ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี “ การตลาดเหนือเมฆ ” ดึงคนซื้อเข้าสู่ชุมชน

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่เรียกกันติดปากว่า สินค้าโอทอป (OTOP)  เกิดจากเป็นนโยบายรัฐบาล เมื่อปี 2544 ที่ต้องการกระตุ้นการเติบโตของผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิด One Village, One Product ของเมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น

สินค้าโอท็อปส่วนใหญ่ของไทยเกิดจากการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติและภูมิปัญญาของปู่ย่าตายาย ซึ่งเป็นมรดกดั้งเดิมของท้องถิ่น แต่ขาดนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า จึงเกิดการลอกเลียนแบบได้ง่าย สังเกตได้จากหลายจังหวัดมีสินค้า OTOP ประเภทเดียวกันเต็มไปหมด และชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารต้นทุนการผลิตสินค้าให้เกิดความคุ้มค่า คุ้มทุน และขาดช่องทางขายที่ดี ด้วยเหตุนี้ แม้ชาวบ้านจะผลิตสินค้าได้เก่งสักเพียงใด แต่หาตลาดไม่ได้ ขายของไม่เป็น ก็เจ๊งขาดทุน ต้องเลิกกิจการเป็นจำนวนมาก

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องการตอบสนองนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเพื่อสร้างพลังทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สอดคล้องกับนโยบาย ‘ประเทศไทย 4.0’ โมเดลใหม่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”  ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ด้วยแนวคิดดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่มุ่งพัฒนา OTOP รูปแบบใหม่ เน้นการสร้างรายได้จากความต้องการของชุมชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถขายสินค้าได้ภายในชุมชน โดยไม่ต้องวิ่งหาตลาดให้เหนื่อยเหมือนในอดีต

กระบวนการเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านและทรัพยากรท้องถิ่นผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงขับเคลื่อน ก่อให้เกิดสินค้าโอท็อปนวัตกรรม ที่สร้างสรรค์ใหม่ให้มีคุณค่าและมูลค่า เพิ่มจำนวนสินค้าโอทอปใหม่ๆ ได้อย่างไม่รู้จบเหมือนกับ “โออิตะ” ต้นตำรับโอทอปของญี่ปุ่น ที่ชาวบ้านผลิตสินค้าด้วยตัวเอง และรับซื้อสินค้าในชุมชนมาขายให้นักท่องเที่ยว เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ช่วยเพิ่มโอกาสการขายได้อย่างต่อเนื่อง

โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่เกิดจากความตั้งใจของกรมพัฒนาชุมชนที่จะดึงเสน่ห์แห่งภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ มาแปลงเป็นเม็ดเงิน เกิดการกระจายรายได้ภายในชุมชน สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง โดยลูกหลานไม่ต้องลำบากออกไปหางานนอกบ้าน ก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล

เมื่อชาวบ้านเรียนรู้นำภูมิปัญญาชาวบ้านมาผลิตสินค้าโอทอปเป็นของกินของใช้เอง เท่ากับลดรายจ่าย เหลือจากการบริโภคก็นำออกขายในตลาด เท่ากับเพิ่มรายได้ เมื่อรากฐานแน่น การพัฒนาสินค้าโอทอปเชิงธุรกิจต่อไป ก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะไม่เสี่ยงเกินไป เพราะเป็นสินค้าที่ชาวบ้านต้องกินต้องใช้อยู่ทุกวัน  กล่าวได้ว่า โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นนโยบายที่ดี เพราะช่วยให้ชาวบ้านเกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ก้าวออกจากวัฒนธรรมอุปถัมภ์เข้าสู่วัฒนธรรมข้อมูลและความรู้ได้อย่างแท้จริง ทำให้สังคมชนบทของไทยมีโอกาสเติบโตอย่างเข้มแข็งได้ในระยะยาว