เกษตรกรแม่ฮ่องสอน รวมพลังเลี้ยงวัวขุนอย่างมีระบบ ดันรายได้พุ่ง

อาชีพทางการเกษตรของประชากรอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าวนาปี เมื่อเสร็จจากการเก็บผลผลิตแล้วมักนิยมทำเกษตรนอกฤดู อย่างเช่น ปลูกกระเทียม ถั่วเหลือง และถั่วลิสง หรือปลูกพืชชนิดอื่นบ้างเล็กน้อยเพื่อจำหน่ายและเก็บไว้บริโภคภายในครัวเรือน

สำหรับวัวจะเลี้ยงเพื่อใช้งานและบริโภคในครัวเรือน วิธีเลี้ยงด้วยการต้อนฝูงขึ้นไปอยู่และหากินในป่าบนภูเขา ขาดการดูแลเอาใจใส่ จนทำให้วัวมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ตัวเล็ก ผอม ขี้โรค ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการนำมาใช้งานหรือบริโภค หรือแม้แต่ขายก็ได้ราคาต่ำ

ทั้งนี้ ทางสำนักงานปศุสัตว์อำเภอสบเมยเห็นว่า หากชาวบ้านปรับเปลี่ยนวิธีเลี้ยงวัวให้มาเป็นแบบควบคุมอย่างมีระบบตามแนวทางมาตรฐาน พร้อมไปกับการส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงวัวตามแนวทางโครงการวัวแก้จน ตามนโยบายของรัฐบาลก็จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายวัวเพิ่มขึ้น จึงชักชวนชาวบ้านที่มีความพร้อม มีความสนใจและสมัครใจเข้าเป็นกลุ่มนำร่องดำเนินงานตามแผนมาแล้วกว่า 3 ปีจนประสบความสำเร็จ ผลักดันกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงวัวให้เกิดขึ้น สร้างบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันในชุมชน ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ทีมงานนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านลงพื้นที่บ้านแม่ทะลุ ตำบลสบเมย พูดคุยกับผู้แทนชาวบ้านที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเลี้ยงวัว ตลอดจนกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเลี้ยงวัวบ้านแม่ทะลุที่เป็นกลุ่มใหญ่, ธนาคารโค หรือแม้แต่วิสาหกิจชุมชนบ้านแม่ทะลุซึ่งเป็นกลุ่มด้านแปรรูป ขณะที่ทางปศุสัตว์อำเภอสบเมยยังได้ร่วมให้ข้อมูลในครั้งนี้ด้วย

คุณสมชาย พรมละอองวัน หรือ หมอแม๊ก สัตวบาลอำเภอสบเมย กล่าวถึงภาพรวมตลอดจนแนวทางการส่งเสริมให้ชาวบ้านมาเลี้ยงวัวอย่างเป็นระบบว่า โดยปกติชาวบ้านในพื้นที่บ้านแม่ทะลุจะเลี้ยงโคและกระบือกันเกือบทุกครัวเรือนมาช้านาน แล้วใช้วิธีเลี้ยงแบบปล่อยอิสระหากินบนภูเขา ซึ่งพบว่ามีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ความสมบูรณ์ การขยายพันธุ์จึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

(จากซ้าย)หมอแม๊ก,คุณธีระชัย,คุณดอยสุและคุณมานิต

เมื่อเป็นเช่นนั้นทางปศุสัตว์อำเภอสบเมยจึงมีแนวคิดที่ต้องการให้ชาวบ้านเปลี่ยนวิธีคิดและการเลี้ยงวัวด้วยการนำมาเลี้ยงในคอกแบบเป็นระบบเพื่อให้มีมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมามีชาวบ้านบางรายเห็นดีด้วยแล้วลองปรับเปลี่ยนวิธีเลี้ยงตามแนวทางที่ทางปศุสัตว์สบเมยแนะนำจนได้ผลสำเร็จ กระทั่งมีรายอื่นสนใจหันมาปรับวิธีเลี้ยงตามเหมือนกัน

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวยังได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในโครงการวัวแก้จน โดยโครงการนี้ทางภาครัฐมอบลูกวัวแก่ชาวบ้านที่แจ้งความประสงค์จำนวน 5 ตัวแก่ชาวบ้าน 1 ราย จากนั้นเมื่อชาวบ้านเลี้ยงวัวจนมีลูกแล้วจะต้องคืนลูกวัวเพศเมียจำนวน 5 ตัวแรกของฝูงกลับมาเพื่อจะได้นำลูกวัวกระจายให้แก่ชาวบ้านรายอื่นนำไปเลี้ยงในลักษณะเดียวกันต่อไป

คุณสมชาย ชี้ว่า การที่จะให้ชาวบ้านมาเลี้ยงแบบระบบคอก ควรจะต้องให้ชาวบ้านได้เห็นถึงประโยชน์ของระบบคอกเสียก่อน พร้อมไปกับได้รู้ถึงผลดีผลเสียของการเปลี่ยนแปลงการเลี้ยงจากระบบเลี้ยงปล่อยมาเป็นระบบคอก และต้องมีฟาร์มสาธิตตัวอย่างการเลี้ยงระบบคอกที่ประณีตเพื่อชี้ให้เห็นข้อดี หรือแม้แต่ฝูงโคที่ดีควรจัดถูกต้องอย่างไร

อีกทั้งยังต้องมีการปลูกหญ้าที่มีความสมบูรณ์ไว้เพื่อเป็นอาหารและเสบียงตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าแล้ง แล้วหากวัวมีปัญหาสุขภาพต้องรักษาทันที ซึ่งแนวทางนี้ช่วยสร้างสุขภาพวัวให้ดีขึ้น เพราะผู้เลี้ยงได้ดูแลสุขภาพวัวอย่างใกล้ชิด ทำให้วัวทุกตัวมีความสมบูรณ์ ปราศจากปัญหาโรคช่วยลดการสูญเสีย ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่อยู่ในกลุ่มสามารถสร้างรายได้จากขี้วัวในระหว่างเลี้ยงซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่า

ระบบคอกจะมีอาหารคุณภาพให้วัวกินตลอด

“อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้จะนำวิธีการและกระบวนการทำงานของธนาคารโค-กระบือ อันเนื่องมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มาร่วมใช้กับกิจกรรมของกลุ่มต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นแบบบูรณาการใช้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐเลย”

หมอแม๊กเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าสมาชิกกลุ่มสามารถผลิตลูกวัวเพศผู้ได้แล้ว ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัวจะรับซื้อลูกวัวเหล่านั้นเพื่อมาเลี้ยงขุนต่อจนโตมีขนาดตามที่ตลาดต้องการแล้วขายได้ราคาสูงกว่าสมัยก่อนเป็นเท่าตัว เหตุนี้เองจึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านร่วมมือกับทางปศุสัตว์สบเมยหันมาเลี้ยงวัวอย่างเป็นระบบได้มาตรฐานตามที่ทางโรงงานแปรรูปเอกชนต้องการ

ศูนย์ผสมเทียมและ สนง.ปศอ.สบเมย ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคการผสมเทียมโค

นอกจากนั้น ยังชี้ว่าภายหลังเมื่อธนาคารขี้วัวมีรายได้จากการขายขี้วัวให้แก่ผู้รับซื้อเพื่อนำไปผลิตปุ๋ยแล้ว รายได้ที่เกิดจากส่วนต่างของราคาขายก็จะนำกลับมาใช้เป็นกองกลางเพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการจัดสรรหรือบริหารจัดการเงินก้อนนี้ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ยืมบ้าง ซื้ออุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักรเพื่อใช้งานร่วมกัน หรือสำหรับไว้ซื้อยาเวชภัณฑ์ต่างๆ ในราคาทุนเพื่อขายในราคาต่ำแก่สมาชิก

พร้อมยังบอกต่ออีกว่า การจัดกิจกรรมกลุ่มอยู่ตลอดเวลาเป็นการช่วยให้สมาชิกแต่ละรายมีหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกัน มีการช่วยเหลือกัน ช่วยยึดเหนี่ยวให้สมาชิกมีความรัก สามัคคี นอกจากนั้นแล้ว ชาวบ้านยังเกิดความคิดสร้างสรรค์หลายอย่าง มีการนำเศษวัสดุเหลือมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างมูลค่า ลดต้นทุน เพิ่มรายได้

“ทุกวันนี้ต้องถือว่ากลุ่มเลี้ยงวัวแม่ทะลุมีความเข้มแข็งที่สุดในสบเมย พร้อมกับยังเป็นกลุ่มนำร่องที่สร้างความเชื่อถือและศรัทธาให้แก่ชาวบ้านในชุมชนอื่นนำไปปฏิบัติด้วย”

คุณมานิต สายทรัพย์สิน ประธานธนาคารโค บอกว่า วัวที่เลี้ยงไว้ของครอบครัวมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 60 ตัว แต่เดิมเลี้ยงวัวกันไปตามวิถีทางธรรมชาติที่แต่ละรายมีความถนัด จนเมื่อทางปศุสัตว์สบเมยเห็นว่าการเลี้ยงดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อรายได้และควรเปลี่ยนวิธีเลี้ยงแบบระบบเพื่อควบคุมการเลี้ยงวัวให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยแนวทางดังกล่าวประกอบด้วยการปลูกหญ้าคุณภาพเพื่อเป็นอาหารวัว จัดทำธนาคารขี้วัว ตลอดจนการแปรรูปขี้วัวเป็นปุ๋ยอินทรีย์

คุณมานิต พอมีพื้นฐานความรู้เรื่องวัวมาบ้างเพราะเคยได้ผ่านการอบรมและฝึกฝนมาจากภาคเกษตรของวิทยาลัยราชบุรี ครั้นเมื่อได้รับข้อมูลการถ่ายทอดจากทางปศุสัตว์อีกจึงทำให้เกิดความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว แล้วมีการนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับแนวทางของปศุสัตว์สบเมยต่อไป

คุณมานิต(ขวา)พร้อมหมอแม๊ก(ซ้าย)เข้าเยี่ยมสมาชิก

สำหรับการขยายพันธุ์วัว คุณมานิต บอกว่า ทางกลุ่มได้มีโอกาสไปอบรมเรียนรู้วิธีผสมเทียมวัวที่เชียงใหม่ แล้วนำกลับมาปฏิบัติในหมู่บ้าน ตั้งแต่กลางปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่วัวที่เลี้ยงมีความสมบูรณ์เต็มที่พร้อมมีลูก อย่างไรก็ตาม ได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการในพื้นที่ว่าอำเภอสบเมยควรจะเลี้ยงวัวพันธุ์บราห์มันกับแองกัสจะเหมาะสมที่สุด

ประธานธนาคารโค บอกว่า รูปแบบการเลี้ยงวัวของชาวบ้านในพื้นที่เป็นแบบอิสระที่ทำกันมาช้านาน โดยในฤดูเพาะปลูกจะปล่อยวัวขึ้นไปอยู่บนภูเขาเพื่อให้ไปหากินอาหาร เนื่องจากพื้นที่เลี้ยงวัวมีไม่มากพอเพราะต้องใช้ทำเกษตรกรรม ระหว่างนั้นแต่ละบ้านจะผลัดเปลี่ยนส่งคนขึ้นไปดูแลฝูงวัวของตัวเอง จนเมื่อหลังเสร็จสิ้นช่วงทำเกษตรกรรมจึงนำวัวเหล่านั้นกลับมา

“วัวที่ชาวบ้านปล่อยเลี้ยงอาศัยบนภูเขามักจะกินหญ้าและพืชต่างๆ เป็นอาหาร วัวต้องผจญกับอันตรายจากสัตว์มีพิษชนิดต่างๆ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงจะทำให้สุขภาพวัวตกต่ำ ผอม มีขนาดตัวเล็ก ขี้โรค บางตัวมีอาการเจ็บไข้รักษาไม่ทันก็ตาย พอนำกลับมาเลี้ยงที่บ้านจะต้องใช้เวลาดูแลนานกว่าสุขภาพจะฟื้นกลับมา หรือถ้ามีพ่อค้ามาติดต่อซื้อก็ได้ราคาต่ำมาก”

ตรวจเลือด และทำวัคซีน

นอกจากนั้น ยังเพิ่มเติมอีกว่าการได้อยู่ใกล้ชิดกับวัวทำให้ได้มีโอกาสดูแลความผิดปกติอย่างใกล้ชิด เมื่อเห็นความผิดปกติของวัวจะได้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ทันทีเพื่อรักษา นอกจากนั้น ยังบอกว่าแต่เดิมชาวบ้านไม่เคยคิดว่าการดูแลเอาใจใส่วัวอย่างใกล้ชิดและจริงจังจะมีผลต่อการสร้างคุณภาพของวัวให้ดีขึ้น เพราะชาวบ้านต่างมองว่าการเลี้ยงวัวเพียงแค่ปล่อยให้หากินหญ้าอย่างอิสระเหมือนเป็ด ไก่ ก็เพียงพอแล้ว เพราะถ้ารู้ว่าการนำวิธีเลี้ยงแบบนี้มาใช้คงไม่ปล่อยให้ขึ้นไปอยู่ตามป่าบนภูเขาอย่างแน่นอน เพราะคงต้องหาพื้นที่สำหรับเลี้ยงวัว

คุณมานิต บอกว่า ภายหลังปศุสัตว์สบเมยเข้ามาให้ความรู้แนะนำวิธีการเลี้ยงวัวตามแนวทางและวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งมีระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ จึงทำให้ชาวบ้านในชุดที่เป็นกลุ่มนำร่องเริ่มเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นเพราะวัวมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ อ้วน ตัวใหญ่ ไม่ป่วยบ่อย มีคุณภาพเนื้อดี ที่สำคัญขายได้ราคาสูงกว่าเมื่อก่อนเป็นเท่าตัว สำหรับลูกวัวที่ได้รับการสนับสนุนให้นำมาเลี้ยงในโครงการวัวแก้จนถือเป็นการต่อยอดเพื่อให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้น แล้วยังช่วยให้ชาวบ้านทุกคนเกิดความกระตือรือร้นขึ้นเป็นอย่างดี

ทางด้าน คุณดอยสุ เหล่าไพรวัลย์ ประธานเลี้ยงวัวกลุ่มใหญ่บ้านแม่ทะลุ กล่าวว่า ภายหลังที่ใช้แนวทางการเลี้ยงวัวอย่างเป็นระบบแล้วพบว่ามีสุขภาพดีขึ้นจากที่เคยท้องเสียเป็นประจำก็หายไป เพราะได้กินอาหารและยาที่ถูกต้อง สามารถรักษาอาการเจ็บไข้ได้ทันที จนแทบจะไม่เคยป่วยเลย จากเมื่อก่อนไม่รู้สาเหตุว่าเป็นโรคอะไร บางตัวก็ตายทันที

คุณดอยสุ เปลี่ยนวิธีเลี้ยงวัวมาเป็นรูปแบบใหม่มาได้ประมาณ 8 ปี พร้อมกับเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีอย่างชัดเจน แล้วที่เห็นชัดมากที่สุดคือการมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากเป็นคนเลี้ยงวัวแล้วคุณดอยสุยังมีหน้าที่เป็นแกนนำอาสาหมู่บ้าน จึงทำให้เขาได้มีโอกาสเข้าอบรมเทคนิคการทำเกษตรด้านต่างๆ ใหม่ๆ ทุกเรื่องตลอดเวลา รวมถึงการเลี้ยงวัว แล้วนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านในชุมชน แล้วยังเป็นผู้ที่ต้องเชื่อมโยง ประสานงานระหว่างชุมชนกับภาคราชการ ตลอดจนดูแลภาพรวมของการเลี้ยงวัวในชุมชน

ทำฟางอัดไว้ใช้ในหน้าแล้ง

อีกท่านที่มีบทบาทเช่นกันคือ คุณธีรชัย สืบไมตรีสัมพันธ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่ทะลุ ได้บอกว่า การเปลี่ยนวิธีเลี้ยงวัวมีส่วนช่วยทำให้ราคาขายดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะจากเดิมราคาซื้อ-ขายวัวของชาวบ้านในชุมชนนี้ไม่สูงเนื่องจากคุณภาพวัวไม่ได้มาตรฐานตามที่พ่อค้าต้องการ แต่พอชาวบ้านปรับวิธีการเลี้ยงให้มีรูปแบบที่ชัดเจนทำให้คุณภาพวัวดีขึ้น เป็นที่ยอมรับจากพ่อค้าว่าเป็นวัวที่ได้มาตรฐาน จนทำให้ได้ราคาดีกว่าเดิม

ทั้งนี้ ชาวบ้านไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีตลาดรองรับ เพราะทุกวันนี้พ่อค้าจากหลายแห่งต่างเดินทางเข้ามาหาซื้อวัวกันอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ความต้องการวัวยังมีอยู่มาก เพียงแต่ขอให้ชาวบ้านหันมาใส่ใจกับการเลี้ยงวัวอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐานเท่านั้น

นอกจากนั้น ยังบอกอีกว่าการเลี้ยงวัวของชาวบ้านแทบจะไม่ต้องลงทุนอะไร เพียงแต่ปรับวิธีเลี้ยงตามแนวทางที่ปศุสัตว์สบเมยแนะนำก็จะทำให้ได้วัวที่มีความสมบูรณ์มากกว่าเดิม สามารถขายได้ราคาตัวละเฉลี่ย 3 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่น่าพอใจมาก แต่หากปล่อยเลี้ยงแบบเดิมขายได้เพียงตัวหมื่นกว่าบาทเท่านั้น

คุณธีรชัย เผยว่า วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงวัวแม่ทะลุได้เริ่มตั้งเมื่อปี 2549 มีสมาชิกกลุ่มอยู่จำนวน 17 ราย มีการกำหนดกฎ ระเบียบ ที่ชัดเจน โดยมีข้อกำหนดร่วมกันว่าต้องรวมกันขายวัว ห้ามขายกันเองเพื่อจะได้กำหนดราคาให้เหมาะสมแล้วเลี่ยงการถูกกดราคาที่ไม่เป็นธรรม

วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงวัวแม่ทะลุได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส. ซึ่งกำหนดแผนต้องการให้ชุมชนบ้านแม่ทะลุเป็นสถานที่นำร่องสำหรับการเลี้ยงวัวอย่างเป็นระบบให้ได้มาตรฐาน โดยกำหนดให้มีการขุนวัวเพศผู้วัวจำนวน 30 ตัวก่อน ขณะเดียวกัน มีการจัดเตรียมและคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ไว้สำหรับขยายพันธุ์ในอนาคต

การทำอาหารหมักและเศษวัสดุหมักจากเปลือกข้าวโพด

ทั้งนี้ หลายกลุ่มได้หารือร่วมกันว่าต้องการยกระดับการเลี้ยงวัวในชุมชนแห่งนี้เพื่อให้ได้มาตรฐาน เป็นตัวอย่างสำหรับชาวบ้านในชุมชนอื่นที่ต้องการขยายผล แล้วยังวางเป้าหมายให้การเลี้ยงวัวเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้อย่างมั่นคงให้แก่ชาวบ้านตลอดไป

“ภายหลังการพัฒนาและปรับปรุงวิธีการเลี้ยงวัวตามแนวทางที่ปศุสัตว์สบเมยแนะนำแล้วทำให้ชาวบ้านสามารถสร้างคุณภาพวัวได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เป็นที่ชื่นชอบของพ่อค้าที่มาซื้อวัว และที่สำคัญทางกลุ่มสามารถตั้งราคาขายได้เอง ต่างจากเมื่อก่อนที่พ่อค้ากำหนดราคาให้” คุณธีรชัย กล่าว

ความจริงแล้วชาวบ้านในชุมชนก็มีทักษะความรู้ความชำนาญการเลี้ยงวัวอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเขาขาดการแนะนำ ขาดหลักวิชาการและเทคนิคสำหรับการเลี้ยงที่ถูกต้อง ภายหลังที่ได้รับการถ่ายทอดจากทางปศุสัตว์สบเมยซึ่งเข้ามาทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้แก่ชาวบ้าน จึงทำให้พวกเขามองเห็นกรอบ แนวทางการเลี้ยงวัวอย่างมีคุณภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามมาทันที ฉะนั้น ความสำเร็จเช่นนี้จึงเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับทางปศุสัตว์อำเภอสบเมย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอสบเมย โทรศัพท์ 053-618-211 หรือคุณสมชาย พรมละอองวัน สัตวบาลอำเภอสบเมย โทรศัพท์ 081-681-3851

ขอขอบคุณ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอสบเมย ที่อำนวยความสะดวกการทำรายงานข่าวในครั้งนี้

หญ้าเนเปียร์อาหารวัวที่มีคุณค่าสารอาหารสูง

…………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563