เชียงใหม่ ทำเลทองของ การปลูกมะม่วงนอกฤดูเขตภาคเหนือ สร้างเม็ดเงินกว่าพันล้าน

“ อยากกินส้มรสอร่อย ต้องเลือกซื้อ “ส้มฝาง” หากอยากได้มะม่วงคุณภาพดีเกรดส่งออก ต้องนึกถึง “ มะม่วงอำเภอพร้าว “ ก่อนเป็นที่แรก ” นี่เป็นคำบอกเล่าของคุณวิสูตร์  เจริญเมืองมูล  อดีตเกษตรอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเอ่ยถามถึงตลาดผลไม้ในท้องถิ่น

ธุรกิจมะม่วงพันล้าน ของจังหวัดเชียงใหม่

คุณวิสูตร์ บอกว่า อำเภอพร้าว เป็นแหล่งแรกที่เริ่มต้นปลูกมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออกในจังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่า การทำสวนมะม่วงช่วยสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรในอำเภอพร้าวจำนวนมาก สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ หันมาสนใจปลูกมะม่วงเชิงการค้ากันมากขึ้น  ทำให้มะม่วง กลายเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

สวนมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง โชคอนันต์ มหาชนก นวลคำ เขียวมรกต มันขุนศรี ฯลฯจำหน่ายสินค้าใน 2 รูปแบบ คือ ประเภทผลดิบ และ ผลสุก ส่งขายตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน สิงค์โปร์  สาธารณรัฐประชาชนจีน ฯลฯ  สินค้าเกรดรองถูกส่งขายตลาดในประเทศ เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ฯลฯ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนมะม่วงในจังหวัดเชียงใหม่ไม่น้อยกว่า1,000 ล้านบาทต่อปี

แปลงปลูกมะม่วงคุณภาพเกรดส่งออก

แหล่งปลูกมะม่วงคุณภาพเพื่อส่งออกในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอพร้าว แม่แตง และเชียงดาว ฯลฯ  โดยอำเภอพร้าว เป็นแหล่งผลิตมะม่วง แหล่งใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 10,000 ไร่ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศอยู่บนที่สูง สภาพอากาศเย็น ทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตไม้ผลคุณภาพดี อีกทั้งรสชาติเป็นที่ถูกใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

แม้สวนมะม่วงในจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ แต่พวกเขาก็ได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ในลักษณะเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 10 กลุ่ม เช่น วิสาหกิจชุมชนชมรมผู้ปลูกมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่ (ประธานกลุ่มชื่อคุณณรงค์  เจษฎาพันธ์) กลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกมะม่วงคุณภาพเชียงดาว (ประธานกลุ่มฯ คือ คุณสุวิทย์ อุตทาเศษ) กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกบ้านเปียงหลวง (ประธานกลุ่มคือ คุณสุพจน์ สกลปภัช )

คุณเจริญ คุ้มสภา

สำหรับพื้นที่อำเภอพร้าว มีการรวมตัวของเกษตรกรชาวสวนมะม่วงถึง  3 กลุ่มใหญ่ประกอบด้วย กลุ่มผู้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก อ.พร้าว  (ประธานกลุ่มคือ คุณเจริญ คุ้มสภา) กลุ่มไม้ผลเพื่อการส่งออกอำเภอพร้าว (ประธานกลุ่มคือนายกมล เรือนเก่า ) และกลุ่มผู้ปลูกไม้ผลเพื่อการส่งออกอำเภอพร้าว  (ประธานกลุ่มคือ คุณบุญศรี อรุณศิโรจน์ ) เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมะม่วงในจังหวัดเชียงใหม่ต่างร่วมมือร่วมใจกันแบ่งปันความรู้ข้อมูลการผลิต การตลาด ประสานการทำงานร่วมกับผู้ส่งออกและภาครัฐ เช่น ร่วมมือกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ จัด “งานวันมะม่วงและของดีเมืองเชียงใหม่ ” ช่วงเดือนมิถุนายน ของทุกปี

 มช. อบรมความรู้ “ผลิตมะม่วงล่าฤดู ”

โดยทั่วไป สวนมะม่วงในภาคกลางจะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม แต่ผลผลิตมะม่วงของจังหวัดเชียงใหม่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายฤดูการผลิตมะม่วงประจำปีของประเทศไทย ประมาณช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน ทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ราคาดี เกษตรกรชาวสวนมะม่วงในจังหวัดเชียงใหม่จำนวนหนึ่งจึงนิยมปลูกมะม่วง ล่าช้าฤดูกาลเพื่อขายสินค้าให้ได้ราคาดี โดยมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดประมาณช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม

รศ.ดร.ธวัชชัย รัตน์ชเลศ

รศ.ดร.ธวัชชัย รัตน์ชเลศ ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์  สาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ( โทร. 0-5394-4621 ต่อ 227 ) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการของสมาคมชาวสวนมะม่วงไทยและเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่  ได้เล่าให้ฟังว่า คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล็งเห็นความสำคัญของ “ มะม่วงซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของชุมชน ” จึงได้นำภูมิปัญญาเรื่องการปลูกมะม่วงของเกษตรกรในท้องถิ่นมาผสมผสานกับความรู้ด้านวิชาการ จัดอบรมความรู้เรื่อง การผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออกให้กับเกษตรกรชาวสวนมะม่วงในเขตภาคเหนือเช่น เชียงใหม่ น่านและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะม่วงมาอย่างต่อเนื่อง

รศ.ดร.ธวัชชัย ยกตัวอย่างพื้นที่ปลูกมะม่วงอำเภอพร้าวว่า มีการผลิตมะม่วงคุณภาพทั้งในฤดูและล่าฤดูรวมกันปีละกว่า 1,000 ตัน  มะม่วงในฤดู จำหน่ายในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ส่วนมะม่วงล่าฤดู ยังมีสัดส่วนน้อย  เกษตรกรชาวสวนมะม่วงอำเภอพร้าวได้เปรียบในเรื่องสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิกลางคืนต่ำ ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวมะม่วงล่าฤดูได้ในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ขณะที่พื้นที่อื่นๆ ไม่มีมะม่วงคุณภาพส่งออกแล้ว ทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาสูง

ปัจจุบันยุทธศาสตร์การตลาดของกลุ่มมะม่วงพร้าวจะเน้นการกระจายผลผลิตให้ออกได้เร็วและมากที่สุดในช่วงเวลาหนึ่งเดือน  ทางกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงอำเภอพร้าวจึงติดต่อขายผลผลิตให้กับบริษัทผู้ส่งออกหลายแห่งเช่น บริษัทสวิฟท์จำกัด บริษัทธานียามาสยาม จำกัด ฯลฯ มีการกำหนดราคาล่วงหน้าและวันเวลาที่ส่งมอบสินค้า กลุ่มเกษตรกรฯ จะกระจายความเสี่ยงด้านการตลาด ไม่ทำสัญญาผูกมัดกับเอกชนเพียงรายเดียว กรณีสินค้าตกเกรดส่งออก จะส่งขายอิสระให้กับพ่อค้ารายย่อย โดยไม่ผ่านกลุ่มได้

งานวันมะม่วงและของดีเมืองเชียงใหม่

สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ พันธุ์ที่มีโอกาสทั้งด้านการผลิตและการตลาด ในกลุ่มมะม่วงล่าฤดูสูง ได้แก่ มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้  ส่วนพันธุ์โชคอนันต์ เป็นมะม่วงทวาย มีโอกาสด้านการผลิตสูง แต่โอกาสด้านการตลาดอยู่ในระดับต่ำ-ปานกลาง  ส่วนพันธุที่เหลือเช่น แก้ว มหาชนก นวลคำและเขียวมรกต มีโอกาสทั้งด้านการตลาดในระดับต่ำ-ปานกลาง

การผลิตมะม่วงล่าฤดูในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถผลิตได้โดยการเลือกปลูกในพื้นที่ตอนบนของจังหวัด ตั้งแต่อำเภอแม่แตง  อำเภอพร้าว อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง ขึ้นไปจนถึงอำเภอแม่อาย รวมทั้งจังหวัดเชียงราย การผลิตมะม่วงล่าฤดู นอกจากอาศัยธรรมชาติที่มีความหนาวเย็นในพื้นที่ภาคเหนือ ของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายแล้ว ยังอาจต้องใช้เทคนิคการจัดการหลายวิธีร่วมกันในช่วงการผลิต เพื่อยืดอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เป็นมะม่วงล่าฤดูมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเข้าจัดการในระยะการสืบพันธุ์ของมะม่วง โดยแบ่งเป็น 4 ช่วงคือ ระยะออกดอก  การเจริญของช่อดอก การเติบโตของผล และการสุกแก่ของผล

การทำมะม่วงล่าฤดู เมื่อเลือกพันธุ์ที่ให้การตอบสนองที่ดีทั้งการผลิตและการตลาดได้แล้วให้ปรับเลื่อนเวลาการตัดแต่งกิ่ง เพื่อปรับระยะการออกดอก จากปกติที่เคยตัดแต่งกิ่งทันทีหลังการเก็บเกี่ยว (เมษายน-พฤษภาคม) ให้ปรับเป็นเดือนกรกฎาคม –สิงหาคม หลังจากนั้น ใช้สารหน่วงการเจริญเติบโต พาโคลบิวทราโซล ความเข้มข้น 1,000 ส่วนต่อล้านส่วน พ่นที่ช่อดอกในระยะเดือยไก่ ถึงช่อดอกยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตรเพื่อยืดการเจริญเติบโตของช่อดอก เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บเกี่ยวแล้ว วิธีนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้  เพื่อยืดเวลาการเติบโตของผล  ให้เริ่มห่อผลเมื่อผลยังเล็ก ตั้งแต่ขนาดความยาวประมาณ 5 เซนติเมตรขึ้นไป

มะม่วงพันธุ์มันขุนศรี

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการรูดใบ ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวสวนมะม่วงอำเภอพร้าว สามารถช่วยยืดเวลาการออกดอกได้ ซึ่งในทางปฎิบัติหลังจากเกษตรกรตัดแต่งกิ่งต้นมะม่วงน้ำดอกไม้ตามปกติในเดือนสิงหาคมแล้ว จะทำการรูดใบออกทั้งต้นในช่วงเดือนตุลาคม โดยไม่มีแต่งกิ่งใดๆ  เพิ่มเติมอีก หลังจากผลิใบใหม่สองชุด และใช้สารหน่วงการเจริญเติบโตพาโคลบิวทราโซลปลายเดือนมกราคม สามารถเลื่อนการออกดอกตามปกติ จากปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม เป็นเดือนมีนาคมได้  ซึ่งจะมีการติดผลได้ถึงร้อยละ 70 ของมะม่วงในฤดู และผลผลิตส่วนนี้เก็บเกี่ยวได้ในเดือนกรกฎาคม นับเป็นมะม่วงล่าฤดูอย่างชัดเจ แต่การรูดใบดังกล่าว ค่อนข้างสิ้นเปลืองแรงงานมาก

หลังจากนั้นให้พ่นสารหน่วงการเจริญเติบโตพาโคลบิวทราโซล เพื่อยืดเวลาที่ใช้ในการเจริญของช่อดอก ตั้งแต่ระยะเดือยไก่จนถึงดอกบานเต็มที่    การห่อผล เพื่อยืดเวลาการเจริญของผล ตั้งแต่เริ่มห่อผลถึงระยะเก็บเกี่ยวและ พ่นสารควบคุมการเจริญเติบโตจิบเบอเรลลิน เพื่อยืดเวลาในระยะเจริญเต็มวัยของผลอ่อนให้เข้าสู่ระยะการสุกแก่ช้าลง

จากประสบการณ์ของเกษตรกรอำเภอพร้าว มะม่วงล่าฤดูสามารถทำรายได้ให้กับผู้ปลูก ประมาณ 70 บาท/ก.ก. ซึ่งแนวทางการผลิตมะม่วงล่าฤดู จะตัดแต่งกิ่งในเดือนตุลาคม  หลังการแต่งกิ่งต้องให้น้ำอย่างต่อเนื่อง จนถึงหลังราดสาร 20-30 วัน  ให้ใส่ปุ๋ยกระดูกเสริมใน 2 ระยะคือ  ดอกเริ่มแทงช่อ และ หลังห่อเสร็จ 10 วัน ในอัตรา 0.5-1.00 ก.ก. ต่อต้น ใส่ควบคู่ไปกับปุ๋ยเคมี  ขั้นตอนต่อมา ให้ราดสารพาโคลบิวทราโซล อัตรา 40-60 กรัมต่อต้น (สารออกฤทธิ์ 10%) สำหรับต้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 3 เมตร เมื่อต้นเข้าสู่ระยะใบเพสลาดประมาณปลายเดือนสิงหาคม และไม่มีการรูดใบเสริม

“เจริญ คุ้มสุภา” ผู้บุกเบิกส่งออกมะม่วงไปญี่ปุ่น

คุณเจริญ คุ้มสุภา เจ้าของสวนมะม่วง อ.พร้าว  อาศัยอยู่บ้านเลขที่  78 ม.4 ต.ป่าไหน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ โทร. 08-9850-4260  เขาได้รับการยกย่องว่า เป็นเกษตรกรต้นแบบในเรื่องการปลูกมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออก   ปัจจุบันคุณเจริญเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกอำเภอพร้าว และเป็นอุปนายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย

คุณเจริญ คุ้มสภา

คุณเจริญได้ชื่อว่า เป็นผู้บุกเบิกการปลูกมะม่วงเชิงการค้ารายแรกของจังหวัดเชียงใหม่ เดิมทีเขาทำสวนลิ้นจี่บนเนื้อที่กว่า 5 ไร่ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงหันมาปลูกมะม่วงเมื่อปี 2528 โดยนำกิ่งพันธุ์มะม่วงเขียวเสวยและน้ำดอกไม้เบอร์ 4 มาจาก จ.สุพรรณบุรี มาปลูกจำนวน 34 ไร่ ปรากฎว่า ปลูกเขียวเสวยไม่ประสบความสำเร็จ แต่น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ให้ผลผลิตที่ดี จึงเน้นปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 เป็นหลัก ขายทั้งมะม่วงผลสดและขายกิ่งพันธุ์ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ต่อมา เกิดปัญหาราคามะม่วงตกต่ำจึงปรับตัวทำมะม่วงนอกฤดู โดยไปศึกษาเรื่องการผลิตมะม่วงนอกฤดู ที่จังหวัดเพชรบูรณ์  เขาปรับปรุงการผลิตจนได้มะม่วงคุณภาพเกรดส่งออกส่งขายตลาดญี่ปุ่น ส่วนเกรดรองจะส่งขายโรงงานใน จ.ลำพูน เพื่อแปรรูปเป็นมะม่วงแช่แข็ง

ต่อมา มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ได้รับความนิยมน้อยลง จึงเปลี่ยนมาปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นหลัก  ที่ผ่านมาสวนมะม่วงของคุณเจริญได้รับการสนับสนุนข้อมูลการปลูกและการจัดการสวนที่ได้มาตรฐาน จีเอพี จากสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ มาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ให้คำแนะนำเรื่องการปลูก การใช้ปุ๋ย การใช้สารเคมี เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและได้มาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณเจริญได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาการใช้เกษตรดีที่เหมาะสม (GAP)ของสวพ.1 เชียงใหม่จากกรมวิชาการเกษตร

คุณเจริญกล่าวว่า  อำเภอพร้าว เป็นแหล่งผลิตมะม่วงแหล่งใหญ่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกหลายหมื่นไร่ ในช่วงที่ผ่านมา ราคามะม่วงคุณภาพส่งออกอยู่ในเกณฑ์สูงถึง 120 บาท/ก.ก.สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในท้องถิ่นหันมาปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองกันอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งในพื้นที่ราบ ที่เป็นเขตที่นา แต่ผลผลิตมีคุณภาพไม่ดี ใบดำเหมือนน้ำมันเครื่องทา ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ราน้ำมัน ” เกษตรกรจึงปรับตัวหันมาปลูกมะม่วงพันธุ์จินหวง ที่ได้คุณภาพดี ไม่มีปัญหาเรื่องราน้ำมันและขายได้ในราคาก.ก.ละ 40-45 บาท แต่ช่วงที่ผลผลิตเข้าตลาดมาก ราคาอ่อนตัวลงเหลือแค่  28-30บาท/ก.ก.

สมัยก่อน ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเขตปลูกมะม่วงที่ให้ผลผลิตสู่ตลาดเป็นแหล่งสุดท้ายของประเทศในแต่ละปี  แต่ปัจจุบัน ดอยขุนแจ๋ อำเภอพร้าว (เป็นรอยต่อของจังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอเวียงป่าเป่าของเชียงราย ) กลายเป็นแหล่งผลิตมะม่วงรุ่นสุดท้ายของประเทศแทน

เนื่องจากราคามะม่วงที่ปรับตัวสูงถึงก.ก.ละ 120 บาท สร้างแรงจูงใจให้ชาวเขาจีนฮ่อที่พักอาศัยในพื้นที่สูงของอำเภอพร้าวแห่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่เป็นจำนวนมาก โดยมะม่วงในแหล่งดังกล่าวจะเข้าสู่ตลาดประมาณ 1 เดือน ประมาณช่วง 15 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม ถือเป็นผลผลิตรุ่นสุดท้ายของปี ทำให้ผู้ส่งออกแห่มาจองผลผลิตจากแหล่งนี้เป็นจำนวนมาก ในราคาสูงถึงก.ก.ละ 120 บาท ส่วนมะม่วงมหาชนก ขายได้ในราคาก.ก.ละ 50 บาท  ขณะที่ผลผลิตที่ปลูกในพื้นที่ราบขายได้เพียงก.ก.ละ 20 บาทเท่านั้น

ผลผลิตมะม่วงคุณภาพดีที่ตลาดต้องการ

ปรากการณ์ที่ชาวเขาแห่ปลูกมะม่วงจนเต็มดอยนั้น คุณเจริญไม่ห่วงว่าจะส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด เพราะผลผลิตเข้าตลาดไม่ตรงกัน มะม่วงดอยจะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดนั้นล่าช้า กว่าสวนมะม่วงที่ปลูกในพื้นที่ราบของจังหวัดเชียงใหม่

คุณเจริญกล่าวทิ้งท้ายว่า  การปลูกมะม่วงคุณภาพส่งออก ไม่ใช่ว่า ใครๆ  ก็ทำได้ ต้องอาศัยการเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของต้นมะม่วงแต่ละสายพันธุ์เสียก่อน  ประการต่อมา ต้องมีทำเลที่ตั้งและแหล่งน้ำที่เพียงพอสำหรับใช้ในการเพาะปลูก  หากใครสนใจอยากเรียนรู้การผลิตมะม่วงคุณภาพเกรดส่งออก คุณเจริญก็ยินดีแบ่งปันความรู้แก่ผู้สนใจ สามารถติดต่อกับคุณเจริญได้ตามที่อยู่และเบอร์โทร.ข้างต้นได้ทุกวัน