ลำไยอบแห้ง “สวัสดี” โอท็อปดีเด่นลำพูน สร้างยอดขาย 30 ตัน ต่อปี

รายงานของส่วนเศรษฐกิจภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ไทยเป็นผู้ผลิตลำไยมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และส่งออกลำไยรายใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งในรูปผลสด แช่แข็งและอบแห้ง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วง 2 ปีหลังนี้ราคาลำไยผลสดไม่ค่อยสู้ดีนัก ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าเงินหยวนที่มีความผันผวนสูง ถือเป็นเรื่องปกติของราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่แล้ว และไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแค่เฉพาะ 2 ปีหลังที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังมีให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีเกษตรกรหลายกลุ่มพลิกวิกฤตแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งส่งออก สร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล

คุณธณภร ปราณธีรภาพ หรือ พี่หลิน อยู่บ้านเลขที่ 242 หมู่ที่ 7 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านริมร่อง พ่วงด้วยตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายต่างประเทศ เล่าที่มาของการจัดตั้งกลุ่มว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านริมร่อง จัดตั้งเมื่อปี 2549 โดยการรวมตัวของสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ทำลำไยอบแห้งเนื้อสีทองในตำบลกว่า 10 คน มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาราคาลำไยผลสดที่ตกต่ำ ตนเองเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ที่เข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดด้านการตลาด เพราะรุ่นแรกจะมีความชำนาญด้านการผลิตอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อทั้ง 2 เจเนอเรชั่นมารวมตัวกันจึงเกิดการผสมผสานอย่างลงตัว วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านริมร่องจึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

คุณธณภร ปราณธีรภาพ หรือ พี่หลิน

กว่าจะมาเป็นลำไยอบแห้งแบรนด์ “สวัสดี”
สินค้าโอท็อปดีเด่น ดังไกลถึงต่างแดน

พี่หลิน เล่าว่า ลำไยอบแห้งสวัสดีเกิดขึ้นเนื่องจากคนในตำบลมะเขือแจ้ปลูกลำไยเพื่อขายสดอย่างเดียวเกือบทั้งหมู่บ้าน เมื่อประสบปัญหาราคาลำไยตกต่ำ เหลือกิโลกรัมละไม่กี่บาท ก็มีความเห็นต้องกันว่าถ้าจะดึงดันขายผลสดอย่างเดียวกันต่อไปก็มีแต่ข้อเสียเปรียบ จึงหันมาใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากที่ชาวบ้านแปรรูปอบแห้งไว้กินเองในครัวเรือนด้วยการนำเนื้อลำไยที่คว้านเม็ดออกนำมาเรียงบนตะแกงไม้ไผ่แล้วนำไปย่างบนเตาฟืน แต่ด้วยความที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนผลิตได้น้อย จึงมีการรวมกลุ่มเกิดขึ้น ซึ่งการรวมกลุ่มในครั้งนี้ก็ได้รับแรงสนับสนุนจากเกษตรอำเภอเมืองลำพูน เข้ามาแนะนำในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีการลองผิดลองถูกมาเรื่อยจนสำเร็จขึ้นมาในระดับหนึ่ง จากนั้นได้มีการนำลำไยอบแห้งไปขายที่ตลาดวโรรสเชียงใหม่ ขายให้กับพ่อค้าคนกลาง บรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม จากที่ลำไยราคาตกเหลือกิโลกรัมละ 3 บาท เมื่อแปรรูปอบแห้งมาแล้วเพิ่มมูลค่าขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 150 บาท ซึ่งราคาในสมัยนั้นถือว่าราคาสูงมาก เมื่อชาวบ้านในตำบลเห็นแบบนี้แล้วจึงหันมาผลิตลำไยอบแห้งกันตั้งแต่นั้นมา

ซึ่งแต่ละบ้านจะมีเตาอบฟืนเป็นของตัวเอง เป็นเตาขนาดย่อม เครื่องมืออุปกรณ์ยังไม่ทันสมัย ทางหน่วยงานราชการจึงแนะนำให้จดทะเบียนกลุ่มเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หลังจากนั้น ได้ทำตามคำแนะนำของภาครัฐมีการขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนปี 49 และสร้างแบรนด์สวัสดีขึ้นมาเพื่อดีดตัวเองขึ้นมาให้แตกต่างจากลำไยของที่อื่น ทางกลุ่มจึงสร้างแบรนด์ขึ้นมาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาติดอยู่ในความทรงจำของผู้บริโภค ว่าถ้าเป็นลำไยอบแห้งที่อร่อยที่สุดต้องมาจากลำพูน

ผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง GI

จากนั้นจึงเริ่มเข้าไปปรึกษากับกรมการพัฒนาจังหวัด เข้าไปปรึกษากรมการพัฒนาชุมชนจังหวัด ทางกรมได้มีการแนะนำว่าถ้าอยากจะทำสินค้าให้ได้รับมาตรฐานและเข้ารับคัดสรรเป็นสินค้าโอท็อป สินค้าของเราจะต้องมีมาตรฐาน อย. จึงเดินทางเข้าไปปรึกษาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูนในเรื่องของการทำมาตรฐาน อย. ทางกระทรวงสาธารณสุขให้คำแนะนำจนผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้งสามารถขอมาตรฐาน อย. ได้สำเร็จ

หลังจากที่ได้รับมาตรฐาน อย. ทางกลุ่มไม่รอช้าที่จะทำการขึ้นทะเบียนคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป ประจำจังหวัดในปี 54 ในปีแรกได้มาตรฐาน 3 ดาว แต่ใน 2 ปีถัดมาลำไยอบแห้งสวัสดีก็ขยับได้มาตรฐานสินค้าโอท็อป 5 ดาว และได้มีการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมกระบวนการเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge – Based OTOP : KBO) เนื่องจากเป็นกลุ่มที่พร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เข้าร่วมการแข่งขันประเภทบรรจุภัณฑ์ของขวัญ ในงาน OTOP YEAR END ได้รางวัลชนะเลิศระดับประเทศมา ในปี 56 ลำไยตราสวัสดีจึงเริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่นั้นมา พี่หลินบอกเล่าถึงที่มา กว่าจะเป็นลำไยอบแห้งแบรนด์สวัสดี

ลำไยเคลือบช็อกโกแลต คุณภาพต้องมาอันดับ 1

พี่หลิน บอกว่า ผลิตภัณฑ์แปรรูปลำไยสวัสดี ไม่เคยหยุดพัฒนาที่นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ลำไยสีทองเคลือบช็อกโกแลตที่เป็นสินค้าหลักสร้างรายได้แล้ว ทางกลุ่มยังพยายามพัฒนาต่อยอดสินค้าให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น น้ำลำไยผง ลำไยสีทองในน้ำเชื่อม และลำไยไฟเบอร์ มาการองลำไย ขนมผิงลำไย ซึ่งผลตอบรับไม่ค่อยดีแต่ก็ถือว่าได้ลองทำเพื่อผู้บริโภคจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว

 

ขั้นตอนแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง

  1. การผลิตลำไยอบแห้งตราสวัสดี ขั้นตอนแรกเริ่มจากการคัดลำไยเกรดที่ใหญ่ที่สุดคือไซต์ 3AAA จากสวนเกษตรกร และต้องเป็นลำไยพันธุ์อีดอเท่านั้น เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีเนื้อหนา น้ำน้อย อบออกมาแล้วสีสวย
  2. ขั้นตอนถัดมา เมื่อคัดเกรดลำไยเสร็จแล้ว จากนั้นนำลำไยมาล้างน้ำทั้งเปลือกแล้วนำไปคว้านเม็ด

    ขั้นตอนการคว้านเม็ด
  3. ในขั้นตอนการคว้านเม็ด จะต้องจ้างแรงงานที่มีความชำนาญ เขาจะดันที่คว้านไปในเม็ดแล้วดึงทั้งเม็ดและเปลือกหลุดออกมาพร้อมกัน แรงงานที่ใช้เป็นแรงงานจากคนในหมู่บ้าน จ้างคว้านในกิโลกรัมละ 9 บาท โรงงานเริ่มเปิดตั้งแต่ตี 5 ถึง 5 โมงเย็น ทุกคนจะทำงานกันเหมือนแข่งโอลิมปิกเพราะยิ่งขยันเท่าไรก็ได้เงินมากเท่านั้น
  4. หลังจากคว้านเม็ดเรียบร้อยนำใส่ตะกร้าไปชั่งน้ำหนัก จะมีเสมียนจดว่าแต่ละคนคว้านได้กี่กิโลกรัม
  5. จากนั้นนำลำไยในตะกร้าที่ชั่งเสร็จไปล้างน้ำในบ่อ ซึ่งภายในบ่อจะมีช่อง 3 ช่อง แต่ละช่องลึกประมาณ 80 เซนติเมตร ในนั้นจะเปิดน้ำไว้ตลอดแล้วเขย่าล้างลำไยที่อยู่ในตะกร้าเพื่อล้างเศษผงต่างๆ ที่ติดมาให้ออกเป็นจำนวน 3 ครั้ง แล้วยกมาสะเด็ดน้ำ
  6. จากนั้นนำลำไยที่ล้างสะเด็ดน้ำแล้วมาเรียงกันเป็นระเบียบ ขั้นตอนนี้ก็ต้องจ้างแรงงานอีกเหมือนกันเพราะต้องใช้ความพิถีพิถันในการเรียงลูก โดยจะคัดลูกที่กลมๆ เท่านั้นมาเรียงวางแบบคว่ำหน้าเนื้อส่วนที่ถูกคว้านลงบนตะแกรงสแตนเลสที่มีความกว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 1.20 เมตร เพื่อที่เวลาอบลำไยจะออกมาเป็นทรงกลมสวย เพราะถ้าหงายส่วนที่คว้านเม็ดออกเมื่ออบเสร็จรูปทรงจะผิดรูปไม่สวย

    ขั้นตอนการคว้านเม็ด
  7. เมื่อจัดเรียงเรียบร้อยอยู่บนตะแกงสแตนเลสแล้วนำสายยางฉีดล้างอีก 3 ครั้ง เพื่อที่จะล้างความหวานของลำไยออกไปเพราะลำไยมีน้ำตาลเยอะมาก ซึ่งถ้าน้ำตาลเยอะไปเมื่อเข้าไปเจอความร้อนจะเกิดสีน้ำตาลเข้มไม่สวย
  8. นำเข้าเตาอบลมร้อนอินฟราเรด อบด้วยอุณหภูมิ 70-80 องศา เป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับน้ำที่อยู่ในลำไยในแต่ละรอบ แต่ของเราโชคดีเพราะระบบเตาอินฟราเรดดีมีความเสถียรสูง สามารถควบคุมอุณหภูมิได้คงที่ อบกี่ครั้งความชื้น กลิ่น รส ก็ไม่เปลี่ยน จะต่างจากฟืนตรงที่ว่าถ้าใส่ฟืนเยอะไปทำให้ไหม้ ถ้าน้อยไปก็แฉะ เมื่ออบออกมาสีที่ได้ก็ไม่เท่ากัน

    เข้าตู้อบลมร้อนอินฟราเรด
  9. หลังจากเข้าเตาอบเสร็จจะได้ลำไยอบแห้งสีเหลืองทองออกมา จากนั้นนำไปที่ห้องบรรจุภายในห้องบรรจุจะมีตะแกรงขนาดใหญ่เอาไว้ตากลำไยที่อบแห้งออกมาให้คายตัว เมื่อคายตัวแล้วจะนำบรรจุใส่ถุงละ 5 กิโลกรัม เก็บใส่ในห้องเย็นอุณหภูมิ 0 องศา เพื่อรักษาคุณภาพของสี รส กลิ่น เมื่อมีออเดอร์เข้ามาถึงจะนำมาแพ็กใส่บรรจุภัณฑ์ที่เตรียมไว้

    อบเสร็จแล้วสีเหลืองทอง
  10. ในส่วนของกรรมวิธีในการทำลำไยอบแห้งเคลือบช็อกโกแลตง่ายนิดเดียว คือการนำลำไยอบแห้งที่ผ่านกระบวนการข้างต้นมาแล้ว นำออกมาจากห้องเย็น จากนั้นนำไปจุ่มในช็อกโกแลตที่ละลายไว้แล้ว 1 รอบ ผึ่งให้แห้งแล้วนำไปจุ่มในช็อกโกแลตรอบที่ 2 แล้วผึ่งให้แห้ง เสร็จแล้วใช้ไวท์ช็อกโกแลตนำมาโคตติ้งอีกที

ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายแต่สามารถเพิ่มมูลค่าจากเดิมได้อีกกว่าเท่าตัว จากลำไยอบแห้งธรรมดา 50 กรัม ราคา 65-70 บาท แต่พอนำมาเคลือบช็อกโกแลตแล้วกรรมวิธีไม่ต่างกันมากแต่สามารถเพิ่มมูลค่าได้เป็น 50 กรัม ราคา 120 บาท ถือเป็นไอเดียต่อยอดที่ดี แต่ถ้าจะให้เทียบกับยอดส่งออกกับลำไยอบแห้งคงยังเทียบกันไม่ได้

 

ยอดการผลิตและส่งออกต่อปี

ใน 1 ฤดูกาล โรงงานจะเปิดทำการผลิตแปรรูปแค่ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม ยอดการผลิต 1 วัน ผลิตได้ 300 กิโลแห้ง อัตราส่วน 10 : 1 ลำไยสด 10 กิโลกรัม อบแห้งได้ 1 กิโลกรัม เท่ากับใช้ลำไยสด 30,000 กิโลกรัม ต่อวัน สร้างยอดขายลำไยสวัสดีประมาณ 30,000 กิโลแห้ง ต่อปี มีเหลือให้ส่งออกเพียง 30 เปอร์เซ็นต์

จุดเด่นลำไยอบแห้งสวัสดี…ไม่มีกลิ่นควันฟืน เคี้ยวเพลิน มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทำให้มีผู้บริโภคถามเป็นประจำว่าใส่นมหรือน้ำผึ้งเข้าไปหรือเปล่า ซึ่งเราไม่ได้ใส่เครื่องปรุงรสใดๆ 

ผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง

การตลาดได้กระแสตอบรับดี
ทั้งในและต่างประเทศ

พี่หลิน บอกว่า การตลาดจะสืบเนื่องมาตั้งแต่ตอนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศเมื่อปี 56 มาเลย เมื่อมีชื่อเสียงก็จะได้เปรียบคู่แข่งตรงที่สื่อจากหลายสำนัก เข้ามาโดยที่ไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณา เมื่อได้ออกทีวีหลายช่องมากขึ้น ช่องทางการก็เพิ่มขึ้นไปด้วย เมื่อก่อนจะวางขายหน้าร้าน กับออกบู๊ธขายสินค้าโอท็อปตามงานใหญ่ๆ แต่พอเริ่มมีชื่อเสียงประกอบกับมีเจเนอเรชั่นใหม่เข้ามาช่วยทำงานจึงมีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ทุกช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ไลน์ และมีวางขายตามห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต คิงพาวเวอร์ รวมถึงห้างสรรพสินค้าตามหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งที่กล่าวมาก็ถือเป็นการทำการตลาดครบทุกช่องทางแล้วที่มีอยู่ในประเทศ แต่ยังไม่พอแค่นี้เพราะเรามีความฝันที่ไกลกว่านั้น

ซึ่งเป้าหมายคือการส่งออกเพื่อไปเปิดตลาดในต่างประเทศจึงได้มีการศึกษาช่องทางที่จะได้ไปขายในตลาดต่างประเทศเพิ่มเติม จนกระทั่งได้เข้าร่วมโครงการอีคอมเมิร์ซกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการที่นครฉงชิ่ง ประเทศจีน มีการถ่ายรูปสินค้า ลงขายในเว็บเถาเป่า ที่เป็นเว็บขายของออนไลน์ของจีนที่มีรูปแบบคล้ายกับเว็บไซต์ช็อปปี้ ลาซาด้า ในบ้านเรา แต่ใหญ่กว่ามากเพราะประเทศจีนมีประชากรเยอะ ซึ่งลำไยก็เป็นสินค้าที่ไม่ต้องอธิบายมากสำหรับคนจีนคือเป็นที่นิยมอยู่แล้ว และยิ่งเป็นลำไยที่มาจากประเทศไทยแล้วคุณภาพมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่ใหญ่และมีประชากรเยอะที่สุด การตลาดจึงแบ่งแยกหลายระดับด้วยกันมีตั้งแต่ระดับบนถึงระดับล่าง เพราะฉะนั้น ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจึงต้องปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้มีมากขึ้น คือถ้าเป็นกลุ่มลูกค้าระดับบนทางกลุ่มจะส่งออกในชื่อแบรนด์ “ริม เดอ รอง” ซึ่งอยู่ในเครื่องหมายการค้าสวัสดี เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเพื่อการส่งออกให้มีความเป็นสากลมากขึ้น แต่ถามว่า 1 ปี ผลิตได้เพียง 30 ตัน พอขายไหม ตอบได้เลยว่าไม่พอแน่นอน ทางกลุ่มจึงทำตลาดระดับกลางรองรับด้วยการตั้งตัวเป็นศูนย์กลางเครือข่ายรวบรวมรับซื้อของคนที่ทำลำไยอบแห้งจากชาวบ้านที่อบด้วยเตาฟืนมารวมกันแล้วส่งให้ฐานลูกค้าคนจีนรายใหญ่ที่เรามีอยู่แล้วครั้งละ 4 ตู้คอนเทนเนอร์ ปริมาณ 1 ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุประมาณ 40 ตัน ตรงนี้ฐานลูกค้าก็จะเป็นอีกระดับราคา จะต่างจากลำไยสวัสดีประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่น ตัวท็อปของชาวบ้านที่มาขายให้กิโลละ 300 บาท แต่ลำไยสวัสดีกิโลละ 600-650 บาท เพราะด้วยคุณภาพและความสะอาดที่ต่างกัน

ฝากถึงเกษตรกร
การแปรรูปดีอย่างไร

“ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นสิ่งที่เกษตรกรทุกคนต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่เชื่อว่าเกษตรกรทุกคนย่อมมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดกันอยู่แล้ว แต่คำว่าเกษตรกรรมมักถูกปลูกฝังว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่เป็นกระดูกที่ขาดแคลเซียมกำลังจะหัก ดังนั้น เกษตรกรในยุคปัจจุบันต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ประกอบการไปด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ทำอย่างเดียวโดยที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ได้มีการวางแผน การเกษตรก็เปรียบเหมือนกับการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ต้องมีการวางแผนในการทำสวนของตัวเอง สรุปคือเกษตรกรต้องสวมวิญญาณของผู้ประกอบการเข้าไปด้วย เพราะว่าการเป็นผู้ประกอบการคือการต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ตลอด จะมานั่งทำสวนกู้เงินทำสวนตลอดไม่ได้ พยายามหาจุดที่ตัวเองอยู่รอดให้ได้” พี่หลิน กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อเบอร์โทร. (089) 192-3062