ปศุสัตว์ร่วมกับชาวบ้านเลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน เพื่ออนุรักษ์และเสริมรายได้

เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทรงเป็นห่วงราษฎรมีแหล่งอาหารโปรตีนไม่เพียงพอ ทรงแนะให้เลี้ยงไก่พื้นเมือง “ไก่แม่ฮ่องสอน” เพื่อช่วยให้ราษฎรในพื้นที่มีอาชีพ พร้อมแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพ

“ไก่แม่ฮ่องสอน” เป็นไก่พื้นเมืองท้องถิ่นที่เลี้ยงกันในชนบทเกือบทุกอำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกษตรกรที่เลี้ยงมีทั้งในหมู่บ้าน รวมทั้งชาวเขาในเขตที่สูง ไม่ว่าจะเป็นชาวกะเหรี่ยง มูเซอ ลีซอ ฯลฯ ลักษณะทั่วไปของไก่พันธุ์นี้คล้ายกับไก่ป่า

จัดทำประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่สมาชิกกลุ่ม

จึงคาดว่าเป็นไก่ที่มีต้นพันธุ์มาจากไก่ป่า โดย เพศผู้ มีลักษณะขนคอและหลังสีเหลืองแดงเข้ม ขนลำตัวและหางมีสีดำ มีขนปุยขนที่โคนหาง หงอนจักร ใบหน้าแดง แข้งและปากมีสีดำหรือเทา มีขนตุ้มหูสีเหลือง ผิวหนังขาวอมแดง และ เพศเมีย มีลักษณะขนลำตัวสีน้ำตาลกระเหลืองหรือน้ำตาลลายป่าทั้งตัว หงอนจักร ใบหน้าแดง ปากและเเข้งสีดำหรือเทาหรือน้ำตาล มีขนตุ้มหูสีเหลือง ผิวหนังขาวอมแดง ชาวบ้านเลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนเพื่อการบริโภค ไว้จำหน่าย สร้างความเพลิดเพลินในแบบไก่สวยงาม รวมถึงยังเลี้ยงเป็นไก่ล่อหรือต่อไก่ป่า

ตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม เป็นอีกแห่งที่ชาวบ้านเลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน เพื่อใช้บริโภคเป็นอาหารในครัวเรือน วิถีการเลี้ยงไก่พื้นบ้านของชาวบ้านแห่งนี้เป็นไปตามธรรมชาติควบคู่ไปกับการทำเกษตรกรรม การขยายพันธุ์เป็นไปได้น้อยเนื่องจากปัญหาทางด้านสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการฟักไข่ จึงเป็นที่น่าเสียดายเพราะอาจทำให้ชาวบ้านขาดโอกาสได้จำนวนไก่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการบริโภคหรือเพื่อขายในรูปแบบต่างๆ

การแนะแนวทางการเลี้ยง

เหตุนี้ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงฟื้นฟูด้วยแผนบูรณาการวางแนวทางเลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนให้กับชาวบ้านตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หวังอนุรักษ์พันธุ์ไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอนไม่ให้สูญพันธุ์เพราะถือเป็นเอกลักษณ์และความภูมิใจของทางจังหวัด พร้อมร่วมมือกับชาวบ้านจัดตั้ง “กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นบ้านแม่ฮ่องสอน” เพื่อขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปสร้างรายได้กลับมาสู่ชาวบ้าน

คุณมนูญ วารินทร์ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า แต่เดิมชาวบ้านเลี้ยงไก่พื้นเมืองด้วยเหตุผลเพื่อเป็นไก่ต่อไก่ตั้ง เป็นไก่สวยงาม เป็นไก่ชน และเพื่อการบริโภค แนวทางการเลี้ยงของชาวบ้านเป็นแบบธรรมชาติ ใช้พืชผักที่ประกอบเกษตรกรรมเป็นอาหาร ใช้บริเวณที่พักเป็นพื้นที่เลี้ยง

ข้อจำกัดในการเลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนของชาวบ้านที่ผ่านมาพบว่า เมื่อไก่ฟักไข่แล้วไม่ได้คุณภาพ ลูกไก่มักไม่รอดบ้าง สุขภาพไม่สมบูรณ์บ้าง เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จึงทำให้ประชากรของไก่แม่ฮ่องสอนมีน้อย

สับต้นกล้วยเพื่อใช้เป็นอาหารไก่ทำให้เสียเวลามาก

ไก่พันธุ์นี้สามารถออกไข่ได้ครั้งละ 8-10 ฟอง ชาวบ้านรายหนึ่งบอกว่าระหว่างไข่แม่ฮ่องสอนกับไข่ที่วางขายทั่วไปเมื่อนำมาบริโภคแล้วพบว่าไข่จากไก่พื้นเมืองมีรสอร่อยกว่า ถึงแม้จะขนาดเล็กกว่าไข่ทั่วไปแต่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารเนื่องจากไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอนกินอาหารจากธรรมชาติอย่างหยวกกล้วย รำข้าว ข้าวโพด ตลอดจนพืชผักต่างๆ ที่ชาวบ้านปลูกหรือนำมาประกอบอาหารเป็นหลัก จึงมีราคาขายแพงกว่าไข่ทั่วไปในราคาฟองละ 7 บาท

ไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอนมีจุดเด่นคือเลี้ยงง่าย กินอาหารตามธรรมชาติ มีความแข็งแรง อดทน ทำให้ผู้เลี้ยงประหยัดต้นทุน วิธีการเลี้ยงของสมาชิกแตกต่างกัน บางรายเลี้ยงในเล้าที่มีบริเวณ บางรายเลี้ยงปล่อยแบบมีอาณาเขต หรือเลี้ยงแบบผสม

สำหรับกิจกรรมกลุ่มขณะนี้ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาเลี้ยงไก่พื้นเมืองอย่างเป็นระบบมากขึ้น มีการวางแผนเลี้ยง จดบันทึก ควบคุมโรค ตลอดจนการสร้างโรงเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน โดยทั้งหมดได้รับการแนะนำและช่วยเหลือสนับสนุนจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอบรมให้ความรู้ทางด้านเทคนิค การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนการเฝ้าระวังโรคที่มีผลต่อสุขภาพไก่

สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน

นอกจากนั้นแล้ว ยังจัดหาตลาดรองรับให้ด้วย ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อต้องการฟื้นฟูไก่แม่ฮ่องสอนให้กลับมาเป็นสัตว์เลี้ยงอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดและเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นกิจกรรมสมาชิกที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองจะมีรายได้จากการขาย 2 ทาง คือขายเป็นไก่เนื้อ เนื่องจากเนื้อไก่แม่ฮ่องสอนมีคุณสมบัติแน่น นิ่ม หนังบาง กับรายได้อีกทางคือขายไก่เพื่อใช้สำหรับพิธีกรรม

คุณสมบุญ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มบอกว่า ไก่พันธุ์นี้มีสายเลือดของไก่ป่า จึงเลี้ยงง่าย ใช้อาหารจากธรรมชาติที่มีอยู่ตามพื้นที่ อย่างปลายข้าวบ้าง เศษผัก เศษอาหาร แต่จะเลี้ยงไว้ในกรงที่มีบริเวณกว้างไม่ได้ปล่อยออกมาด้านนอก ส่วนปัญหาการเลี้ยงที่พบมักจะเกิดจากการฟักไข่ของแม่ไก่ที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ดีนัก ประสบความสำเร็จไม่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้การขยายพันธุ์เป็นไปยาก ดังนั้น หากได้รับความช่วยเหลือจากภาคราชการเป็นตู้ฟักไข่ อาจทำให้การเลี้ยงไก่มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

คุณอารีย์ เป็นอีกหนึ่งสมาชิกกลุ่มที่เลี้ยงไก่จำนวนประมาณ 300 ตัว ซึ่งมากที่สุดในกลุ่ม โดยตั้งใจเลี้ยงเชิงพาณิชย์ ถือเป็นผู้เลี้ยงรายใหญ่แล้วยังเป็นพี่เลี้ยงแนะนำความรู้ ตลอดจนเทคนิคการเลี้ยงไก่อย่างเป็นระบบที่ได้มาตรฐานให้แก่เพื่อนสมาชิกรายอื่น คุณอารีย์นำพันธุ์ไก่มาเลี้ยงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 แล้วคาดว่าจะขายให้โครงการฟู้ดแบงก์ราวปลายปี 2561

คุณมนูญ วารินทร์ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอน

ชาวบ้านรายหนึ่งเผยถึงความรู้สึกที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มว่า ได้รับความช่วยเหลือจากภาคราชการอย่างดี จนทำให้เข้าใจรูปแบบการเลี้ยงไก่ที่ถูกต้องชัดเจนมากขึ้น จากเมื่อก่อนเลี้ยงไว้กินในครอบครัวอย่างเดียว แต่ตอนนี้มีบางส่วนนำไปขายสร้างรายได้เสริมด้วย จนคิดว่าอีกไม่นานจะมีความชำนาญพร้อมกับก้าวไปสู่มืออาชีพได้

คุณวิรุฬกันต์ โลกา นักวิชาการสัตวบาล สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือของทางปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะแจกพันธุ์ไก่พื้นเมืองให้สมาชิกกลุ่มรายละ 50 ตัว เมื่อเลี้ยงจนโตแล้วให้คืนกลับมาที่ปศุสัตว์จำนวนครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือแล้วแต่ชาวบ้านนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ อาจเพื่อใช้บริโภคหรือนำไปเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ก็ได้

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาพบว่าการขยายพันธุ์ของสมาชิกกลุ่มยังน้อย เนื่องจากพบปัญหาหลายด้าน ทั้งความรู้ เทคนิค สภาพสิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่เลี้ยงไก่ไปตามธรรมชาติ ดังนั้น ถึงตอนนี้เห็นว่าชาวบ้านคงยังไม่พร้อมที่จะยึดเป็นอาชีพหลัก คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

“ฟู้ดแบงก์” เป็นโครงการที่กำหนดขึ้นเพื่อต้องการให้สมาชิกกลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมืองสำหรับไว้บริโภคในครอบครัว โดยมีการให้คำแนะนำส่งเสริมความรู้ แล้วหากมีเหลือจึงค่อยนำไก่ไปขายหรือแบ่งไว้ทำพันธุ์

เลี้ยงแบบปล่อย

โครงการนี้เริ่มจริงจังเมื่อปี 2556 จนถึงขณะนี้ถือว่าสำเร็จตามวัตถุประสงค์มาระดับหนึ่ง แต่ต้องไปต่อเพราะเป้าหมายสำคัญที่สุดคือต้องการให้สมาชิกเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นรายได้หลักมากกว่าอาชีพเสริม ดังนั้น ระหว่างทางหากสมาชิกรายได้มีศักยภาพเพียงพอก็อาจจะปรับเปลี่ยนจากผู้เลี้ยงธรรมดามาเป็นการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้

นักสัตวบาลชี้ว่าการชักชวนให้ชาวบ้านมาเลี้ยงไก่พื้นเมืองต้องคำนึงถึง 3 มิติหลัก คือการอนุรักษ์ การส่งเสริม และการนำไปใช้ประโยชน์ ฉะนั้น การปลูกฝังให้ชาวบ้านหันมาสนใจเลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนกันมากๆ ควรจะต้องอยู่ในกรอบของมิติทั้ง 3 อย่าง

โดยทางหน่วยงานราชการจะได้สนับสนุนทั้งความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสับอาหาร ตู้ฟัก เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ผลิตควรคำนึงถึงการลดต้นทุนในทุกขั้นตอนเป็นสำคัญ เพราะหากลดต้นทุนได้มากเท่าไร ก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

คุณวิรุฬกันต์ โลกา นักวิชาการสัตวบาล สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นอกจากนั้น การลดต้นทุนยังรวมถึงการผลิตอาหาร ด้วยการหมักอาหารจากวัสดุทางธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ อย่างหยวกกล้วย มะละกอ ข้าวโพด พืชผักต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมาสมาชิกมักเสียเวลาไปกับการมาสับอาหารให้ไก่แทนที่จะไปทำงานอย่างอื่น

สำหรับตลาดที่เห็นชัดเจนตอนนี้คือขายให้ชาวบ้านในชุมชนเพื่อบริโภค ขายเพื่อใช้ในพิธีกรรม แล้วขายเข้าโรงงานแปรรูป และถ้าประสบความสำเร็จไปตามที่กำหนดแล้วในอนาคตมีแผนจะขยายต่อยอดมองตลาดนอกพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ ต้องมีการบริหารจัดการกำลังการผลิตก่อนด้วยว่ามีความพร้อมเพียงใด

“ทั้งนี้ ยังมีโรงงานแปรรูปที่รับซื้อไก่จากสมาชิกในราคาประกันเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งนี้ การตลาดถือเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนให้สมาชิกมีแรงจูงใจในการเลี้ยงไก่พื้นเมือง และถือเป็นโครงการที่มีกระบวนการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ”

คุณมนูญกล่าวในตอนท้ายว่า สมาชิกหลายรายนิยมเลี้ยงไก่ต่อไก่ตั้งกันเพราะถือเป็นอีกแนวทางของรายได้ ทั้งนี้ ได้พัฒนาคุณภาพไก่ดังกล่าวได้ดีจนทำให้ชาวบ้านต่างถิ่นติดต่อซื้อ-ขายกันอย่างคับคั่ง โดยอายุไก่ต่อไก่ตั้งที่ซื้อ-ขายกันอยู่ที่ 6-8 เดือน มีราคาตั้งแต่ 800-1,500 บาท ลูกไก่ชนิดนี้มีราคาสูงกว่าลูกไก่ทั่วไป การเลี้ยงจะต้องแยกพื้นที่ต่างหาก มักเลี้ยงปล่อยเพื่อต้องการให้ไก่ไม่เครียดแล้วช่วยทำให้ขนสวย ใช้อาหารชนิดเดียวกับไก่พื้นเมือง

ไก่แม่ฮ่องสอนมีลักษณะสวยงาม เลี้ยงเป็นไก่ต่อไก่ตั้งหรือไก่สวยงามได้
พ่อ-แม่พันธุ์ไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอน

สอบถามรายละเอียดไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอนเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ (053) 612-043

ขอบคุณ : สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ.2563