น้ำพริกหอมเจียว ป้าดำ @เกาะหมาก อร่อยจนต้องซื้อกลับบ้าน

“เกาะหมาก” จังหวัดตราด 1 ใน 3 เกาะ แหล่งท่องเที่ยวเป็นที่รู้จักกันดี นอกเหนือเกาะช้าง เกาะกูด เป้าหมายของนักท่องเที่ยวไปเกาะหมาก คือรักธรรมชาติ ชอบความเงียบสงบ เพราะที่นี่มีรีสอร์ตไม่มากนักประมาณ 50 แห่ง การเดินทางเข้าถึงสะดวกด้วยเรือสปีดโบ๊ตเพียง 50 นาที ตลอดเส้นทางเห็นภาพท้องทะเลและหมู่เกาะสวยงาม หากเดินทางมาแล้วอย่างไรต้องพักค้างอย่างน้อย 1 คืนเพราะตารางการเดินเรือโดยสารไม่เอื้ออำนวย เกาะหมากบรรยากาศของการท่องเที่ยวนอกจากหาดทราย ทะเลที่สวยงามแล้ว วิถีชาวบ้านคงแบบเดิมๆ

คุณดวง พิจิตรา ประชุมแพทย์ แนะนำของอร่อย

เมื่อขึ้นเรือที่อ่าวนิด ท่าเรือสาธารณะถนนเส้นเดียวที่มีแยกไปตามที่พักต่างๆ มีร้านอาหารเป็นระยะๆ เกือบ 10 ร้าน แต่วันนี้เจ้าถิ่น “น้องดวง” จากพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.3) ที่ลงพื้นที่มาทำงาน อพท. ร่วมกับชุมชนร่วม 5-6 ปี คุ้นชินเกาะหมากพาไปรับประทานอาหารตามสั่งที่ร้าน “ป้าดำ” ที่อยู่ห่างจากท่าเรือเพียง 500-600 เมตร

หน้าร้านป้าดำ

เหลือบมองเมนูรายการอาหารภาษาไทย คู่ภาษาอังกฤษร่วม 20 เมนู สนนราคามาตรฐาน ยุติธรรม 50 บาท ลูกค้าที่มารับประทานมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ เพราะเกาะหมากช่วงไม่มีโควิด-19 นักท่องเที่ยว 90% เป็นต่างประเทศ ทุกโต๊ะที่จัดให้ลูกค้านั่ง สังเกตเห็นกระปุกใส่น้ำพริกหอมเจียววางไว้ เพื่อใส่กับอาหารที่สั่งมาทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว แม้กระทั่งข้าวเปล่าเพื่อคลุกน้ำพริกหอมเจียวได้ฟรี

น้ำพริกหอมเจียว บริการทุกโต๊ะ

คุณบุญให้ ทุนเหลือ หรือ “ป้าดำ” วัย 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด พื้นเพเป็นชาวเกาะหมาก ยึดอาชีพขายข้าวเหนียว หมูปิ้ง ไก่ย่าง อยู่ที่ท่าเทียบเรือสาธารณะอ่าวนิด เกาะหมาก

ต่อมา คุณสิทธิชัย วิเชียร สามีอาชีพขับเรือบรรทุกสินค้า มีฝีมือทางเชิงช่างอยู่บ้าง สร้างร้านค้าขายเพิงชั่วคราวอยู่หน้าบ้านติดเส้นทางที่ผู้คนสัญจรไป-กลับจากท่าเทียบเรือ ขายทั้งส้มตำข้าวเหนียว ไก่ย่าง อาหารตามสั่งขายดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เพราะเกาะหมากมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น วันละ 300-500 คน ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนจะลดลงมากกว่าครึ่ง เหลือวันละ 100-200 คน และมีชาวบ้านเกาะหมากเป็นลูกค้าด้วย ขายอยู่ 10 กว่าปี เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้เองได้ขยับขยายมาเช่าที่ดินสร้างร้านอาหารที่กว้างขวางขึ้น บริเวณใกล้เคียงกัน ฝั่งตรงกันข้าม และได้ลูกสาว คุณวธิดา วิเชียร หรือ “น้องพาฝัน” ที่เรียนจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี กลับมาช่วยกันทำร้านอาหาร

คุณวธิดา วิเชียร หรือ น้องพาฝัน และเมนู
ป้ายร้าน ลูกค้าทำให้

“ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ มีลูกค้าที่คุ้นเคยกัน มีภรรยาเป็นฝรั่งช่วยทำเมนูอาหารภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อีกคนช่วยคิดโลโก้ร้านเป็นรูปเชฟป้าดำ จัดทำป้ายชื่อร้าน “ป้าดำเกาะหมาก” ให้ ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไร ลำพังตัวเองทำไม่เป็น ที่ร้านจะทำน้ำพริกหอมเจียวไว้บริการลูกค้า

เมื่อหลายๆ คนติดใจต้องการซื้อกลับบ้านและเป็นของฝากจึงนำโลโก้ร้านมาใช้เป็นแบรนด์ของน้ำพริกหอมเจียวป้าดำเกาะหมาก มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศต้องการซื้อกลับบ้าน หาถุงบรรจุมาให้ คนไทยที่มาเที่ยวก็ติดใจ จึงตกลงว่าทำขายให้ลูกค้าด้วย จึงทำใส่กล่องบรรจุภัณฑ์ติดสติ๊กเกอร์แบรนด์ป้าดำเกาะหมากเป็นของฝาก ขายดีมากต้องมีการสั่งจองเพราะต้องสั่งซื้อเครื่องปรุงมาจากฝั่งในตัวเมือง ทำขายไม่ได้ทุกวัน แต่ที่ร้านทำไว้ให้ลูกค้าทุกวัน เพราะมีนักท่องเที่ยว หรือลูกค้าประจำสั่งอาหารแล้วต้องใช้ราดข้าวหรือใส่ก๋วยเตี๋ยว บางคนมาถึงถามหาก่อนสั่งอาหารเพราะมีการบอกต่อๆ กันมา เคยเจอนักท่องเที่ยวต่างประเทศสั่งข้าวเปล่าเพียงจานเดียวแล้วโรยน้ำพริกหอมเจียว”

คุณบุญให้ ทุนเหลือ หรือ ป้าดำ

น้ำพริกหอมเจียวแบรนด์ป้าดำเกาะหมาก

สูตรเด็ดดูเหมือนง่าย แต่ต้องคิดค้น พลิกแพลงมาก่อน

ป้าดำเล่าถึงที่มาน้ำพริกหอมเจียวว่า เดิมจะทำน้ำพริกเผาใส่ก๋วยเตี๋ยวแต่ทำไม่เป็น ต่อมาลองทำเป็นน้ำพริกกากหมูแต่ทำแล้วมีน้ำมันมาก จึงคิดพลิกแพลงว่าน่าจะเอาหอมเจียว กระเทียมเจียว ทำแบบผัดคั่วแห้ง ลองผิดลองถูกทำอยู่ 2-3 ครั้งจึงลงตัว เมื่อทำออกมาให้ลูกค้าใส่ก๋วยเตี๋ยว บางคนราดข้าว ไข่เจียว หรือคลุกข้าวสวยร้อนๆ ที่นี่ใช้ขาวหอมมะลิคลุกน้ำพริกเข้ากัน ทำทีแรกไม่คิดว่าจะอร่อยถูกปากหรือลูกค้าจะชอบมาก ลูกค้าส่วนใหญ่รับประทานไปแล้วยังคิดว่าเป็นน้ำพริกกุ้งแห้งไม่ใช่น้ำพริกหอมเจียว เพราะสีน้ำพริกทำให้หอมแดงออกสีแดงๆ และรสชาติเค็มเล็กๆ เคี้ยวกรุบกรอบ

ลูกค้าที่ชอบกลุ่มแรกเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ บางคนติดใจบอกต่อปากต่อปาก เพราะที่นี่นักท่องเที่ยวจะมาพักอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ มีขอซื้อกลับบ้านคนละ 1-2 กิโลกรัม หาถุงซิปล็อกมาให้ใส่ ต่อมาได้ลูกค้าคนไทยติดใจต้องการซื้อเป็นของฝากจึงคิดทำบรรจุเป็นกล่องหรือกระปุกพลาสติกขนาด 25 กรัม ติดแบรนด์สติ๊กเกอร์ “ป้าดำเกาะหมาก” ราคากระปุกละ 50 บาท หรือกิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งน้องพาฝัน ลูกสาวจะขายทางเฟซบุ๊กและเพจให้ลูกค้าต่างจังหวัดอีกด้วย แต่ช่วงโควิด-19 ระบาด ไม่มีนักท่องเที่ยวมา ขายไม่ดี

ป่นพริกแห้ง

เครื่องปรุง น้ำพริกหอมเจียว และวิธีทำ

เครื่องปรุง พริกขี้หนูแห้ง 2 ขีด นำมาตากแดดก่อนและป่นเองให้กรอบและมีกลิ่นหอม ส่วนหอมเจียว 1 กิโลกรัม กระเทียมเจียว ครึ่งกิโลกรัม ซื้อที่ทำมาเสร็จแล้ว เกลือ 30 กรัม น้ำมันพืช

วิธีทำ ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชไม่ต้องรอให้ร้อน ใช้ไฟอ่อนๆ ใส่หอมเจียว กระเทียมเจียว ลงไปคั่วพลิกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีกลิ่นหอม ใส่เกลือโรยให้ทั่วและใส่พริกแห้งทีหลังสุดเพราะผัดนาน ใส่ก่อนจะไหม้ ใช้เวลาผัดประมาณ 15-20 นาทีเสร็จ รอให้เย็นเพื่อให้หอมเจียวกรอบ จึงใส่ขวดที่มีฝาปิดแน่นวางไว้บริการลูกค้า หรือบรรจุกล่องติดสติ๊กเกอร์จำหน่าย

“รสชาติต้องให้เค็มนำและมีรสเผ็ดเล็กน้อย จริงๆ แล้วคนเกาะหมากชอบรับประทานรสเผ็ด แต่เมื่อลูกค้าเป็นชาวต่างประเทศต้องระวังไม่ให้เผ็ดมาก เดิมทีแม่ใส่รสดีปรุงรส ตอนนี้รับช่วงช่วยแม่ทำปรับสูตรเองไม่ใส่เพราะต้องการให้ลูกค้ามังสวิรัติและมุสลิมรับประทานได้ ส่วนใหญ่คิดว่าน้ำพริกกุ้งแห้งเพราะพริกแห้งทำให้สีสันออกแดงๆ ขั้นตอนการทำดูง่ายๆ ไม่ซับซ้อนแต่เคล็ดลับมีสอดแทรกอยู่ตามที่แม่พลิกแพลงทำ เช่น พริกแห้งต้องตากแดดจัดๆ 1 วันให้แห้งก่อนนำมาปั่น จะทำให้กรอบ หอม ไม่ใช้อบหรือคั่วเวลาคั่วจะไหม้ เวลาคั่วต้องใช้ไฟอ่อนๆ พลิกให้ทั่ว และต้องรอให้เย็นก่อนนำไปใส่กล่องปิดฝา เพราะจะทำให้หอมเจียวกรอบ การเก็บไว้รับประทานนาน 2-3 เดือนๆ ควรใส่ตู้เย็นไว้” น้องพาฝัน ลูกสาวป้าดำ แย้มเคล็ดลับ

ไปเกาะหมาก แวะพิสูจน์คำเล่าลือ “น้ำพริกหอมเจียวป้าดำเกาะหมาก” ร้านเปิด 09.00-15.00 น. ทุกวัน ติดต่อโทร. (089) 095-2852 หรือดูในเฟซบุ๊ก ร้านป้าดำเกาะหมาก Pardum Kohmak


งาน Healthcare 2020 จัดระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 63 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ 10.00 – 20.00 น. นอกจากมี ตรวจสุขภาพฟรี จากกว่า 10 โรงพยาบาลชั้นนำแล้ว ยังมีเวิร์กชอปชุบชูสุขภาพใจฟรี ถึง 7 คอร์ส  โดย 7 วิทยากรผู้อยู่ในแวดวงงานศิลปะ คราฟท์ และจิตวิญญาณ ช่วยเยียวยาจิตใจ ผ่อนคลาย และสร้างแรงบันดาลใจ เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2 Workshop ดี มีให้เรียนฟรีทุกวัน

พิเศษ! Workshop ดี ร่วมเรียนฟรีทุกวัน คลิกลงทะเบียนเรียนที่นี่ (รับจำนวนจำกัด)

รับต้นไม้ฟรี! (ของมีจำนวนจำกัด) เมื่อลงทะเบียนเข้างาน คลิกลงทะเบียนเข้างานที่นี่