9 องค์กรยางใต้ จี้ผู้บริหาร กยท.ลาออก เซ่นราคาตกต่ำ เหตุขายสต๊อก 3 แสนตัน

วันที่ 10 เมษายน ที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี ภายในสหกรณ์สุราษฎร์ธานี (โคออป) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี กลุ่มเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ 9 องค์กร ประกอบด้วย กลุ่มเครือข่ายสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย, เครือข่ายชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันฯและสภาเครือข่ายยาง สยยท.เป็นต้น ประมาณ 150 คน นำโดยนายสถาพร พรัดวิเศษ เลขานุการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสุราษฎร์ธานี พร้อมแกนนำได้จัดเวทีเสวนางานวันยางพาราแห่งชาติ เนื้อหาส่วนใหญ่โจมตีการบริหารงานผิดพลาดของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ส่งผลกระทบถึงราคายางพาราที่ลดลงทำให้ชาวสวนยางเดือดร้อน พร้อมทั้งยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายประเวศ ไทยประยูร ปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีกำลังตำรวจรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

โดยเนื้อหาในหนังสือมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ 1) ให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ กยท. หยุดขายยางในสต๊อกไม่ว่าวิธีการใด 2.ให้ผู้บริหาร กยท. ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น 3.ให้เช็กสต๊อกยางพาราที่เหลือตามโกดังต่างๆ โดยให้มีตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วมตรวจสอบ และ 4.เปิดเผยข้อมูลข่าวสารการประมูลยางพาราครั้งที่ผ่านมามีบริษัทใดประมูลในราคาเท่าไรคุณภาพไหนเพื่อความโปร่งใส พร้อมกับเสนอแนะให้นำยางพาราที่เหลืออยู่ในสต๊อกไปใช้ในประเทศตามนโยบาย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายสถาพรกล่าวว่า ราคายางขึ้นถึงกิโลกรัมละ 101 บาท นับตั้งแต่ กยท.นำยางพาราในสต๊อกจำนวน 3 แสนตัน ออกมาขาย ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ราคาตกต่อเนื่องกิโลกรัมละ 30 บาท เกิดความเสียหายมูลค่า 30,000 ล้านบาท จนเกรงว่าหากยังนำยางที่เหลือมาประมูลขายจะส่งผลต่อราคาในฤดูกรีดปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มลดต่ำลงอีก จึงเรียกร้องให้ กยท.หยุดขายในสต๊อกที่เหลือและนำไปใช้ในประเทศตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งให้ผู้บริหาร กยท.รับผิดชอบด้วยการลาออก

ขณะที่ในวันเดียวกัน การประมูลซื้อขายยางพาราที่ตลาดกลางทั้ง 3 แห่งในภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ลดลง 0.42 บาท เหลือกิโลกรัมละ 70.33 บาท จ.สงขลา ลดลง 0.32 บาท เหลือ 70.23 บาท จ.นครศรีธรรมราช เพิ่มขึ้น 0.4 บาท เป็น 71.05 บาท ส่วนราคาในตลาดท้องถิ่น เฉลี่ยกิโลกรัมละ 68 บาท