในการเลี้ยงแพะที่ไม่มากพอ ไม่รู้ว่าแพะต้องดูแลอย่างไร มีโรคติดต่ออะไรบ้าง

ปัญหาแรกที่พบคือ โรคแท้งติดต่อ

แต่ด้วยความมุ่งมั่นของเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ช่วยกันแก้ไขปัญหา ด้วยการเจาะเลือดตรวจ

โดยในภายหลังมีนโยบายว่า เมื่อตรวจพบว่าแพะเป็นโรคแท้งติดต่อ จะต้องมีการทำลายทิ้ง และการเลือกซื้อแพะที่เข้าเลี้ยง ควรมาจากฟาร์มของเกษตรกรที่ปลอดโรคเป็นหลัก จึงเป็นที่มาของการทำฟาร์มปลอดโรคของกลุ่ม

โดยกลุ่มตั้งเป้าให้สมาชิกทุกรายที่เลี้ยงแพะต้องมีฟาร์มเลี้ยงแพะที่ปลอดโรค ส่งเสริมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ปัจจุบัน สมาชิกในกลุ่มมีฟาร์มปลอดโรคระดับเอ ทั้งสิ้น 19 ราย ระดับบี 7 ราย มาตรฐานฟาร์ม 9 ราย และกำลังยื่นขอระดับบี อีก 5 ราย

ภายในคอกเลี้ยงแพะ มีถาดสำหรับใส่มันสำปะหลังสับ
ภายในคอกเลี้ยงแพะ มีถาดสำหรับใส่มันสำปะหลังสับ

เมื่อฟาร์มแพะมีคุณภาพแพะปลอดโรค จึงส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่โดยรอบมาขอซื้อแพะของกลุ่มไปทำฟาร์มปลอดโรค อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อสมาชิกในกลุ่ม ในการแลกเปลี่ยนพ่อพันธุ์ เกิดความมั่นใจทั้งกับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะภายในกลุ่มเอง เกษตรกรภายนอกที่มาซื้อแพะรวมทั้งพ่อค้าที่มาซื้อแพะเพื่อนำไปจำหน่ายต่อด้วย

หนึ่งในประสบการณ์เกี่ยวกับโรคระบาดเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาของการเลี้ยงแพะที่ทางกลุ่มเจอ คือโรคพยาธิในเลือด เกิดจากการที่เกษตรกรปล่อยแพะเลี้ยงในพื้นที่เดิมซ้ำๆ ปัญหานี้ทำให้แพะที่เลี้ยงในฟาร์มขนาดใหญ่ตายมากกว่า 100 ตัว

จากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงนำมาระบบการจัดการฟาร์มตามหลักวิชาการมากขึ้น

“เมื่อเกิดปัญหา เกษตรกรภายในกลุ่มไม่นิ่งเฉย ได้ติดต่อให้สถาบันสุขภาพสัตว์มาตรวจและเจาะเลือดแพะ ซึ่งโรคพยาธิในเลือดอาการของแพะจะคล้ายคลึงกับท้องเสียมาก ทำให้เกษตรกรไม่ทราบว่าแพะป่วยเป็นโรคอะไร เมื่อทางจังหวัดมาให้ความรู้ ทำให้สามารถสังเกตได้ว่า แพะเป็นพยาธิในเลือด หรือท้องเสีย”

“เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ในการเลี้ยงแพะ โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแพะที่เกษตรกรเลี้ยง ทางกลุ่มจะติดต่อประสานงานกับทางจังหวัดทันทีทุกครั้ง เพื่อมาให้ความรู้ วิธีการแก้ไขปัญหา การให้ยา” คุณจรินทร กล่าว

ด้านตลาดซื้อ-ขาย แพะ ถือว่ามีความสดใส เนื่องจากปัจจุบันผลผลิตของกลุ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ซื้อ ทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดมีผู้ซื้อประเทศเวียดนาม แจ้งเข้ามาว่า มีความต้องการแพะมากถึง 2,000 ตัว ต่อเดือน

ผลผลิตของฟาร์ม
ผลผลิตของฟาร์ม

ปัจจุบัน กำลังการผลิตของกลุ่มอยู่ที่เดือนละ 100 ตัว เท่านั้น ดังนั้น ทางกลุ่มได้ตั้งเป้าผลิตแพะในอนาคตไว้ที่ 900 ตัว คือขุน 3 รอบ ต่อปี เพิ่มเป็นรอบละ 300 ตัว

“ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในทุกวันนี้ เกิดจากการกระจายข่าวสารระหว่างกัน ทั้งจากทางจังหวัดและชมรม ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะของโคกเจริญมีความรู้ รวมทั้งทราบข้อมูลราคาแพะที่ตลาดทั่วไปซื้อ-ขายกัน ทำให้เกษตรกรไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรรับรู้ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ การตั้งกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในสังคมออนไลน์ มีส่วนช่วยไม่น้อยที่ทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ แพะ แกะ โคกเจริญประสบความสำเร็จ” คุณศักดา กล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คุณศักดา พานสายตา ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ แพะ แกะ โคกเจริญ หมายเลขโทรศัพท์ (062) 216-1295