ซอสมะม่วงมหาชนก ผลิตภัณฑ์แปรรูปสร้างสรรค์ ฝีมือกลุ่มเกษตรกรแปรรูปดอยหลวง เชียงใหม่

มะม่วง เป็นผลไม้พื้นบ้านของไทยที่นิยมปลูกกันแทบทุกภาคของประเทศ แต่ปลูกเป็นแหล่งใหญ่และส่งออกมีไม่กี่แห่ง แหล่งที่รับรู้กันในวงกว้างคือ มะม่วงแปดริ้ว และมะม่วงพิษณุโลก

เชื่อว่าคงมีหลายคนไม่รู้มาก่อนว่าอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกแหล่งที่ปลูกมะม่วงส่งออกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และหากผลผลิตเหลือจากการคัดเกรดก็นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงกวน มะม่วงหยี มะม่วงสามรส น้ำมะม่วง มะม่วงแผ่น มะม่วงอบแห้ง ไวน์มะม่วง ทอฟฟี่มะม่วง และนำไปทำเป็นซอสมะม่วง ซึ่งหลายคนชอบใจเพราะถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนที่ชอบมะม่วงเป็นชีวิตจิตใจ รวมถึงพวกที่เบื่อซอสมะเขือเทศที่เราๆ ท่านๆ กินกันมานานหลายชั่วอายุคน

ส่งออกไปหลายประเทศ

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า บ้านเรามีพื้นที่ปลูกมะม่วงทั้งประเทศกว่า 2 ล้านไร่ แต่เป็นการปลูกเชิงพาณิชย์ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นการปลูกแบบริมรั้ว โดยปี 2557 มีการส่งออกมะม่วงคิดเป็นมูลค่าถึง 3,000 ล้านบาท ในปริมาณกว่า 70,000 ตัน ตลาดส่งออกหลักคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งทางกรมส่งเสริมฯ มีนโยบายสนับสนุนการปลูกมะม่วงในเชิงอุตสาหกรรมให้มากขึ้น โดยในพื้นที่ของอำเภอเชียงดาวนั้นเดิมทีปลูกมะม่วงแก้ว มะม่วงโชคอนันต์กัน แต่ไม่ได้ราคา

ต่อมาจึงใช้วิธีเสียบยอดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและพันธุ์มันขุนศรีเข้าไป พร้อมรวมกลุ่มผลิตเป็นแปลงใหญ่เพื่อให้เกิดการต่อรองราคา และเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ จนประสบความสำเร็จ

คุณสุวิทย์ อุดทาเศษ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนามะม่วงเพื่อคุณภาพบ้านปางเฟื่อง ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว เกษตรกรต้นแบบผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก เล่าว่า แต่ก่อนปลูกมะม่วงทั่วไป ขายได้กิโลกรัมละ 15-16 บาท ต่อมารวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน 4 ตำบล และให้พ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงสวน นอกจากนั้น ใช้ต้นมะม่วงเดิมเป็นต้นตอแล้วนำกิ่งของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมาเสียบยอด ใช้เวลา 3 ปี จนมะม่วงออกลูก สามารถขายได้กิโลกรัมละ 40-50 บาท โดยมีพ่อค้ามาซื้อเพื่อส่งออกไปขายที่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซีย และในอียู ซึ่งเป็นการปลูกมะม่วงแบบปลอดภัยได้มาตรฐานส่งออก

สำหรับอำเภอเชียงดาว มีพื้นที่ปลูกมะม่วงทั้งหมด 22,083 ไร่ ให้ผลผลิต 12,749 ไร่ มีรายได้รวมประมาณ 337 ล้านบาท ต่อปี โดยในปี 2550 ได้มีการรวมกลุ่มกันพัฒนามะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออก ในรูปวิสาหกิจ มีจำนวน 9 กลุ่ม และยังได้นำมะม่วงมาแปรรูปหลากหลายรูปแบบ

เตรียมเพิ่มกำลังผลิต

เมื่อปลูกมะม่วงในพื้นที่จำนวนมากขนาดนี้ จึงจำเป็นต้องมีการแปรรูป ซึ่งทางกลุ่มเกษตรกรแปรรูปดอยหลวง อำเภอเชียงดาว ที่มี คุณสุพิน วงศ์ไชย เป็นประธาน ได้นำมะม่วงมาแปรรูปหลายอย่างโดยมีโรงงานขนาดย่อมเป็นแหล่งผลิต ซึ่งวางแผนไว้ว่ากลุ่มจะเพิ่มปริมาณการเก็บสต๊อควัตถุดิบเนื้อมะม่วงจาก 10 ตัน เป็น 15 ตัน

คุณสุพิน เล่าว่า กลุ่มมีสมาชิก 26 คน และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐหลายภาคส่วน อาทิ สำนักงานการเกษตรอำเภอเชียงดาว สำนักงานการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ และสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำให้ทางกลุ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และได้ตรามาตรฐานการผลิตทั้งเครื่องหมาย อย. มผช. GMP และฮาลาล โดยเฉพาะน้ำมะม่วงพร้อมดื่มที่ได้รับคัดเลือกเป็นโอท็อป 4 ดาว ของจังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อนำไปขายที่ห้างสยามพารากอนปรากฏว่าขายดีมาก พูดได้ว่าเป็นสินค้าที่ติดตลาดไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ได้ผลิตโปรดักต์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ซอสมะม่วงมหาชนก

สำหรับขั้นตอนการผลิตเริ่มจากการนำมะม่วงมหาชนกตกเกรด สีผิวไม่สวย มาปอกเปลือกแล้วปั่น จากนั้นเก็บแช่แข็งไว้ในห้องเย็น เป็นการเก็บสต๊อคน้ำมะม่วงให้สามารถทำขายได้ตลอดทั้งปี โดยต้องเก็บในอุณหภูมิ 2-5 องศาเซลเซียส พอจะใช้ก็นำไปต้มเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วปรุงรสด้วยน้ำตาลฟรุกโตส เพื่อให้รสชาติกลมกล่อม โดยน้ำมะม่วงมหาชนกบรรจุขวดนี้ 100% นี้ ต้องเก็บในอุณหภูมิ 2-5 องศาเซลเซียส เก็บไว้ได้นาน 18 วัน แต่หากนำไปแช่แข็งเก็บได้นาน 1 เดือน

สาเหตุที่ใช้มะม่วงมหาชนกด้วยเหตุผลที่ว่ามีกลิ่นหอมแรง มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีสีสันสวยงาม (เหลืองอมส้ม) มีสีสันน่ารับประทาน รวมทั้งมีประโยชน์ต่อร่างกาย

ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้ผลิตโปรดักต์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ซอสมะม่วงมหาชนก เก็บไว้ได้นาน 1 ปี ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมนำไปเป็นน้ำจิ้มอาหารประเภททอด บ้างก็นำไปทำเป็นน้ำสลัดเพื่อสุขภาพ

สำหรับขั้นตอนการทำซอสมะม่วงมหาชนกนี้ เริ่มจากการนำเนื้อมะม่วงที่ปั่นแช่แข็งไว้มาตุ๋นในหม้อใหญ่ ใช้เวลา 3 ชั่วโมง จากนั้นเติมส่วนผสมอื่นๆ เข้าไป อาทิ กระเทียมดอง พริกสีเหลืองและเกลือ โดยใช้เนื้อมะม่วงประมาณ 80% ซึ่งทางกลุ่มจะทำตามออเดอร์ที่ลูกค้าต้องการมีตั้งแต่ 50-200 ขวด

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายอย่างที่ทางกลุ่มต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต อาทิ มีรูปแบบภาชนะบรรจุที่ทันสมัย การยืดอายุการเก็บรักษาน้ำมะม่วงให้นานๆ รวมถึงการบรรจุผลิตภัณฑ์ด้วยเครื่องซีล พองลม พร้อมกันนี้ ทางกลุ่มตั้งเป้าที่จะขยายกำลังผลิตให้มากขึ้น

ล่าสุดทางกลุ่มได้ทำน้ำมะม่วงผสมน้ำเสาวรสขึ้นมาขายขวดละ 30 บาท เพราะเห็นว่าในพื้นที่ปลูกเสาวรสพันธุ์สีม่วงกันอยู่แล้ว เมื่อนำมาผสมกันในสัดส่วน 50-50 ปรากฏว่ารสชาติดีมีทั้งหวานและเปรี้ยว ซึ่งแม้จะเพิ่งผลิตได้ไม่กี่เดือน แต่ลูกค้าตอบรับดีมาก

วิสาหกิจกลุ่มนี้ยังมีสินค้ามากมายที่ล้วนนำผลไม้ในท้องถิ่นที่ออกมามากและขายไม่ได้ราคามาแปรรูป อย่าง เสาวรส ลำไย และสตรอเบอรี่ ทำเป็นลำไยอบแห้ง น้ำเสาวรส ไวน์ผลไม้ และน้ำสตรอเบอรี่ แต่จะเน้นการแปรรูปมะม่วงเป็นหลัก โดยนำมะม่วงตกเกรดเฉลี่ยปีละ 8-10 ตัน มาแปรรูปเป็นซอสมะม่วง มะม่วงแผ่น มะม่วงหยี ส้มลิ้ม ทอฟฟี่มะม่วง มะม่วงสามรส รวมทั้งน้ำมะม่วง สินค้าที่จะผลิตต่อไปในอนาคตคือ ทำไอศกรีมมะม่วงและแยมมะม่วง

ต่างชาติชอบน้ำมะม่วง

ในการรับซื้อมะม่วงมหาชนกมาจากเกษตรกรนั้น เฉลี่ยซื้อกิโลกรัมละ 12-15 บาท แล้วแต่ช่วง แพงสุดซื้อถึงกิโลกรัมละ 20 กว่าบาทก็มี ซึ่งในการทำน้ำมะม่วงนั้น มะม่วงจำนวน 2 กิโลกรัม สามารถทำน้ำมะม่วง ได้ 4 ขวด และถ้าจะดื่มให้ได้รสชาติประทับใจจะต้องแช่ให้เย็นก่อน

น้ำมะม่วงมหาชนก ขายขวดละ 35 บาท 3 ขวด 100 บาท ปัจจุบัน มีวางขายที่สยามพารากอน ดิ เอ็มโพเรียม เดอะมอลล์ทุกสาขา และริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต จังหวัดเชียงใหม่ 5 สาขา แต่หากทางกลุ่มออกบู๊ธไปขายเองจะขายขวดละ 30 บาท 4 ขวด 100 บาท ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าต่างชาติมักชอบดื่มน้ำมะม่วง ส่วนคนไทยก็เริ่มซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะตอนที่กลุ่มไปออกบู๊ธ

สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างซอสมะม่วงมหาชนกนั้น ขายขวดละ 35 บาท บรรจุ 15 มิลลิลิตร ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี เนื่องจากนับเป็นซอสรายแรกที่นำมะม่วงมหาชนกมาทำ เป็นเจ้าเดียวในประเทศก็ว่าได้  โดยมีส่วนผสมของมะม่วงมหาชนกถึง 80 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นพริกชี้ฟ้าสีเหลืองและอื่นๆ ทั้งยังสามารถทำเป็นน้ำสลัดได้อีกด้วย

จากการชิมซอสมะม่วงมหาชนกของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรแปรรูปดอยหลวงนี้ ต้องบอกว่าชอบเรื่องไอเดียสร้างสรรค์ ซึ่งมีจุดขายแน่นอน แต่บางคนชิมแล้วอาจจะรู้สึกว่ารสชาติยังไม่เข้มข้นเท่าไหร่นัก ต่อไปอาจจะต้องแยกเป็นประเภทเผ็ดมาก เผ็ดน้อย เหมือนซอสพริกทั่วไป

คุณสุพิน บอกว่า ทางกลุ่มขายทั้งปลีกและส่งด้วย พร้อมมีการจัดส่งให้ลูกค้าที่ติดต่อซื้อทางโทรศัพท์/โทรสาร/อี-เมล โดยได้เสนอสินค้าและโฆษณาทางเว็บไซต์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญจากหน่วยงานต่างๆ ให้ไปออกงานขาย เช่น งานโอท็อปที่กรุงเทพฯ และงานของจังหวัดเชียงใหม่เอง

สนใจอยากทำธุรกิจกับวิสาหกิจกลุ่มดังกล่าว ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 081-950-5608 โทรสาร 053-261-431 อี-เมล [email protected]

นับเป็นกลุ่มวิสาหกิจที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เพราะนอกจากจะหาช่องทางในการสร้างสินค้าใหม่ๆ ออกมาแล้ว ยังได้ชักชวนให้ลูกหลานของสมาชิกที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในกลุ่มด้วย ซึ่งคนเหล่านี้สามารถช่วยในเรื่องการทำตลาดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการค้าขายผ่านออนไลน์

………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562