3 การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยางพาราที่มาพร้อมกับโอกาส

3 การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยางพาราที่มาพร้อมกับโอกาส

บทวิเคราะห์โดย EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

อุตสาหกรรมยางพาราของไทยก้าวเข้าสู่ปี 2017 พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 ด้าน คือ 1) อุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วภายหลังราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) เริ่มฟื้นตัวตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น 2) บทบาทของไทยในฐานะ supplier หลักในตลาดยางพาราโลกจะลดความสำคัญลง ในขณะที่บทบาทของกลุ่มประเทศ CLMV จะเพิ่มขึ้น และ 3) อำนาจการต่อรองของ rubber manufacturer เมื่อเทียบกับผู้ผลิตยางล้อจะเพิ่มขึ้น

อีไอซีมองว่าไทยมีโอกาสที่จะหันมาเพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออก เช่น ถุงมือยาง โดยภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่มีความต้องการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมถุงมือยางของไทย

ตั้งแต่ปี 2014-2016 อุตสาหกรรมยางพาราเข้าสู่ภาวะตกต่ำจากราคาที่ลดลง ในปีนี้อุตสาหกรรมเข้าสู่ช่วงที่สดใสขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงหลัก 3 ด้าน ด้านแรก ราคายางพาราเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มฟื้นตัวและการลดลงของผลผลิตยางพาราไทยจากน้ำท่วมในภาคใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นสัญญาณของอุตสาหกรรมยางพาราที่ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ภายหลังจากที่ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) เคยลดลงในระดับราคาเฉลี่ย 55-57 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2014 -2016 และกลับมาอยู่เหนือระดับ 60 บาทต่อกิโลกรัมอีกครั้งในปีนี้ จากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มฟื้นเข้าสู่กรอบ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังจากที่ลดลงเหลือเพียง 37 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี 2016 ( รูปที่ 1) โดยการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิ  บดังกล่าวเป็นผลมาจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC และเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบกับน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ของไทยในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2016 จนถึงเดือนมกราคม 2017 ทำให้ผลผลิตยางพาราของไทยลดลง โดยอีไอซีมองว่าปีนี้ไทยจะมีผลผลิตยางพาราเพียง 4.3 ล้านตันซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 3% และเมื่อรวมกับผลผลิตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ลดลงจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการผลิตยางพารา ส่งผลให้สต็อกของยางพาราของโลกในปีนี้จะเหลือเพียง 2.6 ล้านตัน ( รูปที่ 2) หรือลดลง 7.1% จากปี 2016 ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ราคายางพาราสูงขึ้น ถือได้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมยางพาราได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปี 2017 อยู่ที่ 72.5-77.5 บาทต่อกิโลกรัม และจะค่อยๆ ลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากผ่านช่วงต้นยางพาราผลัดใบและผลผลิตยางพาราของไทยเข้าสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาน้ำมันดิบที่เริ่มฟื้นตัวได้ส่งผลต่อราคายางพาราในปีนี้ แต่ในระยะกลางราคายางพาราจะไม่เพิ่มมากนัก เนื่องจากราคาน้ำมันดิบจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด เพราะเมื่อราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ผู้ผลิต Shale Oil/Tight Oil ในสหรัฐฯ พร้อมจะกลับมาขุดเจาะอีกครั้ง โดยอีไอซีมองว่าในระยะกลางราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในช่วง 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  นอกจากนี้ ผลผลิตยางพาราที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นและสต็อกยางพาราโลกที่จะเริ่มสะสมตัวในปี 2018 (รูปที่ 2) จะยังเป็นปัจจัยกดดันราคายางพาราในระยะกลางอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงด้านที่สองคือบทบาทของไทยในฐานะ supplier หลักในตลาดยางพาราโลกจะลดความสำคัญลง ในขณะที่บทบาทของกลุ่มประเทศ CLMV จะเพิ่มขึ้น การเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงปี 2006-2018 จะทำให้ผลผลิตยางพาราในกลุ่มประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2013-2025 โดย IRSG คาดว่าผลผลิตยางพาราของกลุ่มประเทศ CLMV จะเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านตันในปี 2015 เป็น 3.2 ล้านตันในปี 2025 ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะทำให้กลุ่มประเทศ CLMV มีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตยางพาราในโลกเพิ่มขึ้นจาก 11% ในปี 2015 เป็น 18% ในปี 2025 ในขณะที่ไทยจะมีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตในโลกลดลง จาก 34% ในปี 2015 เป็น 25% ในปี 2025 (รูปที่ 3) จากการที่เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ปาล์มน้ำมันที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า นอกจากนี้ ไทยอาจเสียความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจการผลิตวัตถุดิบยางพาราให้กับกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า

Advertisement

ด้านสุดท้ายอำนาจในการต่อรองของ rubber manufacturer ต่อผู้ผลิตยางล้อจะเพิ่มขึ้นหลังจากมีการควบรวม rubber manufacturer หลายบริษัทในช่วงที่ผ่านมาทำให้ยอดขายกระจุกตัวในผู้เล่นรายใหญ่ การที่ Sinochem ซึ่งเป็น rubber manufacturer รายใหญ่ของจีนได้เข้าซื้อ rubber manufacturer หลายบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กิจการมีกำลังการผลิตและยอดขายรวมสูงมาก และเมื่อรวมกับความสามารถในการควบคุมอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการมีเครือข่ายในการจำหน่ายและการขนส่งสินค้าครอบคลุมทั้งอาเซียน จีน แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ และยุโรป ยิ่งทำให้อำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตยางล้อมีมากขึ้น นอกจากนี้ การควบรวมดังกล่าวทำให้ภาพของอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปโดยเป็นการลด rubber manufacturer ขนาดค่อนข้างเล็กซึ่งเคยมีอยู่มากลง ส่งผลให้ยอดขายกระจุกตัวมากขึ้น และอำนาจการต่อรองของผู้ผลิตยางพาราเพิ่มขึ้น โดยผู้ผลิตยางพารา 6 รายใหญ่มียอดขาย 5.94 ล้านตัน ในขณะที่ผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ต้องใช้ยางทั้งสิ้น 3.95 ล้านตัน คาดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองของผู้ผลิตยางพาราต่อผู้ผลิตยางล้อ

ไทยมีโอกาสในการยกระดับการเพิ่มมูลค่าการส่งออกด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางและสินค้าจากยางพาราแทนการส่งออกเป็นวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกในรูปของวัตถุดิบยางพาราไปยังประเทศอื่น แต่การส่งออกสินค้ามูลค่าเพิ่ม เช่น ถุงมือยางยังมีสัดส่วนที่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับมาเลเซีย โดยมาเลเซียได้มีการพัฒนาถุงมือยางอย่างต่อเนื่องและครบวงจร ทำให้อุตสาหกรรมถุงมือยางของประเทศเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของ Malaysian Rubber Board พบว่าการผลิตถุงมือยางของมาเลเซียเพิ่มขึ้นจาก 1.2 หมื่นล้านคู่ในปี 2000 มาเป็น 3.4 หมื่นล้านคู่ในปี 2015 หรือเติบโตเฉลี่ยราว 7.5% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ อุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีแนวโน้มสดใสในอนาคตจากการเติบโตของอุตสาหกรรมสุขภาพและอัตราส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรรวม รวมถึงการพัฒนามาตรฐานคุณภาพระบบสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ อุตสาหกรรมถุงมือยางสร้างมูลค่าการส่งออกให้แก่มาเลเซียถึง 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2015 ซึ่งการส่งออกถุงมือยางสร้างมูลค่ามากกว่าการส่งออกยางแผ่นรมควันชั้น 3 กว่า 6.4 เท่า (รูปที่ 4) นอกจากนี้ การส่งออกในรูปถุงมือยางยังลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคายางพาราต่อการส่งออก เนื่องจากราคาส่งออกถุงมือยางมีความผันผวนน้อยกว่าราคาส่งออกยางแผ่นรมควันชั้น 3

Advertisement

อีไอซีแนะผู้ประกอบการลงทุนในอุตสาหกรรมถุงมือยาง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตในอนาคตและไทยมีความได้เปรียบ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก นอกจากนี้ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยหนึ่งในผู้นำตลาดของถุงมือยางมี ROA เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังสูงถึง 17.5% โดยการลงทุนอาจต้องสร้างโรงงานที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่เพื่อสร้าง economy of scale และคุ้มกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ นอกจากนี้ การร่วมลงทุนกับผู้เล่นมาเลเซียที่เข้ามาขยายธุรกิจถุงมือยางในไทยก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากจะได้ลดความเสี่ยง เพราะผู้ผลิตถุงมือยางจากมาเลเซียมีความเข้าใจในธุรกิจ ความต้องการของตลาด และมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน

ภาครัฐควรสนับสนุนอุตสาหกรรมถุงมือยางอย่างเป็นระบบและครบวงจร ภาครัฐควรส่งเสริมอุตสาหกรรมถุงมือยางตั้งแต่การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้า เช่น ถุงมือยางพาราที่มีโอกาสก่อให้เกิดการแพ้ต่ำ สนับสนุนการพัฒนาทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และแบรนด์เพื่อสร้างตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ เช่น การลดภาษีด้วยการนับค่าใช้จ่ายในการออกแบบและพัฒนาแบรนด์เพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง