น้ำเต้าหู้ ซอย 2 มนต์เสน่ห์แห่งเมืองระนอง

บรรยากาศย่ำค่ำแสงจากหลอดนีออนภายในร้านขนมหวานเล็กๆ ตั้งอยู่กลางใจเมืองระนองยังคงเปล่งแสงเด่นชัด ขับบรรยากาศเมืองเก่าอันเงียบสงบให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาล้วนแล้วแต่มาอิงแอบผ่อนคลายอารมณ์ดื่มด่ำกับบรรยากาศยามค่ำคืนกับน้ำเต้าหู้รสกลมกล่อม ผสานกับขนมหวานพื้นเมืองหลากชนิดอันเป็นเอกลักษณ์ของคนฝั่งทะเลอันดามัน ถูกจัดวางเคียงคู่รอให้ผู้สนใจได้ลิ้มลองรสชาติแห่งกาลเวลาที่ยังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

คุณอัจฉรา ทรัพย์อาภากรกุล หรือ คุณลูกปลา ทายาทร้านขนมหวาน “น้ำเต้าหู้ ซอย 2” เล่าว่า ตนเองจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาจุลชีววิทยา เมื่อปี พ.ศ. 2555 แล้วได้ตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจร้านขนมหวานของครอบครัว เนื่องจากในช่วงวัยเยาว์ได้ช่วยมารดาขายขนมหวานมาตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จึงเปรียบเสมือนเป็นภาพจำที่ผูกพันและคอยย้ำเตือนให้กลับมารับช่วงต่อธุรกิจนี้อยู่ตลอด

คุณอัจฉรา ทรัพย์อาภากรกุล และ คุณอัญชลี กุลกะดี

ร้านน้ำเต้าหู้ซอย 2 มีจุดเริ่มต้นจากอากง (คุณพงษ์ศักดิ์ ทรัพย์อาภากรกุล) เดิมทีเป็นชาวจังหวัดราชบุรี ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ ได้ย้ายถิ่นพำนักมาประกอบอาชีพประมงในจังหวัดระนอง เมื่อปี พ.ศ. 2490 แล้วสังเกตเห็นว่าในช่วงเวลานั้นมีคนไทยมาเป็นลูกเรือประมงอยู่จำนวนมาก ผนวกกับในทุกสะพานปลาจะมีร้านของชำเล็กๆ ให้นั่งดื่มกาแฟและพบปะพูดคุยกัน ถือเป็นแนวคิดให้เปิดร้านกาแฟ ในช่วงแรกเริ่มทำเป็นรูปแบบกาแฟรถเข็น อาศัยเข็นจำหน่ายภายในตลาด จนกระทั่งช่วงสายจึงเข็นไปจำหน่ายยังสะพานปลาระนอง ชูโรงด้วยน้ำชงให้ลูกค้าได้เลือก อาทิ กาแฟ ชา ไข่ลวก และโอวัลติน จนได้รับความนิยมจากลูกค้าทั้งหนุ่มเรือตังเกและชาวบ้านในละแวกดังกล่าว

ต่อมากาแฟรถเข็นขายดีเป็นอย่างมากจึงต้องขยายกิจการ ในปี พ.ศ. 2500 ได้เช่าพื้นที่หน้าตลาดระนองเพื่อเปิดร้านกาแฟมีชื่อว่า “ร้านตากุย” เสริมด้วยการทำน้ำเต้าหู้สูตรโบราณเป็นทางเลือกนอกจากน้ำชงที่ยึดขายเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะอากงเป็นคนจังหวัดราชบุรีจึงมีความรู้ในการทำน้ำเต้าหู้สูตรนี้ ภายหลังจากอากงเริ่มชราภาพลงจึงหยุดให้ลูกๆ เข้ามาขายแทน รวมถึงคุณพ่อ (คุณสุเทพ ทรัพย์อาภากรกุล) ซึ่งเป็นลูกชายคนโตก็ได้ดูแลกิจการด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่คุณพ่อได้สมรสกับคุณแม่ (คุณอัญชลี กุลกะดี) แล้วเล็งเห็นว่าร้านน้ำชงได้รับความนิยมจากผู้คนและในปัจจุบันมีผู้เข้ามาเปิดร้านในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก จึงแยกตัวออกมาเปิดร้านด้วยตนเองในปี พ.ศ. 2538 โดยไม่ได้เน้นจำหน่ายน้ำชงเหมือนร้านอากง แต่ชูโรงด้วยการทำน้ำเต้าหู้เป็นจุดขาย มีชื่อว่า “ร้านน้ำเต้าหู้ซอยสอง” ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกโรงรับจำนำ ใกล้เคียงกับทางเข้าโรงเรียนวัดอุปนันทาราม อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

น้ำชง

สำหรับน้ำเต้าหู้สูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงและคิดค้นขึ้นใหม่โดยคุณแม่ มีความแตกต่างคือ น้ำเต้าหู้ที่ทำจากถั่วเหลืองโดยทั่วไปตามความเข้าใจของทุกคนจะต้องนำถั่วเหลืองมาคั้นจนได้น้ำนมถั่วเหลืองคล้ายคลึงกับการคั้นกะทิจากมะพร้าว แต่สูตรข้างต้นจะเหม็นเขียวถั่วเหลืองจึงต้องนำมาผสมน้ำเปล่าให้เจือจางลง รสชาติของน้ำเต้าหู้ที่ได้ย่อมมีความเจือจาง ไม่หอม ไม่กลมกล่อมเหมือนกับที่จำหน่ายตามรถเข็นทั่วไป คุณแม่จึงพยายามค้นหาสูตรที่ทำให้น้ำเต้าหู้เข้มข้นแต่ไม่เหม็นเขียวถั่วเหลือง ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้ทั้งในส่วนการจัดหาวัตถุดิบ ควบคุมอุณหภูมิ บ่ม-หมักถั่ว เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างรสชาติให้ถูกปากผู้รับประทานมากที่สุด

คัดเลือกถั่วเหลือง จุดเริ่มต้นของความอร่อย

ทำอาหารทุกประเภทวัตถุดิบถือเป็นองค์ประกอบหลักให้ผู้ปรุงสามารถรังสรรค์ความอร่อยออกมาได้อย่างเต็มที่ การทำน้ำเต้าหู้เองก็เช่นเดียวกันต้องมีความพิถีพิถันในการคัดเลือกถั่วเหลืองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเลือกถั่วเหลืองที่มาจากแปลงปลูกที่ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง

“การทำน้ำเต้าหู้ต้องเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกถั่วเหลืองซึ่งมีให้เลือกใช้ทั้งถั่วเหลืองที่ได้จากแปลงปลูกของเกษตรกรโดยตรงและบริษัทที่มีฟาร์มเพาะพันธุ์ถั่วเหลืองออกจำหน่าย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ทำในแต่ละรายว่าต้องการที่จะเลือกใช้ถั่วเหลืองจากแหล่งผลิตแบบใด ส่วนตัวแล้วจะไม่เน้นใช้ถั่วเหลืองที่มีการนำมาจำหน่ายตามท้องตลาด เนื่องจากถั่วเหลืองเหล่านั้นเมื่อนำมาทำน้ำเต้าหู้จะไม่สามารถทราบได้ว่ามาจากแหล่งผลิตใดและมีการฉีดยาฆ่าแมลงในถั่วเหลืองหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อผู้บริโภค

ร้านน้ำเต้าหู้ซอย 2 จะเน้นในการเลือกใช้ถั่วเหลืองคุณภาพดีที่มาจากแหล่งปลูกภายในประเทศ อาศัยวิธีการสั่งซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายที่จะไปคัดเลือกเอาเฉพาะถั่วเหลืองคุณภาพดีจากแปลงปลูกของเกษตรกรโดยตรงแล้วนำมาแยกขายเป็นกระสอบอีกต่อหนึ่ง ซึ่งถั่วเหลืองที่ได้นั้นจะมีให้เลือกหลากหลายเกรด ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่าต้องการเลือกใช้ถั่วเหลืองในเกรดใด แต่ก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการจำแนกเพราะกรรมวิธีในการคัดเลือกถั่วเหลืองจะมีเรื่องสีและกลิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยความเข้ม-อ่อนของสีเมล็ดถั่วเหลืองจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งควรที่จะมีตัวมอดปะปนอยู่ในเมล็ดถั่วเหลืองอยู่บ้าง สาเหตุเพราะมอดเป็นตัวชี้วัดว่ามีการใช้ยาฆ่าแมลงในการฉีดพ่นต้นถั่วเหลืองหรือไม่ หากเมล็ดถั่วเหลืองมีผิวที่สวยจนเกินไปแสดงว่ามีการฉีดยาฆ่าแมลงในจำนวนที่มาก กอปรกับกลิ่นเฉพาะตัวของเมล็ดถั่วเหลืองจะลดลงไปจนแทบไม่ได้กลิ่น อย่างไรก็ตาม ถั่วเหลืองที่มีคุณภาพดีเหล่านี้มีราคาค่อนข้างสูงอยู่พอสมควรแต่ก็ต้องใช้วัตถุดิบในระดับนี้เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้บริโภคได้รับประทานน้ำเต้าหู้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและไม่ปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร รวมไปถึงตัวผู้ปรุงเองด้วยซึ่งจะต้องชิมรสน้ำเต้าหู้ในทุกครั้งก่อนนำออกวางจำหน่าย”

น้ำเต้าหู้ทรงเครื่อง

หมักบ่มเพิ่มรสกลมกล่อม

ภายหลังจากที่ได้เมล็ดถั่วเหลืองคุณภาพดีเหมาะแก่การทำน้ำเต้าหู้แล้วก็ต้องนำมาเข้าสู่กระบวนการหมักบ่มเพื่อทำให้เมล็ดของถั่วเหลืองนิ่มลง เหมาะแก่การนำไปคั้นเพื่อเอาแต่น้ำนมถั่วเหลือง อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนดังกล่าวจะต้องอาศัยความชำนาญในการกำหนดอุณหภูมิของน้ำให้มีความเหมาะสมต่อการแช่ถั่วเหลืองมากที่สุด

“เมื่อได้ถั่วเหลืองมาแล้วก็ต้องนำมาแช่ในน้ำสะอาดก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากถั่วเหลืองมีสภาพแข็งเหมือนกับเมล็ดข้าวสาร ต้องแช่ในน้ำที่มีการกำหนดอุณหภูมิซึ่งเป็นเคล็ดลับของร้านเพื่อให้ถั่วเหลืองเกิดความอิ่มตัวและนิ่ม สำหรับภาชนะที่ใช้ในการแช่สามารถใช้ได้ตามความสะดวก ทั้งโอ่ง ถัง หรือกะละมัง แช่ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน หรือ 7-8 ชั่วโมง ภายหลังจากที่แช่จนครบกำหนดเมล็ดถั่วเหลืองนิ่มดีแล้วจึงนำมาเข้าสู่กระบวนการโม่เพื่อคั้นเอาเฉพาะน้ำนมถั่วเหลืองสำหรับนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำเต้าหู้ต่อไป

แต่ก่อนเริ่มต้นกระบวนการคั้นน้ำนมถั่วเหลืองต้องนำเมล็ดถั่วเหลืองที่ผ่านการหมักบ่มมาซาวด้วยน้ำสะอาด เพื่อนำสิ่งสกปรกจำพวกเศษดินและแมลงออกไปคล้ายคลึงกับการซาวข้าวสาร แล้วจึงนำมาคั้นด้วยน้ำสะอาดผ่านเครื่องโม่หินโบราณที่ต้องใช้คนสองคนในการโม่ ทั้งนี้ น้ำสะอาดที่ใช้ในการคั้นก็ต้องกำหนดอุณหภูมิเอาไว้เช่นเดียวกัน โดยกรรมวิธีดังกล่าวนับเป็นเอกลักษณ์ที่มุ่งสืบสานขั้นตอนการคั้นน้ำนมถั่วเหลืองแบบโบราณเอาไว้ เดิมทีได้ทดลองนำเครื่องจักรเข้ามาทำหน้าที่นี้ปรากฏว่ากลิ่นและรสชาติของน้ำนมถั่วเหลืองที่คั้นได้จะมีความแตกต่างออกไป แม้ว่าเครื่องจักรจะสามารถทุ่นแรงผลิตน้ำนมถั่วเหลืองได้วันละไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม แต่รสชาติกลับไม่หอมเมื่อนำมาทำน้ำเต้าหู้จะไม่อร่อย

เมื่อคั้นจนแล้วเสร็จจะได้น้ำนมถั่วเหลืองที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกะทิ ต้องนำมาเข้าสู่กระบวนการกรอง โดยใช้ภาชนะซึ่งมีลักษณะเป็นรูถี่ๆ แล้วใช้ผ้าขาวบางรองด้านในซ้อนทับกันหลายๆ ชั้นเพื่อให้เป็นตัวอุ้มน้ำนมถั่วเหลืองไว้ด้านบนแล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง พอเทน้ำนมถั่วเหลืองลงไปจะค่อยๆ ซึมลงด้านล่างแล้วเหลือแต่กากถั่วเหลืองทิ้งเอาไว้บริเวณด้านบนของผ้าขาวบาง ในขั้นตอนนี้จะมีการนำเครื่องกรอง (Vibrator Screen) เข้ามาเป็นตัวช่วยในการคัดกรองจนได้น้ำเต้าหู้ออกมา ในอดีตจะใช้วิธีการเทน้ำนมถั่วเหลืองลงไปบนผ้าขาวบางที่ซ้อนทับกันหลายชั้นโดยตรงแล้วใช้คนสองคนช่วยกันร่อนผ้าขาวบางเพื่อกรองเอาแต่น้ำเต้าหู้

ภายหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการนี้แล้วจะต้องนำน้ำเต้าหู้ที่ผลิตขึ้นจากถั่วเหลืองไปเข้าสู่กระบวนการพาสเจอไรซ์ต่อไป ส่วนกากถั่วเหลืองจะมีคนมานำไปเป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากกากถั่วเหลืองมีโปรตีนสูงและอุดมไปด้วยสารอาหาร เมื่อหมูและแพะกินเข้าไปจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มปริมาณน้ำนมนั่นเอง”

ใช้ความร้อนฆ่าเชื้อโรค

การทำน้ำเต้าหู้ต้องใช้ทั้งความพิถีพิถันตั้งแต่ในขั้นตอนคัดเลือกเมล็ดถั่วเหลือง พร้อมทั้งความเข้าใจในระดับของอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับหมักบ่มเพื่อนำไปเข้าสู่ขั้นตอนการคั้นด้วยเครื่องโม่หิน ถือเป็นศิลปะในการทำอาหารที่ถูกรังสรรค์ขึ้น เป็นภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น สอดคล้องกับการนำความร้อนเข้ามาช่วยในการฆ่าเชื้อโรคเพื่อให้น้ำเต้าหู้มีความสะอาดมากที่สุด

“หลังจากได้น้ำเต้าหู้ที่ผ่านการกรองมาเรียบร้อยแล้วจะต้องนำมาผ่านความร้อนด้วยวิธีการต้มเพื่อฆ่าเชื้อโรค (พาสเจอไรซ์) ใช้อุณหภูมิประมาณ 85 องศา เปรียบเสมือนการให้ความร้อนเพื่อพาสเจอไรซ์เท่านั้นแต่ไม่ต้องการให้สุก โดยใช้ระยะเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง เมื่อต้มน้ำเต้าหู้ฆ่าเชื้อจนเสร็จแล้วก็สามารถที่จะนำออกมาวางจำหน่ายได้ในทันที ไม่ปล่อยเอาไว้ข้ามคืน ถือเป็นการผลิตแบบวันต่อวันเพื่อคงความสดใหม่ ไม่มีการใส่น้ำเปล่าเพื่อเพิ่มปริมาณและไม่มีการปรุงรสใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งน้ำเต้าหู้ที่ได้จะมีความเข้มข้นสูง ในกรณีที่ลูกค้าต้องการรสหวานก็สามารถที่จะเติมได้หน้าเตาตามความต้องการของลูกค้า ส่วนสีสันต่างๆ ของน้ำเต้าหู้ที่ร้านสมัยนี้นิยมทำจำหน่าย ร้านน้ำเต้าหู้ซอย 2 ก็มีให้เลือก อาทิ น้ำเต้าหู้ชาเขียว หากลูกค้าต้องการก็มีชาเขียวคุณภาพดีมาผสมให้ ถือเป็นการขายตามความต้องการของลูกค้า

น้ำเต้าหู้ถั่วเหลืองพร้อมตักเสิร์ฟ

เพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์

น้ำเต้าหู้ที่ผ่านการพาสเจอไรซ์ นอกจากนำมาจำหน่ายตามปกติแล้วยังสามารถที่จะนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารหวานชนิดอื่นได้เช่นกัน ทั้งเต้าฮวยและน้ำเต้าหู้ทรงเครื่อง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีการปรับประยุกต์นำน้ำเต้าหู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

“ร้านน้ำเต้าหู้ซอย 2 ยังคงมีเมนูอร่อยที่แตกแขนงออกมาจากน้ำเต้าหู้ให้เลือกรับประทานกันอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะเมนูเต้าฮวยที่ยังคงรสชาติความเข้มข้นของน้ำขิงผสานเข้ากับเนื้อเต้าฮวยได้อย่างลงตัว โดยน้ำขิงที่ใช้รับประทานเคียงคู่ไปกับเต้าฮวยจะมีความเข้มข้นเป็นพิเศษเพราะใส่ขิงลงไปแบบไม่มีกั๊ก ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่รักอาหารเพื่อสุขภาพเป็นอย่างมาก เสริมด้วยเนื้อเต้าฮวยก็มีความอร่อยไม่แพ้กันซึ่งเริ่มต้นมาจากกระบวนการทำที่จะต้องนำน้ำเต้าหู้ใส่ถ้วยแล้วนึ่งด้วยไฟแรงเพื่อให้สุกจนได้ที่แล้วจับตัวเป็นเนื้อเต้าฮวยพร้อมปรุงรสด้วยสูตรลับของร้าน

นอกจากนี้แล้ว สำหรับผู้ที่ต้องการรับประทานน้ำเต้าหู้ทรงเครื่อง (ใส่เครื่องปรุง) ร้านน้ำเต้าหู้ซอย 2 ก็มีเครื่องให้เลือกรับประทานกันอย่างจุใจถึง 28 อย่าง ถือเป็นเอกลักษณ์ของร้านนี้ที่ใครได้ลองมารับประทานต่างก็ประทับใจ เช่น ลูกเดือย ถั่วเหลือง ถั่วแดง เม็ดบัว แปะก๊วย วุ้นขาว สาคู ข้าวโพด แมงลัก มันเชื่อม ฟักทองเชื่อม ลูกชิด พุทรา งาดำ และบัวลอยงาดำ โดยลูกค้าสามารถที่จะเลือกใส่เครื่องได้ถึง 8 อย่าง ทำให้มีความแตกต่างออกไปจากร้านขายน้ำเต้าหู้โดยทั่วไปที่เลือกใส่เครื่องได้เพียง 3 อย่างเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้การเตรียมเครื่องน้ำเต้าหู้จะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่เพื่อจุดมุ่งหมายในการรักษามาตรฐานความอร่อยจึงทำแบบวันต่อวันเท่านั้น ไม่ได้มีการเก็บไว้ค้างคืนแต่อย่างใด หากจำหน่ายพรุ่งนี้จะต้องเตรียมวัตถุดิบตั้งแต่ 5 ทุ่มของวันนี้ พอตื่นนอนในตอนเช้าจึงเตรียมเครื่องทั้ง 28 อย่าง รวมไปถึงทำน้ำขิง น้ำลำไย เครื่องปรุงของน้ำชงในรูปแบบต่างๆ โดยสมาชิกในครอบครัวจะร่วมมือกันทำทั้งหมด ส่วนลูกน้อง 7-8 คน จะช่วยเสิร์ฟอาหารและล้างภาชนะแต่เพียงเท่านั้น บ่าย 3 โมงเริ่มเปิดร้านไปจนถึงประมาณ 5 ทุ่มปิดร้านก็กลับบ้านมาเตรียมถั่วเหลืองเพื่อทำน้ำเต้าหู้สำหรับวันต่อไป นับเป็นกิจวัตรประจำวันที่ถือปฏิบัติมาอยู่โดยตลอด”

ขนมพื้นบ้าน

สร้างคุณค่าด้วยขนมพื้นถิ่น

ด้วยภูมิศาสตร์ของจังหวัดระนองติดทะเลฝั่งอันดามันจึงมีการผสมผสานของวัฒนธรรมอาหารจากหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเมนูขนมหวานที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่าง “อาโป้ง” ก็ยังคงได้รับการสืบสานและอนุรักษ์เอาไว้ นับเป็นมนต์เสน่ห์ที่ผูกรัดมัดตรึงให้ผู้คนยังคงสัมผัสกับความเก่าแก่ในอดีตได้

“ของหวานขึ้นชื่อและถือเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่ร้านนี้คือ อาโป้ง จัดเป็นขนมพื้นบ้านของจังหวัดระนองที่ยังคงได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน มีลักษณะคล้ายคลึงกับขนมรังผึ้งสอดไส้ด้านใน เสริมด้วยขนมหวานพื้นบ้านอีกหลากหลายชนิดที่ได้รวบรวมเอาไว้มาเป็นเมนูนำเสนอให้แก่ลูกค้า เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวขนุน และข้าวเหนียวเหลืองหน้าปลา โดยผู้สูงอายุภายในชุมชนเป็นผู้ทำแล้วนำมาส่งจำหน่ายที่ร้าน ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชมอีกช่องทางหนึ่ง สอดคล้องกับปณิธานของร้านที่มุ่งหวังทำน้ำเต้าหู้ที่มีความเข้มข้นและมีประโยชน์จำหน่ายให้แก่คนทั่วไป เราอยู่ได้ ชุมชนก็อยู่ได้ ต่างเกื้อกูลกันนับเป็นจุดมุ่งหมายหลักให้ยังคงประกอบอาชีพนี้อยู่

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเมนูเด็ดให้ลิ้มลองทั้งน้ำเต้าหู้ร้อน-เย็น เต้าทึงน้ำลำไย เต้าฮวยน้ำขิง เต้าฮวยนมสด เต้าฮวยฟรุ้ตสลัด ไข่ลวก โก๋ชา ปาท่องโก๋ ขนมปังอบไอน้ำสังขยา และน้ำชงต่างๆ รวมไปถึงเมนูที่แปลกใหม่มาให้ลูกค้าได้ทดลองรับประทานอยู่โดยตลอด ส่วนราคามีเริ่มต้นตั้งแต่ 12-50 บาท แล้วแต่ว่าลูกค้าต้องการใส่อะไรเพิ่มเป็นพิเศษ เช่น เมล็ดบัว ถั่วแดง และแปะก๊วย

โก๋ชา

กอปรกับบรรยากาศของร้านก็เป็นอีกจุดดึงดูดหนึ่งเชื้อเชิญให้ลูกค้าเข้ามานั่ง ด้วยตัวร้านตั้งอยู่บริเวณสี่แยกกลางใจเมืองระนอง ในอาคารตึกแถว 2 คูหา ลูกค้าที่สัญจรผ่านไปมาสามารถแวะนั่งรับประทานอาหาร หรือซื้อกลับบ้านได้อย่างสะดวก เรียกได้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่มารับประทานขนมหวานในร้านนี้จะได้นั่งดื่มด่ำกับบรรยากาศยามค่ำคืนภายในเมืองระนองได้อย่างเต็มอิ่ม โดยร้านจะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 15.00-23.00 น. ซึ่งลูกค้าจะเริ่มมีจำนวนมากตั้งแต่ประมาณช่วง 6 โมงเป็นต้นไป”

คุณอัจฉรา กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ที่สนใจมารับประทานขนมหวานที่ร้านน้ำเต้าหู้ซอย 2 นอกจากจะได้เต็มอิ่มกับขนมหวานหลากชนิดที่มีรสชาติถูกปากเข้มข้นทุกเมนูแล้วยังได้เพลิดเพลินกับบรรยากาศถนนคนเดินของเมืองระนองที่มีบรรยากาศดีรอให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส

ขนมปังอบไอน้ำ และสังขยาใบเตย ชาไทย ช็อกโกแลต
เต้าทึงน้ำลำไย

ติดต่อร้านน้ำเต้าหู้ซอย 2 คุณอัจฉรา ทรัพย์อาภากรกุล (คุณลูกปลา) เลขที่ 200/5 ถนนท่าเมือง ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง 85000 โทร. (061) 442-8245

………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น!คลิกดูรายละเอียดที่นี่