“กล้วยไข่พระตะบอง” จากกล้วยที่ไม่มีค่า ขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ คนพะเยานำมาแปรรูปสร้างมูลค่า สินค้าติดตลาด

ปัจจุบัน หากใครมาพะเยา หลายคนเรียกหา กล้วยหอมทองยัดเยียด เพราะเคยกินแล้วติดใจในรสชาติที่อร่อยกลมกล่อม ไม่อมน้ำมัน ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองยัดเยียด หลายคนที่ได้ยินชื่อก็ข้องใจว่า ชื่อนี้มาได้อย่างไร ติดตามกันต่อไปแล้วท่านจะถึงบางอ้อ   

คุณอชิรา ปัญญาฟู หรือ พี่ปอนด์ ประธานกลุ่ม เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2544 แม่บ้านเกษตรกรบ้านปางป้อมเหนือ จำนวน 9 คน ได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเพื่อทำกิจกรรมลดปัญหาการว่างงาน และเห็นว่า กล้วยไข่พระตะบอง ที่เป็นกล้วยพันธุ์พื้นเมืองของพื้นที่ทางภาคเหนือ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ได้ปลูกไว้หรือขึ้นเองตามธรรมชาติในที่ของตนเองอยู่แล้ว แต่เป็นกล้วยที่ไม่นิยมกินสุก จึงได้แค่นำไปเป็นอาหารสัตว์เท่านั้น ไม่มีค่าอะไร จึงได้มีความคิดร่วมกันว่า จะนำกล้วยไข่พระตะบองดิบสด มาเป็นวัตถุดิบเพื่อแปรรูปเป็น “กล้วยทอดกรอบ”

เริ่มแรก ได้ปรึกษาวิธีการผลิตกับทางญาติที่อยู่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งทำอยู่ก่อนแล้ว แต่รสชาติที่ได้ยังไม่คงที่ ต่อมาได้มีส่วนราชการได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือพัฒนากลุ่มและตัวสินค้า จึงคิดทดลองดัดแปลงสูตรการผลิต จนลงตัวเป็นสูตรถึงทุกวันนี้ มี 2 ชนิด คือ รสหวาน และไม่หวาน

สำหรับที่มาของยี่ห้อ “หอมทองยัดเยียด” นั้น ได้มาจากการที่ ช่วงแรกๆ ตัวสินค้านั้น ผลิตและใช้วัตถุดิบในชุมชน ใช้แรงงานในชุมชน และเริ่มขายในชุมชน แต่เนื่องจากตลาดในชุมชนมีน้อย จึงต้องนำสินค้าไปขอให้คนที่รู้จัก หรือข้าราชการตามหน่วยงานต่างๆ ช่วยซื้อเป็นประจำ จนคนเขาเบื่อหน่าย เมื่อเห็นตนนำกล้วยไปให้ช่วยซื้อ หลายคนก็บอกว่า “กล้วยยัดเยียด” มาแล้ว สะดุดใจ จึงนำมาตั้งเป็นชื่อของผลิตภัณฑ์ว่า กล้วยหอมทองยัดเยียด จนติดหูติดใจในรสชาติ กลายเป็นจุดเด่นอีกข้อของผลิตภัณฑ์ เมื่อได้ยินชื่อชวนให้อยากชิมว่ามันเป็นอย่างไร

สำหรับกล้วยที่นำมาแปรรูปนั้นคือ กล้วยไข่พระตะบอง ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า กล้วยส้ม หากทิ้งไว้จนสุก จะมีรสเปรี้ยวหรือรสส้มนั้นเอง กล้วยไข่พระตะบอง ลักษณะกาบใบเป็นสีน้ำตาลปนดำ สีของใบเข้มกว่าสายพันธุ์กำแพงเพชร รสชาติจะออกหวานอมเปรี้ยว และผลมีขนาดใหญ่กว่ากล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร ลำต้นสูง 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียว มีประดำหนา โดยเฉพาะใต้ขอบใบ ด้านในมีสีเขียวอมเหลือง ก้านใบสีเขียว ร่องใบเปิดขอบ ก้านใบมีสีชมพูเล็กน้อย ผลโตกว่ากล้วยไข่ทั่วไป ก้านผลค่อนข้างสั้น ผลไม่มีเหลี่ยม ปลายผลมนโค้งขึ้นเล็กน้อย เปลือกค่อนข้างหนา เนื้อด้านในสีเหลือง รสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมเล็กน้อย เมื่อมีการแปรรูปวัตถุดิบเริ่มขาดแคลน จึงได้วางแผนทำโครงการสนับสนุนงบประมาณมาส่งเสริมให้เกษตรกรรายอื่นปลูก แล้วทางกลุ่มรับซื้อผลผลิตมาแปรรูป ทำให้เกิดรายได้เศรษฐกิจฐานรากมีการขับเคลื่อน

ปัจจุบัน ตัวสินค้าได้เป็นที่ยอมรับของตลาด มีคนรู้จักกันอย่างแพร่หลาย ผลิตภัณฑ์ที่ไม่อมน้ำมันโดยมีการเข้าเครื่องสลัดน้ำมัน การที่ไม่อมน้ำมันของผลิตภัณฑ์นอกจากจะเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าแล้ว ยังทำให้ยืดอายุการเก็บของผลิตภัณฑ์ด้วย จากที่เก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ สามารถเก็บได้หลายเดือนโดยไม่มีกลิ่นหืน มีลูกค้าทั้งในหมู่บ้านต่างอำเภอและต่างจังหวัด ถึงต่างประเทศมาติดต่อขอสั่งซื้อถึงบ้าน มีทั้งนำไปเป็นของฝากและนำไปขายต่อ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะมีการมาต่อคิวเพื่อซื้อไปเป็นของฝากจนผลิตไม่ทัน และมีบริษัทจากกรุงเทพฯ มาติดต่อขอให้เป็นผู้ผลิตสินค้าให้

คุณอชิรา บอกว่า ยิ่งหน้าเทศกาลยิ่งมีลูกค้าเข้าตลอด ไม่ได้ว่างเลย ทำให้ปัจจุบันทางกลุ่มมีรายได้ที่มั่นคง มีสวัสดิการกลุ่ม มีเงินออมไว้บริหารจัดการในกลุ่ม ทุกวันนี้คุณอชิราทุ่มเททำงานผลิตกล้วยหอมทองยัดเยียดอย่างมาก นอนประมาณ 5 ทุ่ม ตื่นตอนตี 3 เพื่อมาปรุงรสกล้วยให้ทันกับความต้องการของตลาดที่หลั่งไหลเข้ามา ที่หน้าบ้านก็เปิดเป็นร้านค้าเพื่อจำหน่ายปลีกให้กับลูกค้า

จากวันที่กลุ่มได้เริ่มจัดตั้งขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ. 2544 และได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี พ.ศ. 2548 นั้น ทางกลุ่มได้เน้นย้ำในคุณภาพ ความสะอาด ของทุกขั้นตอนการผลิตสินค้า มีการทำความสะอาดสถานที่ผลิตเป็นประจำทุกวัน และทุกสิ้นเดือนจะมีการทำความสะอาดทั้งระบบ แม้กระทั่งมุ้งลวดยังต้องแกะออกมาทำความสะอาดด้วย โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา ได้ตรวจเยี่ยมเป็นประจำ ทำให้สินค้าได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทะเบียนเลขที่ 56-2-01646-2-001 และได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช. เลขที่ 1038/2544