ตลาดสินค้าเกษตรสิงคโปร์ เมื่อที่ดินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ

สิงคโปร์ นอกจากจะเป็นผู้ค้าสินค้ารายใหญ่ของโลกโดยการอาศัยที่ตั้งที่เป็นจุดผ่านของเส้นทางเดินเรือใหญ่ระหว่างซีกโลก ซื้อมาขายไปในสินค้านานาสารพันที่ล้วนเป็นสิ่งที่ตนเองผลิตเองไม่ได้แล้ว ยังเป็นประเทศที่บริโภคข้าวปลาอาหารเยอะกว่าเพื่อนบ้านอื่น เพราะคนมีกำลังซื้อมาก เป็นประเทศร่ำรวยที่พยายามส่งเสริมให้ประชาชนมีรสนิยมสูงตามรายได้และมาตรฐานของประเทศ (ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศโลกที่หนึ่ง หรือประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวในอาเซียน)

ข้าวปลาอาหารของสิงคโปร์นำเข้าเกือบทั้งสิ้น รวมทั้งน้ำดื่มด้วย ถ้าไม่ใช่ประเทศร่ำรวยทำอย่างนี้ไม่ได้ สิงคโปร์สั่งสินค้าจากทั่วโลก แต่หากเป็นอาหารสด เขานิยมสั่งประเทศใกล้ๆ รวมทั้งประเทศไทย ที่คนสิงคโปร์บอกฉันเองว่า ส่งสินค้าที่มีคุณภาพกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ แม้ราคาจะสูงกว่า แต่คุ้มค่า และราคาที่แพงกว่านิดหน่อย สิงคโปร์ไม่มีปัญหา

มีคนไทยส่งอาหารสด ทั้ง ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ไปขายที่สิงคโปร์กันมาเนิ่นนาน แต่สำหรับฉันที่รู้จักสิงคโปร์ดี ยืนยันว่ายังไม่พอ เรายังส่งไปได้มากอีกมาก

เพราะอะไร?

เพราะสิงคโปร์มีประชากร 5.47 ล้านคน แต่ผลิตอาหารเองได้น้อยมาก เขาจำกัดพื้นที่ให้ทำการเกษตรเพียง 3% ผลิตผักได้ ร้อยละ 9 ปลาได้ ร้อยละ 8 ไข่ไก่ได้ ร้อยละ 26 ของการบริโภคของประเทศ จึงกลายเป็นผู้นำเข้าอาหารสุทธิ นำเข้าสินค้าเกษตร อาหารแปรรูป และเครื่องดื่ม ปีละ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการบริโภคอาหารต่อหัวสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตัวเลข ปี 2559 บอกว่า คนสิงคโปร์ 1 คน กินผัก 100 กิโลกรัม ผลไม้ 68 กิโลกรัม ไก่ 35 กิโลกรัม เนื้อหมู 22 กิโลกรัม เนื้อวัว 5 กิโลกรัม เป็ด 4 กิโลกรัม แกะ 3 กิโลกรัม ไข่ไก่ 310 ฟอง ไม่ต่างจากประเทศตะวันตกมากนัก

สิงคโปร์ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศ โดยมี AVA เป็นหน่วยงานตรวจสอบการนำเข้าอาหารอย่างเข้มงวด และยังต้องดูแลให้มีอาหารเพียงพอ ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การเกิดโรคระบาด ในประเทศที่ผลิต ปัญหาของผลผลิตที่เกิดจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาจจะไม่ได้มาตรฐาน อันตรายจาก สถานการณ์ของประเทศที่นำเข้าอาหาร เช่น การหยุดงานประท้วงหรือปิดท่าเรือ ทำให้ส่งอาหารมาสิงคโปร์ไม่ได้

AVA มีหน้าที่ประเมินว่า อาหารจะพอรับประทานหรือไม่ หากเจอร่องรอยปัญหา เขาจะรีบสั่งตุนอาหารทันที เคยคุยกับเขา เขาบอกสิงคโปร์จะต้องอยู่ได้โดยไม่นำเข้าอาหารเลย 3 เดือน จึงนับว่ายอด นี่ไม่รู้จริงว่าเขาทำได้หรือเปล่า แต่อย่างน้อยเขาก็คิดไง บ้านเรายังไม่ได้คิดหรอกของพรรค์นี้ เพราะเรามั่นใจว่าเราอุดมสมบูรณ์พอ

การนำเข้าสินค้าทุกประเภท ผู้นำเข้าจะต้องได้รับการจดทะเบียนไว้กับหน่วยงาน Accounting & Corporate Regulatory Authority ได้รับใบอนุญาตการนำเข้าจาก International Enterprise Singapore ได้รับหนังสืออนุญาตในการนำเข้าสินค้าในแต่ละครั้ง จาก Agri-Foods & Veterinary Authority (AVA) ลงทะเบียนเพื่อนำเข้าแต่ละครั้งต่อ Department of Customs เพื่อจ่ายภาษีสินค้าและบริการ (GST : 7%) ภาษีอื่นๆ และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง โดยจ่ายทางอินเตอร์เน็ต

จะค้าขายกับสิงคโปร์ ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยควรคำนึงถึงและรับทราบว่า

  1. สิงคโปร์ ไม่เรียกเก็บภาษีศุลกากรนำเข้า (แต่เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตกับน้ำมัน รถยนต์ เหล้า และบุหรี่) แต่ที่ต้องเสียคือ ภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax : GST) ร้อยละ 7
  2. เวลาคิดราคาจึงไม่ต้องบอกภาษีกันมากมาย ง่ายดีนะฉันว่า

เห็นเล็กเท่าเกาะภูเก็ตอย่างนั้น พืชผลการเกษตรที่สิงคโปร์ผลิตได้ก็มีเยอะแยะ คือเขาพยายามจะลดการพึ่งพาให้น้อยที่สุด เขาผลิตผัก เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดหอม ผักชี และถั่วงอก ได้ประมาณปีละ 21,000 ตัน มีฟาร์มปลูกผักกว่า 62 แห่ง รวมพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ มีทั้งปลูกบนดิน และใช้ระบบไฮโดรโปนิก (hydroponic)  แต่ละฟารม์เก็บขายได้ประมาณวันละ 500 กิโลกรัม ถึง 6 ตัน

สิงคโปร์ ยังผลิตไข่ไก่ ได้ปีละ 71 ล้านฟอง จากฟาร์ม 6 แห่ง รวมพื้นที่ 560 ไร่ ตรงนี้แหละที่เขาบอกว่า ถ้านำเข้าไม่ได้ เขาจะกินของที่ผลิตเองให้อยู่ได้ 3 เดือน

ปลาและกุ้ง ก็มีฟาร์มรวมประมาณ 41 ฟาร์ม เป็นฟาร์มปลาตามชายฝั่งทะเล ที่เลี้ยงปลาและกุ้งไว้เป็นอาหาร มีฟาร์มเลี้ยงปลาน้ำจืดอย่างปลาดุกด้วย ผลผลิตได้ราว ร้อยละ 8 ของการบริโภครวม ประมาณ 56,000 ตัน ต่อปี

สินค้าออร์แกนิกที่ผลิตในสิงคโปร์คือ ผัก โดยมีฟาร์ม 4 ฟาร์ม คือ Green Valley Farms, Fire Flies Health Farm, Green Circle และ Quan Fa Organic Farm ผลผลิตจากฟาร์มเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผักอากาศร้อนชื้น เช่น คะน้า ผักกาดฮ่องเต้ บวบ แตงกวา กระเจี๊ยบเขียว ซึ่งผลผลิตดังกล่าวจะส่งขายให้กับร้านสินค้าเพื่อสุขภาพและซุปเปอร์มาร์เก็ต

ฉันสังเกตว่าผักไทยที่ขายที่สิงคโปร์จะสด และไม่ต้องใช้ความเย็นประคบประหงมมากนัก วางไว้เฉยๆ ก็ยังสด อาจเพราะขนส่งมาไม่ไกล

แต่ที่ประหลาดใจคือ แม้จะอยู่ใกล้มาก แต่ราคาผักที่สิงคโปร์ไม่ได้ถูกไปกว่าผักที่ขนไปไกลถึงอเมริกา หรือยุโรป เอาอย่างง่ายสุด ตะไคร้ ที่นี่ขายมัดละ 1.5 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 40 บาท มีราว 3-4 ต้น ที่อเมริกาก็ขายราคาประมาณนี้

แตงกวาจากเมืองไทย ขายถุงละ 40 บาท โดยประมาณ นับลูกก็ตกลูกละ 10 บาท เครื่องปรุงต้มยำ ถุงละ 60 บาท หัวปลี หัวละ 70 บาท กล้วยน้ำว้า หวีละ 100 บาท ใบแมงลัก ใบกะเพรา ใบโหระพา ยอดชะอม สะระแหน่ เหล่านี้มัดละ 45 บาท 1 มัด ไม่พอรับประทาน ลองกอง มะม่วงสุก กับกระท้อนสด ราคาไล่เลี่ยกัน กิโลละ 200 บาท ส่วนเห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ กิโลละ 800 บาท

ขณะที่วันเดียวกัน ชะอมที่ตลาดไท กรุงเทพฯ ขายกำละ 10 บาท ตะไคร้ กิโลละ 20 บาท แตงกวา กิโลละ 12 บาท มะนาว ลูกละ 2 บาท และมะละกอดิบ กิโลละ 18 บาท

อีกเรื่องที่สิงคโปร์กำลังเอาจริงเอาจังอย่างหนัก คือทั้งที่ไม่มีที่ปลูกกาแฟ แต่กำลังจะดันตัวเองขึ้นไปเป็นศูนย์กลางกาแฟโลกในเร็วนี้

คือถึงเขาไม่ได้ปลูก แต่เขามีความชำนาญในเรื่องการคั่วกาแฟ ซึ่งว่ากันว่าเป็นขั้นตอนสำคัญมากในการกำหนดคุณภาพและกลิ่นรสของกาแฟ เขามีองค์ความรู้เรื่องคั่วกาแฟมากว่าร้อยปี สืบทอดมาแต่ครั้งอังกฤษยังมีอิทธิพลอยู่ คนคั่วกาแฟมือเก่งๆ ของไทยไปเรียนจากสิงคโปร์มามากก็มาก

ทั้งอิทธิพลจากการอยู่ใต้อิทธิพลของอังกฤษมานาน และทั้งการเข้าสู่วิถีชีวิตแบบโลกที่หนึ่ง คือคนกินดีอยู่ดี คนสิงคโปร์ปัจจุบันจึงบริโภคกาแฟกันมาก และรู้เรื่องกาแฟดีกว่าคนในประเทศเล็กจ้อยพึงจะรู้

และเมื่อสิงคโปร์ทำอะไร เขาเล็งไปที่ความเป็นเลิศสถานเดียว

 สิงคโปร์จัดเทศกาลกาแฟประจำชาติของตนเองครั้งแรกขึ้นแล้ว และประกาศจะจัดอีกทุกปีๆ ต่อไป

ใครไม่แปลกฉันแปลกนะ ประเทศที่ไม่มีกาแฟเลยสักต้น จัดเทศกาลกาแฟประจำชาตินี่น่ะ

ในงานเขาก็เอาคนนำเข้ากาแฟ ผู้ผลิตกาแฟ อันหมายถึง คนที่นำเข้าเมล็ดกาแฟดิบมาคั่วแล้วปรุงกลิ่นรสต่างๆ นานา และยังมีบรรดาเจ้าของกาแฟยี่ห้อต่างๆ ซึ่งฉันพบว่ามีมากมายเกินกว่าจะเชื่อว่านี่เฉพาะในสิงคโปร์เท่านั้น

ทั้งหมดเป็นยี่ห้อของสิงคโปร์ แม้ว่าเขาจะไม่มีกาแฟสักต้นก็ตาม

สอบถามแล้ว ผู้นำเข้าและร้านกาแฟส่วนใหญ่นำเข้ากาแฟจากแอฟริกา และอเมริกาใต้ ทั้งเอธิโอเปีย เอลซัลวาดอร์ บราซิล เรียกว่าเกือบ 70% ล้วนมาจากประเทศเหล่านี้

ถามเขาว่า ทำไม ไม่สั่งซื้อจากไทย เวียดนาม ลาว ซึ่งอยู่ใกล้ๆ เขาบอกว่า เรื่องคุณภาพยังต้องพัฒนา

ซึ่งฉันก็บอกเขาว่า มันพัฒนาได้ บอกมาสิจะเอาแบบไหน เกษตรกรไทยจัดได้

ใช่ไหม?