ผู้เขียน | อาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี |
---|---|
เผยแพร่ |
สุพิชญา ฟาร์ม ผู้เลี้ยงวัวนมรายย่อยกับความอยู่รอดที่รอท้าทาย
สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำในคอลัมต์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” ฉบับนี้ยังอยู่กับเกษตรกรรายย่อยที่คิดต่าง คิดเยอะ ทำมาก และก้าวหน้ามาก ที่ “สุพิชญา ฟาร์ม” ฉบับที่แล้วผมพาท่านไปชมธุรกิจวัวนมของ สุพิชญา ฟาร์ม กันมาแล้ว เห็นและทราบกันแล้วว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมรายย่อยนั้นยังอยู่ได้ แต่อาการก็ค่อนข้างย่ำแย่ เพราะสถานการณ์หลายอย่างบีบบังคับ วันนี้เกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงวัวนมอย่าง คุณบัณฑิตย์ จองปุ๊ก เขาปรับตัวอย่างไร เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่น่ากลัวในอนาคต มีอะไรที่คุณบัณฑิตย์สร้างเอาไว้เป็นอาชีพเสริมบ้าง ตามผมไปดู ไปพบข้อคิด และไปเรียนรู้พร้อมๆ กันเลยครับ
“สุพิชญา ฟาร์ม” แพะพันธุ์แท้ ทางเลือก ทางรอด
พาท่านกลับมาที่ สุพิชญา ฟาร์ม ที่หมู่ 9 บ้านหนองสามพราน ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ที่มี คุณบัณฑิตย์ จองปุ๊ก เป็นเจ้าของ นอกจากธุรกิจวัวนมที่ผมพาท่านมาเรียนรู้ไปเมื่อ ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2562 คุณบัณฑิตย์ เกษตรกรรายย่อยคนเก่งของเรายังมีธุรกิจอื่นๆ ที่ทำขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากธุรกิจวัวนมอีกด้วย คุณบัณฑิตย์ เล่าว่า “ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ผมเริ่มมองหาทางออกทางธุรกิจ เพราะผมมองว่าการอยู่ในธุรกิจวัวนมในฐานะเกษตรกรรายย่อยยังมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร ผมจึงมองหาทางลดความเสี่ยง เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ ซึ่งในช่วงนั้นตลาดแพะเนื้อกำลังบูมมาก ผมก็มานั่งคิดดูว่าหากผมเลี้ยงแพะพันธุ์ดีเพื่อผลิตลูกแพะป้อนตลาดจะทำได้ไหม และถ้าจะทำควรจะเริ่มจากแพะพันธุ์ไหน ควรมีการจัดการอย่างไร ผมก็หาความรู้จากตำรับตำรา รวมทั้งถามพูดคุยกับผู้รู้ จนมั่นใจว่าแพะพันธุ์แท้น่าจะเป็นคำตอบที่ดี จึงเริ่มต้นเลี้ยงแพะเนื้อเมื่อ 3 ปีที่แล้ว”
ยอมลงทุนเยอะ เลี้ยงแพะพันธุ์แท้ แพะเลือดสูง
คุณบัณฑิตย์ เริ่มต้นเลี้ยงแพะสายพันธุ์บอร์สายเลือดสูง (สายเลือดแพะพันธุ์บอร์เกิน 75% ขึ้นไป) โดยเริ่มต้นเลี้ยงเพียง 5 ตัว เป็นแพะแม่พันธุ์ 4 ตัว ซื้อมาในราคาตัวละ 6,000 บาท และพ่อพันธุ์เลือดสูงอีก 1 ตัว ซื้อมาราคา 24,000 บาท “ผมเริ่มต้นจากของแพง เริ่มต้นจากแพะสายพันธุ์ดีที่มีสายเลือดบอร์พันธุ์แท้สูง เพราะผมมองว่าแพะพันธุ์บอร์สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดี เพราะแพะพันธุ์นี้มีรูปร่างใหญ่ เนื้อเยอะ โตเร็ว ให้ลูกดี ทนทานกับสภาพแวดล้อมในบ้านเรา และเหมาะที่จะใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับผลิตลูกแพะลูกผสม ไม่ว่าจะนำไปผสมกับแพะพันธุ์พื้นเมืองหรือแพะพันธุ์อื่นๆ ก็จะสามารถแสดงลักษณะเด่นด้านการให้เนื้อเยอะออกมาได้ อีกอย่างคือ แพะเลือดสูงเหมาะที่จะนำมาใช้ผลิตลูกพันธุ์ขาย เพื่อให้เกษตรกรมาซื้อไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งจะเป็นช่องทางที่เราสามารถสร้างราคาได้สูง เพราะคนที่มาซื้อต้องการสายพันธุ์ ไม่ได้ต้องการนำแพะของเราไปเชือด การเลือกแพะพันธุ์แท้ แพะเลือดสูงมาเลี้ยงเพราะผมต้องการจับตลาดขายพันธุ์ที่ราคาดีกว่าเป็นตลาดหลักครับ”
จับตลาดสร้างพ่อแม่พันธุ์ขาย คืนทุนเร็ว
จากจุดเริ่มต้นเลี้ยงแพะเนื้อเพียง 5 ตัว แต่ต้องลงทุนไปถึง 48,000 บาท โดยยังไม่รวมค่าคอก ค่าอาหาร ถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่น้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไป วันนี้คุณบัณฑิตย์ยืนยันว่ามาถูกทาง “ผมจะขายแพะออกไปในตลาดพ่อแม่พันธุ์ แพะสาวราคาตัวละ 6,000-7,000 บาท ขึ้นอยู่กับรูปร่าง โครงสร้าง แพะตัวผู้อดนมขายที่ราคาเริ่มต้นตัวละ 6,000 บาท ส่วนแพะสาวตั้งท้องขายราคาเริ่มต้นที่ตัวละ 14,000 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มาซื้อไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ในฝูง นอกจากนั้นแพะบางตัวที่รูปร่างไม่ค่อยสวย ตัวเล็ก ผมจะไม่ยัดเยียดขายให้เกษตรกรเอาไปทำพ่อแม่พันธุ์ ผมจะเก็บแพะกลุ่มนี้เอาไว้ เมื่ออดนมแล้วผมจะคัดออกมาทำแพะขุนให้ได้น้ำหนักไม่เกินตัวละ 30 กิโลกรัม แล้วจับขายเป็นแพะเนื้อ ซึ่งตลาดจะต้องการแพะเนื้อ น้ำหนักไม่เกิน 30 กิโลกรัม เพราะมีขนาดพอดีกินในครอบครัว ราคาที่พ่อค้ามารับซื้อจะอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 130 บาท” หลังจากเลี้ยงแพะมา 3 ปี คุณบัณฑิตย์ ยืนยันว่าตอนนี้คืนทุนหมดแล้ว เพราะแพะเลี้ยงง่าย กินน้อยกว่าวัวนม “ผมจะเลี้ยงแพะแบบขังคอกแล้วตัดหญ้าตัดกระถินมาให้ มีอาหารข้นให้และมีฟางเสริมให้กินตลอดเวลา ดูแลน้อยกว่าวัวนม จับขายได้เร็วและราคาดี ขี้แพะยังเป็นปุ๋ยอย่างดีให้กับแปลงหญ้า เพราะขี้แพะเป็นก้อนเล็กๆ ค่อยๆ ย่อยสลายเป็นปุ๋ยลงดินทำให้ดินร่วนซุยดีขึ้น หญ้าอาหารสัตว์เติบโตได้ดี จนถึงวันนี้ที่สุพิชญา ฟาร์ม ของผมสามารถพูดได้ว่าแพะเนื้อทำรายได้ดีกว่าวัวนมแล้วครับ” คุณบัณฑิตย์ ยืนยัน
แพะต้องมีการจัดการที่ดี
คุณบัณฑิตย์ เล่าถึงการจัดการการเลี้ยงแพะว่า “ผมกลัวในเรื่องของโรคติดต่อในแพะ เพราะรู้มาว่าหากเกิดโรคระบาดในแพะ อย่างเช่น โรคแท้งติดต่อจะทำความเสียหายอย่างมาก ผมจึงทำตารางตรวจติดตามสม่ำเสมอโดยจะเก็บตัวอย่างขี้แพะ ตัวอย่างเลือดแพะนำไปส่งให้ทางศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนองกวาง จังหวัดราชบุรี หน่วยงานของกรมปศุสัตว์ตรวจให้เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดต่อ นอกจากนั้น จะมีการให้ยาถ่ายพยาธิทุกๆ 3 เดือน อีกด้วย เพื่อป้องกันแพะผอม แพะอ่อนแอ” คุณบัณฑิตย์ บอกว่า ในตอนนี้แพะเลือดสูงน่าจะไปได้ดีหากในอนาคตไม่มีปัญหาเรื่องโรคระบาด ตลาดแพะเลือดสูงสำหรับการผลิตเพื่อขายพันธุ์จะยังไปได้ ส่วนตลาดแพะเนื้อนั้นคุณบัณฑิตย์บอกว่าไม่กล้ายืนยัน ต้องขอดูแนวโน้มในอนาคต เพราะเพิ่งจะทำมาไม่นานนัก
สร้างแปลงไม้ป่าเศรษฐกิจอีกช่องทางสร้างรายได้
นอกจากอาชีพด้านปศุสัตว์ทั้งเรื่องวัวนมและแพะเนื้อแล้ว คุณบัณฑิตย์ ยังมองการณ์ไกลไปในอนาคตและลงมือสร้างสวนไม้ป่าเศรษฐกิจเอาไว้อีกด้วย “ผมมีพื้นที่ว่างอยู่ เลยตัดสินใจปลูกไม้ป่าเศรษฐกิจ เพราะมองว่าในอนาคตไม้พวกนี้ต้องมีราคา เป็นที่ต้องการของตลาด ผมลงไม้ป่าเศรษฐกิจพวก ประดู่ มะค่า สัก ฯลฯ เอาไว้เพื่อเป็นรายได้ในอนาคต เป็นเงินเก็บที่เริ่มตั้งแต่วันนี้อาจจะได้ใช้เงินอีกหลายสิบปีในอนาคตข้างหน้า” ใครสนใจอยากคุย อยากปรึกษา ขอคำแนะนำด้านการเกษตรจากคุณบัณฑิตย์ โทร.ติดต่อไปที่เบอร์ 095-887-7406 ครับ
เป็นแนวคิดการบริหารจัดการฟาร์ม การลดความเสี่ยงในธุรกิจของเกษตรกรรายย่อยหัวก้าวหน้าที่ผมนำมาบอกเล่าให้ฟัง เพื่อเป็นแนวทางสร้างแรงบันดาลใจ สร้างโอกาสให้กับเกษตรกรรายย่อยทั่วไทยที่กำลังมองหาความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม เกษตรกรรายย่อยหัวก้าวหน้าที่คิดใหญ่แบบรายย่อยเหมือนกับคุณบัณฑิตย์ยังมีอยู่อีกเยอะแยะมากมายใต้ฟ้าเมืองไทย
ผมจะพยายามรวบรวมแล้วนำมาเสนอทั้งแนวคิดและวิธีการในฉบับต่อๆ ไป โปรดติดตามกันต่อครับ หากคุณอยากทำเกษตร หรือคุณคือเกษตรกรรายย่อยอย่าพลาดติดตาม “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย เจอกันใหม่ฉบับต่อไปนะครับ