ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หอการค้าไทยวอนรัฐเร่งฟื้นฟูภาคใต้หลังน้ำลด ชี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างรายได้เกษตร-ท่องเที่ยวปีละ 6 แสนล้าน คลังระดม 4 แบงก์รัฐแจกสินเชื่อ ดบ. 0-3% ช่วยผู้ประสบภัย เงินบริจาคลดภาษี1.5 เท่า จับตาผลผลิตปาล์ม-กาแฟ-กุ้งน็อกน้ำหวั่นกระทบส่งออก เอกชน 3 สถาบันชี้เสียหาย 1.5 หมื่นล้าน คมนาคมอัดงบสร้าง-ซ่อมถนนหมื่นล้าน จัดทำผังเมืองระบายน้ำ 13 จังหวัด
นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะวิกฤตน้ำท่วมในเขตภาคใต้ หลังน้ำลดทุกฝ่ายต้องฟื้นฟูโดยเร็ว เพราะเศรษฐกิจหลัก 2 ขาของภาคใต้ ได้แก่ ท่องเที่ยวและเกษตร มีรายได้รวมปีละ 6 แสนล้านบาท โดยเฉพาะประมงชายฝั่ง เลี้ยงกุ้งกุลาดำและกุ้งขาว ภายหลังน้ำลดราคาสินค้าประมงปรับตัวขึ้นสูงแน่นอนเพราะต้องนำเข้า ภาครัฐต้องสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและปลอดต้น 6-12 เดือน ให้กับผู้รับผลกระทบจากภาคเกษตร เอสเอ็มอี ร้านค้า
เงินบริจาคหักภาษี 1.5 เท่า
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 ม.ค. มีมติเห็นชอบมาตรการทางภาษีผู้บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้หักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ให้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา กรณีบุคคลธรรมดาเดิมหักภาษีเท่าที่จ่ายจริงหรือ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ ครั้งนี้ให้เพิ่มเป็น 1.5 เท่าแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ ส่วนนิติบุคคลเดิมหักได้ตามจริงหรือ 1 เท่า ไม่เกิน 2% ก็เพิ่มให้อีก 0.5 เท่า เป็นหักได้ 1.5 เท่า ไม่เกิน 2%และอยู่ระหว่างรอสำนักงานเศรษฐกิจการคลังประเมินผลกระทบจากน้ำท่วม
คลังเพิ่มวงเงิน “ปภ.-ผวจ.”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและผู้ว่าราชการจังหวัดอีก50ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเร่งด่วน ใน 9 จังหวัดภาคใต้ ทั้งผ่อนกฎเกณฑ์เบิกจ่ายกรณีใช้งบฯจัดส่งเครื่องอุปโภคบริโภคในพื้นที่น้ำท่วมรุนแรง
โรงสกัดปาล์มสุราษฎร์ฯอ่วม
นางวิวรรณบุณยประทีปรัตน์เลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทักษิณอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (1993) จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สถานการณ์รับซื้อผลปาล์มขณะนี้หยุดชั่วคราว 1 สัปดาห์ เพราะเกษตรกรตัดผลปาล์มไม่ได้ การขนส่งถูกตัดขาด แต่ยังมีสต๊อกเหลืออยู่ 296,704 ตัน ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะคลี่คลายทันช่วงเกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวปาล์มช่วงเดือนเมษายนหรือไม่ คาดว่าผลผลิตมีปริมาณ 10-11 ล้านตัน
ลุ้นราคาเมล็ดกาแฟร่วง
นายประยูร สงค์ประเสริฐ นายกสมาคมชาวสวนกาแฟไทย เปิดเผยว่า แม้น้ำไม่ได้ท่วมพื้นที่ปลูกกาแฟโดยตรงเนื่องจากต้นกาแฟส่วนใหญ่ปลูกบนที่สูง แต่ไม่สามารถตากเมล็ดกาแฟได้ ในขณะที่เป็นช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟโรบัสต้าปี 2560/2561 ทำให้เมล็ดกาแฟมีความชื้นสูงบางพื้นที่สูงถึง 20% จากปกติ 12-13% คาดว่า ชุมพรและสุราษฎร์ฯเสียหายมาก ซึ่งปีก่อนปลูกได้ 21,000 ตัน ทั้งต้องเฝ้าดูราคาปรับลดลงไปจากปีก่อนที่จำหน่ายละ 65-67 บาท/กิโลกรัมหรือไม่
ผู้ส่งออกกุ้งกระทบผลผลิตลด
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผยว่า ความเสียหายของฟาร์มเลี้ยงกุ้งภาคใต้ที่ถูกน้ำท่วมมีรายงานตัวเลข 2 จังหวัด แบ่งเป็น จ.นครศรีธรรมราช 1,200 ฟาร์ม เฉพาะ อ.หัวไทร มี 477 บ่อ พื้นที่ 2,766 ไร่ จ.สุราษฎร์ธานี 35 ราย 51 ฟาร์ม ส่วนที่เหลือกำลังรอรายงานเนื่องจากสำรวจลำบาก
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ผู้เลี้ยงกุ้งเสียหายหนัก ชาวประมงไม่สามารถออกเรือส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกุ้งลดลง การขนส่งผลผลิตกุ้งจากภาคใต้มากรุงเทพฯขาดช่วงบางพื้นที่ ส่วนมูลค่าและปริมาณความเสียหายในการส่งออกต้องรอสำรวจหลังน้ำลด แต่มั่นใจว่าการส่งออกกุ้งและปลาทูน่าปีนี้ยังขยายตัวได้ดี
กกร.ชี้เสียหาย 1.5 หมื่นล้าน
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า มีโรงงานเสียหาย 85 โรงงาน เหมืองแร่ 2 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 25-26 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตฯอาหารและเกษตรแปรรูป เตรียมออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) โดยเว้นค่าธรรมเนียมและพักชำระหนี้ 6 เดือน และให้สินเชื่อฉุกเฉิน
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ผลกระทบน้ำท่วมภาคใต้มีความเสียหาย 10,000-15,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่าไม่กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากเป็นเรื่องระยะสั้น ประกอบกับมีความร่วมมือจากหลายฝ่ายทำให้สามารถแก้ไขได้โดยเร็ว
4 แบงก์รัฐอัดสินเชื่อ
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่าจัดแพ็กเกจช่วยผู้ประสบภัย ลูกค้าเดิมลดดอกเบี้ยเหลือ 0% 3 เดือนแรก เดือนที่ 4-12 คิด MRR-2.50% กับสินเชื่อดอกเบี้ย 3% 3 ปี สำหรับลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่บ้านได้รับความเสียหาย กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่เพื่อปลูกสร้างทดแทน และกู้ซ่อมแซม
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.มีการพักชำระหนี้เงินต้น 1 ปี งดคิดดอกเบี้ยปรับ
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า มีมาตรการให้กู้ฉุกเฉินตามความจำเป็นรายละ 50,000 บาท ผ่อน 5 ปี ปีแรกดอกเบี้ย 0% ปีที่ 2-5 ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน ลูกค้าสามารถเลือกใช้บุคคล, หลักทรัพย์ หรือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันก็ได้ รวมทั้งให้พักชำระหนี้เงินต้น 2-3 ปี ยื่นคำขอได้ตั้งแต่บัดนี้-31 ธ.ค. 2560
นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า ธพว.ให้พักชำระหนี้ 6 เดือน กับให้วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการไม่เกิน 5 แสนบาท 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ดอกเบี้ย MLR ตลอดอายุสัญญา ล่าสุดหารือกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะลงพื้นที่สำรวจ 14 ม.ค.นี้
งดดอกเบี้ย-ค่าปรับจ่ายหนี้ช้า
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า เบื้องต้นมีลูกค้าผู้ประสบภัย 20,000 ราย เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น ยกเว้นค่าธรรมเนียม ยกเว้นค่าปรับกรณีจ่ายช้า ยืดเวลาผ่อนชำระหนี้ ฯลฯ
นายสนอง คุ้มนุช รองกรรมการผู้จัดการเครือข่ายลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ธนาคารคาดว่าจะสรุปความเสียหายของลูกค้าได้ในช่วงสัปดาห์หน้า ตอนนี้ยังไม่มีมาตรการพิเศษ แต่ลูกค้าสามารถติดต่อรับการช่วยเหลือจากมาตรการเดิม เช่น งดชำระดอกเบี้ย ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก มีสัดส่วน 50%
สมุย-ภูเก็ตยังเที่ยวได้
นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ผลกระทบท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย เนื่องจากนครศรีฯ สุราษฎร์ธานี อยู่ฝั่งอ่าวไทยซึ่งอยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น นักท่องเที่ยวเดินทางน้อยอยู่แล้ว มีเพียง จ.ตรังที่ติดทะเลฝั่งอันดามัน ขณะที่เกาะสมุยเริ่มกลับมาเป็นปกติ สายการบินลงจอดในสนามบินได้ นักท่องเที่ยวจึงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ขณะนี้ผู้ประกอบการลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เพื่อดำเนินการปรับปรุงและทำการตลาดต่อไป
“ตอนนี้อยากให้สำนักงานต่างประเทศของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำความเข้าใจนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยยังสามารถให้บริการได้ก่อนที่เขาจะปรับแผนไปเที่ยวประเทศอื่นแทน”
ขณะที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการ ททท. ทุกสำนักงานในภาคใต้ ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เช่น แพพะโต๊ะ สถานที่ล่องแพ โดยตัวแพได้รับความเสียหายทั้งหมด เป็นต้น ทั้งนี้ ททท.ได้ให้ความสำคัญเรื่องการประเมินความเสียหายของแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเป็นอันดับแรก
ขณะเดียวกันยังได้แนะนำให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือเอสเอ็มอีแบงก์และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยด้วย
“ตอนนี้อัตราการเข้าพักในแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับถนนที่ถูกปิดในช่วง1สัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้าพักลดลง 10% เหลือประมาณ 60-65% อย่างไรก็ตาม ททท.ประเมินด้วยว่า นักท่องเที่ยวอาจเปลี่ยนเส้นทางท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวในภาคอื่น ๆ เช่น ภาคเหนือแทน”
บิ๊กซี-โลตัสเปิดปกติทุกสาขา
นางวิภาดา ดวงรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า บิ๊กซีในภาคใต้เปิดให้บริการ 18 สาขา อยู่ในพื้นที่สูงจึงไม่ถูกน้ำท่วม แต่ถนนรอบนอกได้รับผลกระทบทำให้รถส่งของลำบาก การกระจายสินค้าจากกรุงเทพฯไปภาคใต้ล่าช้า 1 วัน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้สต๊อกรองรับตรุษจีนจึงมีเพียงพอ ล่าสุดได้เพิ่มการจัดส่งสินค้าบริโภคอีก 50% และจัดเอ็กซ์คลูซีฟแคมเปญเฉพาะสาขาภาคใต้ลดราคาของกินของใช้ ช่วงน้ำลดมีโปรโมชั่นสินค้ากลุ่มทำความสะอาด เครื่องใช้ไฟฟ้า
นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด กล่าวว่า เทสโก้ โลตัส ในภาคใต้เปิดให้บริการตามปกติ ก่อนหน้านี้มีบางสาขาโดนน้ำท่วมจึงปิดช่วงสั้น ๆ โดยมีดีซี (ศูนย์กระจายสินค้า) 1 แห่งที่ จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้รอบการขนส่งสั้นลง
งบฯสร้าง-ซ่อมถนนหมื่นล้าน
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังภาคใต้ประสบปัญหาอุทกภัยใน 7 จังหวัด ถนนสายหลัก 21 สายทางได้รับความเสียหาย คาดว่าใช้งบฯฟื้นฟูเบื้องต้น 570 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานซ่อมบำรุงขนาดเล็ก 200-300 เมตร ใช้เวลาซ่อมแซมไม่เกิน 1 เดือนหลังน้ำลด
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กรมได้จัดสรรงบฯพัฒนาถนนในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2559 มีงานก่อสร้าง 8 โครงการ วงเงิน 1,177 ล้านบาท งานซ่อมบำรุงทาง 315 โครงการ 3,608 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2560 มีงานก่อสร้าง 9 โครงการ 730 ล้านบาท และซ่อมบำรุงทาง 277 โครงการ 3,180 ล้านบาท
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ถนนในความรับผิดชอบของกรมถูกน้ำท่วม 111 สายทาง ใน 12 จังหวัดภาคใต้ คาดว่าใช้งบฯฟื้นฟู 900 ล้านบาท เริ่มดำเนินการหลังน้ำลดภายใน 7 วัน ใช้เวลาซ่อมแซม 15-30 วัน เบื้องต้นกรมใช้งบฯฉุกเฉินไม่เกิน 1 แสนบาท/แห่ง ล่าสุดในปีงบประมาณ 2560 กรมจัดสรรงบฯพัฒนาพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ 667 โครงการ วงเงินรวม 4,311 ล้านบาท ส่วนปี 2559 มีจำนวน 607 โครงการ วงเงิน 4,330 ล้านบาท
ผุดผังระบายน้ำ 13 จังหวัด
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือกับ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ มีความเห็นร่วมกันให้กรมจัดทำผังเมืองเพื่อการบรรเทาอุทกภัยเร่งด่วน 13 ภาคใต้ ไม่รวม จ.ภูเก็ต ทำไปแล้ว เพื่อให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น จะเร่งของบฯกระทรวงมหาดไทยจ้างที่ปรึกษาทำรายละเอียด คาดว่าใช้เวลา 10-12 เดือน
ผังดังกล่าวเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐในการพัฒนาสิ่งก่อสร้างไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำเช่นถนนเพชรเกษม ควรมีช่องเปิดทางน้ำไหล การแสดงปริมาณน้ำไหลของแต่ละคลอง กำหนดพื้นที่ห้ามก่อสร้างอาคารบางชนิด ซึ่งต้องให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง เช่น กำหนดระยะถอยร่น สร้างบ้านใต้ถุนสูง เป็นต้น