เกษตรกันทรวิชัย จับมือ มมส. จัด “ตลาดพอเพียง มมส.เพื่อชุมชน”

จากปัญหาราคาข้าวตกต่ำในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปีคือเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ราคาตันละประมาณ 5,000-6,000 บาท ผลผลิตเฉลี่ย 500 กิโลกรัม/ไร่ หรือคิดเป็นเงิน 2,500-3,000 บาท/ไร่ ซึ่งรายได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตด้วยซ้ำไป ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน จากปัญหาดังกล่าวสำนักงานเกษตรอำเภอกันทรวิชัย โดย คุณอำพน ศิริคำ เกษตรอำเภอกันทรวิชัย เห็นว่ามหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) มีนิสิตและคณาจารย์กว่า 35,000 คน หากมาสนับสนุนด้านการตลาดจะช่วยเหลือชาวนาได้มาก ดังนั้น จึงได้นำคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และชาวนาชั้นนำ เข้าพบ ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อหารือการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ

คุณอำพน กล่าวว่า ฤดูการผลิตข้าวนาปี 2559/2560 มีผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก และเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า ผลผลิตข้าวโดยรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่ในระดับดีมาก ส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ คาดว่าจะมีผลผลิตทั้งประเทศราว 30 ล้านตัน ในส่วนของอำเภอกันทรวิชัย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 172,000 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 83,000 ตัน ใช้เพื่อบริโภคและเก็บไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลต่อไป ประมาณ 30,000 ตัน คาดว่าส่วนที่เหลือประมาณ 50,000 ตัน จะเข้าสู่ระบบตลาด

ส่วนหนึ่งคณะกรรมการจัดงาน

คุณอำพน กล่าวอีกว่า ถึงแม้รัฐบาลจะมีโครงการสินเชื่อชะลอการขาย (จำนำในยุ้งฉาง) เพื่อพยุงราคา แต่ก็จำกัดประมาณ 2 ล้านตัน ดังนั้น จึงหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรด้วยการผลิตข้าวถุงเอง จำหน่ายในราคาถูกให้ผู้บริโภคโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรอำเภอได้สำรวจโรงสีที่มีอยู่ในพื้นที่จำนวน 138 โรง แบ่งเป็นโรงสีข้าวชุมชน (ส่วนรวม) 22 โรง และโรงสีส่วนบุคคล 116 โรง ซึ่งในการสีข้าวขาวไม่คิดค่าบริการ (ยกเว้นข้าวกล้องคิดค่าบริการ กิโลกรัมละ 2-3 บาท) โดยขอความอนุเคราะห์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้การสนับสนุน ดังนี้

  1. จัดตลาดนัดข้าวสาร ทุกสัปดาห์ โดยประชาสัมพันธ์ให้นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งในมหาวิทยาลัยและรอบๆ ให้รับทราบอย่างกว้างขวาง โดยกำหนดวันเวลาและสถานที่อย่างชัดเจน ต่อเนื่อง มีพิธีเปิดงานในครั้งแรก
  2. จัดโครงการ “ผูกข้าวกับชาวนา” โดยเปิดเวทีให้ชาวนาที่ผลิตข้าวคุณภาพดีได้เจรจาขายข้าวให้กับนักศึกษา หรือคณาจารย์ และ/หรือผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยซื้อขายข้าวเป็นประจำ ต่อเนื่อง ส่งมอบรายสัปดาห์ (ร้านอาหาร) หรือรายเดือนสำหรับนักศึกษา คณาจารย์

ซึ่ง หากอธิการบดี มมส. เห็นชอบกับแนวคิดดังกล่าว จะได้เสนอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมจัดงานและกิจกรรมดังกล่าวต่อไป

ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านมะแปป กับบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองและจำหน่ายด้วย

จากการเข้าพบอธิการบดีในครั้งนั้น จึงได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ 4689/2559 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน มมส.เพื่อชุมชน โดยรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย คณบดีคณะต่างๆ, ผู้ช่วยอธิการบดี, ผู้อำนวยการกองต่างๆ, ฝ่ายจัดหารายได้, เกษตรอำเภอกันทรวิชัย, นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร, ตัวแทนคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน), โดยมีท่านอธิการบดี มมส. และนายอำเภอกันทรวิชัย เป็นที่ปรึกษา ให้มีหน้าที่ดังนี้

  1. กำหนดนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ
  2. จัดพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรได้จำหน่ายข้าวเป็นประจำและต่อเนื่อง อีกทั้งร่วมออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการขาย
  3. สรุปและประเมินผลการดำเนินงาน

ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวได้จัดประชุมหลายครั้ง โดยเกษตรอำเภอกันทรวิชัย เป็นผู้คัดกรอง

ผักปลอดสารพิษ จากยุวเกษตรกรปราดเปรื่อง

เกษตรกรที่จะนำสินค้ามาจำหน่าย ซึ่งต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ หลายกลุ่มได้รับใบรับรองมาตรฐาน บางกลุ่มได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดข้าวหอมมะลิคุณภาพระดับจังหวัด 2 ปีซ้อน (2 ปี 4 รางวัล) เช่น ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเขียบ/นาแปลงใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยได้รับผิดชอบในการจัดตลาดนัดทั้งเตรียมสถานที่ ประชาสัมพันธ์ และอื่นๆ อีกมากมาย

ภายในงานนอกจากจะมีการจำหน่ายข้าวสารแล้วยังเปิดโอกาสให้นำสินค้าที่ผลิตโดยชุมชนมาจำหน่ายด้วย เช่น ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ สินค้าใช้สอยต่างๆ โดยได้จัดงานเปิดตัว “ตลาดพอเพียง มมส.เพื่อชุมชน” ไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา

จะเห็นว่าตลาดพอเพียง มมส.เพื่อชุมชน นี้จะเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายเกษตรกรจะมีสถานที่จำหน่ายที่แน่นอน มีรายได้ทุกสัปดาห์ ขณะที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยก็ได้ซื้อสินค้าหลากหลายจากเกษตรกรโดยตรง มีคุณภาพที่ผ่านการคัดกรองจากสำนักงานเกษตรอำเภอ ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของความร่วมมือ ส่วนจะไปได้ไกลแค่ไหน ขอให้ติดตามกันต่อไป

สอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอกันทรวิชัย โทร. (043) 789-104