สุพิชญา ฟาร์ม ผู้เลี้ยงวัวนมรายย่อย กับความอยู่รอดที่รอท้าทาย

สวัสดีครับ เจอกันกับผม ธนากร เที่ยงน้อย เป็นครั้งแรกในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” ที่ผมอาสามาเขียนประจำ คอลัมน์นี้ผมตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องราวของเกษตรกรรายย่อยที่มีแนวคิดก้าวหน้า มีวิธีการปฏิบัติที่น่าสนใจ เหมาะควรที่จะเสนอเป็นตัวอย่างให้แก่พี่น้องเกษตรกรท่านอื่นๆ

แม่วัวพร้อมรีดนม ทั้งหมด 46 ตัว

พบกันครั้งแรกผมขออนุญาตเล่าที่มาที่ไป ว่าทำไมผมต้องเจาะจงนำเสนอเรื่องราวของเกษตรกรรายย่อย? คำตอบก็เนื่องมาจากข้อมูลมากมายทั้งของภาครัฐและเอกชน ชี้ตรงกันว่าเกษตรกรรายย่อยคือคนสำคัญ เช่น

กรมส่งเสริมการเกษตรรายงานว่า “เกษตรกรรายย่อยถือเป็นเกษตรกรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและเป็นกลุ่มที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าเกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยนำรายได้มาใช้จ่ายในระดับชุมชนเกิดการหมุนเวียนของเงินตรา”

หรือ FAO (2018) ที่รายงานว่า ผลผลิตอาหารในโลก ราว 80% ผลิตมาจากฟาร์มขนาดเล็กของครอบครัว และเกินกว่า 90% ของฟาร์มทั่วโลกเป็นฟาร์มขนาดเล็กที่เป็นธุรกิจของครอบครัว คำถามถัดมา ใครคือเกษตรกรรายย่อย? คำตอบที่เป็นประกาศของภาครัฐ เกษตรกรรายย่อยคือ เกษตรกรที่ทำนาไม่เกิน 50 ไร่ กรณีทำไร่ต้องมีไม่เกิน 50 ไร่ กรณีทำสวนต้องปลูกไม้ผลไม่เกิน 15 ไร่ กรณีทำสวนพืชผัก ต้องปลูกพืชผักไม่เกิน 5 ไร่ กรณีเป็นผู้เลี้ยงวัวเนื้อ ต้องมีวัวไม่เกิน 30 ตัว กรณีเลี้ยงวัวนมแม่พันธุ์ ต้องมีวัวไม่เกิน 10 ตัว เป็นต้น

แต่เกษตรกรรายย่อยที่ผมจะไปพบปะพูดคุยและนำเรื่องราวมาเสนอในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” คงไม่จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติตรงเป๊ะตามประกาศหรอกครับ เพียงแต่เป็นเกษตรกรที่ทำฟาร์มในลักษณะธุรกิจครอบครัว วันนี้อาจจะมีที่ดินทำฟาร์ม 100 ไร่ มีวัวนม 100 ตัว แต่กว่าที่เขาจะมาถึงจุดนี้เขามีวิธีการอย่างไร มีแนวคิดและวิธีปฏิบัติอย่างไร

ผมจะไปเรียนรู้และนำมาเล่าต่อให้ทราบกัน คอยพบกับผมได้ทุกเดือนตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไปครับ ประเดิมเรื่องแรก ผมขอพาท่านไปชมฟาร์มวัวนมที่เจ้าของมีการบริหารจัดการ มีแนวคิดที่น่าสนใจ ใช้เป็นฟาร์มตัวอย่างได้เป็นอย่างดีที่ “สุพิชญา ฟาร์ม”

คุณบัณฑิตย์ จองปุ๊ก เจ้าของสุพิชญา ฟาร์ม

“สุพิชญา ฟาร์ม” เริ่มต้นจากแม่วัวนม 3 ตัว

Advertisement

พาท่านมาที่ สุพิชญา ฟาร์ม ที่หมู่ 9 บ้านหนองสามพราน ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ที่มี คุณบัณฑิตย์ จองปุ๊ก เป็นเจ้าของ คุณบัณฑิตย์ เล่าว่า เริ่มต้นทำฟาร์มวัวนมมาตั้งแต่ปี 2548 โดยเริ่มต้นจากแม่วัวนมแค่ 3 ตัว ในวันนั้น เหตุที่คุณบัณฑิตย์ต้องเริ่มต้นเลี้ยงวัวนมมาจากคำสบประมาทที่ว่า เลี้ยงวัวเป็นเหรอ

“เมื่อก่อนผมเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของสหกรณ์โคนมกาญจนบุรี จำกัด แต่เนื่องจากผมไม่ได้เลี้ยงวัว แถมตัวเองยังเรียนจบมาทางด้านรัฐศาสตร์ พอเข้าไปพูดคุยส่งเสริมกับเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์โคนม ชาวบ้านไม่ยอมรับเราไม่เชื่อถือเรา ผมจึงมานั่งคิดหาทางลบคำสบประมาทด้วยการซื้อแม่วัวนมมาเลี้ยงเริ่มต้นที่แม่วัว 3 ตัว” ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้คุณบัณฑิตย์ยังพัฒนาการเลี้ยงวัวนมด้วยการหาความรู้ด้านการผลิตและการจัดการฟาร์มวัวนมอยู่เสมอ

Advertisement
แม่วัวพร้อมรีดนม ทั้งหมด 46 ตัว

“สุพิชญา ฟาร์ม” ในวันนี้

การจัดการต้นทุนคือเรื่องสำคัญ

สุพิชญา ฟาร์มในวันนี้เติบโตขึ้น มีปริมาณวัวเพิ่มมากขึ้น มีคนงานเพิ่มมากขึ้น ปริมาณและคุณภาพของน้ำนมดิบจากฟาร์มก็ดีขึ้น

“ผมมีแม่วัวรีดอยู่ 46 ตัว แม่วัวดราย (วัวยังไม่ตั้งท้อง) 8 ตัว แม่วัวรุ่นที่เตรียมขึ้นมาเป็นแม่รีดนมชุดใหม่อีก 36 ตัว วัวพ่อพันธุ์สำหรับเอาไว้ผสมจริงและจับสัดอีก 1 ตัว” คุณบัณฑิตย์ เล่า

ในเรื่องของต้นทุนคุณบัณฑิตย์บอกว่า ทุกวันนี้สามารถรีดนมได้ปริมาณ 16 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน ซึ่งคิดจากราคาขายน้ำนมดิบแล้วนมที่รีดได้ 7 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน จะเป็นต้นทุน หมายถึงแม่วัว 1 ตัว จะต้องให้น้ำนมดิบมากกว่า 7 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน ผู้เลี้ยงจึงจะมีกำไร น้ำนมดิบที่ได้ทั้งหมดจะส่งขายที่สหกรณ์โคนมกาญจนบุรี จำกัด

คุณบัณฑิตย์ บอกว่า “อาชีพการเลี้ยงวัวนมนั้นเป็นอาชีพที่ยั่งยืน เพราะราคาน้ำนมเป็นราคาประกัน การขึ้น-ลงของราคาน้ำนมต้องเป็นมติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนั้น ราคาน้ำนมจะค่อนข้างนิ่งซึ่งเป็นหลักประกันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมจะอยู่รอดได้ หรือจะขยับขยายให้ก้าวหน้าขึ้นไปได้ก็ต้องอยู่ที่การจัดการต้นทุนในฟาร์มของเราเอง”

ต้นทุนที่ว่าก็คือ ค่าจ้างแรงงาน ค่าอาหารข้น ค่าอาหารหยาบ ค่ายารักษาและป้องกันโรค ค่าการจัดการ ฯลฯ ส่วนเรื่องของการเป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมนั้นจำเป็นหรือไม่ คุณบัณฑิตย์ อธิบายว่า ในปัจจุบันเกษตรกรไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์ก็ยังสามารถขายน้ำนมดิบได้

ทุกเช้าน้ำนมดิบจะถูกรีดและรีบนำไปส่งสหกรณ์โคนมกาญจนบุรี จำกัด

การจัดการแบบสุพิชญา ฟาร์ม

คุณบัณฑิตย์ เล่าว่า ที่สุพิชญา ฟาร์มจะให้ความสำคัญกับข้อมูลตัวเลขต่างๆ ทั้งสถิติปริมาณการกินอาหาร ปริมาณน้ำนม ซึ่งทำให้มองเห็นภาพของต้นทุนและจะสามารถจัดการต้นทุนภายในฟาร์มของเราได้ “การจัดการฟาร์มเรื่องแรกของผมคือ การจัดการแม่วัวที่เป็นวัวรุ่น วัวรุ่นในแต่ละฟาร์มจะไม่แตกต่างกันมากนักทั้งเรื่องสายพันธุ์หรือความต้องการสารอาหาร แต่ผมมองต่างจากเกษตรกรรายอื่นๆ คือผมจะต้องเลี้ยงลูกวัวและวัวรุ่นให้สมบูรณ์ที่สุด พร้อมที่สุดก่อนจะเป็นแม่วัวพร้อมรีดนม

ดังนั้น วัวที่สุพิชญา ฟาร์มจะตัวใหญ่กว่าของเกษตรกรรายอื่น เพราะผมจะเลี้ยงให้ถึงทั้งอาหารข้นและอาหารหยาบอย่างเต็มที่เมื่อโตเป็นแม่วัวพร้อมรีดแล้ววัวจะให้ผลผลิตดีทั้งปริมาณและคุณภาพ หากเราไม่บำรุงมาก่อนตั้งแต่เป็นลูกวัว เราจะได้ผลผลิตที่ต่ำทั้งปริมาณและคุณภาพ”  คุณบัณฑิตย์ อธิบาย

นอกจากนั้นเรื่องการจัดการอาหารให้มีคุณค่าและมีปริมาณเพียงพอก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงต้นทุนที่เกษตรกรต้องจ่ายทุกวัน ที่สุพิชญา ฟาร์มจะให้อาหารผสมสำเร็จ (TMR) โปรตีน 12% ประกอบด้วย ซังข้าวโพด หญ้าเนเปียร์สับ ฟาง มันเส้น และอาหารข้น โดยจะให้วันละ 2 รอบ ให้มีอาหารติดรางไว้ตลอด 24 ชั่วโมง วัว 1 ตัว จะสามารถกินได้ประมาณ 4% ของน้ำหนักตัววัว ส่วนหญ้าแห้งจะมีให้ตลอดซึ่งวัวจะกินได้ประมาณ 30-40 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน

ทุกเช้าน้ำนมดิบจะถูกรีดและรีบนำไปส่งสหกรณ์โคนมกาญจนบุรี จำกัด

“ผมมีแปลงหญ้าเนเปียร์อยู่ 30 ไร่ ซึ่งยังไม่พอสำหรับวัว 91 ตัว ที่มี ทำให้ต้องซื้อหญ้าเข้ามาเพิ่มบ้าง ซึ่งถ้าหากไม่มีแปลงหญ้าของตัวเองเกษตรกรจะลำบากในเรื่องของต้นทุนอาหาร” คุณบัณฑิตย์ เล่า

ในเรื่องการจัดการฝูงวัวคุณบัณฑิตย์จะเก็บวัวรุ่น หรือแม่รีดนมชุดใหม่เอาไว้ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นแม่รีดในอนาคต หากเกษตรกรไม่เก็บวัวรุ่นเอาไว้ทดแทน เมื่อแม่รีดหมดอายุไปการหาแม่วัวเข้ามาแทนที่จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า นอกจากนั้น ในเรื่องการผสมพันธุ์ วัวนมส่วนใหญ่ที่พร้อมผสมพันธุ์เกษตรกรจะติดต่อหมอผสมทั้งของราษฎร์ของหลวงมาผสมเทียมให้ แต่ในบางกรณีหมอผสมไม่ว่าง หมอผสมไม่มีน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่เราต้องการ หรือแม่วัวบางตัวผสมเทียมไม่ติดคุณบัณฑิตย์จึงต้องเลี้ยงพ่อวัวเอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินดังกล่าว

โรงเรือนแม่วัวพร้อมรีด ที่สุพิชญา ฟาร์ม

เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมรายย่อย

จะล้มไปหมดถ้าไม่ปรับตัว

คุณบัณฑิตย์ ให้ข้อคิดสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมรายย่อยไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ครับ

“ฟาร์มวัวนมขนาดเล็กของเกษตรกรรายย่อยจะทยอยล้มไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการปรับตัวโดยเฉพาะเรื่องการจัดการต้นทุน ฟาร์มรายย่อยที่อยู่ได้จะต้องมีแม่วัวนมพร้อมรีดไม่น้อยกว่า 10 แม่ ต้องมีแรงงาน 2 คนขึ้นไป และต้องมีแปลงหญ้าของตัวเองจึงจะอยู่ได้ นอกจากนั้นเกษตรกรจะต้องเข้าใจและแก้ปัญหาเอง ทำเองให้ได้ในเรื่องการจัดการโรคในแม่วัวนม ปัญหาการผสมติด อาการเต้านมอักเสบ เจ็บกีบ ในส่วนฟาร์มขนาดกลางๆ ก็ต้องรักษาสมดุลในเรื่องปริมาณวัวพร้อมรีดนม และวัวรุ่นที่จะขึ้นมาแทนที่ในอัตราส่วน 50 : 50 เพื่อให้ยังพอมีทุนมาใช้หมุนเวียนในฟาร์ม และมีแม่วัวรุ่นใหม่มาแทนที่ ส่วนเกษตรกรรายใหม่ที่สนใจจะเข้ามาในธุรกิจนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแค่เริ่มต้นต้องมีเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท สำหรับการลงทุน เพราะแม่วัวพร้อมรีดนมตัวหนึ่งราคาประมาณ 40,000 บาท ยังต้องลงทุนโรงเรือนและอุปกรณ์ซึ่งต้องใช้เงินไม่น้อย ในส่วนของสหกรณ์โคนมที่รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรก็มีปัญหาให้ต้องแก้ไขเช่นกัน หากเป็นสหกรณ์ขนาดเล็กมักติดขัดในเรื่องการขยายจำนวนวัวและจำนวนสมาชิก สาเหตุมาจากติดขัดเรื่องปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน เมื่อรัฐแก้ปัญหานี้ไม่ได้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมรายย่อยก็ลำบากในเรื่องการหาทุนเข้ามาบริหารฟาร์ม”

ผมเล่ามายังไม่ครบยังไม่จบข้อคิดและแนวทางจากคุณบัณฑิตย์เลยครับ แต่ก็ต้องขอจบเรื่องวัวนมของคุณบัณฑิตย์ไว้แค่นี้ก่อน ฉบับหน้ามาดูกันต่อว่า คุณบัณฑิตย์จะมีอาชีพทางเลือกอื่นๆ เพื่อเอามาทดแทนความเสี่ยงจากอาชีพการเลี้ยงวัวนมหรือไม่ ได้โปรดติดตามกันต่อครับ

ส่วนใครสนใจอยากคุยกับคุณบัณฑิตย์ จองปุ๊ก โทร.ติดต่อไปที่เบอร์ (095) 887-7406 ครับ หากคุณอยากทำเกษตร หรือคุณคือเกษตรกรรายย่อย อย่าพลาดติดตาม “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย นะครับ

บรรณานุกรม

กรมส่งเสริมการเกษตร คู่มือโครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร กิจกรรมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยและกิจกรรมพัฒนาการเกษตรเพื่อความยั่งยืน (โครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย) 15 พฤษภาคม 2561 เข้าถึงได้จาก https://www.posttoday.com/property/decoration/507861

ZeroHunger (2018) Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO) เข้าถึงได้จาก https://www.fao.org

ประกาศคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกาศ ณ วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552 เรื่อง รายละเอียดของเกษตรกรรายย่อย

……………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2562