“MODDII” แบรนด์ขนมไทยอัดกระป๋อง สินค้าขายดีช่วงโควิด-19

MODDII (มดดิ๊) ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมไทย สไตล์มินิ ฉีกกฎขนมไทย แปรรูปปรับโฉมขนมไทยซะใหม่ คิดค้นการผลิตขนมไทยโดยอาศัยหลักทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยยืดอายุของขนมไทย ให้เก็บรักษาได้นานขึ้น ซึ่งปัจจุบัน มดดิ๊ได้คิดค้นและยืดอายุของขนมไทยได้ถึง 18 เดือน โดยปราศจากวัตถุกันเสีย ผ่านมาตรฐานการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.)

คุณณัฐดนัย รุจิรา หรือ คุณมด

คุณณัฐดนัย รุจิรา หรือ คุณมด บ้านเลขที่ 584/12 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เจ้าของแบรนด์มดดิ๊ และเป็นผู้คิดค้นการยืดอายุขนมไทยให้มีอายุการเก็บรักษาได้นาน จุดเริ่มต้นเกิดจากที่คุณมดเรียนจบมาทางด้านฟู้ดไซน์ มีการสะสมประสบการณ์การทำงานที่โรงงานแปรรูปหลายแห่ง อาทิ โรงงานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โรงงานผลไม้กระป๋อง โรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง เป็นต้น เมื่อทำงานจนถึงจุดอิ่มตัวจึงคิดอยากที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเองให้ดีขึ้น จึงเกิดการรวมกลุ่มผู้ประกอบการในจังหวัดเพชรบุรีที่สนใจมีความคิดเดียวกันและอยากที่จะเห็นขนมไทยเกิดการพัฒนาและแตกต่างไปจากเดิมที่ขายแต่แบบสด อายุการเก็บรักษาได้เป็นเวลาสั้นเพียง 2-3 วัน จึงอยากที่จะพัฒนาขนมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีให้ตอบโจทย์ลูกค้าและสามารถตีตลาดได้ทุกกลุ่ม 1. อายุการเก็บรักษาของขนมไทยจะสั้น 2. ความหลากหลายน้อย 3. แพ็กเกจจิ้งยังไม่เป็นสากล จึงเริ่มค่อยๆ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกขึ้นมาคือ อาลัว ปกติจะเก็บไว้ได้ไม่เกิน 10-15 วัน ราจะขึ้น แต่ปัจจุบันสามารถพัฒนาการเก็บรักษาได้นานถึง 6 เดือน และล่าสุดผลิตภัณฑ์ที่ภูมิใจนำเสนอคือขนมหม้อแกง ที่นำมาพัฒนาแปรรูปอัดกระป๋องให้มีอายุเก็บรักษาได้นาน 18-24 เดือน โดยปราศจากวัตถุกันเสีย ซึ่งขนมหม้อแกงมดดิ๊ไม่ได้มีแค่ไส้เผือก และเม็ดบัว แต่มดดิ๊พัฒนาขนมหม้อแกง แบบไร้แป้งผสมเนื้อผลไม้ขึ้นมาเพื่อตีตลาดต่างประเทศ และถือเป็นการช่วยเกษตรกรในท้องถิ่นแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาด เพราะผลไม้ที่ใช้จะสั่งจากเกษตรกรในจังหวัดอีกด้วย

เกิดโรคระบาดโควิด-19
พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

คุณมด บอกว่า ผลิตภัณฑ์ขนมไทย ภายใต้ แบรนด์ มดดิ๊ (MODDII) มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ด้วยกันไม่ว่าจะเป็น อาลัว รสชาติแปลกใหม่กว่า 10 รสชาติ ขนมหวานไทยตระกูลทอง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน เสน่ห์จันทร์ ดาราเอก ดาราทอง และตัวล่าสุดคือ ขนมหม้อแกงไร้แป้ง ผสมเนื้อผลไม้ มีกล้วย มะม่วง ทุเรียน ฟักทอง เม็ดบัว เผือก ที่มีอายุเก็บรักษานาน คุณค่าทางอาหารไม่เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเนื้อสัมผัสเท่านั้นเอง ซึ่งทางแบรนด์มีการคิดค้นสูตรจนได้เนื้อสัมผัสที่นุ่มจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เริ่มต้นจากที่มีขนมไทยเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันพัฒนาออกมาเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งถ้าถามว่าตัวไหนขายดี ขอยกตัวอย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดคือ ขนมไทยอัดกระป๋อง ไม่ว่าจะเป็นตระกูลทองและหม้อแกง เพราะมีลูกค้าจากต่างประเทศ ทั้งอเมริกา จีน อังกฤษ สั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่เป็นทางการเท่าไร เพราะถ้าปกติไม่เกิดโรคระบาดขึ้นมา ทางร้านจะขายแบบออฟไลน์อย่างเดียวคือการออกบู๊ธ แต่เมื่อเกิดปัญหาก็พลิกวิกฤตเปิดขายออนไลน์เฟซบุ๊ก : Moddi ขนมไทยเพื่อสุขภาพ และเว็บไซต์ www.moddithai.com ด้วย ทำให้เริ่มมียอดการสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามา 

ผลิตภัณฑ์ขนมไทย ภายใต้แบรนด์มดดิ๊

ขนมหม้อแกงสูตรไร้แป้ง
ผสมเนื้อผลไม้เต็มๆ คำ

เจ้าของบอกว่า ที่มาของขนมหม้อแกงไร้แป้ง ผสมเนื้อผลไม้ เกิดจากส่วนใหญ่คนไทยจะรู้จักและเคยเห็นขนมหม้อแกงเฉพาะแค่ไส้เผือกกับเม็ดบัว แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ ซึ่งถ้าเป็นชาวต่างชาติ เช่น คนจีน อะไรที่เป็นมะม่วง กล้วย หรือทุเรียน เขาจะชอบมาก นี่คือเหตุผลหนึ่งที่คิดค้นเพื่อตลาดต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องใส่ลูกเล่นผลไม้เข้ามาให้ชาวต่างชาติหันกลับมามองขนมไทย เป็นการทำเพื่อขยายตลาดเพิ่มความหลากหลายในขนมชนิดเดียวกัน ทำให้สามารถจับกลุ่มผู้บริโภคได้หลายกลุ่ม ถือว่าเป็นที่แรกที่ทำขึ้นมา

หม้อแกงทุเรียน

จุดเด่นของขนมหม้อแกงอัดกระป๋อง ผสมเนื้อผลไม้

  1. สนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น ผลไม้ที่ใช้ในการผลิตเกือบทุกชนิดนำมาจากเกษตรกรในจังหวัดเพชรบุรีทั้งหมด อย่างเช่น กล้วยหอมทอง มะม่วงน้ำดอกไม้ ถ้ากล้วยหอมทองเพชรบุรีล้นตลาด หรือมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ปลูกในเพชรบุรีล้นตลาดสามารถเอาสิ่งเหล่านี้มาช่วยในการแปรรูปและส่งออกไปได้เช่นกัน
  2. อายุการเก็บรักษานาน
  3. ไม่ใช้วัตถุกันเสีย
  4. ไม่ใช้น้ำตาลทราย ใช้น้ำตาลมะพร้าวแทน อันนี้ก็คือสินค้าเกษตรเช่นกัน น้ำตาลมะพร้าวคนเป็นเบาหวานก็สามารถรับประทานได้
หม้อแกงมะม่วง

การแปรรูปขนมหม้อแกงไร้แป้ง ผสมเนื้อผลไม้

ส่วนผสม

  1. กะทิ
  2. น้ำตาลมะพร้าว
  3. ไข่
  4. เนื้อผลไม้

ขั้นตอนการทำ

  1. ผสมส่วนผสมในอัตราส่วนที่เหมาะสมให้เข้ากัน
  2. จากนั้นตักส่วนผสมใส่ในกระป๋อง
  3. นำไปผิงไฟ จนเป็นขนมหม้อแกง ขั้นตอนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ขนมหม้อแกงจะเข้าไปสู่กระบวนการฆ่าเชื้อได้ดีหรือไม่อยู่ที่ขั้นตอนเหล่านี้ด้วย
  4. ผิงเสร็จนำไปไล่อากาศออกจากกระป๋อง
  5. ปิดฝา ฆ่าเชื้อ
หม้อแกงมะม่วง

อุปสรรคในการแปรรูป

“อย่างที่ผมบอก ผมจบฟู้ดไซน์มา ดังนั้น เรื่องความรู้นวัตกรรมการผลิตผมมีพื้นฐานมาอยู่แล้ว นวัตกรรมเรื่องการบรรจุกระป๋องยังไม่ใช่นวัตกรรมที่ยุ่งยากมากนัก แต่นวัตกรรมที่ผมใส่ลงไปเป็นกระบวนการก่อนที่จะทำการฆ่าเชื้อมากกว่า ผมเชื่อว่าจะฆ่าเชื้ออย่างไรก็แล้วแต่ อาหารกระป๋องก็อยู่ได้ แต่ถ้าฆ่าเชื้อแล้วออกมาขนมจะอร่อยเหมือนเดิมไหม หรือเนื้อสัมผัสจะเหมือนเดิมและออกมาถูกใจผู้บริโภคหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่ต้องมาพัฒนาก่อนการนำไปฆ่าเชื้อ เพราะถ้าจะฆ่าเชื้ออย่างเดียวไม่ต้องอาศัยผมหรือผู้ที่เชี่ยวชาญอะไร แค่ไปจ้างโรงงานผลิตเขาก็ทำให้ได้ แต่ทำออกมาแล้วรับประทานได้หรือเปล่านี่คือสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่ให้ผลิตภัณฑ์ของเราแตกต่างจากของที่อื่น ซึ่งขอเน้นย้ำว่าการทำอาหารจะมีเทคนิคอยู่นิดนึงในเรื่องคุณภาพ ถามว่าเกษตรกรจะต้องใส่ใจในเรื่องของคุณภาพในสิ่งที่ตัวเองทำ และที่สำคัญคือภาครัฐต้องช่วยด้วยจริงๆ ฉะนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องให้กับเกษตรกรก่อนคือองค์ความรู้และเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ และพอถึงเวลาเกษตรกรก็ต้องมีนักวิชาการที่คอยให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาคอยดูแลควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้ดีด้วย มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาตามมาทีหลังได้ ยกตัวอย่างที่เคยเจอมาคือที่เพชรบุรีเคยมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ให้ ในครั้งแรกก็มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำปรึกษาร่วมทำกับชาวบ้าน ขนมครั้งแรกที่ออกมาเป็นไปได้ดี ต่อมาทำครั้งที่สองขนมหม้อแกงเสียหมดเลย นี่คือเหตุผลจากการที่มีอุปกรณ์มาให้อย่างเดียวแต่ขาดในด้านการควบคุมคุณภาพสินค้าว่าทำอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าเกษตรกรตั้งใจและมีองค์ความรู้มากพอในการที่จะทำ เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกัน แล้วภาครัฐตั้งเป็นมินิแฟคตอรี่ขึ้นมา เพื่อที่จะให้เกษตรกรมาใช้มินิแฟคตอรี่นี้ และในนี้ต้องมีกลุ่มคนผู้ให้ความรู้เข้ามาดูแล เชื่อว่าทำได้เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรแต่ละจังหวัดสามารถเข้ามาต่อยอดสินค้าของตัวเองได้” คุณมด กล่าวถึงสิ่งสำคัญในการแปรรูปสินค้าอัดกระป๋อง

ยอดการผลิตต่อวัน ความสามารถทำได้ถึงวันละ 60,000 กระป๋อง แต่การตลาดยังไม่กว้างเท่าที่ควรจึงแบ่งการผลิตเป็นครั้งละ 3,000 กระป๋อง เวลาจำหน่าย 3 เดือนหมด เฉพาะหม้อแกงอัดกระป๋อง

ราคา กระป๋องละ 55 บาท บรรจุ 80 กรัม ไม่แพงถ้าเทียบกับคุณค่าที่ได้รับ 1. เรื่องของความสะอาด ปลอดภัยที่มีมาก 2. ทนการขนส่ง และเก็บรักษาไว้ได้นาน 3. คุ้มค่า ในที่นี่คือถ้ามองว่าขนมหม้อแกงสดถาดละ 35 บาท 3 ถาด 100 บาท บางคนซื้อไปแล้วรับประทานไม่หมด รับประทานได้แค่ถาดเดียว ที่เหลือต้องทิ้งก็เท่ากับขนมหม้อแกงที่ซื้อมามีราคาถาดละ 100 บาท แต่ถ้าซื้อแบบอัดกระป๋องสัก 2 กระป๋อง กิน 1 กระป๋อง อีก 1 กระป๋องแช่ตู้เย็นไว้ อีก 3 เดือนมากินต่อยังได้เลย เพราะฉะนั้น คุ้มค่าแก่การซื้อแน่นอน

 

ตลาดกลุ่มเป้าหมาย

คุณมด บอกว่า เป้าหมายการตลาดอันดับแรกคือคนไทย อยากให้คนไทยหันมาสนใจขนมไทยมากขึ้น ส่วนตลาดต่างประเทศก็ยังต้องตั้งใจทำการตลาดอย่างหนักเพราะส่วนใหญ่คนต่างชาติก็ยังรู้จักขนมหวานไทยอยู่ไม่กี่ชนิด ที่รู้จักส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งถามว่าต่างชาติรู้จักข้าวเหนียวมะม่วงได้อย่างไร ก็เกิดจากการที่หลายหน่วยงานและหลายร้านค้า ร่วมกันประชาสัมพันธ์จนข้าวเหนียวมะม่วงเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างชาติ แล้วทำไมขนมหม้อแกงอัดกระป๋องของเราจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ซึ่งมองว่าขึ้นอยู่กับการที่เราจะมีวิธีการทำตลาดอย่างไรมากกว่า อย่างผมมองว่าจะให้ขนมหม้อแกงเป็น After Meal เป็นเมนูเสิร์ฟหลังของคาว ถ้าผู้บริโภคได้รับประทานเรื่อยๆ จนชินเขาก็จะกลับมาหาเราเอง นี่คือการตลาดที่คิดในต่างแดน

ออกบู๊ธขายของ

ข้อคิดการแปรรูปสินค้าเกษตร

จริงๆ ผมมองว่าเกษตรกรทั่วไปจะมีความเชี่ยวชาญทางด้านการผลิตมากกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกคนมองคือ สักวันหนึ่งถ้าสินค้าเกษตรเกิดการล้นตลาด คุณไม่สามารถที่จะขายให้กับใครได้ คุณต้องหาวิธีการแปรรูปนี้เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดได้มากกว่า แต่นี่คือปัญหาหลักของเกษตรกรไทยที่ไม่รู้จะนำองค์ความรู้มาจากไหน นอกจากจะมีลูกหลานที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่กลับมาพัฒนา แต่ผลสุดท้ายก็ต้องกลับไปมองที่ภาครัฐด้วย ภาครัฐต้องเป็นแรงกำลังหลักในการขับเคลื่อน ลงมาพัฒนาตรงนี้มากกว่า ผมเชื่อว่าทุกจังหวัดมีคนที่เก่งในเรื่องของเกษตร แปรรูป และการตลาด ถ้าเขาสามารถจับสามกลุ่มนี้มาทำงานรวมกันได้อย่างจริงจังมันจะดีมาก” คุณมด กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แบรนด์มดดิ๊ ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (086) 308-1486