กล้วยบ้านก้อง ลองแล้วจะติดใจ ของอร่อยจังหวัดชุมพร

หากเอ่ยชื่อ “กล้วยบ้านก้อง” หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ หรือเคยแวะเข้าไปเยี่ยมชมกิจการของชาวชุมพร ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 44/1 หมู่ที่ 10 ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งคำว่า “กล้วย” มาจาก “กล้วยน้ำว้าท่ายาง” ส่วนคำว่า “ก้อง” คือชื่อเล่นของ คุณสุทธิพงศ์ กฤตโยภาส หนุ่มวัย 33 ปี บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งยังเป็นประธานกลุ่มกล้วยน้ำว้าท่ายางด้วย

คุณสุทธิพงศ์ กฤตโยภาส

คุณสุทธิพงศ์ เปิดเผยว่า หลังจบปริญญาตรีใหม่ๆ เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ได้เริ่มลองทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าไทยๆ เช่น บายศรี ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายต้นไม้ จนได้ข้อสรุปว่า การแปรรูปจากกล้วยน้ำว้าท่ายางเป็นสิ่งที่ชอบมากที่สุด เพราะคิดว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้สามารถไปต่อได้ จึงตั้งชื่อว่า “กล้วยบ้านก้อง” แรกๆ ยังต้องซื้อกล้วยน้ำว้าท่ายางจากคนอื่น จนปีถัดมาจึงหาพันธุ์กล้วยน้ำว้าท่ายางมาปลูกเอง เพราะต้องใช้กล้วยเป็นจำนวนมาก

กล้วยท่ายาง

“จุดเด่นของกล้วยน้ำว้าท่ายางก็คือ นอกจากจะไม่มีเมล็ดเหมือนกล้วยน้ำว้าทั่วไปแล้ว ไส้ของกล้วยยังไม่มีแกน เมื่อนำมาขูดเพื่อแปรรูปจึงสามารถขูดได้จนถึงส่วนกลางเลย อีกทั้งไส้จะนิ่มมาก สามารถนำมาทำกล้วยน้ำว้าอบ กล้วยน้ำว้าแผ่น ซึ่งถือเป็น original ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ เลย นอกจากนั้น ก็มีกล้วยผสมช็อกโกแลต ที่เรียกว่า นามะ บานาน่าช็อก กล้วยเคลือบช็อกโกแลตทั้งผล กล้วยผสมเยลลี่ กล้วยน้ำว้ากวน 4 รส กล้วยน้ำว้ากวนเมล็ดงา” คุณสุทธิพงศ์ กล่าว

สวยงาม อร่อย

เมื่อถามว่า “กล้วยบ้านก้อง” อยู่มาเกือบ 10 ปี มีผลประกอบการอย่างไรบ้าง สุทธิพงศ์ตอบว่า ช่วงนี้คงเป็นช่วงทรงตัว มีการส่งออกบ้าง แต่ติดปัญหาตรงที่ในช่วงหลังการตลาดเริ่มเปลี่ยน เพราะมีคนมาติดต่อขอนำไปจำหน่ายในลักษณะการฝากขาย ซึ่งตนเองไม่ค่อยชอบ ส่วนการเข้าร่วมกับกลุ่มโอท็อปของชุมพรก็ได้เข้าร่วมด้วยจนได้เป็นวิสาหกิจชุมชนของตำบลท่ายาง และโอท็อปชุมพรจะมี 2 สายคือโอท็อประดับที่ออกบู๊ธตามงานทั่วไป และโอท็อปในระดับขึ้นห้างสรรพสินค้า

น่าซื้อ

คุณสุทธิพงศ์ กล่าวว่า การทำธุรกิจแบบนี้จำเป็นต้องเกาะเรื่องการท่องเที่ยว จึงประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานชุมพร ทำให้มีลูกค้าที่มาจากการรีวิว มาจากสายการบินไทยแอร์เอเชีย รวมทั้งนักท่องเที่ยวขาจรต่างๆ ที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมกิจการก่อนซื้อผลิตภัณฑ์กล้วยบ้านก้องกลับไป ส่วนการทำกิจการส่วนใหญ่เป็นลักษณะญาติพี่น้องมาช่วยกันทำ รวมทั้งมีลูกจ้างหลักและลูกจ้างรายวันบ้าง ซึ่งแม้จะเป็นลักษณะอุตสาหกรรมในครัวเรือนแต่ก็พร้อมที่จะไปตลาดใหญ่ สิ่งที่อยากได้ตอนนี้คือ GI (Geographical Indication = สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้กำกับดูแลและเป็นผู้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์กับสินค้าที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 ซึ่งสินค้า GI จะต้องมีแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง มีคุณภาพ มีชื่อเสียง ต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตจากพื้นที่อื่นๆ)

แปลกใหม่

คุณสุทธิพงศ์ กล่าวในตอนท้ายว่า กล้วยบ้านก้องยังไม่มีแผนขยายสาขาไปเปิดที่กรุงเทพฯ แต่จะเน้นในเรื่องระบบโลจิสติกส์มากกว่า และใครที่คิดจะเลิกจากการเป็นพนักงานกินเงินเดือนมาทำธุรกิจตัวเอง ควรเน้นในเรื่องธุรกิจที่ลงทุนน้อยที่สุด เริ่มจากการเป็นฝ่ายหาออเดอร์ โดยหยิบเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดก่อน ดีกว่าจะมาทุ่มสุดตัวเปิดร้านเลยทีเดียว และต้องจับตลาดให้ได้ว่าขณะนั้นลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการอะไร โดย   เฉพาะโอท็อปนั้น มีหลายตัวที่ผลิตออกมาแล้วแต่ขายไม่ได้ จนต้องนำมาลดแลกแจกแถม

ผลผลิตกล้วย

ผู้สนใจที่ต้องการทราบรายละเอียดของกล้วยบ้านก้องมากกว่านี้ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุทธิพงศ์ กฤตโยภาส โทร. 089-652-1978

…………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562