“ล้งกล้วยไข่หวาน” นพพล เทพประถม กล้วยไข่ GI ใหญ่ที่สุดของกำแพงเพชร กล้วยไข่พันธุ์แท้ไม่ง้อตลาดส่งออก

“กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ” เป็นคำขวัญของจังหวัดกำแพงเพชร ประโยคหนึ่งในคำขวัญที่ว่า คือ “กล้วยไข่หวาน” ผลิตภัณฑ์ของดีของเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร

ทุกๆ พื้นที่ในประเทศไทยล้วนมีของดีลักษณะเด่นเป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่นของจังหวัดนั้นๆ แต่การจะหยิบยกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นมาเป็นคำขวัญประจำจังหวัด ต้องมีที่มาแต่อดีตกาล เช่นเดียวกับ “กล้วยไข่หวาน” พืชเฉพาะถิ่นที่ปลูกกันมาเมื่อครั้งอดีตกาลของจังหวัดกำแพงเพชร และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI : Thai Geographical Indication) ที่มีคุณลักษณ์พิเศษด้านความหวาน เหนียวนุ่ม ละมุนลิ้น กินแล้วไม่เลี่ยน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกล้วยไข่โดยทั่วไป

เรื่องกล้วยไข่กำแพงเพชรต้องถามปราชญ์เกษตร คุณนพพล เทพประถม เป็นบุคคลในหลายบทบาท เป็นทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ของตัวเอง และเป็นประธานเกษตรกรกล้วยไข่แปลงใหญ่ ของกลุ่มสมาชิกผู้ปลูกกล้วยไข่ 135 แปลง ที่ขึ้นทะเบียน GI ของอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร และบทบาทที่สำคัญคือ ประธานเกษตรกรของจังหวัดกำแพงเพชร นั่นเองที่ต้องดูแลทุกเรื่อง ไม่ว่าจะโรคระบาด ผลผลิตตกต่ำ

คุณนพพล เทพประถม (กลาง) พร้อมทีมงาน “ล้งกล้วยไข่หวาน” ต้อนรับ ณ จุดรับซื้อกล้วยไข่

คุณนพพล เป็นคณะกรรมการ GI เวลาตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ไม่ตรง และตรวจสอบเกษตรกรที่จะขึ้นทะเบียน GI รายใหม่ และยังเป็นคณะกรรมการให้คะแนนการประกวดกล้วยไข่ ที่มีจัดขึ้นทุกๆ ปี อีกด้วย เรียกว่าคุณนพพล มีครบทุกด้านเรื่อง “กล้วยไข่” ที่ใครๆ ต่างก็ต้องยกให้เขา

ผู้เขียนไม่รีรอจึงลงพื้นที่สัมผัสตัวจริง คุณนพพล กูรูเรื่องกล้วยไข่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอเมืองกำแพงเพชร ภาพที่เห็นเป็นที่ตั้งของศูนย์เครือข่าย ศพก.ตำบลสระแก้ว บนพื้นที่ 20 ไร่ กับบรรยากาศชาวสวนกล้วยไข่ ที่มีกล้วยไข่กองอยู่เต็มลาน คุณนพพล กับแรงงานกำลังช่วยกันคัดแยกลำเรียงกล้วยไข่เพื่อเตรียมจัดส่งให้กับลูกค้า เมื่อสอบถามจึงได้ความว่าสถานที่แห่งนี้เป็นจุดรับซื้อกล้วยไข่รายใหญ่ที่สุดของจังหวัดกำแพงแพชร หรือเรียกว่า “ล้งกล้วยไข่” นั่นเอง

อีกมุมหนึ่ง คุณนพพล กำลังหาบกล้วยไข่ออกจากสวนด้วยแรงงานคน

คุณนพพล ในวัย 57 ปี ให้ข้อมูลว่า ภาพที่เห็นกล้วยไข่กองเรียงรายอยู่นี้มีไม่น้อยกว่า 3 ตัน เตรียมคัดแยกเพื่อจัดส่งให้กับลูกค้าซึ่งมีออเดอร์ขาประจำ มีการทำสัญญา เอ็มโอยู ในการจัดส่งกล้วยไข่ให้ได้ต่อเนื่องอาทิตย์ละ 3 ตัน เพื่อนำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์ขนมต่อไป นอกจากออเดอร์ให้บริษัทก็ยังมีห้างค้าปลีก รวมถึงตลาดรายย่อยอื่นๆ อีก ที่มาขอส่วนแบ่งกล้วยไข่ จาก “ล้งกล้วยไข่” ของเรา ในแต่ละปีรวมเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 200 ตัน เลยทีเดียว

เมื่อพูดถึงราคา ณ จุดรับซื้อ “ล้งกล้วยไข่” แห่งนี้ อย่างปีที่ผ่านๆ มาในสภาวะสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งมากๆ จะให้ราคารับซื้อ ตกที่กิโลกรัมละ 15-20 บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ดูแลสวนกล้วยไข่ของตัวเองให้ดีที่สุด โดยทั่วไปการปลูกกล้วยไข่ต่อไร่ ต้องได้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 2 ตัน อย่างที่แย่ที่สุดไม่ดูแลเลย ก็ต้องได้ไร่ละ 1 ตัน เมื่อตัดผลผลิตส่งให้เราก็จะได้อย่างต่ำๆ ไร่ละ 15,000 บาท ในรายที่ดูแลไม่เต็มที่ ถ้าทำ 10 ไร่ ก็ได้ 150,000 บาท ต่อ 1 ฤดูกาลผลผลิตของการปลูกกล้วยไข่

การลำเรียงกล้วยไข่ ด้วยการหาบออกจากสวนกล้วยไข่แปลงสาธิตการใช้ปุ๋ยพืชสด
กล้วยไข่ เกรด C ตกเกรด คัดลงเข่งพร้อมส่งตลาดในท้องถิ่นเพื่อนำไปแปรรูปต่อไป

บทบาทอีกด้านของคุณนพพล คือฝ่ายส่งเสริมอบรมและให้ความรู้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ เพราะทุกๆ สัปดาห์จะต้องรวบรวมกล้วยไข่ไว้ในสต๊อกไม่น้อยกว่า 3 ตัน เพื่อจัดส่งให้กับบริษัทลูกค้าที่ทำสัญญากันไว้ ไม่ไปส่งขายแย่งตลาดพื้นที่อื่นๆ อย่างที่ ตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง แต่ก็ยอมรับว่าบางปีกล้วยไข่มีไม่เพียงพอ เพราะมีพ่อค้ามาขอส่วนแบ่งกล้วยไข่จากสมาชิกไปจำหน่าย อาทิ ที่ตลาดอ่างทอง ตลาดลพบุรี และก็ที่ตลาดจังหวัดอุบลราชธานี ฯลฯ เป็นต้น

คุณนพพล ให้ข้อมูลอีกว่า “ล้งกล้วยไข่” หรือศูนย์รับซื้อกล้วยไข่ของเขาแห่งนี้ จะรับซื้อเฉพาะสมาชิกในกลุ่มเกษตรกรกล้วยไข่แปลงใหญ่ ที่ขึ้นทะเบียน GI ซึ่งมีทั้งหมด 135 ราย รวมพื้นที่การปลูกทั้งหมดกว่า 200 ไร่ โดยสมาชิกจะหมุนเวียนนำผลผลิตมาส่ง แต่ถึงกระนั้นกล้วยไข่ก็ยังมีไม่เพียงพอที่จะส่งขายป้อนตลาดในแต่ละปี

ภรรยาของคุณนพพล “คุณจงใจ เทพประถม” รายล้อมไปด้วยกล้วยไข่ที่ช่วยกันคัดแยกด้วยมือตัวเอง

“ผมเองอยู่ในเส้นทางอาชีพเกษตรผู้ปลูกกล้วยไข่มา 30 ปี มีที่ดิน 20 ไร่ แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกกล้วยไข่ 8 ไร่ ที่เหลือปลูกพืชผสมผสาน อยากกินอะไรก็ปลูกสิ่งนั้น และก็เปิดเป็นศูนย์รับซื้อกล้วยไข่ หรือล้งกล้วยไข่ มาได้เพียง 3 ปี เนื่องจากเข้าใจปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ จึงให้ราคารับซื้อที่สูงที่สุด ณ จุดรับซื้อ” คุณนพพล เผยและให้ข้อมูลต่อไปว่า

การรับซื้อกล้วยไข่จากสมาชิกจะชั่งน้ำหนักเป็นกิโลกรัม แล้วแต่คุณภาพของกล้วย แยกเป็นเกรด A B C อย่างกล้วยไข่เกรดเล็ก ตกเกรด C ให้ราคา กิโลกรัมละ 15 บาท ถ้ากล้วยไข่เกรดใหญ่ราคา 18-20 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของลูกและความแก่อ่อน ขณะที่เกรด C ตกเกรดต้องคัดออกส่งขายให้กับแม่ค้าตลาดทั่วไปในพื้นที่ ส่วนเกรด A-B ซึ่งเป็นกล้วยที่สวยสมบูรณ์ส่งให้บริษัทคู่ค้า และบางปีเคยให้ราคากับสมาชิกถึงกิโลกรัมละ 25 บาท เลยทีเดียว คุณนพพล ว่าอย่างนั้น

คุณณรงค์ ชาญพิมาย มืออาชีพ “ตีหมอน” หรือเรียงกล้วยไข่ ที่ใครๆ จะทำได้เรียงอย่างไรกล้วยไม่เสียไม่ช้ำ

กล้วยไข่กำแพงเพชรตลาดส่งออกจีน

หากพูดถึงตลาดส่งออกกล้วยไข่ของจังหวัดกำแพงเพชร เกษตรกรไม่นิยมส่งออก เพราะมันเป็นความยุ่งยากสำหรับการบริหารจัดการ อาทิ กล้วยที่ส่งไปต่างประเทศ ล้วนเป็นกล้วยแก่ 70-80% ซึ่งกล้วยไข่ของจังหวัดกำแพงเพชรไม่สามารถทำได้ ในด้านการเก็บผลผลิต เพราะจะต้องตัดกล้วยไข่อ่อน ตัดก่อนกำหนด กล้วยไข่ก็จะไม่ได้น้ำหนัก เกษตรกรก็จะขาดทุน

ป้ายทางเข้าศูนย์เครือข่าย ศพก.สระแก้ว เกษตรแปลงใหญ่กล้วยไข่กำแพงเพชร

และยังมีรายละเอียดปลีกย่อยข้อจำกัดอีกมากมาย อาทิ เรื่องน้ำหนัก ต้องไม่เกิน 1.3-1.7 กิโลกรัม ต่อหวี ถ้าเกินกว่านี้หรือขาดไปเขาก็ไม่เอา ตัวอย่างบางเครือบางหวี กล้วยไข่เรามีน้ำหนักมากกว่า 2 กิโลกรัม ก็จะตกไซซ์ของตลาดส่งออกอีก

ก่อนหน้านี้เคยมีบริษัทจากประเทศจีน มาติดต่อที่ “ล้งกล้วยไข่” หรือศูนย์รับซื้อกล้วยไข่ 2 ครั้ง เพื่อขอให้เป็นตลาดส่งออกกล้วยไข่ของจังหวัดกำแพงเพชร แต่เนื่องด้วยหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่คิดหนักคือ อันดับแรกผลผลิตกล้วยไข่ที่ได้กับจำนวนที่ต้องการไม่คงที่ รวมถึงระยะเวลาไม่ตรงกัน ซึ่งตลาดกล้วยไข่ในประเทศจีน เขาต้องการกล้วยไข่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน คือช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กล้วยไข่ของกำแพงเพชรหมดฤดู หรือกล้วยไข่เริ่มวาย นั่นเอง ฉะนั้น เกษตรกรก็จะไม่มาเสี่ยงชะลอเก็บผลผลิต เพียงเพื่อรอตลาดส่งออก ตลาดเดียว

ตัวอย่างแปลงสวนกล้วยไข่ GI ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสมาชิกเกษตรแปลงใหญ่

เมื่อถามถึงส่วนราชการของจังหวัดกำแพงเพชร ก็มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรเพื่อการส่งออกกล้วยไข่ด้วยเช่นกัน แต่ติดเงื่อนไขหลายๆ ประการ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยังไม่มีความพร้อม อาทิ การทำสัญญาคู่ค้า การกำหนดเงื่อนไขสเปคของผลผลิตที่ได้ต่อครั้งต่อปี และข้อตกลงซึ่งเกษตรกรไม่สามารถทำได้ และเครดิตที่ต้องจ่ายเงินให้เกษตรกรก่อน 7-15 วัน ต่อครั้ง เพราะเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ส่วนใหญ่ต้องการเงินสดหมุนเวียนมากกว่าเครดิต

โดยปีที่ผ่านมา กล้วยไข่หวานเมืองกำแพงเพชร ทำสถิติส่งขายเฉพาะในประเทศ 300-400 ตัน จากสถิติที่มีการบันทึกไว้ โดยรวมการปลูกกล้วยไข่ จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางมีไม่น้อยกว่า 3,000 ไร่ และถ้าเกษตรกรผลิตกล้วยไข่ เฉลี่ยได้ไร่ละ 1 ตัน ก็ตก 3,000 ตัน ต่อปี

เอาเป็นว่า เรื่องตลาดส่งออกกล้วยไข่ไปจีน ของจังหวัดกำแพงเพชร ตัดไปได้เลย เพียงแค่ปลูกขายตลาดในประเทศผลผลิตกล้วยไข่พันธุ์แท้ของจังหวัดกำแพงเพชร ก็ยังมีไม่เพียงพอส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าในประเทศอยู่แล้ว จึงไม่แปลกใจ “กล้วยไข่หวาน” ถึงได้ขึ้นชื่อเป็นพืชเศรษฐกิจ ดั่งคำขวัญของจังหวัดกำแพงเพชร มาแต่อดีตกาล

การขึ้นกล้วยไข่แต่ละหวีต้องผ่านการล้างทำความสะอาดก่อนนำขึ้นรถพร้อมส่งให้ลูกค้า
ทีมข่าวเทคโนโลยีชาวบ้าน คุณจิตรกร บัวปลี พิสูจน์น้ำหนักกล้วยไข่คุณภาพของกำแพงเพชร พร้อมด้วย คุณนพพล เทพประถม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องกล้วยไข่ได้ที่ คุณนพพล เทพประถม ศูนย์เครือข่าย ศพก.สระแก้ว เกษตรแปลงใหญ่กล้วยไข่ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยไข่จังหวัดกำแพงเพชร หมู่ที่ 2 ตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โทร. (087) 592-6709

เผยแพร่ครั้งแรกวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2563