“ซีพี ออลล์” พลิกชีวิตชาวสวนสู่ผู้ประกอบการผลไม้แปรรูป “เสวย” ขายผ่าน “ร้านเซเว่นฯ” ทำรายได้กว่าปีละ 50 ล้านบาท

ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ยกระดับครอบครัวชาวสวนสู่ผู้ประกอบการผลไม้แปรรูป ภายใต้แบรนด์ “เสวย” จำหน่ายผ่านหน้าร้านเซเว่นฯ ทั่วประเทศ ทำรายได้กว่า 50 ล้านบาท ต่อปี สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้คนในชุมชน สร้างรายได้สู่เกษตรกรทั่วประเทศ

มนุษย์เงินเดือนหลายคนคิดว่า การจะมีเงินเพิ่มมากขึ้น คือการเพิ่มชั่วโมงการทำงานจึงก้มหน้าก้มตาทำงานหนักอยู่ในออฟฟิศ วันละหลายชั่วโมง แต่ก็ไม่รวยสักที เพราะขยันอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมุ่งมั่นทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยหนึ่งสมองและสองมือของตัวเอง ถึงจะเรียกว่าครบเครื่อง

อีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญสู่ความสำเร็จของเศรษฐีจำนวนไม่น้อยคือ ต้องมี “พันธมิตรทางการค้าที่ดี” ยกตัวอย่าง เช่น “เสวย” ธุรกิจผลไม้แช่อิ่มที่มีจุดเริ่มจากกิจการขนาดเล็กในครัวเรือน แต่สามารถขยายกิจการให้เติบโตอย่างมั่นคง เพราะได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรทางการค้า คือ บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้ง ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย รับบทบาทเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ คอยให้กำลังใจและผลักดันให้ธุรกิจเสวยผลไม้แปรรูปเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทำให้กิจการเสวยผลไม้แปรรูปมีตัวเลขยอดขายเพิ่มขึ้นทุกปี

 

พลิกชีวิต “เกษตรกร”

สู่ผู้ประกอบการแปรรูปผลไม้

นันทภรณ์ ชะเสริมไพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสวย ผลไม้แช่อิ่ม จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป “เสวย” เล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่วันนี้โด่งดังเป็นที่รู้จัก และมียอดจำหน่ายถึงปีละ 50 ล้านบาท ว่า มีจุดเริ่มต้นจากครอบครัวเกษตรกร เช่าที่ทำสวนผลไม้ ต่อมาคุณพ่อคุณแม่เริ่มคิดทำการแปรรูปมะกอก จากที่ไม่มีความรู้เลย ลองผิดลองถูกจนได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องรสชาติที่มีเอกลักษณ์ จึงเริ่มขยายไปแปรรูปผลไม้ตามฤดูกาลชนิดอื่น แต่ก็ยังทำเป็นกิจการในครัวเรือน จนได้มีโอกาสนำเสนอสินค้าเพื่อเข้าไปจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแล ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ จึงสามารถขยายธุรกิจ ซื้อที่ดิน สร้างโรงงานเป็นของตัวเองได้

“เดิมคุณพ่อ คุณแม่ ทำสวนปลูกผลไม้หลายชนิด ตอนปี 2538 เกิดน้ำท่วม มีแค่มะกอกน้ำที่รอด ก็มีคนสนใจมาขอกิ่งไปปลูกเยอะ ตอนที่ท่านทำแปรรูปก็เริ่มจากดองเค็มแต่รสชาติไม่ถูกปาก เลยเปลี่ยนมาทำแช่อิ่ม แจกให้คนรอบข้างชิมก่อน พอเริ่มมีคนมาขอซื้อจึงพัฒนากลายเป็นธุรกิจ และได้ขยายไปทำผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น มะม่วง มะดัน กระท้อน มะปราง มะขาม ที่มีตามฤดูกาลด้วย แล้วก็ไปขายตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ทั้งๆ ที่ช่วงนั้นยังใส่ถุงธรรมดาอยู่เลย” นันทภรณ์ กล่าว

เสวย ผลไม้แช่อิ่ม

สร้างรายได้ ปีละ 50 ล้าน

นันทภรณ์ กล่าวต่อว่า คุณพ่อมีโอกาสได้พบกับทีมของเซเว่นฯ และได้เริ่มนำสินค้าเข้าไปวางขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ปี 2542 โดยมียอดขายในเดือนแรกแค่ 3 หมื่นบาท คุณพ่อก็มีท้อบ้าง แต่คิดว่าไหนๆ ก็สู้แล้ว และทางเซเว่นฯ ก็ได้ให้ข้อแนะนำช่วยเหลือหลายอย่าง จนยอดขายเพิ่มขึ้นเยอะ ต้องจ้างคนมาช่วยทำ แต่ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน จนกระทั่ง ปี 2553 ได้กู้เงินซื้อที่ดิน พื้นที่กว่า 15 ไร่ ที่เป็นที่ตั้งโรงงานปัจจุบัน ช่วงสร้างโรงงานก็พบวิกฤติน้ำท่วม ต้องรื้อผังโรงงานใหม่ทั้งหมดเกือบจะไม่รอดเหมือนกัน แต่วิกฤติใหญ่ที่สุดคือ ตอนคุณพ่อเสียชีวิต ธุรกิจหยุดชะงัก มีปัญหาด้านการเงิน ทั้งที่กำลังอยู่ในช่วงกำลังขยับขยายสร้างโรงงาน ต้องขายทรัพย์สินบางส่วนมาเพื่อประคองธุรกิจต่อ

ปัจจุบัน โรงงาน เสวย ผลไม้แช่อิ่ม พัฒนาปรับปรุงเป็นระบบ ได้รับรองมาตรฐาน GMP-HACCP ทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในร้านเซเว่นฯ ทั่วประเทศ 3  ตัว คือ มะกอกแช่อิ่ม มะม่วงแช่อิ่ม และกระท้อนแช่อิ่ม ล่าสุดได้คว้ารางวัลเซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน ปี 2561 ประเภท SME สินค้าเกษตร มาครองด้วย

ตลาดโต เกษตรกร ขายผลไม้ได้เพิ่มขึ้น 

เมื่อกิจการเสวยผลไม้แช่อิ่ม มีโอกาสนำสินค้าไปวางจำหน่ายในร้านเซเว่นฯ ไม่เพียงเปลี่ยนชีวิตครอบครัวชาวสวนธรรมดาไปสู่ธุรกิจที่มียอดขายกว่า 50 ล้านบาท ต่อปี แต่เสวยยังช่วยสร้างงานให้คนในชุมชน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวนไม่น้อย

“ผลไม้แช่อิ่มเป็นสินค้าที่รับประทานง่าย สมัยก่อนเราอาจจะนึกถึงผลไม้รถเข็น แต่ตอนนี้ขับรถง่วงนอน ดึกแค่ไหนก็เข้าไปซื้อในเซเว่นฯ ได้เลย มั่นใจได้ว่าสินค้าของเราสะอาด ปลอดภัย ธุรกิจเราเติบโตมากับเซเว่นฯ ที่เข้ามาช่วยดูตั้งแต่เริ่มต้น สอนตั้งแต่เรื่องทำเอกสาร ส่วนโรงงานตอนยังมีทุนไม่เยอะก็แนะนำว่าทำอย่างไร แค่ไหนถึงเหมาะสม เช่น แยกพื้นที่โซนเปียก โซนแห้ง” นันทภรณ์ กล่าว

” ทุกวันนี้กิจการเสวย ผลไม้แช่อิ่ม มีคนงานประมาณ 50 คน เป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด มีทุกวัย เราต้องใช้แรงงานคน เพราะงานบางอย่าง เช่น การปอก การหั่น ต้องรักษามาตรฐาน และความสวยงามไว้ ส่วนวัตถุดิบ ทางโรงงานเปิดรับซื้อจากเกษตรกรทั่วไป อย่าง มะกอก รับซื้อมาจากหลายจังหวัดในภาคเหนือแล้ว เกษตรกรในสุพรรณบุรีก็ปลูกต้นมะกอกตามบ้านตามคันนา ผลผลิตมีเท่าไร ทางโรงงานก็รับซื้อหมด สำหรับมะม่วงที่ปลูกในพื้นที่ อ.ดอนเจดีย์ อ.ศรีประจันต์ มีเยอะมาก ปีหนึ่งๆ ทางโรงงานช่วยรับซื้อมะกอกจากพี่น้องเกษตรกร ประมาณ 500 ตัน มะม่วง ก็ราวๆ 1,000 ตัน” คุณนันทภรณ์ กล่าวสรุปด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมแบ่งปันโอกาสให้กับคนอื่น

เซเว่น อีเลฟเว่น ช่วยพัฒนาตลาดสินค้า SMEs

นายบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทมีนโยบาย “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” โดยส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่ผลิตสินค้ามีคุณภาพมาตรฐาน และเป็นที่นิยมของประชาชนมาตลอด โดยบริษัทเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ SMEs มีโอกาสส่งสินค้าตรงถึงมือผู้บริโภคโดยตรงผ่านร้านเซเว่นฯ ทั่วประเทศ และผ่านช่องทางของ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ซึ่งจำหน่ายสินค้าผ่านนิตยสารทเวนตี้โฟร์ แคตตาล็อก ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ และอีคอมเมิร์ซ ปัจจุบัน ทั้ง เซเว่น อีเลฟเว่น และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ได้จัดจำหน่ายสินค้า เอสเอ็มอี รวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 รายการ และมีการพัฒนา SME ให้เจริญก้าวหน้าเพื่อเป็นเติบโตเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ได้ช่วยส่งเสริม และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยจำหน่ายสินค้า เอสเอ็มอี หลายประเภท โดยเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เช่น ผลไม้แปรรูป, เครื่องดื่ม, เบเกอรี่, ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เป็นต้น ซึ่งสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป รวมถึงสินค้าที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรของกลุ่มธุรกิจ SME จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับสินค้าที่จะเข้ามาเสนอขายผ่านร้านเซเว่นฯ และช่องทางของทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้งนั้น ขอเพียงเป็นสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้า ได้รับเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงานราชการ เช่น อย. เครื่องหมายรับรองมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ มอก. ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ ซึ่งผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี สมัยใหม่จะต้องมีทัศนคติที่ดี รู้จักพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญจะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และคู่ค้า” นายบัญญัติ กล่าวในที่สุด