ทีมวิจัยเกษตร มช. คิดค้นนวัตกรรมความเย็น ผลิตหอมแดงนอกฤดู ช่วยผู้ปลูกมีรายได้

วันที่ 30 มกราคม 2560 รศ.ดร.เกวลิน คุณาศักดากุล รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า จากการนำทีมวิจัยลงพื้นที่สำรวจข้อมูลของเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงพันธุ์บ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน พบว่าเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตเสรีการค้า (FTA) ทำให้ราคาหอมแดงตกต่ำ อีกทั้งการปลูกตามฤดูกาลทำให้ผลผลิตเกิดการกระจุกตัวจนล้นตลาด เกษตรกรส่วนใหญ่จึงประสบภาวการณ์ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มช. ร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อหาทางออกให้เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง ด้วยการสานต่อโครงการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดของสินค้าหัวพันธุ์ กระเทียมไทย หอมแดงไทย และเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ไทยปลอดโรค ภายใต้ความตกลงการเปิดเสรีทางการค้า

“เราค้นพบนวัตกรรมการวิจัยที่สามารถนำมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ด้วยวิธีการผลิตดอกหอมแดงนอกฤดูกาล โดยใช้เทคนิคกระตุ้นการออกดอกด้วยความเย็น หรือ Vernalization ทำให้มีผลผลิตดอกหอมแดงออกสู่ตลาดเร็วขึ้นถึง 2 เดือน จากปกติจะมีดอกหอมแดงจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนมกราคม แต่วิธีใหม่เราใช้ระยะเวลา 1 เดือน กับอีก 6 วันหลังปลูก ก็สามารถเก็บเกี่ยวและจำหน่ายผลผลิตได้เพิ่มขึ้นหลายเท่า จากเดิมที่มีการออกดอกเพียง 1 กิโลกรัม /5 ไร่ เพิ่มเป็น 100 กิโลกรัม /5 ไร่ ในราคากิโลกรัมละ 150 – 200 บาท เป็นที่ต้องการของตลาดโดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงมือเกษตรกรโดยตรง” รศ.ดร.เกวลิน

รศ.ดร.เกวลิน กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าว นับเป็นทางออกให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงได้ลืมตาอ้าปาก ซึ่งทีมวิจัยยังมีการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ที่มีมาตรฐาน เพื่อให้เกษตรกรได้พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต