ส่งออกไก่ดันยอดใช้อาหารสัตว์พุ่ง เอกชนร้องรัฐปลดล็อกแก้นำเข้าข้าวสาลีอัตรา 2:2

โรงงานอาหารสัตว์จี้พาณิชย์แก้ปมชอร์ตซัพพลายวัตถุดิบ เหตุส่งออกไก่เพิ่ม แนะ “ผ่อนผัน” มาตรการจัดระเบียบนำเข้าข้าวสาลี 3 ต่อ 1 เป็น 2 ต่อ 2 เพิ่มสัดส่วนนำเข้าข้าวสาลีเป็น 2.2 ล้านตัน-แก้ประกาศฯ เปิดเสรีนำเข้าข้าวโพดเพื่อนบ้านตามความตกลงอาเซียน ขู่หากไม่แก้ไข พ่อค้าหัวใสลักลอบนำเข้าข้าวโพดมาใช้สวมสิทธิขายโรงงานแน่นอน

แหล่งข่าวจากวงการข้าวโพดเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมประเมินสถานการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดร่วมกับตัวแทนสภาเกษตรกรและสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์เพื่อนำข้อสรุปที่ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แห่งชาติ (นบขพ.) ครั้งต่อไปซึ่งจะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ ประเด็นสำคัญที่มีการหารือกัน จากที่คาดการณ์ว่า ในปีนี้มีปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศ คาดว่าการส่งออกไก่ของไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 750,000 ตัน

จากปีก่อนที่ส่งออกได้ 720,000 ตัน ความต้องการใช้ข้าวโพดในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีปริมาณ 8 ล้านตัน แต่ผลผลิตข้าวโพดในประเทศมีเพียง 4.5 ล้านตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าอีก 3.5 ล้านตัน แต่การนำเข้าถูกจำกัดด้วยมาตรการจัดระเบียบการนำเข้าข้าวสาลี ซึ่งบังคับให้รับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน เพื่อจะได้สิทธินำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (หรือมาตรการ 3 ต่อ 1) ที่บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2559 หากผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดที่มีทั้งหมด 4.5 ล้านตัน จะสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้เพียง 1.5 ล้านตัน ต่ำกว่าปริมาณวัตถุดิบส่วนต่างที่ยังขาด 3.5 ล้านตัน อีกทั้งมาตรการนี้ยังเป็นมาตรการบังคับปลายเปิดไม่มีวันหมดอายุ จึงเป็นสัญญาณว่าปีนี้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์อาจมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ เป็นประเด็นที่ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยค่อนข้างจะเดือดร้อน ข้อสรุปเบื้องต้นที่ประชุมผ่อนผันให้ใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 ภายใต้เงื่อนไข 3 ประเด็น คือ 1) กระทรวงพาณิชย์ผ่อนผันให้ลดเวลาจากเดิมที่เป็นมาตรการปลายเปิด กำหนดสิ้นสุดถึงเดือนพฤษภาคม เพื่อดูดซับผลผลิตข้าวโพดในประเทศ ทั้งข้าวโพดที่ปลูกตามมา

มาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดทดแทนการทำข้าวนาปรัง 200,000 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยไร่ละ 1 ตัน กำลังจะเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดในเดือนพฤษภาคมนี้ 2) ให้โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อผลผลิตปี 2559/2560 คาดว่าจะมีปริมาณ 4.5 ล้านตันที่เก็บเกี่ยวขายไปอยู่ในมือของพ่อค้าข้าวโพดให้หมด เพราะที่ผ่านมาติดปัญหาอ้างเรื่องเกษตรกรไม่มีเอกสารสิทธิจึงไม่รับซื้อ 3) ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์เข้าร่วมการประมูลข้าว เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมครั้งที่ 1/2560 ปริมาณ 3.66 ล้านตัน ที่จะมีการยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 23 มีนาคมนี้ด้วย

สำหรับราคารับซื้อข้าวโพด กระทรวงพาณิชย์กำหนดความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ 8 บาท เป็นราคาส่งมอบที่กรุงเทพฯ และให้หักค่าขนส่งกิโลกรัมละ 15-20 สตางค์ เช่น ราคาข้าวโพดจาก จ. พิษณุโลก กิโลกรัมละ 7.85 บาท ข้าวโพดจาก จ.นครราชสีมา กิโลกรัมละ 7.70-7.80 บาท

“ในที่ประชุมกรมปศุสัตว์รายงานว่า ยังไม่มีตัวเลขการใช้สิทธิ์มากเท่าไหร่ เพราะยังติดปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ และผู้ประกอบการบางส่วนยังมีสต๊อกข้าวสาลีเหลืออยู่จากปีก่อนที่นำเข้ามาใช้ถึง 3.54 ล้านตัน”

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารไทย กล่าวว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ สภาเกษตรกร และสมาคม ต้องมาหารือกันถึงทางออก เพราะหากซื้อข้าวโพดตามมาตรการ 3 ต่อ 1 ไปหมดทั้งประเทศ บวกกับสัดส่วนที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ 1.5 ล้านตันก็ยังไม่พอใช้ ถ้าเทียบกับปริมาณความต้องการในประเทศ 8 ล้านตัน ส่วนสต๊อกข้าวสาลีตอนนี้ไม่ได้เหลือมากนัก

“ทางออกที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือแก้ไขประกาศ 3 ต่อ 1 โดยอาจลดสัดส่วนการซื้อวัตถุดิบในประเทศลง เหลือเพียง 2 ต่อ 1 หรือ 1.5 ต่อ 1 หรือ 1 ต่อ 1 เพื่อเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีมากขึ้นจาก 1.5 ล้านตัน เป็น 2.2 ล้านตัน หรือมากกว่านั้น แต่ในกรณีที่กลัวว่าข้าวสาลีจะไปสร้างปัญหา ให้พิจารณาแก้ประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อปลดล็อกให้สามารถนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านได้ตามกรอบการค้าเสรีอาเซียนที่ตกลงลดภาษีเป็น 0% โดยไม่มีโควตา ซึ่ง 2 แนวทางนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบทุกฝ่าย”

แต่หากรัฐบาลไม่แก้ไขมาตรการ 3 ต่อ 1 เกรงว่าจะเกิดปัญหามีผู้ลักลอบนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา เพื่อขายให้โรงงานสวมสิทธิ์ไปใช้ขออนุญาตนำเข้า ซึ่งหากเกิดปัญหาเช่นนั้นจริง อาจต้องเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมเอกสารสิทธิ เพราะถ้าไม่ควบคุมจุดนี้จะถูกทางองค์กรภาคประชาสังคมกล่าวหาว่าบุกรุกป่าอีกส่วนการซื้อวัตถุดิบข้าวสารเก่าเพื่ออุตสาหกรรมในสต๊อกรัฐบาลนั้น มองว่าขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละโรงงาน ซึ่งจะมีสูตรการใช้วัตถุดิบไม่เหมือนกัน แต่ไม่สามารถนำข้าวเก่าไปใช้ทดแทนข้าวโพดได้ทั้งหมด เพราะคุณค่าทางอาหารไม่เหมือนกัน และต้องดูเรื่องคุณภาพข้าวที่จะนำไปใช้ด้วยว่าจะกระทบต่อสุขภาพสัตว์หรือไม่