ที่มา | แปรรูปได้ ขายดี |
---|---|
ผู้เขียน | เวียง-โกศัย |
เผยแพร่ |
ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับ คุณอัมพวัน รุ่งเรืองเลิศ อยู่บ้านเลขที่ 79 หมู่ที่ 1 ตำบลป่าแดง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นชาวนายุคใหม่ ได้รับการอบรมจากศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ จากส่วนของราชการและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) โดยมี ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุน
คุณอัมพวัน เล่าว่า มีที่นาอยู่ทั้งหมด 4 ไร่ สมัยพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็จะทำนาแบบคนยุคเก่าคือ แบบวิถีชีวิตแบบเก่า คือหนีไม่พ้นสารเคมี ชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการอบรมเรื่องเกษตรแผนใหม่เขาก็จะทำแบบเดิมๆ คือ เผาตอซัง การเผาทำให้แร่ธาตุอาหารในดินถูกทำลายไปด้วย ปลูกข้าวแล้วก็หนีไม่พ้นปุ๋ยเคมี เพราะมันง่ายดี ทำให้ดินเสื่อม ข้าวที่ได้ไม่เต็มสูตร
คนละแวกนี้เขาจะทำนาข้าวเหนียว ขายได้กิโลกรัม 5-6 บาทเท่านั้น นา 4 ไร่ เกี่ยวข้าวแล้วจะได้ไร่ละ 40 กระสอบปุ๋ย 1 กระสอบหนัก 40 กิโลกรัม 40×40 = 1,600 กิโลกรัม คือ ได้ข้าวไม่ถึง 2 ตัน หรือ 2 เกวียน สมัยนั้นได้ราคาเกวียนละ 5,000 บาท ถ้าขายทั้งหมดก็ได้เพียงหมื่นกว่าบาท แต่ต้นทุนนั้นเยอะแยะมากมาย ทั้งค่าปุ๋ย-ค่าแรงงานเก็บเกี่ยว หักค่าใช้จ่ายออกแล้วเหลือไม่ถึง 3,000 บาท เกษตรกรยุคเก่ามีรายได้จากการขายข้าวเพียงปีละ 3,000 บาท
ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งสูตรกันว่า ชีวิตชาวนายุคเก่านั้นฐานะยากจน นอกเหนือจากการทำนาขายข้าวได้นิดหน่อยและเหลือข้าวไว้พอกิน รายได้ของเขา คืออะไร บ้างก็เข้าป่า หาของป่าขาย เช่น หาไข่มดแดง หน่อไม้ เห็ดป่า ฯลฯ พอมีชีวิตอยู่ได้ไปวันๆ
มาระยะหลังธนาคาร ธ.ก.ส. มีเงินให้ชาวนากู้ ชาวนาก็ไปกู้รายละ 50,000 บาท หรือ 100,000 บาท โดยเอาที่นาเข้าจำนองไว้ ธนาคารก็เก็บดอกเบี้ยไป เงินต้นยังไม่ต้องจ่าย ให้เอาเงินดอกมาจ่ายอย่างเดียว ปีละ 1 ครั้ง เช่น กู้ไป 100,000 บาท ดอกเบี้ยปีละ 6,000 บาท ก็ให้เอาดอกมาจ่าย แต่ชาวนาก็ยังไม่มีจ่ายทั้งต้นทั้งดอก กลายเป็นดินพอกหมู กลายเป็นหนี้เจ็ดชั่วโคตร
นี่คือชีวิตของชาวนายุคก่อนๆ บางครอบครัวเป็นหนี้ ธ.ก.ส. ตั้งแต่สมัยปู่ย่า ตา ยาย เพราะ ธ.ก.ส. เขาไม่มีนโยบายยึดที่ดินของชาวนา ให้ชาวนาหาดอกมาจ่ายก่อน เงินต้นก็ยังอยู่แบบนั้น รอให้รุ่นลูกหลานไปหามาจ่าย ชาวนาที่ส่งลูกเรียนหนังสือ พอจบออกมาเป็นครูก็ให้ครูไปกู้เงินมาใช้หนี้จนได้นั่นแหล่ะ
เช่นเดียวกับครอบครัวของคุณอัมพวัน พ่อแม่ก็เป็นชาวนายุคเก่า แต่พอมายุคคุณอัมพวัน ได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการทำตามเกษตรทฤษฎีใหม่หรือชาวนายุคใหม่ โดยคุณอัมพวันได้ดิ้นรนขวนขวายหาความรู้ใส่ตัว พ่อแม่ยากจนไม่มีโอกาสได้เรียนในชั้นมัธยมศึกษา จนจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยอย่างเพื่อนฝูง
เธอก็ต่อสู้ดิ้นรนเรียนการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. จนจบชั้นมัธยมศึกษาหรือได้วุฒิ ม.6 มาแล้ว เธอก็ขวนขวายดิ้นรนหาความรู้เอาจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ของราชการ จนเธอประสบความสำเร็จ ทุกวันนี้เธอเป็นชาวนาแบบปลูกข้าวเอง ขายเอง
เธอเลือกปลูกข้าวชนิดดีมีราคาคือ ข้าวสีม่วง ซึ่งเป็นข้าวชั้นดี กินแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือที่เรียกว่า ข้าวหอมไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งขายได้ราคากิโลกรัมละ 70-100 บาท
เธอจึงเลือกปลูกข้าวชั้นดีชนิดนี้ โดยปลูกแบบอินทีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยหมักเพียงอย่างเดียว เรียกได้ว่าเป็นแปลงเกษตรตัวอย่าง เธอได้ข้าวเปลือกไร่ละ 400-500 กิโลกรัม หรือถ้าเอาใจใส่ดีๆ จะได้ถึง 700 กิโลกรัม
ข้าว 700 กิโลกรัมข้าวเปลือก สีเป็นข้าวสารแล้วจะได้ 300 กิโลกรัม 1 ไร่ ได้ข้าวสาร 300 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 70 บาท เท่ากับมีรายได้ ไร่ละ 20,000 บาทเลยทีเดียว
ในหมู่คนรักสุขภาพ ในบรรดาข้าราชการทั้งหลายต่างมาสั่งจองข้าวสีม่วงของคุณอัมพวันตั้งแต่ยังไม่ได้เกี่ยว เพราะเขาเห็นว่าเธอทำแบบอินทรีย์อย่างแท้จริง เพราะเธอไม่ได้ทำมาก ทำเพียง 4 ไร่ ไม่ต้องจ้างใคร ทำกันเองในครอบครัว เมื่อไม่มีการจ้างแรงงาน ต้นทุนก็ย่อมถูกลงปลูกเพียง 4 ไร่ ก็เห็นเงินแสนต่อ 1 ปี เพราะข้าวหอมมะลิสีม่วงหรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ 1 ปี ปลูกได้ครั้งเดียวเท่านั้น
นอกเหนือจากการทำนาข้าวสีม่วง คุณอัมพวันยังใช้พื้นที่อีก 1 ไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ชะอม มะเขือพวง ข่า ตะไคร้ ถั่วฝักยาว ผักกาด ขายเป็นรายได้รายสัปดาห์ มีรายได้วันต่อวันอีกต่างหาก เธอพยายามจะเอาความรู้ที่ได้ไปเรียนรู้มาถ่ายทอดให้ญาติมิตร แต่ไม่สมหวัง เพราะญาติๆ ของเธอไม่เอาด้วย เนื่องจากบางคนไม่ชอบทำนา ชอบเข้าป่า หาของป่า มีนาก็ให้คนอื่นเช่าทำ
ถ้าพูดภาษาเหนือก็เรียกว่า คนขี้เกียจ หรือคนขี้คร้าน คนประเภทนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยในวงการเกษตรแบบบ้านนอก จนกลายเป็นว่ามีคนจนอยู่มาก คอยให้รัฐบาลยื่นมือมาช่วยเหลือ ยิ่งมีภาครัฐมาช่วยค่ายังชีพ ยิ่งทำให้คนจนประเภทนี้ได้ใจกันมาก
คุณอัมพวัน ถือว่าเป็นชาวนายุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จ เธอมีรายได้ดี สามารถส่งลูกเรียนหนังสือถึงมหาวิทยาลัย 2 คน ลูกคนแรกเรียนอยู่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ท่านที่สนใจเรื่องทำนาข้าวแบบอินทรีย์ ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. (096) 424-2505
ข้าวไรซ์เบอร์รี่
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ (อังกฤษ : Riceberry) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oryza sativa เป็นข้าวเจ้าที่มีลักษณะเมล็ดข้าวกล้องมีสีม่วงเข้ม ไม่ไวแสง เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่โดยการผสมข้ามพันธุ์
การคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พันธุ์พ่อ) กับข้าวขาวดอกมะลิ 105 (ข้าวหอมมะลิ) จากสถาบันวิจัยข้าว (พันธุ์แม่) โดยเริ่มผสมพันธุ์เมื่อปี พ.ศ. 2545 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมื่อได้ลูกผสมเอฟ 1 ปล่อยให้มีการผสมตัวเอง แล้วเก็บเมล็ดเอฟ 2 มาปลูกต่อ ซึ่งมีจำนวนกว่า 10,000 ต้น ทำการคัดเลือกต้นเอฟ 2 จากการสังเกตลักษณะทรงต้นที่ให้ผลผลิตดี การติดเมล็ดดี รูปร่างเมล็ดเรียวยาว
จากนั้นประเมินคุณภาพเมล็ดโดยกะเทาะเมล็ดแล้วสังเกตความสม่ำเสมอ สังเกตความใส-ขุ่นของเมล็ด การแตกหักจากการสี แล้วจึงคัดเลือกเอฟ 3 เพื่อปลูกและคัดเลือกครอบครัวที่มีต้นที่ให้ผลผลิตสูง ติดเมล็ดดี ขนาดเมล็ดใหญ่ ยาวเรียว ไม่เป็นโรคไหม้คอรวง เปลือกเมล็ดสะอาด คัดเลือกสายพันธุ์ที่เมล็ดข้าวกล้องสีม่วงเข้มดำ น้ำหนักเมล็ดต่อครอบครัวดี แล้วทำการคัดเลือกภายในครอบครัวให้ได้จำนวนประมาณ 2-5 ต้น ในปี พ.ศ. 2546 และทำเช่นนี้อีกในรุ่นเอฟ 4 และ เอฟ 5 ในปี 2547
จากนั้น ทำการเปรียบเทียบผลผลิตในรุ่นเอฟ 6 และ เอฟ 7 ในปี พ.ศ. 2548 โดยเลือกครอบครัวเอฟ 6 จำนวน 96 ครอบครัว ปลูกแบบปักดำจำนวน 25 ต้นต่อครอบครัว ทำเป็น 3 ซ้ำ เพื่อปลูกเปรียบเทียบผลผลิตเป็นครั้งที่ 2 และวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการซ้ำอีกครั้ง ทำให้ค้นพบข้าวเจ้าสีม่วงเข้ม เมล็ดเรียวยาว ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการโดยรวมดีเด่น 1 สายพันธุ์ในปี พ.ศ. 2548 โดยให้ชื่อพันธุ์ว่า ไรซ์เบอร์รี่
การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูงจนเป็นที่มาของการค้นพบข้าวไรซ์เบอร์รี่ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547-2554 ภายใต้โครงการบูรณาการเทคโนโลยีชีวภาพในการสร้างพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าสูงที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ร่วมทำวิจัยกับสถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานวิจัยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการศึกษาเชิงโภชนาการบำบัดของผลิตภัณฑ์ข้าวโภชนาการสูงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
หลังจากได้พันธุ์ข้าวแล้ว สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้สนับสนุนโครงงานวิจัย “ธัญโอสถ” ตราเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากข้าวโภชนาการสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเด่นชัดให้กับข้าวไรซ์เบอร์รี่ ด้วยการพัฒนาเครื่องหมายคุณภาพที่เริ่มตั้งแต่การผลิตข้าวเปลือกจากแปลงเกษตรกรจนถึงข้าวถุงที่จะส่งถึงมือผู้บริโภค ตลอดจนคุณภาพ วัตถุดิบ เช่น น้ำมันรำข้าวบีบเย็น และกากรำข้าวบีบปราศจากน้ำมัน ที่เกิดจากข้าวโภชนาการสูง
ต่อมาได้มีโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ภายใต้ชื่อ “ธุรกิจเชิงสังคมข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์แบบครบจร ระหว่างมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภา), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)
…………………..
สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน รายปี 24 ฉบับ ลดราคาพิเศษ 40% เฉพาะสมัครวันนี้ถึง 11 ตุลาคม 2563 เท่านั้น คลิกดูรายละเอียดที่นี่