ราคาหมู-ไข่ขยับลง โอกาสผู้บริโภคซื้อของถูก

สินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นพืชไร่หรือปศุสัตว์ ล้วนต้องเผชิญปัญหาภาวะราคาขึ้นลงอยู่เป็นนิตย์ ด้วยการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ มีปัจจัยในแง่ของสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ความร้อน ความชื้น ตลอดจนภัยธรรมชาติต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อปริมาณผลผลิตที่จะเข้าสู่ตลาด หากสอดคล้องกับปริมาณความต้องการของผู้บริโภค ย่อมทำให้ระดับราคาสินค้าเกษตรเหล่านั้นมีความเหมาะสม เกษตรกรอยู่ได้ ในขณะที่ผู้บริโภคซื้อในราคาที่รับได้ แต่หากไม่สอดคล้อง เช่น ของน้อยความต้องการมาก หรือผลผลิตมากความต้องการน้อย กรณีแบบนี้ระดับราคาที่สูงขึ้นหรือต่ำลง ย่อมกระทบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่นอน ตามหลักการอุปสงค์-อุปทาน

ราคาหมูกับไข่ไก่ ก็อยู่ในวังวนเช่นนี้ โดยหมูขุนมีชีวิต มักจะมีราคาสูงติดต่อกัน 3-4 ปีและราคาตกต่ำ 1 ปี เป็นวงจรเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักของปัญหา นอกเหนือไปจากสภาวะอากาศที่ส่งผลให้หมูสดชื่น กินอาหารได้มากผลผลิตจึงมาก ส่งผลให้ราคาตกลงแล้ว ยังมีเหตุผลของการที่ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จะขยายกำลังการผลิตในช่วงหมูราคาดี ด้วยคิดว่า “เมื่อหมูราคาดี ก็ต้องเร่งผลิต เพื่อสร้างกำไรให้ได้มากๆ”

ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการเลี้ยงหมูคิดคล้ายกัน จึงทำให้ปริมาณหมูโดยรวมของประเทศสูงขึ้น

ขณะที่ปีนี้อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูทั่วโลก ต่างประสบปัญหาภาวะราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยเฉพาะผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มลดลงต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี มาอยู่ที่ 31 บาทต่อกิโลกรัม จากที่ราคาเคยสูงถึงกว่า 46 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงต้นปี ส่วนในเวียดนาม กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยราคาเริ่มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน สถานการณ์ราคาหมูของไทยไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ

ปัจจุบันราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มลดลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 56-63 บาท ซื้อขายจริงอยู่ที่กิโลกรัมละ 54-61 บาทเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงถึง 64-68 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ภาวะราคาหมูตกต่ำนี้เกิดจากความต้องการบริโภคของประชาชนลดลงอย่างชัดเจน จากที่ปกติเคยบริโภคประมาณ 4-4.3 หมื่นตัวต่อวัน มาอยู่ที่ 3.8-4 หมื่นตัวต่อวันในปัจจุบัน สวนทางกับปริมาณการผลิตหมูขุนที่ทั้งประเทศผลิตได้ถึง 4.5 หมื่นตัวต่อวัน

ปรากฏการณ์นี้ก็คือวัฏจักรราคาหมูที่เกษตรกรจะต้องพบต้องเจอเป็นปกติ ผู้เลี้ยงหมูคงได้แต่หวังให้ผู้บริโภคช่วยตัดสินใจเลือกบริโภคเนื้อหมูมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรบ้างเท่านั้น

สําหรับไข่ไก่โดยปกติแล้วแต่ละปีจะมีช่วงเวลาที่ไข่ไก่ราคาสูงขึ้นเพียงไม่กี่เดือน กล่าวคือ

มกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่การบริโภคไข่ไก่คึกคัก เนื่องจากมีวันหยุดเทศกาลสำคัญอยู่หลายวัน ทำให้ภาวะราคาในช่วงสองเดือนนี้ค่อนข้างดี

มีนาคม เป็นช่วงปิดภาคเรียนของโรงเรียนต่างๆ ทำให้อัตราการบริโภคลดลงอย่างมาก

เมษายน ราคาขยับสูงขึ้นเล็กน้อยเพราะอากาศร้อนจัดกระทบการให้ผลผลิตไข่ไก่ทำให้ปริมาณไข่ลดลง

พฤษภาคม-สิงหาคม เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งมีอาหารตามธรรมชาติออกสู่ตลาดมาก ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกอาหารอื่นทดแทนไข่ไก่ กอปรกับไก่เนื้อมีภาวะราคาลดลงจึงเป็นทางเลือกของผู้บริโภค ราคาไข่ไก่จึงลดลง

กันยายน การบริโภคค่อนข้างทรงตัว ปริมาณผลผลิตมีต่อเนื่อง ทำให้ราคาลดต่ำลง

ตุลาคม มีเทศกาลกินเจและโรงเรียนปิดกลางภาคการศึกษา ทำให้การบริโภคค่อนข้างต่ำ ราคาไข่ไก่จึงลดลง

พฤศจิกายน-ธันวาคม ช่วงปลายปีที่อากาศหนาวเย็นลงทำให้การท่องเที่ยวค่อนข้างคึกคักและยังมีช่วงวันหยุดอยู่หลายวัน การบริโภคคึกคัก ทำให้ราคาไข่ไก่ค่อนข้างดี

แต่ในปีนี้คนไทยหลายภาคส่วนงดงานเทศกาลรื่นเริง จึงทำให้ค่าเฉลี่ยของปริมาณการบริโภคหมูและไข่ไก่ในช่วงปลายปี ไม่เป็นไปอย่างที่เคย ราคาหมูและไข่ไก่ในช่วงนี้จึงค่อนข้างตกต่ำ เพราะปริมาณผลผลิตที่ล้นเกินความต้องการนั่นเอง

นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ ก็ออกมาระบุแล้วว่า ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำในปัจจุบัน สืบเนื่องมาจากเมื่อช่วงต้นปี หลายพื้นที่ประสบภัยหนาวเฉียบพลันและเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนกลับมีปัญหาภัยแล้งตามมาอีก ทำให้ปริมาณไข่ลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น เป็นเหตุจูงใจให้ผู้เลี้ยงทั่วประเทศมีการขยายการเลี้ยงมากขึ้น อีกทั้งผู้เลี้ยงไก่ไข่หลายราย ทั้งขยายทั้งยืดอายุการปลดไก่ไข่ออกไปเพื่อหวังขายไข่เพิ่ม ส่งผลให้มีปริมาณไก่ยืนกรงและไข่มากขึ้น

เมื่อประกอบภาวะการบริโภคลดลงอย่างชัดเจน ทำให้มีไข่ไก่เหลือสะสมมาก ราคาตกต่ำรุนแรงตั้งแต่ช่วงกินเจถึงปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนอย่างหนัก

ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตไข่ไก่เฉลี่ยประมาณปีละ 15,500 ล้านฟอง ขณะที่การบริโภคไข่ไก่ของคนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 4% ดังนั้น ผู้บริโภคจึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้อาชีพเลี้ยงไก่ไข่คงอยู่ ด้วยการเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ให้มากขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 220 ฟองต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในระดับ 300-400 ฟองต่อคนต่อปี

การที่ราคาไข่ไก่ตกต่ำลงในขณะนี้ หากมองในบทบาทของเกษตรกรแล้ว คงต้องจำทนรับสภาพขาดทุนไปอีกสักระยะ แต่ถ้ามองในมุมของผู้บริโภคแล้วถือเป็นโอกาสในการเลือกที่จะเลือกบริโภคไข่ไก่ให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะราคาถูกแล้ว ยังเป็นอาหารมหัศจรรย์ที่ให้ประโยชน์ต่อคนทุกเพศทุกวัย

ว่ากันว่า… หากคนไทยทุกคนบริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 20 ฟอง/คน/ปี ก็สามารถช่วยขจัดปัญหาไข่ล้นตลาดและราคาตกต่ำให้หมดไปได้ เรียกว่า Win-Win กันทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค… ว่าแล้ววันนี้ “กินอะไรก็อย่าลืมใส่ไข่ด้วย” นะครับ