อพท. 3 เชื่อมโยง อพท. 5 พัฒนาศักยภาพท่องเที่ยวชุมชน เชื่อมโยง สปป.ลาว

“ท่องเที่ยวชุมชน” เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว

คุณธานินทร์ สุทธิธนกูล

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน : อพท.) เป็นองค์กรหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนพัฒนาส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ทั้งหมด 6 แห่ง

เมื่อ 17-23 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา อพท. 3 ได้นำคณะกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดตราด 4 ชุมชน คือ ชุมชนเกาะหมาก ชุมชนท่าระแนะ ชุมชนตำบลไม้รูด และชุมชนตำบลคลองใหญ่ รวม 40 คน จัดกิจกรรมเชื่อมโยงกับ อพท. 5 จังหวัดเลย ที่อำเภอเชียงคานและอำเภอด่านซ้าย

คุณสุธารักษ์ สุนทรวิภาต รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 (ตราด) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการให้องค์ความรู้โดยสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ส.พ.ส.) ผสมผสานกับประสบการณ์ตรง ศึกษาดูงานพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น เพื่อส่งเสริมด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานและพัฒนาการอย่างยั่งยืนต่อ รวมทั้งให้ชุมชนได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์เพื่อนำมาปรับใช้ รวมทั้งสร้างเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยงกัน

เชียงคาน แมกเนตการท่องเที่ยว

อำเภอเชียงคาน แมกเนตการท่องเที่ยว สิ่งแรกผู้มาเยือนจะสะดุดตากับสถานีจำหน่ายน้ำมัน ปตท. ร้าน 7-11 บิ๊กซี เทสโก้-โลตัส ธนาคาร ออกแบบ ตกแต่งรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมที่กลมกลืนกับอัตลักษณ์ของเชียงคาน  อพท. 5 ได้พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนมาเมื่อปี 2558 พื้นที่ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่คัดมาให้เที่ยวชมมีอัตลักษณ์โดดเด่น ที่อำเภอเชียงคาน เช่น ประเพณีการใส่บาตรข้าวเหนียว ถนนคนเดินในย่านอาคารเรือนไม้โบราณที่สวยงามที่อนุรักษ์ไว้ วิถีชีวิตของชาวบ้านฝั่งโขงและพิธีผาสาดลอยเคราะห์ หมู่บ้านโอท็อปท่องเที่ยวบ้านท่าดีหมี

ทำกิจกรรม

และต่อที่อำเภอด่านซ้าย แหล่งเรียนรู้ ภูนาคำ รีสอร์ท โรงแรมสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กิจกรรมดีๆ ที่ปลูกจิตสำนึก ประหยัดพลังงาน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ ไฟฟ้า แถมด้วยการคำนวณการปลดปล่อยคาร์บอนฟุตปริ้นท์ การลดใช้โฟม พลาสติก (wax) โดยใช้นวัตกรรมง่ายๆใช้ขี้ผึ้งเคลือบผิวผ้าบางๆ การทำบ่อดักไขมัน และภายในบริเวณรีสอร์ทมีการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ การใช้พลังงานโซล่าร์เซลล์ รวมทั้งผสมผสานกิจกรรมสนุกๆ เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิตคนด่านซ้าย เช่น การวาดหน้ากากผีตาโขน การทำต้นผึ้งบูชาพระธาตุศรีสองรัก และเมนูอาหารท้องถิ่นเมี่ยงโค้น (น้ำผักสะทอน)

ชุมชนบ้านท่าดีหมี ต่อยอดผลิตภัณฑ์กาบหมาก สู่ “ท่องเที่ยว”

ชุมชนตำบลไม้รูด

เป็นหมู่บ้านโอท็อป (OTOP) ท่องเที่ยว สดใหม่เพิ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวมาเพียงปีเศษ คุณเจษฎาภรณ์ สอนเสียง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เล่าว่า เริ่มจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านพัฒนาการท่องเที่ยว เมื่อ ปี 2559 แรงบันดาลใจที่เห็นนักท่องเที่ยวมาเที่ยวภูพระใหญ่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านมีรายได้จากบริการรถรับส่ง จุดบริเวณนี้สวยงามมาก มองเห็นแม่น้ำ 2 สาย 2 สี คือแม่น้ำเหือง และแม่น้ำโขง

ปี 2559 มีโครงการก่อสร้างสกายวอล์ก สูงจากแม่น้ำโขง 80 เมตร จะเปิดบริการเดือนตุลาคม 2562 อยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียง 5-6 กิโลเมตร เป็นแลนด์มาร์กใหม่ คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวมากันเป็นจำนวนมาก และปี 2561 จัดตั้งเป็นหมู่บ้านโอท็อปท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยได้เข้ามาช่วยด้านองค์ความรู้ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ชูอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของหมู่บ้าน คือเริ่มจากอาหารพื้นบ้านง่ายๆ ข้าวเหนียวส้มตำ แกงเปรอะ รสชาติอร่อย และใช้รถอีแต๊กของชาวบ้านที่ใช้ทำสวนให้บริการ เป็นเสน่ห์ชวนให้สนุกสนาน ตื่นเต้น จุดท่องเที่ยว 5 แห่ง เริ่มจากดูทอผ้าฝ้ายพื้นบ้าน ชิมชาดีหมีหญ้าหวานสมุนไพรลดความดัน สกรีนเสื้อยืดที่ระลึก บ้านโบราณอายุ 300 ปี ริมแม่น้ำเหือง ไฮไลต์ คือผลิตภัณฑ์กาบหมาก ที่มีกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบจำหน่าย

ตัวแทน อพท. 3 แนะนำคณะ

คุณภูษณิศา สบายแก้ว ประชาสัมพันธ์กลุ่มผลิตภัณฑ์ภาชนะจากธรรมชาติ เล่าว่า ผลิตภัณฑ์ทำจำหน่ายมาได้ 6 เดือน ผลิตได้วันละ 1,000 ชิ้น มีลูกค้าซื้อหมด สร้างรายได้เป็นอาชีพเสริม

พิธีลอยผาสาดสะเดาะเคราะห์ นำมาผสมผสานกับการท่องเที่ยวได้ดี ส่วนการนั่งเรือประมงพื้นบ้านชมวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง ยังต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยอย่างมากๆ เรือควรมีมาตรฐานเดียวกันทุกลำ มีหลังคา เสื้อชูชีพ หรือรถอีแต๊กที่บ้านท่าดีหมีบางคันท่อไอเสียต่ำ พ่นคาร์บอนใส่นักท่องเที่ยว รวมทั้งตารางเวลาการนั่งรถ นั่งเรือเที่ยวน่าจะหลีกเลี่ยงช่วงแดดจัด

ภูนาคำ รีสอร์ท ศูนย์เรียนรู้โรงแรมสีเขียว

ทีมวิทยากร สมาคมพัฒนา

คุณอดุลย์ วงศ์มาศา ผู้จัดการทั่วไปภูนาคำ รีสอร์ท โรงแรมสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เล่าว่า จังหวัดเลย มีโรงแรมสีเขียวได้มาตรฐาน 9 แห่ง อยู่ในอำเภอด่านซ้าย 7 แห่ง มากที่สุดในภาคอีสาน ภูนาคำ รีสอร์ท มีพื้นที่ส่วนรีสอร์ท 26 ไร่ ห้องพัก 21 ห้อง และสวนเกษตร 25 ไร่ การบริหารจัดการ พนักงานมีทั้งหมด 10 คนเป็นคนท้องถิ่น เพื่อกระจายรายได้จัดที่พักให้อยู่ด้วยกันแบบพี่น้อง มีวัฒนธรรมขององค์กรที่ต้องชี้แจงให้พนักงานรับรู้เมื่อเข้ามาทำงาน พนักงานทุกคนอยู่ในทีมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม แต่ละแผนกจะผลิตของใช้จากธรรมชาติใช้ในรีสอร์ท เช่น แชมพูสระผม ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า การกำจัดขยะ โดยการคัดแยกและนำไปทำแก๊สชีวภาพ โรงแรมได้เข้าร่วมเครือข่ายท่องเที่ยว อำเภอด่านซ้ายมีความเข้มแข็งมาก ไม่ตั้งชมรม สมาคมไม่มีประธาน ไม่มีการเรียกประชุม ผู้ประกอบการกับชุมชนต้องร่วมมือกัน ใช้วิธีวนผลัดกันเป็นเจ้าภาพ นำอาหารมาคนละอย่างรับประทานร่วมกัน

“ภูนาคำ รีสอร์ท ได้รับรางวัลกรีนโฮเต็ลทั้งระดับประเทศและตัวแทนอาเซียน จากการพัฒนาตัวเอง ทีมงานมีความตื่นตัว ทำให้ก้าวไปข้างหน้า บางรางวัลอย่างใบไม้เขียวแต่ละครั้ง ค่าสมัคร 50,000 บาท กว่า 10 ปี เราพยายามสร้างจุดยืนโรงแรมสีเขียวให้เข้มแข็ง ศูนย์การเรียนรู้สื่อออกไป เช่น ปั่นจักรยานมาพักลด 50% ข้าวหอมมะลิอินทรีย์และเมนูอาหารบางอย่างปลูกเอง เช่น กะหล่ำปลีญี่ปุ่นผัดน้ำปลาเป็นผักอินทรีย์ ขนมปังงาดำ รวมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้” คุณอดุลย์ กล่าว

สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมลานช้าง

ท่องเที่ยวชุมชน เชื่อมโยง สปป.ลาว  

คุณธรรมนูญ ภาครูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน : อพท. 5) กล่าวว่า ปี 2560-2561 จังหวัดเลย มีนักท่องเที่ยวประมาณ 3.5 ล้านคน รายได้ ปี 2561 ประมาณ 4,600 ล้านบาท เพิ่มจาก ปี 2560 จำนวน 4,100 ล้านบาท หรือ 12.4% คาดว่า ปี 2562 จะเพิ่มขึ้น 10% อพท. ช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวชุมชน เพื่อการกระจายรายได้ สามารถลดค่าความเลื่อมล้ำจากคนรวย 50% เหลือ 30% อีก 70% มีการกระจายรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10-20% นักท่องเที่ยวเที่ยวเลยมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนไทยที่แมกเนตยังคงเป็นอำเภอเชียงคาน และกลุ่มเพื่อนบ้านลาว

ตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น จะไม่เพิ่มวัน เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต้องการใช้เวลา 2-2 วันครึ่ง ตุลาคม 2562 สกายวอล์กแลนด์มาร์กจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่จะเปิด จากธีม “ขึ้นภูดูหมอก” …ของด่านซ้าย ปีหนึ่งขายได้ 3 เดือน ตามสภาพอากาศ วัฒนธรรมผีตาโขน ขายได้อีก 2 วัน ต้องหาอะไรมาต่อยอดสร้างรายได้ให้ทั้งปี เป้าหมายคือ “ด่านซ้ายเมืองสุขภาพ” เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาได้ตลอดปี

“เป้าหมายของ อพท. 5 คือ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ตลาดนักท่องเที่ยวลาว เป็นลำดับ 1 ใน 5 ของต่างประประเทศเข้ามาเที่ยวไทย โดยเข้ามาช็อปปิ้ง ตรวจสุขภาพ และเที่ยวทะเล อพท. 5 ได้สำรวจเส้นทางเชื่อมโยง เลย พัทยา จันทบุรี อนาคตอาจจะไปถึงตราดหรือเกาะช้าง ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว สินค้า อาหารทะเล และปีนี้มีโครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมลานช้าง 4 เมือง (อุดรราชธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย) 4 แขวง (แขวงเวียงจันท์ ไชยะบุรี หลวงพระบาง และนครเวียงจันทน์) ซึ่งจะเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวไปพัทยา ได้มีการเจรจาร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการพัทยากับลาวเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้” ผู้จัดการ อพท. 5 กล่าว

ปิดรายการทริปนี้ด้วยการสรุปองค์ความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับ ผู้นำท่องเที่ยวชุมชนพื้นที่ อพท. 3 ทั้ง 4 ชุมชน ได้สะท้อนความคิด ด้วยพลังความมุ่งมั่นเพื่อออกแบบพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนจากประสบการณ์ที่มาเรียนรู้ได้นำไปปรับใช้ และปูพื้นฐานให้ชุมชนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมให้สอดคล้องกับสภาวะของแต่ละท้องถิ่น เป้าหมายคือ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง