“ไก่ย่างภูเขาไฟ” เงินล้าน โอท็อปเด่น เมืองบุรีรัมย์

“ไก่ย่างภูเขาไฟ” ผลิตภัณฑ์โอท็อปขึ้นชื่อประจำจังหวัดบุรีรัมย์ มีประวัติความเป็นมา เนื่องด้วยไก่บ้านย่างเป็นอาหารของชาวอีสานที่มีมาแต่สมัยโบราณ คนสมัยก่อนชอบเลี้ยงไก่บ้านเอาไว้ประกอบอาหารเพื่อกิน แต่ไก่ได้ออกไข่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ชาวบ้านจึงได้คิดค้นการย่างไก่สูตรหมักสมุนไพรที่มีตามหมู่บ้าน จนถึงปัจจุบัน กลุ่มแปรรูปอาหารบ้านปอแดงได้มาปรับปรุงด้านความสะอาด รสชาติ และความอร่อย มานานจนถึงทุกวันนี้ ไก่ย่างภูเขาไฟ กลายเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป 4 ดาว และเป็นของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย

คุณพิชญ์สินี ชัยปัญญา หรือ พี่จอย สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปอาหารปอแดง อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 3 บ้านปอแดง ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้สืบทอดและเป็นหัวแรงสำคัญแทนคุณแม่ คือ คุณดารา ชัยปัญญา ผู้เป็นประธานกลุ่มที่เริ่มวางมือด้วยวัยอายุที่มากขึ้น

คุณพิชญ์สินี ชัยปัญญา หรือ พี่จอย

พี่จอย เล่าว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปอาหารปอแดง จัดตั้งมานาน 10 ปีกว่าแล้ว โดยจุดเริ่มต้นของการตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา เนื่องจากสมัยก่อนคุณแม่คือคุณดารา ชัยปัญญา มีอาชีพทำนามาก่อนแต่ทำนาทำไปก็มีแต่หนี้ จึงมีความคิดที่จะเลิกทำนาแล้วย้ายมาอยู่กับคุณพ่อที่บุรีรัมย์ ซึ่งอาชีพของคุณพ่อก็คือเลี้ยงไก่และแปรรูปทำไก่ย่างขาย โดยในช่วงแรกก็ช่วยกันเลี้ยงไก่ ย่างไก่ขายอยู่หน้าร้าน แต่ด้วยความที่ไก่ที่แม่กับพ่อทำรสชาติดี กลิ่นหอม ใครมากินก็ติดใจ ทางผู้ใหญ่ในหน่วยงานภาครัฐจึงให้ความสนับสนุนให้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานให้กับสินค้าและเพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในหมู่บ้านด้วย เพราะส่วนใหญ่คนที่นี่ก็ทำนารายได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารปอแดงจึงจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น โดยมีสมาชิก 10 คน รูปแบบของการทำงาน คือมีการจัดระบบวางแผนให้สมาชิกเลี้ยงไก่มาส่งที่ประธานกลุ่ม ประธานกลุ่มจะมีหน้าที่นำออกไปขายข้างนอก ออกบู๊ธตามงานต่างๆ โดยประธานกลุ่มจะทำหน้าที่หาพันธุ์มาให้สมาชิกภายในกลุ่มเลี้ยงด้วย เป็นไก่บ้านพันธุ์ผสม ได้พันธุ์มาจากแถบอีสานตอนบน กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม นำมาให้ชาวบ้านเลี้ยงครั้งละ 2,000 กว่าตัว แล้วรับซื้อในราคาตัวละ 60-70 บาท ถือเป็นการสร้างอาชีพเสริมให้กับสมาชิกกลุ่มอีกช่องทางหนึ่ง

 

“ไก่ย่างภูเขาไฟ” ยึดคติ
ไก่ทุกตัว ต้องสะอาด อร่อย หอมกลิ่นสมุนไพร

เจ้าของบอกว่า จุดเด่นของไก่ย่างภูเขาไฟ เป็นไก่ที่ปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ ให้หาอาหารตามทุ่งนา และเคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่การย่างและน้ำหนักตัวของไก่ 1. ต้องเป็นไก่บ้านสด และสะอาด มีน้ำหนักตัวประมาณ 8-9 ขีดเท่านั้น 2. หมักไก่ตามสูตร แล้วย่างด้วยเตาถ่านให้สุกโดยใช้ไฟอ่อนพอประมาณ เนื้อจะออกมาฉ่ำนุ่ม ไม่แห้งเกินไป รสชาติกลมกล่อม หอมกลิ่นสมุนไพร ซึ่งสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมในการหมักก็จะเป็นสมุนไพรที่ปลูกในพื้นที่ดินภูเขาไฟที่ประกอบไปด้วยธาตุอาหารที่สำคัญต่อพืช เพราะฉะนั้น พืชที่ปลูกจากดินภูเขาไฟจะมีความอุดมสมบูรณ์กว่าและส่งผลมาถึงคุณภาพความหอมเมื่อนำมาใช้หมักไก่ด้วย ซึ่งทางกลุ่มจะยึดคติความสะอาด อร่อยได้มาตรฐานเสมอ วัตถุดิบต้องใหม่ สะอาด ผู้บริโภคพอใจ คือหัวใจสำคัญของผู้ผลิต

ไก่ย่างภูเขาไฟสีเหลืองน่ากิน

ขั้นตอนการผลิต

  1. รับไก่ที่ผ่าอก ควักไส้มาแล้วเรียบร้อยจากสมาชิก โดยส่วนของหัว คอ และขายังอยู่ครบ
  2. จากนั้นนำมาล้างทำความสะอาดอีกครั้ง
  3. เตรียมเครื่องปรุงหมักไก่ ประกอบด้วย
    – ขิง 4 เปอร์เซ็นต์
    – ซอสปรุงรส 3 เปอร์เซ็นต์
    – เกลือ 2 เปอร์เซ็นต์
    – กระเทียม 2 เปอร์เซ็นต์
    – พริกไทยดำ 2 เปอร์เซ็นต์
    – ชูรส 1 เปอร์เซ็นต์
  4. นำไก่ไปคลุกเคล้าในน้ำหมักที่ผสมไว้ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้เครื่องปรุงซึมเข้าเนื้อ
  5. จากนั้นเตรียมไม้ไผ่ตงหนีบ
  6. นำไก่ไปย่างในเตาถ่านให้สุก ใส่ไฟพอประมาณ

 

อาหารบ้านๆ หลายคนมองข้าม
แต่สร้างรายได้ดีมาตลอด 10 ปี

พี่จอย บอกว่า หลายคนมองว่าอาชีพขายไก่ย่างจะได้รายได้ต่อวันสักเท่าไร แต่จริงๆ แล้วคุณคิดผิด เพราะการประกอบอาชีพค้าขายอะไรก็แล้วแต่ หากคนขายอยากขายและใส่ใจคุณภาพ ใส่ใจทุกๆ กระบวนการผลิต ผู้บริโภคจะรับรู้ได้เสมอ หากเราทำดี ขายของดีมีคุณภาพ เดี๋ยวลูกค้าจะตามมาเอง และถ้าถึงวันนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องรายได้ที่จะตามมาแบบคาดไม่ถึง อย่างเช่นทุกวันนี้ ตนเองทำอาชีพขายไก่ย่างมานานกว่า 10 ปี ขายดีมาตลอด ทั้งยังช่วยปลดหนี้จากการทำนา แถมตอนนี้ได้รถ ได้บ้าน ซื้อที่เพิ่มจากการขายไก่ เพราะยึดหลักคุณภาพและความสะอาดมาตลอด จนเกิดเป็นรายได้เข้ามาหลักๆ คือ 1. ขายหน้าร้านวันละประมาณ 50-80 ตัว ราคาขายตัวละ 130 บาท 2. วันเสาร์-อาทิตย์ ขายอยู่ที่ถนนคนเดินเซราะกาว 3. งานออกบู๊ธขายตามงานสินค้าโอท็อปต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นงานใหญ่ๆ ก็ขายได้หลักพันตัว ราคาตัวละ 170-200 บาท 4. ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว เขมร ผลตอบรับดีมาก รวมๆ แล้วยอดขาย 3,000 ตัว ต่อเดือน คิดเป็นรายได้หลายแสน เมื่อหักต้นทุนแล้วเหลือกำไรพอสมควร ถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้แบบไม่น้อยหน้าใครเลยทีเดียว

ออกบู๊ธตามงานต่างๆ ได้รับความนิยมจากลูกค้ามากมาย

อนาคตพัฒนาสินค้าให้หลากหลาย
สะดวกต่อผู้บริโภค

หากพูดถึงความสำเร็จในการประกอบอาชีพ พี่จอย บอกว่า ยังสำเร็จได้แค่ส่วนหนึ่ง ในอนาคตมีการวางแผนอยากที่จะพัฒนาต่อยอดไก่ย่างภูเขาไฟให้มีความหลากหลายและสะดวกต่อผู้บริโภคให้มากขึ้นกว่าเดิม อาจจะเพิ่มเติมจากตอนปัจจุบันที่มีขายแค่เฉพาะสำเร็จรูปย่างให้เรียบร้อย พัฒนาเป็นไก่สดหมักน้ำซอสซีลสุญญากาศแล้วให้ผู้บริโภคนำไปประกอบอาหารเองตามใจต้องการ จะนำไปย่างในเตาถ่าน หรืออบในเตาอบ ไมโครเวฟก็ได้ โดยจะมีรายละเอียดและขั้นตอนการอบติดไว้ข้างถุงให้เรียบร้อย ซึ่งไอเดียต่างๆ เหล่านี้ก็เกิดมาจากลูกค้าที่ชอบและติดใจในรสชาติไก่ย่างของเรา แล้วอยากซื้อไปฝากให้คนที่บ้านได้ย่างกินแบบใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้ก็ทำได้แต่บอกวิธีการเก็บรักษาเบื้องต้นให้กับลูกค้าก่อนว่า ทางร้านจะย่างไก่ให้สุกเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ หากลูกค้ายังไม่กินก็สามารถใส่กล่องแช่ตู้เย็นไว้ในช่องธรรมดาอยู่ได้ 7 วัน ถ้าเป็นช่องฟรีซอยู่ได้ 15 วัน นี่คือการเก็บรักษาเบื้องต้น แต่อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มมีความประสงค์อยากให้ผู้บริโภคได้กินของสดย่างใหม่ๆ มากกว่า จึงกำลังเร่งที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามความต้องการของลูกค้าให้ไวที่สุด

สำหรับผู้ประกอบการท่านอื่นที่อยากหาตลาด หากท่านจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนและสินค้าได้รับมาตรฐานโอท็อปแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ยากสำหรับการหาตลาด เพราะหมายความว่าผลิตภัณฑ์ของท่านได้รับมาตรฐานรองรับ และพยายามเข้าไปอยู่ในกลุ่มประชาสัมพันธ์ของจังหวัดเพื่อรับทราบข่าวสาร รวมถึงการกระจายข่าวของการออกบู๊ธต่างๆ ว่าในแต่ละวันมีงานมหกรรมอะไรที่น่าสนใจและตลาดตรงกลุ่มเป้าหมายเราบ้าง นี่ถือเป็นช่องทางการหาตลาดอีกช่องทางที่ไม่เสียรายจ่ายสักบาท

ฝากถึงเกษตรกร

“การแปรรูปอาหารถือเป็นทางรอดของเกษตรกรไทย ด้วยรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ชอบความสะดวกสบายมากขึ้น ยิ่งทำสินค้าให้ตรงต่อความต้องการมากขึ้นเท่าไรก็ดีกับตัวผู้ประกอบการเองมากเท่านั้น พยายามสร้างความสะดวกให้กับลูกค้าให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญอย่าลืมเรื่องความสะอาดและรสชาติต้องอร่อยด้วย เมื่อเวลาวันไหนเขาอยากกินไก่ย่างเขาก็จะนึกถึงร้านเราเป็นร้านแรก” พี่จอย กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือมีโอกาสแวะไปเที่ยวบุรีรัมย์ สามารถโทร.สอบถามที่อยู่ร้านกับพี่จอยได้ที่เบอร์. (093) 536-6026 มีสาขาเดียวเท่านั้น

 


พิเศษ ลด 40%!
สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน รายปี 24 ฉบับ ลดราคาพิเศษ 40% เฉพาะสมัครวันนี้ถึง 11 ตุลาคม 2563 เท่านั้น คลิกดูรายละเอียดที่นี่