2 แม่บ้าน พลิกชีวิตสู่เจ้าของ SME เงินล้าน จากการขายผ่านเซเว่นฯ

ปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่หยิบเอาพืชผลทางการเกษตรมาต่อยอด โดยการแปรรูปหรือนำมาเป็นส่วนผสมของอาหารสร้างมูลค่าจนประสบความสำเร็จ ซึ่งธุรกิจ “กล้วยไข่กรอบแก้ว” และธุรกิจ “น้ำพริกป้าแว่น” จาก 2 แม่บ้าน ที่ขยันแข็งจนสามารถพลิกชีวิตเป็นเจ้าของสินค้า SME ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจ SME ที่ประสบความสำเร็จและช่วยสร้างงานให้ชุมชนและส่งเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวนมาก

นับเป็นการเพิ่มมูลค่า “กล้วยไข่” ที่น่าสนใจทีเดียว สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านลำสินธุ์ ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ “กล้วยไข่กรอบแก้ว” จากกล้วยไข่ในสวน ราคากิโลกรัมละเพียง 3 บาท สร้างสรรค์เป็นสแน็คกล้วยชั้นเยี่ยม รสชาติหลากหลาย พอมีโอกาสเข้าไปขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ไม่นาน ลูกค้าต่างชื่นชอบ สร้างรายได้ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 300,000 – 400,000 บาท ต่อเดือน

นางประทิ่น นาคมิตร วัย 64 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านลำสินธุ์ เล่าว่า ปี พ.ศ. 2540 เข้ามารับช่วงต่อเป็นประธานกลุ่ม ด้วยความตั้งใจหลัก คือ นำพากลุ่มให้อยู่รอด และช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่นให้มีรายได้ ซึ่งตอนนั้นเห็นกล้วยน้ำว้า และกล้วยไข่ ราคาตกต่ำมาก จากกิโลกรัมละ 40 บาท ลดลงเหลือเพียงกิโลกรัมละ 3 บาท สมาชิกทุกคนลงมติเป็นเสียงเดียวกัน ‘ควรนำมาแปรรูป’ โดยเลือกใช้กล้วยไข่ เปลี่ยนเมนูพื้นๆ จากกล้วยฉาบ กล้วยเชื่อม กล้วยกวน ให้เป็นกล้วยกรอบแก้ว ปรุงรสแตกต่างจากท้องตลาดมี รสเค็ม รสหวาน รสปาปริก้า รสบาร์บีคิว ต้มยำ และรสสาหร่าย แข่งกับขนมสมัยใหม่ได้

ด้านการตลาด นางประทิ่น ย้ำว่า ทางกลุ่มพัฒนาสินค้ามาเรื่อยๆ ลงพื้นที่ออกบู๊ธทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง กระทั่งปี พ.ศ. 2552 ขณะที่กำลังอยากเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายและยกระดับสินค้าให้เป็นที่รู้จัก มีผู้บริหารเซเว่นฯ เข้ามาสอบถามว่า อยากลองนำกล้วยกรอบแก้วมาขายในเซเว่นไหม? จึงไม่รอช้ารีบตอบตกลงทันที หลังได้รับการติดต่อจากผู้บริหารเซเว่นฯ ผู้นำกลุ่มมองการณ์ไกลว่า ช่องทางร้านสะดวกซื้อนับเป็นโอกาสขยายตลาดค้าปลีกที่รวดเร็ว โดยทีมงานเซเว่นฯ เข้ามาแนะนำเรื่องของการตลาด การพัฒนาคุณภาพสินค้า และบรรจุหีบห่อให้น่าสนใจ สะดุดตาผู้บริโภค

“ปี พ.ศ. 2553 สินค้าถูกนำไปวางขายที่ร้านเซเว่นฯ เริ่มสาขาภาคใต้ก่อนจะกระจายไปภาคอื่นๆ ปัจจุบันจำหน่ายผ่าน 1,500 สาขา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านลำสินธุ์ เป็นชุมชนกลุ่มแรกของจังหวัดพัทลุง ที่สามารถเป็นคู่ค้ากับบริษัทค้าปลีกระดับประเทศ ส่งผลถึงยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบรนด์กล้วยเมืองลุงเริ่มเป็นที่รู้จัก ปัจจุบันทางกลุ่มฯ จะใช้กล้วยไข่ดิบรับซื้อจากเกษตรกร วันละ 300 กิโลกรัม นำมาแปรรูป”

นับตั้งแต่เป็นคู่ค้ากับเซเว่นฯ นางประทิ่น บอกด้วยรอยยิ้มว่า ยอดขายเติบโตต่อเนื่อง ทำให้มีรายได้ที่แน่นอน และได้รับเงินตรงเวลาทุกวันที่ 1 ของเดือน รายได้เฉลี่ยเดือนละ 300,000 – 400,000 บาท ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิก 15 ครอบครัว ดีขึ้น ส่วนเกษตรกรต่างแฮปปี้

ด้าน นางบังอร วันน้อย เจ้าของผลิตภัณฑ์ “น้ำพริกป้าแว่น” ที่ก่อนหน้านี้มีอาชีพทำไร่ทำนา แล้วพลิกชีวิตสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจน้ำพริก เล่าถึงที่มาของความสำเร็จที่ต้องฝ่าฟันกับปัญหานานัปการว่า แต่ก่อนใฝ่ฝันอยากขายของกับเซเว่นฯ แต่ไม่รู้จะขายอะไรดี ในตอนนั้นครอบครัวมีฐานะยากจน และต้องหาเงินส่งลูกเรียนหนังสือถึง 3 คน กระทั่งวันหนึ่งมีคนบอกว่าเราทำอาหารอร่อย น่าจะขายอาหารได้ จึงเริ่มต้นทำน้ำพริกไปขายตามตลาด ขายทั้งวัน กำไรบ้างขาดทุนบ้าง แต่ด้วยความพยายามและไม่ย่อท้อ ทำให้มีลูกค้าประจำมากมาย เจ้าของตลาดจึงตั้งชื่อให้ว่า “น้ำพริกป้าแว่น”

หลังจากที่ขายในตลาดอยู่หลายปี วันหนึ่งมีโอกาสนำน้ำพริกมาขายในร้านเซเว่นฯ โดยมีทีมงานของเซเว่น อีเลฟเว่นคอยให้ความรู้เรื่องมาตรฐานต่างๆ เริ่มจากการพัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐาน รวมไปถึงเรื่องคุณภาพของสินค้า มาดูแลให้คำแนะนำทุกๆ 3 เดือน เพื่อบอกให้พัฒนาแก้ไขในส่วนใดบ้าง ป้าใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะไม่มีเงินทุน ซึ่งเซเว่นฯ เขาก็ให้ความช่วยเหลือมาตลอด ใช้เวลาทั้งหมด 2 ปี กับ 3 เดือน ในปี 2555 จึงได้เข้าไปขาย นั่นคือ จุดเริ่มต้นในการสร้างรายได้มากมายให้กับธุรกิจน้ำพริก กระทั่งนำมาสู่การพัฒนาต่อยอดสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยการลองผิดลองถูก เป็นการนำเอาวัตถุดิบหลากหลาย มาสร้างสรรค์น้ำพริกให้มีความแตกต่างและคงความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้า

“เริ่มจากการนำน้ำพริกแห้งเข้ามาวางขาย เช่น น้ำพริกตาแดง น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกปลาร้าผัดแห้ง และน้ำพริกเห็ดหอมเจ และตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ได้เริ่มนำน้ำพริกสดเข้ามาขายในตู้แช่เย็นเป็นเจ้าแรกของประเทศไทยที่ขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น โดยเริ่มจาก น้ำพริกเจ ขายในช่วงเทศกาลกินเจ ตามมาด้วย น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาทู และพัฒนาน้ำพริกสูตรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง” ป้าแว่นเล่า

ป้าแว่น กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่เพียงแค่การพัฒนาธุรกิจเท่านั้น แต่ธุรกิจน้ำพริกป้าแว่นยังได้ช่วยให้เกิดการจ้างงานจากคนในชุมชน มีการรับพนักงานสูงอายุเข้าทำงาน และให้การช่วยเหลือเกษตรกรชุมชน ด้วยการรับซื้อวัตถุดิบทางการเกษตร ได้แก่ พริกขี้หนู ข่า ตะไคร้ จากชุมชนในอำเภอเกาะจันทร์ และอำเภอใกล้เคียงใน จ.ชลบุรี ทำให้ชุมชนมีช่องทางในการขาย โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นการเสริมสร้างอาชีพให้กับชุมชนและเกษตรกรให้มีอาชีพ รายได้ที่ดีขึ้น

นี่คือ ตัวอย่างของ SME ที่ซีพี ออลล์ร่วมส่งเสริมและสนับสนุน โดยการเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า ตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน”