ที่มา | ผลิตภัณฑ์น่าซื้อ |
---|---|
ผู้เขียน | อนัญญา นิตย์ใหม่ |
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ จัดงานโดยกรมการข้าว ในงานมี “กลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้” มาออกร้านแนะนำผลิตภัณฑ์
จากการพูดคุยถึงที่มาที่ไปน่าสนใจเป็นอย่างมาก
จุดเริ่มต้น ชาวบ้านเห็นว่า คุณสมภพ ลุนาบุตร ปลูกอินทผลัมกินผล จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 500 บาท ต่างจากข้าวหอมมะลิ บางปีกิโลกรัมละ 6-8 บาท จึงอยากให้ข้าวราคาดีบ้าง โดยตั้งเป้าแปรรูปข้าวจำหน่าย
คุณสมภพ หนึ่งในแกนนำการก่อตั้งกลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้ ตำแหน่งประชาสัมพันธ์ เล่าถึงข้อมูลประวัติความเป็นมาตลอดจนการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารว่า กลุ่มตั้งขึ้นเพื่อความอยู่รอดของชาวนาและเกษตรกรในพื้นที่ ผลผลิตที่ได้จากพื้นที่ทำการเกษตรของสมาชิกที่อยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้แห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิเป็นหลัก โดยลักษณะเด่นทั่วไปของข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้นั้นเหมาะสำหรับใช้บริโภคหรือแปรรูป เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากมีความหอมนุ่ม เมล็ดข้าวสวยงามมีลักษณะที่เรียวยาว
ข้าวตราเพชรทุ่ง นุ่มหอม
“ข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นข้าวหอมมะลิที่ผลิตภายใต้ชื่อ “เพชรทุ่ง” เป็นข้าวหอมมะลิที่ผลิตและจำหน่ายโดยกลุ่มของเกษตรกร กลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้ ตั้งอยู่ที่ บ้านน้อยพัฒนา หมู่ที่ 9 ตำบลดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์เพื่อการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” คุณสมภพ บอก
คุณสมภพ เล่าต่อว่า ด้วยปัญหาราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำในปัจจุบันส่งผลทางด้านกำไรจากการค้าขายข้าวเปลือกที่ลดลงของชาวนาและเกษตรกรไทย จึงทำให้เกิดการปรับตัวเพื่อทำการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ทางกลุ่ม “ข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้” ได้เล็งเห็นซึ่งการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดแก่พี่น้องเกษตรกรภายในพื้นที่ โดยมีการก่อตั้งกลุ่มขึ้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธุ 2558 และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธุ 2558 ได้ทำการติดตั้งโรงสีข้าวขนาด 4.75 แรงม้า ซึ่งรับสีข้าวเพียงภายในชุมชน ชุมชนใกล้เคียงและแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารจากชุมชนเพื่อการจัดจำหน่าย
“ตอนแรกเรารวมโดยชาวบ้านเอง 22 ครัวเรือนมาคุยกัน แล้วตกผลึกกันได้ 17 ครัวเรือนว่าจะรวมกลุ่มกัน แล้วจะทำยังไงล่ะโรงสีก็ไม่มี หน่วยงานสนับสนุนก็ยังไม่มี ลงขันกันครับ คนละ 5,000 บาท เป็นเงิน 85,000 บาท จะเอาไปซื้อโรงสีที่ราคา 195,000 บาท แต่ทีนี้เงินเราได้ 85,000 บาท เงินไม่พอทำไง ก็มีผู้ใหญ่ใจดีในหมู่บ้าน ก็คือแม่ยายผมนี่แหละ ก็เลยบอกแม่ยายไปว่าแม่ทุนไม่มี ก็เลยคุยกับแม่ยาย บอกแม่ยายว่าแม่ทำบุญกับวัดกับวานู่นนี่นั่นก็เยอะ ก็ขอยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยได้ไหม ก็คุยกันคนในหมู่บ้านก็คุยกัน เพราะว่าเราเกิดจากปัญหาในชุมชนกันที่ว่าราคาข้าวมันตกต่ำจะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้ ทุกวันนี้ก้ยังใช้ไม่หมด”
คุณสมภพกล่าวพร้อมกับหัวเราะฮ่าๆๆ…
“ยืมมา 120,000 บาท พร้อมเดินไฟเดินอะไรด้วย ก็เอามารวมกับเงินกลุ่มก็จาก 85,000 ก็เป็น 205,000 บาท อันนี้คือค่าเครื่องราคาเต็มแต่เราไปซื้อในงาน วันที่ 9 เรารวมกลุ่มกันใช่ไหม วันที่ 10 เราไปดูงานที่ ม.อุบล วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 เขาจัดงานเกษตรแฟร์ ก็ไปดูไปเจอโรงสีของ บริษัท นาทวีฯ ที่ลงโฆษณาของเทคโนโลยีชาวบ้านเนี่ยแหละ ก็ดูรู้ว่าโรงสีนี้เป็นโรงสีนวัตกรรม เป็นโรงสีที่ไม่ต้องไปเสียโรงงาน เพราะว่ามัน 4.75 แรงม้า ก็ไปดูกัน ไปดูแล้วก็วางมัดจำเลย แล้วก็มาติดตั้งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ก็คือรวดเร็วนะ โดยตอนแรกเราก็ยังไม่มีหน่วยงานที่เข้ามา เราก็สีให้กับญาติพี่น้องให้เอามาขายที่จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง ที่เขามาทำงาน โดย 17 ครัวเรือนที่นาในตอนนั้นมี 1,109 ไร่”
การรวมกลุ่มของเกษตรกรภายในหมู่บ้าน ระดมทุนเพื่อซื้อโรงสีข้าวเกิดขึ้น โดยสมาชิกเริ่มต้นการก่อตั้ง 17 ราย จาก 17 ครัวเรือน ปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นเป็น 29 ครัวเรือน ที่นาในปัจจุบันมี 1,300-1,400 ไร่ นับตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2559-2561 มีการระดมทุนจากสมาชิกภายในกลุ่ม ในส่วนของผลผลิตที่นำมาแปรรูปในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา ประมาณ 50-60 ตันข้าวเปลือก
ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้มีการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์โดยมีการจัดทำแปลงเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มขึ้น มีศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นพี่เลี้ยงให้ ช่วงปีนี้ผลผลิตจำหน่ายที่ดีที่สุดคือเมล็ดพันธุ์ข้าว อิงจากยอดการขายที่ขายได้ถึง 20-30 ตันโดยประมาณ ราคาทั่วไปการขายเมล็ดพันธุ์ตามท้องตลาด 25 กิโลกรัม ขายอยู่ที่ 750-850 บาท ต่อถุง แต่ทางกลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้ขายอยู่ที่ 650 บาท ต่อถุง โดยการตั้งราคาการค้าขายในครั้งนี้ประเมินจากความเหมาะสมที่ทางกลุ่มสามารถอยู่ได้ ในส่วนของวิธีการผลิตในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นระบบอินทรีย์แต่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนทั้งหมด
ทางด้านของความพึงพอใจของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ทำกินนั้น คุณปราณี สุดาปัน หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม มีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากการรับซื้อผ่านกลุ่มมีการกำหนดราคาที่สูงกว่าราคาท้องตลาดถึง 1-5 บาท โดยความต้องการอนาคตมีความต้องการให้คงต่อความเป็นอินทรีย์ปราศจากสารเคมี
“วิธีการผลิตเรากำลังปรับเปลี่ยนเป็นระบบอินทรีย์แต่เราไม่ได้ปรับเปลื่ยนทั้งหมด ก็คือเราไม่ได้ปรับ เปลื่ยนตามนโยบาย ไม่ต้องการตัวเลข 2,000-3,000 ไร่ คือเราปรับตามทั่วไป เพราะว่าผมว่าความซื่อสัตย์ของเกษตรกรเนี่ยเป็นจุดสำคัญนะ จะเอาแค่ตัวหนังสือผมไม่เอา ผมบอกเลยว่าเอาแบบความจริงใจของตัวเกษตรกร ผมก็จะแนะนำลูกค้าเวลาเขาถามว่า อินทรีย์ไหม ผมก็จะตอบไปว่า กระบวนการของเราเนี่ยเราเรียนรู้กระบวนการทำระบบอินทรีย์ แต่เราจะบังคับทุกคนทุกรายไม่ได้ เราต้องทำให้เขาเห็นว่าการทำอินทรีย์มันดีอย่างไร คือหนึ่งมันดีต่อตัวเขาเอง มันดีต่อครอบครัวเขาเอง แล้วสองก็คือมันจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ผลิตปลายทาง ที่เป็นผู้ซื้อเรา ทีนี้มันจะทำให้อินทรีย์ปลูกฝังอยู่ในจิตใจของครอบครัวเขา ของตัวเกษตรกร เราไม่ได้ว่าเฮ้ย! คุณทำอินทรีย์ปีนี้คุณได้ 2,000 บาท ปีหน้าคุณได้ 3,000 บาท ปีต่อไปคุณได้ 4,000 บาท แล้วปีต่อไปละเมื่อไม่มีค่าตอบแทนไม่ทำ อย่างนั้นไม่ยั่งยืน เราเลยปรับกระบวนการใหม่ก็คือเอาจากใจของตัวเกษตรกรมันจะยั่งยืนกว่า” คุณสมภพ กล่าว
ในส่วนของการสนับสนุน อุตสาหกรรมร้อยเอ็ดร่วมกับสถาบันอาหาร โดยสถาบันอาหารเป็นผู้วิจัยสูตรและกระบวนการผลิตทั้งหมด อีกทั้งยังคงเป็นที่ปรึกษาให้แก่โครงการในการทำการแปรรูป มีการสนับสนุนทางด้านงบประมาณเครื่องจักรในการแปรรูปจากข้าวที่หักเป็นขนมชิปปี้ไรท์บาร์ ขนมป๊อปไรซ์ ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันของกลุ่ม ได้แก่ ข้าว ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวขาว ข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์
คุณสมภพ เผยจุดเด่นของข้าวกลุ่มว่า “เมล็ดข้าวเรียวยาว สีขาว กลิ่นหอม รสสัมผัสนุ่ม”
ทางด้านการกำหนดราคาขาย ดังนี้
- ข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์ กิโลกรัมละ 95 บาท ต่อกิโลกรัม
- ข้าวกล้องและข้าวขาว กิโลกรัมละ 75 บาท ต่อกิโลกรัม
โดยกิจกรรมของกลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้ มุ่งเน้นการผลิตและการจัดจำหน่ายข้าวหอมมะลิ ภายใต้สโลแกนกลุ่มที่ว่าด้วย “ขยัน ซื่อสัตย์ เสียสละ” เป็นสิ่งสำคัญ
ในส่วนของวิสัยทัศน์ของกลุ่ม “เป็นผู้นำในการผลิตและแปรรูปข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีมาตรฐานตรงต่อความต้องการของตลาดไทย” โดยควบคู่กับสโลแกนที่ว่า “อัญมณีแห่งผืนนาเมืองเกศข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้”
ขนมโดนัทจากแป้งข้าวหอมมะลิ
ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มีกลุ่มแปรรูปข้าวหอมมะลิหัก เป็นแป้งข้าวหอมมะลิ
ทางกลุ่มได้เรียนรู้ทำโดนัทจากแป้งข้าวหอมมะลิ
หัวเรี่ยวหัวแรงคือ คุณสุตาภัทร ถะเกิงผล อยู่ที่ 213 หมู่ที่ 9 ตำบลดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
คุณสุตาภัทร เล่าว่า เริ่มจากซื้อแป้งในเครือข่ายกิโลกรัมละ 35 บาท เพื่อใช้ในการทำโดนัท เป็นแป้งจากข้าวเจ้าหอมมะลิ 100% ไม่มีกลูเตน ไม่เสี่ยงต่อการแพ้ในกลุ่มของผู้บริโภค
สูตรโดนัท มีดังนี้
- แป้ง 3 ถ้วยตวง ต่อ 1ชุด
- น้ำตาล 1 ถ้วยตวง
- ไข่ไก่ 2 ฟอง
- นมจืด 1 ถ้วยตวง
- กะทิ 1/2 ถ้วยตวง
- น้ำมันรำข้าว 1/2 ถ้วยตวง
- น้ำเปล่า 1/2 ถ้วยตวง
- เกลือ 1 ช้อนชา
โดยมีวิธีทำดังนี้
- ตวงแป้ง
- นำไปกรองเศษข้าวที่ไม่ละเอียดออก
- ผสมวัตถุดิบให้เข้ากัน
- หลังจากที่ทำการผสมสูตรเสร็จแล้ว ตีทุกอย่างให้เข้ากันให้ได้ลักษณะน้ำแป้งที่เหนียวหน่อยๆ
- จากนั้นนำไปอบที่เครื่องอบเป็นเวลา 2 นาที แล้วกลับด้านขนม
- เมื่อได้ขนมที่มีลักษณะสุกสีเหลืองแล้วนำขึ้นใส่กล่องเพื่อจัดจำหน่าย
จำหน่าย 7 ชิ้น 20 บาท อายุการเก็บรักษา 7 วัน
คุณสุตาภัทร เผยจุดเด่นของโดนัทคือ “ความอร่อยและกลิ่นหอม อีกทั้งยังทำจากแป้งข้าวเจ้าหอมมะลิ 100%”
โดยคุณสมภพ เผยว่า “ปัจจุบันมีการส่งตรวจให้สถาบันอาหารช่วยคำนวณและช่วยตรวจค่าโภชนาการของโดนัท…อีกไม่นานคงทราบผล”
สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ ผ่านช่องทางดังนี้ ผ่านเพจ : ข้าวเพชรทุ่ง ผ่านเบอร์โทร. (087) 248-2928 สั่งซื้อผ่าน Line ID : 087-248-2928