อดีตเด็กช่าง ได้จับเงินล้าน เพราะส่งผักขายเซเว่น ถูกจริตคนเมือง ช่วงโควิดยอดพุ่งกระฉูด

สุวรรณ เอิร์ธ ผู้ผลิตสินค้าเกษตรประเภทผักสด รับทรัพย์เพิ่มช่วงโควิด-19 ส่ง ‘ผักสด’ เข้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ยอดขายเพิ่มกว่าเท่าตัว จากวันละ 6,000-8,000 แพ็ก ขยับเพิ่มเป็น 20,000 แพ็ก ต่อวัน ได้ช่วยสร้างงาน กระจายรายได้ให้เกษตรกรกว่า 30 ราย ราว 200 ไร่ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น อานิสงส์หลักมาจากคนรักสุขภาพเพิ่มขึ้น ตลอดจนได้รับความช่วยเหลือจากร้านเซเว่นฯ ที่มีไอเดียทำชุดผักพร้อมปรุงเพื่อกระตุ้นยอดขาย อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าอยู่บ้านก็สามารถทำอาหารรับประทานเองได้ไม่ยาก

นายมานิตย์ ทิพย์ปิ่นทอง หรือ วิทย์ ชายหนุ่มวัย 36 ปี เจ้าของ บริษัท สุวรรณ เอิร์ธ จำกัด เล่าย้อนไปเมื่อปี 2557 เซเว่น อีเลฟเว่น มีโครงการทดลองขายผักสด ด้วยความสนใจ เลยเข้าไปติดต่อขอร่วมโครงการ จากนั้นได้รับการติดต่อกลับ รู้สึกได้เลยว่า ‘เซเว่น’ ไม่ทอดทิ้งผู้ประกอบการรายย่อย และไม่คิดว่าองค์กรใหญ่จะให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายเล็ก

โอกาสที่ชายหนุ่มได้รับ เจ้าตัวบอกว่า ดีใจมาก ไม่คิดว่าความฝันจะเป็นจริง จากเด็กชาวเขา เรียนจบ ปวส. เคยฝันว่าสักวันหนึ่งจะส่งผักเข้าร้านสะดวกซื้อ ทั้งที่ไม่มีทุนทรัพย์ ไม่มีเครือข่าย ซ้ำยังถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด

“ผมเกิดและเติบโตที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พ่อแม่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง มีอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกผักขาย อาทิ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี จบการศึกษา ปวส. ช่างยนต์ หลังเรียนจบ ราวปี 2551 มาช่วยครอบครัวปลูกผัก ผลผลิตที่ได้ถ้าผักสวยๆ จะถูกพ่อค้าคนกลางคัดไป ส่วนผักไม่สวยจะนำไปขายที่ตลาด กลับมาช่วยขายผัก 3 ปี จากนั้นจึงมองหาช่องทางการขายอื่น”

หลังชายหนุ่มเลือกทำตลาดเอง เจ้าตัว บอกว่า ใช้วิธีขับรถเร่ขายผักไปตามจังหวัดต่างๆ อาทิ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ระยอง ทว่าส่วนใหญ่เป็นตลาดค้าปลีก ลูกค้ากำลังซื้อน้อย สุดท้ายลงมากรุงเทพฯ ตัดสินใจขายส่งผักที่ตลาดสี่มุมเมือง หลักๆ ยังคงเป็น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แครอต บร็อกโคลี่ ในส่วนของรายได้ดีกว่าส่งพ่อค้าคนกลาง เฉลี่ยเดือนละ 200,000 บาท

แม้กิจการจะดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่พ่อค้าผักบอกว่า ในใจลึกๆ ฝันไว้ตั้งแต่เด็กอยากส่งผักขายร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า เพราะอยากให้คนส่วนใหญ่ได้รับประทานผักปลอดภัย ที่สำคัญเป็นความภูมิใจของครอบครัว

ปี 2557 เหมือนโอกาสมาถึง เซเว่น อีเลฟเว่น มีโครงการทดลองขายผักสด ชายหนุ่มไม่รอช้า รีบเข้าไปติดต่อขอร่วมโครงการ จากนั้นได้รับการติดต่อกลับ ให้นำผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา แตงร้าน ต้นหอม ผักชี ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มาทดลองวางจำหน่าย

“ผมดีใจมาก ที่เซเว่นฯ ติดต่อกลับ ตอนนั้นไม่มีเงินทุนสร้างโรงแพ็กผัก เลยไปหาเช่าโรงแพ็กที่ได้มาตรฐาน เดือนละ 20,000 บาท ในช่วงแรกออเดอร์ยังไม่เยอะ ส่งเซเว่นฯ เริ่มต้น 20 สาขา หลังๆ เขยิบเพิ่มขึ้นเป็น 30 สาขา 40 สาขา ปัจจุบัน 300 สาขา เฉพาะกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ส่งผัก 50 รายการ ผักที่ขายดี แตงร้าน แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน”

ค้าขายกับเซเว่นฯ เรื่อยมา กระทั่งปี 2561 ตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่หวังสร้างอนาคต ด้วยการซื้อที่ดิน 239 ตารางวา ย่านลำลูกกา คลอง 3 จังหวัดปทุมธานี มูลค่า 7.9 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานแพ็กผัก เพราะออเดอร์เกือบทั้งหมดมาจากเซเว่น

“ทุกวันนี้ผมส่งผักให้เซเว่นเจ้าเดียว แน่วแน่จะฝากอนาคตกับ ซีพี ออลล์ เพราะที่ผ่านมาออเดอร์เพิ่มขึ้นตลอด มีการประกันราคาให้ด้วย ยิ่งช่วงโควิด หลายๆ คนตกงาน แต่ยอดขายเราพุ่งขึ้นมากกว่าเท่าตัว จากเดิมส่งผักวันละ 6,000-8,000 แพ็ก ขยับเพิ่มเป็น 20,000 แพ็ก ต่อวัน ได้ความช่วยเหลือจากเซเว่นฯ ที่คิดไอเดียทำชุดผักพร้อมปรุง อาทิ ชุดต้มยำ ชุดสุกกี้ ชุดผัดกะเพรา ชุดผักน้ำพริก เพื่อกระตุ้นยอดขาย เพราะลูกค้าบางคนไม่รู้ว่าแต่ละเมนูต้องใส่ผักอะไรบ้าง”

สำหรับแหล่งที่มาของผัก เจ้าของกิจการ บอกว่า จะรับซื้อจากเกษตรกร 30 ราย ราว 200 ไร่ รับซื้อวันต่อวัน เช่น กะหล่ำปลี วันละ 400 กิโลกรัม ผักบุ้ง 100 กิโลกรัม แตงร้าน 150 กิโลกรัม ยอดคะน้า 100 กิโลกรัม เน้นความสดใหม่ สะอาด ผักสวย เป็นผักปลอดภัยทั้งหมด ทั้งนี้จะประกันราคาให้ทั้งปี และให้เกษตรกรเบิกเงินล่วงหน้าได้


ด้าน นายทะนงศักดิ์ แซ่โค้ง เกษตรกรคนขยัน อายุ 66 ปี ปัจจุบัน เช่าพื้นที่ปลูกผัก 30 ไร่ ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ส่งผักปลอดภัยขายในเซเว่นมาปีกว่า เจ้าตัวเล่าว่า ตั้งแต่ค้าขายกับซีพี ออลล์ มีรายได้ที่แน่นอน ไม่ต้องกังวลเรื่องถูกเอาเปรียบ มีรายได้ทุกวัน เฉลี่ยวันละ 1,200 บาท สบายใจ มั่นใจไม่ตกงาน

“เมื่อก่อนส่งผักขายตลาด มีออเดอร์ไม่แน่นอน ซ้ำยังถูกกดราคา ตั้งแต่ส่งผักให้เซเว่นฯ สบายใจขึ้นเยอะ ไม่โดนเอาเปรียบ ได้กำไรแน่นอน อย่างน้อยกิโลกรัมละ 5 บาท ยิ่งช่วงโควิด-19 เพื่อนเกษตรกรด้วยกันตกงาน แต่เรารายได้เพิ่ม จากวันละ 1,200 เป็น 2,400 บาท เรียกว่าเหนื่อยกายแต่ไม่เหนื่อยใจ เพราะได้จับเงินทุกวัน”

จากที่ได้ร่วมงานกับ บริษัท ซีพี ออลล์ ทั้งนายมานิตย์และนายทะนงศักดิ์ เผยความในใจว่า ตลอดระยะเวลาที่เป็นคู่ค้ากันมา ได้รับการช่วยเหลือจากเซเว่นฯ ทุกอย่าง ไม่คิดว่าองค์กรใหญ่จะให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่เรียนจบไม่สูง ช่วยสร้างงานที่มั่นคง มีออเดอร์ที่แน่นอน ปัจจุบันวางอนาคตให้ลูกๆ เข้ามาช่วยงานต่อแล้ว