“ปลาเค็มบ้านหลวง” สระบุรี ผลิตภัณฑ์แปรรูปสร้างรายได้เสริม พัฒนายอดขายจาก 10 เป็น 100 กิโลกรัม ต่อวัน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษตำบลบ้านหลวง อีกหนึ่งวิสาหกิจชุมชนตัวอย่าง    ที่ไม่รอให้ใครลิขิตชีวิต แต่พวกเขาเหล่านี้ขอลิขิตชีวิตตัวเอง ด้วยการไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักต่อยอดแปรรูปปลาเค็มขายสร้างรายได้เพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง

คุณประยุทธ ผดุงไพร ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษตำบลบ้านหลวง อยู่ที่ 46 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี หัวเรือสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาให้วิสาหกิจชุมชนก้าวมาได้ไกลและมั่นคง ด้วยความคิดที่ไม่หยุดนิ่ง พยายามหารายได้เข้ามาเสริมให้กับสมาชิกกว่า 60 คน ให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างมั่นคงอยู่เสมอ

คุณประยุทธ ผดุงไพร ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษตำบลบ้านหลวง

คุณประยุทธ เล่าว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษตำบลบ้านหลวง ได้จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2553 เริ่มจากการปลูกกระเจี๊ยบเขียวเพื่อการส่งออกเป็นรายแรก และประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมกลุ่มปลูกกระเจี๊ยบเขียวเพิ่มขึ้น ต่อมาเริ่มมีการพัฒนาปลูกผักชนิดอื่นๆ เพื่อส่งขายในตลาดท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ทั้งบวบเหลี่ยม บวบงู มะระจีน มะเขือยาว มะเขือเปราะ พริก ฟักทอง และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ถึงแม้ทางกลุ่มจะประสบความสำเร็จกับพืชผักที่ปลูกแล้ว ก็ยังไม่หยุดที่จะต่อยอดรายได้ ด้วยแนวคิดที่ว่า ในเมื่อแปลงผักของทุกคนจะต้องขุดบ่อน้ำไว้รดผักกันอยู่แล้ว จึงมีไอเดียหาปลามาปล่อยให้กับสมาชิกกลุ่มเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม อาจจะขายปลาสด หรือใครสะดวกนำไปทำอย่างอื่นก็ได้ จนกระทั่งเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา ทางกลุ่มเกิดความคิดที่จะแปรรูปปลาเค็มเพิ่ม จึงมีการรับซื้อปลาจากกลุ่มสมาชิกเพื่อนำมาแปรรูปทำปลาเค็ม ปลาทอด ปลาย่างรมควัน แล้วนำไปขายพร้อมกับผัก

 

“ปลาเค็มบ้านหลวง” สูตรโบราณ
สร้างยอดขายหลักแสนต่อเดือน

เจ้าของบอกว่า ผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างแรกของกลุ่มคือ ปลาย่างรมควัน คือการนำเฉพาะปลากระดี่มาย่างแล้วนำไปรมควัน จากนั้นนำไปปั่นทำปลาป่น ซึ่งตอนทำครั้งแรกๆ ก็ใช้วิธีการตำ แต่เมื่อทำไปแล้วผลตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องใช้วิธีการปั่นแทน แต่ปลาย่างรมควันจะมีฤดูกาลทำ ไม่ได้ทำตลอดทั้งปี จึงคิดพลิกแพลงที่จะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกเห็นต้องกันว่าน่าจะทำเป็นปลาเค็ม เพราะทำง่าย มีวัตถุดิบหลักคือปลาที่เลี้ยงไว้อยู่แล้ว ตลาดก็หาง่ายขายได้ทุกวัน โดยปลาที่แบ่งให้กลุ่มสมาชิกเลี้ยงมีทั้งปลานิล ปลากระดี่ ปลาสลิด และปลาช่อน ปลาเหล่านี้จะนำมาแปรรูปเป็นปลาเค็มทั้งหมด

ปลาเค็มบ้านหลวงมีให้เลือกหลากหลาย แถมฟรีน้ำจิ้มสูตรเด็ด

จุดเด่นของปลาเค็มบ้านหลวง…มีเอกลักษณ์ตรงที่รสชาติจะไม่เค็มเกินไป เพราะใช้วิธีการทำแบบโบราณ ไม่ใส่สี ไม่แต่งกลิ่นด้วยผงปรุงรสต่างๆ แต่จะนำภูมิปัญญาชาวบ้านของคนรุ่นปู่ย่ามาใช้ คือใช้เกลือเม็ดในการหมักอย่างเดียวให้เข้าเนื้อ

 

ขั้นตอนการแปรรูปปลาเค็ม

  1. รับปลามาจากสมาชิกกลุ่ม ราคากิโลกรัมละ 20-30 บาท หรือถ้าบางวันปลาไม่ทำขายก็จะสั่งจากกลุ่มผู้เลี้ยงปลาจังหวัดสุพรรณบุรีมา
  2. ลักษณะปลาที่ใช้ทำจะมีขนาดตัวไม่ใหญ่มาก ถ้าเป็นปลาช่อนน้ำหนักตัวประมาณ 3-4 ขีด ต่อตัว ส่วนปลานิลและปลาสลิดน้ำหนักจะเท่าๆ กัน อยู่ที่ไซต์ 7 ตัว ต่อกิโลกรัม
  3. เมื่อได้ปลาตามมาตรฐานที่ต้องการแล้ว จะไปจ้างให้มืออาชีพตัดหัว ขอดเกล็ด ค่าจ้างกิโลกรัมละ 5 บาท
  4. เมื่อตัดหัว ขอดเกล็ดเสร็จแล้ว นำมาล้างน้ำให้สะอาด
  5. จากนั้นนำเกลือมาหมักแบบโบราณ โดยเกลือที่ใช้เป็นเกลือเม็ด ซึ่งสูตรนี้ไม่เคยบอกใครมาก่อน เพราะเคล็ดลับการทำปลาเค็มให้อร่อยอยู่ที่เกลือนี่แหละ เพราะเกลือเม็ดจะทำให้รสชาติปลาเค็มออกมาไม่เค็มจนเกินไป แต่จะทำให้ออกรสหวานด้วย
  6. นำเกลือเม็ดใส่ในน้ำแข็งแล้วนำมาลงไปหมักทิ้งไว้ครึ่งคืน
  7. จากนั้นนำขึ้นมาล้างทำความสะอาดอีกครั้ง แล้วนำไปแช่น้ำแข็งเตรียมขายรุ่งเช้า โดยปลาของที่นี่จะไม่มีการนำไปตากแดดเพราะการตากแดดจะทำให้ปลามีกลิ่น ที่นี่จะทำขายแบบสดๆ ใหม่ๆ เท่านั้น

รสชาติที่ได้ก็ออกเค็มนิดๆ สีของเนื้อปลาที่ทอดออกมาเหลืองสวย ขายคู่กับน้ำจิ้มสูตรเด็ดที่ไม่เหมือนใคร จนกลายเป็นสินค้าที่สร้างยอดขายให้กับทางกลุ่มได้ดีชนิดที่คาดไม่ถึง สร้างรายได้ต่อเดือนหลักแสนกว่าบาท

เริ่มต้นการตลาดอย่างฉลาด
สร้างยอดขายจาก 10 สู่ 100 กิโลกรัม ต่อวัน

คุณประยุทธ บอกว่า การจะประกอบอาชีพอะไรก็แล้วแต่ การตลาดคือสิ่งสำคัญ ถ้าไม่มีตลาดก็ต้องหาตลาดให้เป็น ไม่มีใครเก่งมาอยู่แล้ว ยกตัวอย่างตนเองเป็นแบบอย่าง คือต้องไปขายผักอยู่แล้วก็เอาปลาเค็มไปทอดขายด้วย ขายลุยไปเรื่อยๆ จนรู้แล้วว่าลูกค้าต้องการอะไรก็เจาะจงเลยว่าวันนี้ที่นี่จะขายอะไร

“ที่ผมไปขายใหม่ๆ ทีแรกเริ่มขายจากน้อยๆ วันละ 10 กิโลกรัม เพราะยังไม่มีความรู้อะไรเลย ทั้งการทอดและการขายต้องขายยังไงให้คนสนใจ พกเพียงเตาแก๊สปิคนิคไป 1 ถัง ลูกค้าเห็นถามว่าจะมาขายปลาเค็มหรือมาเล่นขายของเพราะมันดูไม่จริงจัง เขาก็เกิดความไม่มั่นใจที่จะซื้อ แต่พอขายไปเริ่มสะสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้มองทุกอย่างขาดหมดแล้วว่าต้องทำอย่างไรให้ลูกค้าติดใจ ซึ่งหัวใจสำคัญก็ไม่มีอะไรมากนอกจากรสชาติของปลาที่เค็มกำลังพอดี ราคาขายก็ไม่แพง ทุกคนสามารถจับต้องได้ เพียงเคล็ดลับแค่นี้ก็สามารถเพิ่มยอดขายขึ้นมาได้ จนมีการคิดต่อยอดเพิ่มขึ้นอีกขั้น ด้วยการขายปลาเค็มแบบครบวงจร ปลานิลเค็มตัวละ 15 บาท ปลาสลิด 25 บาท ขายคู่กับข้าวเหนียวห่อละ 5 บาท แถมน้ำจิ้มสูตรพิเศษฟรี มีเงินหลักสิบก็อิ่มท้องได้ ซึ่งใครจะไปเชื่อว่าจากยอดขายวันละ 10 กิโลกรัม ขึ้นมาเป็นวันละ 100 กิโลกรัม แค่เฉพาะปลานิล ยังไม่รวมปลาช่อน และปลาสลิด ที่มีออเดอร์จากญาติที่อยู่ต่างประเทศสั่งไปขายอีกครั้งละประมาณ 100 กิโลกรัม ภายในเวลาไม่กี่เดือน” คุณประยุทธ กล่าวถึงเส้นทางการทำตลาดปลาเค็ม

ตลาดปลาเค็ม ขายที่ไหนบ้าง

คุณประยุทธ บอกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้น ขายตามโรงพยาบาลในตัวเมืองสระบุรีทุกวันอังคาร ศุกร์ และเสาร์ หรือถ้าในกรุงเทพฯ ตามศูนย์ราชการ ห้างสรรพสินค้ามีงานออกบู๊ธถ้ามีเวลาว่างก็จะขับรถขึ้นมาขายด้วย โดยยอดขายเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 100 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นวันศุกร์สิ้นเดือนจะขายได้มากหน่อย บางครั้งยอดทะลุไปถึง 200 กิโลกรัมก็บ่อย ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้แบบม้ามืด เพราะปลาสามารถขายได้ทั้งสด ทอด ราคาก็แตกต่างกันไป อย่างการขายสดชั่งเป็นกิโลแล้วคำนวณราคาคิดกำไรเพิ่มไม่มาก 5-10 บาท เอาพอเราอยู่ได้ ลูกค้าอยู่ได้ ด้วยแนวคิดที่ไม่อยากให้มาซื้อแค่ทีเดียวแล้วหายไปเลย แต่อยากให้ลูกค้ากลับมาซื้อทุกครั้งที่เรามาตั้งแผงขาย

รายได้…ถึงหลักแสนกว่าบาทต่อเดือน เป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้แบบเงียบๆ และหลายคนมองข้าม ขายปลาตัวละ 10-20 บาท จะได้สักเท่าไร ก็อยากจะบอกว่าได้เป็นแสนต่อเดือนนะ ผ่อนรถหมดไปคันนึง กำลังจะซื้อที่เพิ่มความมั่นคงของครอบครัว ก็มีมากขึ้นจากเงินขายปลาเค็มนี่แหละ

 ฝากถึงเกษตรกรทั้งรุ่นเก่าและใหม่

“อย่างแรกคืออยากให้มองตลาดนำการผลิต จะทำอะไรก็ช่างควรจะมองตลาดก่อนว่าตลาดเราอยู่ตรงไหน กลุ่มเป้าหมายคือใคร แล้วตลาดเราชัดเจนหรือไม่ อย่างเช่นที่กลุ่มจะมีใครสั่งผักจากเราคุณต้องมา  คุยออเดอร์กันก่อนว่าคุณรับได้ไหม เราซื้อขายราคาประกัน อย่าผลิตก่อนแล้วค่อยหาตลาด เราต้องเอาตลาดนำการผลิต เพราะถ้าไม่มองตลาดแบบนี้ตายหมด จะผลิตอย่างเดียวก็ตาย ปลูกผักก็ต้องปลูกแบบหลายๆ อย่าง ดูตลาดในชุมชนว่าเขาชอบกินอะไรก็ปลูกอันนั้นเยอะหน่อย เริ่มขายตลาดในชุมชนให้อยู่ตัวและมีความมั่นคงก่อน ผมจึงอยากให้เกษตรกรทั่วไปมองตลาดให้ดี และคิดให้ดีว่าพืชผักทุกชนิดสินค้าทุกตัวมีวันที่ราคาจะตก ถ้าปลูกอย่างเดียวหรือทำอย่างเดียวเราก็ตกม้าตายได้ง่ายๆ แต่ถ้าปลูกหลายอย่างถ้าอันไหนราคาตกก็จะมีผักบางชนิดที่ราคาสูงขึ้นมาบ้าง อย่างตอนนี้ผมปลูกกล้วยหอมด้วย ตอนนี้ราคากล้วยหอมแพง ผมขายได้หวีละ 100 บาท ผมสบายเลย” คุณประยุทธ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 084-096-9952

ออกบู๊ธขายผักปลอดภัยจากสารพิษ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ.2563


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354