“สวนสองแสน” แปรรูปสินค้าเกษตรได้ ไม่ยากจน

ฉบับนี้ ผู้เขียนจะพาท่านผู้อ่านมาพบกับเกษตรกรที่มีความสุขที่สุด จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจนำมาตั้งเป็นชื่อสวนซะเลย สวนนี้มีชื่อว่า สวนสองแสน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทำแล้วได้เงินมากมายเดือนละเป็นแสน ที่แสนที่ว่านี้ เมื่อแยกออกมาเป็นคำจะได้ 1. “สวน” หมายถึง พื้นที่อยู่อาศัยรวมไปถึงพื้นที่การทำเกษตรต่างๆ 2. “สอง” หมายถึง สองเรา เพราะเจ้าของสวนตั้งใจเริ่มต้นสร้างครอบครัวกับภรรยาสองคน 3. “แสน” คือ แสนสนุกและแสนสบาย ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทุกคนควรมี แต่ทำไมช่างหายากเหลือเกิน

คุณสมพร เรืองเดช เกษตรกรรวยความสุข อยู่บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 4 ตำบลทัพไทย อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เล่าว่า เมื่อก่อนทำงานเป็นพนักงานคุมเครื่องจักรอยู่ที่โรงงานชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งมองว่าการทำงานโรงงานสามารถเลี้ยงได้แค่ตนเอง ไม่สามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้ และหากมองไปในระยะยาว เมื่ออายุมากขึ้นก็ต้องถูกเลิกจ้างงานเป็นธรรมดา แล้วหลังจากนั้น ก็จะไม่เหลืออะไรเลย จึงเริ่มคิดและตัดสินใจลาออกจากงานก่อนที่ทุกอย่างจะสาย ตอนยังมีกำลังแข็งแรงอยู่จึงออกจากงานกลับบ้านเพื่อมาเป็นเกษตรกร เพราะมีความคิดที่ว่าอย่างน้อยอาชีพเกษตรอาจไม่ได้ทำให้ร่ำรวยแต่ทำให้มีรับประทานได้

คุณสมพร เรืองเดช

ปิ๊งไอเดียแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวได้
เพราะโรคประจำตัว

คุณสมพร บอกว่า หลังลาออกจากงานประจำ ต้องบอกตรงๆ ว่า ออกมาพร้อมกับสุขภาพที่แย่ลง มีโรคประจำตัวติดมาคือ โรคเหน็บชา และได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ซึ่งคุณหมอได้แนะนำให้ทานข้าวกล้องช่วยรักษาโรคเหน็บชา เมื่อได้ทดลองรับประทาน อาการเหน็บชาก็ดีขึ้นตามลำดับ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดที่จะปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวขึ้นมา ที่อย่างน้อยช่วงแรกยังปลูกขายไม่ได้ แต่ปลูกให้ตัวเองรับประทานได้ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว เพราะหากย้อนไปสมัย 10 ปีก่อน ข้าวกล้องยังเป็นอะไรที่ใหม่ หาซื้อรับประทานได้ยาก และมีราคาแพง

หลังจากที่เริ่มปลูกข้าวไว้รับประทานเองเมื่อสมัย 10 ปีก่อน มาถึงปัจจุบันขยายพื้นที่การปลูกข้าวจำนวนกว่า 15 ไร่ มีสวนผสมผสาน ปลูกป่า ปลูกผักผลไม้อีกเล็กน้อย โดยข้าวที่ปลูกมีกว่า 5 สายพันธุ์ด้วยกัน

  1. หอมมะลิแดง ปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง เมล็ดข้าวมีรูปร่างเรียวยาว ข้าวกล้องมีสีน้ำตาลแดงเข้ม เมื่อหุงสุกเนื้อข้าวร่วนให้รสสัมผัสคล้ายข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย ในการต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอการเสื่อมของเซลล์ ช่วยการหมุนเวียนของกระแสโลหิต
  2. 2. หอมมะลิดำ ข้าวสายพันธุ์พื้นบ้าน เพาะปลูกแบบวิถีธรรมชาติ ประณีตทุกขั้นตอน ขัดสีแบบซ้อมมือ หุงง่าย กลิ่นหอม เหนียวนุ่ม รสชาติอร่อย
  3. ข้าวเหนียวทองดำ เป็นพันธุ์ที่ปนมากับข้าวเหนียวลืมผัว ที่สวนมีการคัดแยกสายพันธุ์และนำมาทดลองปลูก แล้วได้ผลผลิตที่ดีกว่าข้าวลืมผัว และสามารถปลูกในที่ลุ่มได้ ลักษณะทั่วไปคล้ายกับข้าวเหนียวลืมผัว แต่เมล็ดเล็กกว่า
  4. ข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีเมล็ดข้าวกล้องสีม่วงเข้ม เป็นข้าวสายพันธุ์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงร่างกาย และทำให้เกิดการสร้างคอลลาเจน ลดการอักเสบที่ผิวหนัง ช่วยลดริ้วรอยและชะลอความแก่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโรคสมองเสื่อมได้
  5. ข้าวเหนียว กข 6 คุณภาพข้าวสุก เหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม ให้ผลผลิตสูงและทนแล้ง คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาลได้ดี
ผลผลิตคุณภาพ ส่งตรงถึงผู้บริโภค

ซึ่งสายพันธุ์ที่ปลูกมากที่สุดตอนนี้คือ หอมมะลิดำ จำนวน 5 ไร่ เพราะที่บ้านนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิดำเป็นประจำทุกวัน ส่วนข้าวไรซ์เบอร์รี่คือพันธุ์ที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเป็นหลัก และปีนี้มีเพิ่มเติมในส่วนของการทดลองทำข้าวน้ำนม วิธีการปลูกเหมือนข้าวพันธุ์ทั่วไป เพียงแต่ว่าจะเกี่ยวข้าวระยะน้ำนมหรือระยะเม่า รับประทานเป็นข้าวกล้องแต่เนื้อเยื่อไม่แข็งเหมือนข้าวกล้อง มีความหนึบและหอมกว่า เป็นข้าวที่มีคนให้ความสนใจมาก ลูกค้าต้องการมาก และยังผลิตไม่ทันขาย

ราคาจำหน่ายข้าวทั้ง 6 สายพันธุ์ กิโลกรัมละ 130 บาท เท่ากันหมดทุกสายพันธุ์ 

ดูแลแปลงข้าวด้วยใจ ใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอน

วิธีการปลูกข้าวเพื่อแปรรูป
เป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่า

เจ้าของบอกว่า ใช้ลักษณะการปลูกแบบนาหยอด เพราะพื้นที่เป็นนาน้ำฝน จะใช้การหยอดเมล็ดข้าวแห้ง จะไม่หว่านเพราะการหว่านทำให้จัดการลำบาก แต่การหยอดจะเป็นแถวเป็นร่องที่ชัดเจน ทำให้จัดการหญ้าได้ง่าย ซึ่งมีการทดลองมาแล้วว่าได้คุณภาพ ผลผลิตเท่าๆ กับนาดำ

การดูแล ตามธรรมชาติ มีการฉีดพ่นฮอร์โมนนมสดที่ทำเองบ้าง หลังจากนั้นรอจนถึงเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยว เกี่ยวด้วยมือ แล้วมาทำการนวด คัดแยกสายพันธุ์ ถ้าเก็บพันธุ์ใช้วิธีดำเมล็ดเดียว

ระยะเวลาปลูก ใช้เวลาการปลูกประมาณ 4 เดือน เริ่มปลูกตามฤดูฝน ถ้าฝนมาเร็วก็เริ่มปลูกได้เลย

ผลผลิตต่อไร่ อยู่ในระดับปานกลาง ในพื้นที่เก็บเกี่ยวได้ไม่เกิน 500 กิโลกรัม ต่อไร่ ได้ผลผลิตเท่าๆ กันเกือบทุกสายพันธุ์ เน้นผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ราคาต่อกิโลกรัมสูง แต่สมเหตุสมผลกับการดูแลจัดการ ใส่ใจทุกขั้นตอนการทำ ปลูกแบบอินทรีย์ กระบวนการทุกอย่างเป็นแฮนด์เมด ยกเว้นกระบวนการสีเท่านั้น เพราะคิดว่าก่อนที่ลูกค้าจะจ่ายเงิน ต้องคำนึงถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เขาจึงยอมจ่าย

ดูแลแปลงข้าวด้วยใจ ใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอน

ขั้นตอนการแปรรูป เครื่องดื่มจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่
และไอศกรีมจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่

เมื่อมีความชำนาญในกระบวนการผลิตข้าวที่ได้คุณภาพแล้ว คุณสมพร บอกต่อในเรื่องของการแปรรูปว่า ปัจจุบันที่สวนมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวหลายอย่าง เช่น เครื่องดื่มจมูกข้าว 100 เปอร์เซ็นต์ เครื่องดื่มเย็นจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เครื่องดื่มมอลล์ข้าวกล้องงอกชนิดผง มีผลิตภัณฑ์ที่ตลาดกำลังไปได้ดีในตอนนี้คือ เครื่องดื่มจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ชนิดผง และไอศกรีมจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่

ขั้นตอนการแปรรูปเครื่องดื่มจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีดังนี้

  1. นำข้าวเปลือกมาเป่าทำความสะอาด ตรวจเช็คสิ่งที่เจือปนออก (อัตราส่วนผสม ข้าวสาร 10 กิโลกรัม ได้จมูกข้าว 5 ขีด)
  2. นำข้าวเปลือกเข้าเครื่องสี แล้วร่อนคัดเอาจมูกข้าวออกมา
  3. คั่วให้สุก นำมาบดให้ละเอียด
  4. ผสมโปรตีนถั่วเหลือง แล้วบดผสมบรรจุใส่ถุง

เน้นดื่มง่าย ชงดื่มคล้ายเครื่องดื่มร้อนทั่วไป 1 ซอง บรรจุ 10 กรัม 1 กล่อง มี 6 ซอง ราคากล่องละ 150 บาท ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดี

ผลผลิตคุณภาพ ส่งตรงถึงผู้บริโภค

สรรพคุณ มีสารแอนโทไซยานินเยอะ มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของลิโปโปรตีน และการตกตะกอนของเกล็ดเลือด ทำให้แอนโทไซยานินมีบทบาทในการป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคระบบหัวใจหลอดเลือด และเบาหวาน

ขั้นตอนการแปรรูปไอศกรีมจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีดังนี้

  1. ขั้นตอนการทำไอศกรีมเหมือนทำไอศกรีมทั่วไป จะมีความพิเศษเข้ามาในเรื่องของการเพิ่มจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เข้าไป
  2. อัตราส่วนจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ปริมาณเกือบ 1 กิโลกรัม ต่อไอศกรีม 1 ถัง ต้มข้าวจนสุกแล้วนำมาบดให้ละเอียด แล้วผสมลงในขั้นตอนการทำไอศกรีม

ถือเป็นการสร้างมูลค่าที่ง่าย แต่สร้างความแปลกใหม่ และสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคได้ไม่น้อย ซึ่งสูตรการทำไอศกรีมจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่นี้ทางสวนได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วว. เข้ามาช่วยปรับปรุงสูตรให้ โดยมีโจทย์ให้กับทาง วว. ไป 3 ข้อ 1. ให้คงความเป็นข้าวเอาไว้ 2. รักษาประโยชน์ของจมูกข้าวให้คงอยู่ 3. ส่วนผสมต่างๆ ต้องเป็นธรรมชาติและปลอดภัยที่สุด ทาง วว. ก็ได้คิดค้นสูตรและทำออกมาได้ตามที่ต้องการ ผลตอบรับเป็นไปได้ดี ทำตลาดง่าย เน้นทำตลาดกับเด็ก ให้เด็กเข้าถึงคุณประโยชน์ของจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เพราะปกติแล้วสินค้าเพื่อสุขภาพจะเป็นตลาดของกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ส่วนนี้ต้องการให้เด็กเข้าถึงสรรพคุณ จึงทำราคาออกมาไม่สูงมาก ทำส่งขายที่มูลนิธิชัยพัฒนา โครงการกสิวิทย์ เดือนละ 200 กระปุก วางขายที่เอาท์เล็ทบ้าง หรือบางครั้งออกงานอีเว้นท์ก็จะยกเป็นถังไปตักขายใส่โคนให้เข้าทุกระดับ

ไอศกรีมจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่
ตักใส่โคน เครื่องแน่นๆ

ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของสวน
เน้นขายตลาดออนไลน์

เจ้าของบอกว่า ตอนนี้เน้นขายตลาดออนไลน์ ใน 1 ปี สามารถผลิตข้าวได้ไม่เกิน 5 ตัน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะ 1. ด้วยผลผลิตที่น้อย 2. ลูกค้าที่เคยซื้อผลิตภัณฑ์ของสวนไปแล้วส่วนใหญ่มีการบอกต่อ และซื้อซ้ำอย่างสม่ำเสมอเพราะเขาเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า 3. ช่วงเทศกาลสินค้าจะขายได้ดีเป็นพิเศษ ผู้บริโภคนิยมซื้อไปเป็นของฝาก เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อเริ่มเกิดการแปรรูปผลผลิตของตัวเองได้ ก็หมดกังวลเรื่องสินค้าล้นตลาดได้ อีกข้อหนึ่งเมื่อเกษตรกรแปรรูปได้แล้ว ก็ต้องขายให้เป็น ถ้าทำสองอย่างนี้ได้ถือว่ามีเกราะป้องกันตัวเองไปมากกว่าครึ่งแล้ว ยกเว้นก็แต่ชาวนาจะไปขายทิ้งไว้ให้พ่อค้าคนกลาง ส่วนนี้จะทำให้สินค้านั้นไปกองอยู่ที่ที่เดียว

 

ฝากถึงเกษตรกรและผู้บริโภค
ทุกคนต่างต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง

คุณสมพร บอกว่า ถ้าทุกคนรู้จักหน้าที่ของตัวเองจะเป็นสิ่งที่ดีมาก หน้าที่ของเกษตรกรหลักๆ คือ ผลิตและบำรุงรักษา ผลิตในสิ่งที่ไม่เป็นภัยต่อผู้บริโภค เช่น ปลูกผักก็ต้องปลูกผักดี ปลูกข้าวก็ต้องปลูกข้าวที่ได้คุณภาพ แล้วส่งสิ่งดีๆ เหล่านั้นออกไปสู่ผู้บริโภค ถ้าเกษตรกรสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ถือว่าตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ถึงวันนั้นสินค้าของคุณจะไปโลด ส่วนของการบำรุงรักษาคือ บำรุงพื้นดินพื้นน้ำที่ให้ชีวิต ให้อาชีพกับเรา ต้องเรียนรู้วิธีการบำรุงรักษาพื้นที่ปลูกพืชของตัวเองไว้ รู้ว่าอะไรที่เป็นประโยชน์และโทษ

ในด้านของผู้บริโภค ผู้บริโภคเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรสามารถเลือกทำในสิ่งที่ดีๆ ได้ ถ้าผู้บริโภคหันมาใส่ใจรายละเอียดสินค้าที่เลือกบริโภคสักนิดว่า ใครปลูก ปลูกอย่างไร ปลูกที่ไหน ลองติดตามสักนิดแล้วจะรู้ว่าเกษตรกรปลูกอะไรให้เรารับประทาน แล้วเราจะรับประทานได้อย่างสบายใจ

“ที่ผ่านมาผมได้ประโยชน์หลายอย่างจากการทำเกษตร การเกษตรให้ทั้งความมั่นคง สมาธิ และปัญญา พอเริ่มทำจะเริ่มมีสมาธิ และรู้จักคิดไปเรื่อยๆ ว่าทำอย่างนี้แล้วผลจะออกมาอย่างไร จะรู้จักเหตุและผลมากขึ้น” คุณสมพร กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดหรือสนใจสั่งซื้อสินค้าสวนสองแสน โทร. (087) 408-5412

ตักใส่โคน เครื่องแน่นๆ
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวมีหลากหลาย