ดัชนีความสุขเกษตรกรพุ่งปรี๊ด ชื่นใจราคาสินค้าพืชผลขาขึ้น เฉลี่ยทุกภาคได้ 83.11 เต็ม 100

ธ.ก.ส. เผยผลสำรวจระดับความสุขของเกษตรกรไทยต้นปี 2560 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 83.11 จากคะแนนเต็ม 100 เหตุราคาสินค้าเกษตรราคาพุ่ง อีสานตอนบนสุขสุดสุด อ้อยราคาดีตามราคาน้ำตาลโลก ภาคใต้เจอท่วมปลายปี ’59 สุขน้อยหน่อย 79.75 กรีดยางไม่ได้ ผลผลิตปาล์มได้น้อย

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจของศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. หัวข้อ “ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทย” จากกลุ่มตัวอย่าง 2,064 รายทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมา พบว่าความสุขของเกษตรกรไทยในภาพรวมคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด คือ 83.11 จากคะแนนเต็ม 100 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดเริ่มปรับตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ อาทิ อ้อย ปลาน้ำจืด และผลไม้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้านราคาสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ที่เกษตรกรพอใจ อาทิ ข้าวและยางพารา ส่วนเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ช่วงที่ผ่านมามีผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น

นายลักษณ์กล่าวว่า จากการสำรวจความสุขของเกษตรกรไทยในมิติชี้วัดความสุข 6 มิติ พบว่า มิติครอบครัวดี มิติสุขภาพดี มิติสังคมดี มิติการงานดี มิติใฝ่รู้ดี และมิติสุขภาพเงินดี มีคะแนนเฉลี่ยความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมิติครอบครัวดี มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด เฉลี่ย 87.94 ส่วนมิติสุขภาพเงินดีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด เฉลี่ย 76.77 แต่ยังอยู่ในระดับมากที่สุด

นายลักษณ์กล่าวว่า ความสุขของเกษตรกรไทย จำแนกตามอาชีพการเกษตรหลัก พบว่า เกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรหลักทุกประเภทมีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้ปลูกอ้อยมีคะแนนเฉลี่ย 86.75 เพราะแนวโน้มราคาปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำตาลทรายโลก รองลงมาคือปลูกผลไม้และเลี้ยงปลาน้ำจืดมีคะแนนเฉลี่ย 84.75 และ 84.50 ตามลำดับ เนื่องจากราคาผลไม้มีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2559 ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาปลาน้ำจืดในตลาดปรับสูงขึ้นผลจากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ทำให้การประมงน้ำเค็มได้รับความเสียหาย

นายลักษณ์กล่าวว่า เมื่อจำแนกความสุขของเกษตรกรไทยเป็นรายภาค พบว่าเกษตรกรทุกภาคมีความสุขในระดับมากที่สุด โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 85.75 จากราคาอ้อยปรับสูงขึ้น รองลงมาคือภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีคะแนนเฉลี่ย 84.50 84.25 และ 84.00 ตามลำดับ เนื่องจากราคาผลผลิตภาคเกษตรมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีคะแนนเฉลี่ย 79.75 ผลจากอุทกภัยเมื่อปลายปี 2559 ชาวสวนยางพาราไม่สามารถกรีดยางได้ และชาวสวนปาล์มน้ำมันไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ รวมทั้งผลผลิตที่เก็บได้มีอัตราการใช้น้ำมันลดลง

 

ขอบคุณข้อมูล มติชนรายวัน