พันธ์ศักดิ์ ศรีวงษ์ สร้างแบรนด์กาแฟปางมะโอ ผลิตภัณฑ์ OTOP ธุรกิจครบวงจร มาตรฐานจากลำปางสู่ตลาดสากล

ปางมะโอ เป็นหมู่บ้าน ตั้งอยู่ที่ตำบลวังเงิน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง แหล่งกำเนิดกาแฟอาราบิก้าแห่งแรกของจังหวัดลำปาง

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เป็นหมู่บ้านที่ถูกล้อมรอบด้วยเนินเขา ภูเขาสูงของเทือกเขาผีปันน้ำ ตามแนวเหนือใต้ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 600-800 เมตร พื้นที่เกษตรเป็นพื้นที่ลาดชันของหุบเขามีสภาพป่าที่สมบูรณ์ ทั้งจากป่าธรรมชาติและป่าจากการปลูกกาแฟ ไม้ผล ที่ชาวบ้านร่วมกันปลูก มีลำธารน้ำไหลผ่าน สภาพดินอุดมสมบูรณ์
ภูมิอากาศ เย็น ชุ่มชื้น น่าจะมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝนกับฤดูหนาว แม้ในฤดูร้อนทั่วไปที่นี่ก็ไม่ร้อนจัด อากาศจึงเย็นสบายตลอดทั้งปี มีอุณหภูมิเฉลี่ย 15-27 องศาเซลเซียส ด้วยสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ บ้านปางมะโอจึงเหมาะแก่การปลูกกาแฟ
คุณพันธ์ศํกดิ์ ศรีวงษ์ ผู้ปลุกกระแสกาแฟปางมะโอ ปัจจุบันอายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 8 ตำบลวังเงิน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง 52150 โทร. (081) 492-7745

ตากบนแคร่ยกพื้นสูง อากาศถ่ายเทรอบผลกาแฟได้ดี

บทบาทภารกิจของคุณพันธ์ศักดิ์ กับไร่กาแฟปางมะโอ
– ผู้จัดการไร่กาแฟปางมะโอ เนื้อที่ 210 ไร่
– เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านกาแฟมาไม่น้อยกว่า 30 ปี ทั้งพันธุ์อาราบิก้าและโรบัสต้า
– เจ้าของแบรนด์ (Bland) กาแฟ “กาแฟปางมะโอ” จดทะเบียนเป็นบริษัท มิสเตอร์ คอฟฟี่ จำกัด
– สร้างมาตรฐานและคุณภาพกาแฟปางมะโอ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
– สร้างผลงานกาแฟปางมะโอเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว ของจังหวัดลำปาง
– สร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ จากเดิมมี 52 ราย แต่ที่ทำจริงปัจจุบันมี 10 ราย พื้นที่ปลูกกาแฟ 500 ไร่
– ส่งเสริมชาวบ้านปลูกกาแฟ โดยจำหน่ายจ่ายแจกต้นพันธุ์กาแฟที่เพาะขึ้น พร้อมกับให้ความรู้ตั้งแต่การปลูก การดูแล การเก็บผล การแปรรูป

ต้นกาแฟท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ มีการดูแลที่ดี

จุดเริ่มต้นของกาแฟปางมะโอ
คุณพันธ์ศักดิ์ เล่าถึงความเป็นมาที่ตนเองมาเกี่ยวข้องกับกาแฟปางมะโอ ว่าเป็นชาวจังหวัดชุมพร เคยทำกิจการด้านกาแฟมาก่อน ต่อมาเข้าไปทำงานเป็นผู้จัดการโรงงานของบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ที่กรุงเทพฯ

ช่วงปี พ.ศ. 2529 ได้มีทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ซึ่งได้ทุนวิจัยจากไจก้า (Japan International cooperation Agency) ได้มาทำการศึกษาทดลอง ลงทุนปลูกกาแฟอาราบิก้าหลายสายพันธุ์ที่บ้านปางมะโอ ช่วงนั้นมีโครงการของรัฐบาล “ทรัพย์บนดิน สินบนดอย” ขณะที่ทำการศึกษาวิจัยบ้านปางมะโอมีลักษณะเป็นดอยหัวโล้น จากการปลูกข้าวโพด ข้าวไร่ เมื่อนำต้นพันธุ์กาแฟลงปลูกผ่านกระบวนการศึกษาวิจัย ได้บทสรุปว่าได้ผลผลิตดี ทั้งสายพันธุ์ทิปปิก้า (Typica) เบอร์บอน (Bourbon) คาทูรา (Caturra) คาติมอร์ (Catimor) เยลโลว์เมาน์เทน (Yellow Mountain) เรดเมาน์เทน (Red Mountain) บนพื้นที่ 202 ไร่ จากการจัดการที่ผ่านกระบวนการดูแลเอาใจใส่อย่างมีระบบ และวางระบบน้ำแบบมาตรฐานใช้งบประมาณลงทุนค่อนข้างสูง ได้ข้อสรุปว่าพื้นที่บ้านปางมะโอ ปลูกกาแฟสายพันธุ์ดังกล่าวได้ดี ให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ตั้งชื่อกาแฟว่า กาแฟสาริกา ส่งผลผลิตเข้าโรงงานแปรรูป ส่งขายให้กับบริษัท การบินไทย จำกัด บางส่วนส่งขายไปยังต่างประเทศซึ่งขณะนั้นยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย

ต้นกาแฟปลูกร่วมกับทุเรียน

คุณพันธ์ศักดิ์ ได้มีโอกาสไปศึกษาฝึกอบรมเรื่องกาแฟที่ประเทศญี่ปุ่นด้านการชงกาแฟ การจัดการร้านกาแฟ จนเมื่อกลับมาประเทศไทยแล้ว ต่อมาโรงงานที่คุณพันธ์ศักดิ์ทำงานอยู่ประสบปัญหากระทบถึงไร่กาแฟสาริกาด้วย คุณพันธ์ศักดิ์ จึงได้ขอเทกโอเวอร์ (take over) กิจการไร่กาแฟ มาดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนารักษาสภาพด้วยตนเอง เพราะมีวิถีผูกพันกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537

คุณพันธ์ศักดิ์ ศรีวงษ์ เจ้าของแบนด์ “กาแฟปางมะโอ”

ต้องการสร้างอาชีพคนในหมู่บ้านและสร้างชื่อเสียง
ให้กับจังหวัดลำปางจากไร่กาแฟ

คุณพันธ์ศักดิ์ กล่าวอย่างมีแววตาปริ่มประกายสุขของผู้มีจิตที่พร้อมจะแบ่งปัน โดยกล่าวว่า หลังจากซื้อกิจการกาแฟจากเจ้าของเดิมมา ก็ได้พัฒนาไร่กาแฟและผลิตภัณฑ์จากกาแฟ สร้างแบรนด์ “กาแฟปางมะโอ” จดทะเบียนในชื่อบริษัท มิสเตอร์ คอฟฟี่ จำกัด (Mr.coffee company Limited) เป้าหมายต้องการส่งเสริมให้คนในหมู่บ้านมีอาชีพปลูกกาแฟคู่กับป่าไม้ พัฒนาความรู้ ทักษะเกี่ยวกับกาแฟในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผน การผลิต การจัดแปลง การใช้ดินและน้ำ วิธีการปลูก การดูแล การเก็บผล มาตรฐานการผลิต การตลาด หรือสร้างป่าด้วยการปลูกกาแฟเหมือนปลูกป่าคู่กับธรรมชาติ ผลพลอยได้ก็คือ ป้องกันการเกิดไฟป่าไปด้วยในตัว ทั้งนี้ คุณพันธ์ศักดิ์เองก็เพาะพันธุ์ต้นกาแฟ ทั้งอาราบิก้าและโรบัสต้า ขายและแจกจ่ายแบ่งปันให้กับเกษตรกร เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ ความยั่งยืนในอาชีพของคนในหมู่บ้าน

อาราบิก้า ดอกบานสะพรั่ง

ต้นกาแฟอยู่ร่วมกันกับต้นไม้และสิ่งมีชีวิต
เป็นการรักษาระบบนิเวศที่ดี

คุณพันธ์ศักดิ์ ได้พาผู้เขียนเดินดู พร้อมให้ความรู้ด้วยการเล่าเรื่องหลากหลายเรื่องราว เมื่อครั้งที่นักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนเกี่ยวกับระบบน้ำ ต้นไม้ และได้เห็นระบบนิเวศการพึ่งพาอาศัยกันของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมภายในไร่กาแฟ ทั้งพืชต่างระดับชนิดอื่น สัตว์ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ พืชระดับดินที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นกาแฟ และต้นกาแฟที่อยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง สะตอ ปาล์ม สนสองใบ มะค่าโมง ยมหอม ฯลฯ โดยมีการจัดการไร่กาแฟที่ดีด้วยการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

คุณพันธ์ศักดิ์ ก็เป็นเกษตรกรต้นน้ำ ปลูกยางพารา และปลูกกาแฟ 120 ไร่ เป็นกาแฟพันธุ์อาราบิก้า 110 ไร่ พันธุ์โรบัสต้า 10 ไร่ ทั้งยังเพาะต้นพันธุ์กาแฟทั้ง 2 พันธุ์จำหน่ายจ่ายแจกให้กับเกษตรกรเครือข่าย

อาราบิก้า เยลโลว์เมาน์เทน

ผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้เองภายในไร่กาแฟ สร้างบ่อ ก่อด้วยซีเมนต์บล็อกขนาดใหญ่ไว้เป็นจุดๆ เพื่อผลิตปุ๋ยหมัก ใช้วัตถุดิบจากเศษใบไม้แห้ง กิ่งไม้ ทางใบของปาล์ม ก้อนเชื้อเห็ดหอมที่หมดอายุการเก็บดอกเห็ด พื้นที่ภายในโดยรอบจึงไม่พบเศษใบไม้ แล้วก็ยังผลิตน้ำหมักหรือฮอร์โมนสังเคราะห์แสง ใช้สำหรับฉีดพ่นแมลงให้กับต้นไม้ โดยในพื้นที่ทั้งหมดไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ซึ่งบ่งบอกถึงการบริหารจัดการพื้นที่ดี

กาแฟปางมะโอจะเริ่มสุกเป็นสีแดงคล้ายสีผลเชอร์รี่ และเก็บผลได้ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากผลผลิตกาแฟจากไร่ของคุณพันธ์ศักดิ์ เองแล้ว ยังรวบรวมผลกาแฟเชอร์รี่จากเครือข่ายและเกษตรกรทั่วไป ปีๆ หนึ่งใช้เงินซื้อ 1-2 ล้านบาท โดยให้ราคาผลกาแฟเชอร์รี่คุณภาพ กิโลกรัมละ 30 บาท ถ้าเป็นสมาชิกเครือข่ายจะให้ราคาที่สูงกว่า หลังจากรวบรวมผลผลิตแล้วนำมาผ่านการทำ process ด้วยวิธีการแบบแห้ง หรือ Dry process ตากบนแคร่ที่ยกขึ้นสูงจากพื้นดินเพื่อให้อากาศถ่ายเทรอบๆ ผลกาแฟ และแห้งสม่ำเสมอ จากนั้นนำไปสีเอากะลาออกด้วยเครื่องสี ก็จะได้เมล็ดกาแฟสาร เสร็จสิ้นกระบวนการสีก็บรรจุไว้ในกระสอบเก็บไว้คั่วต่อไป

ผลสดกาแฟเชอร์รี่

ก่อร่างสร้างกิจการเอง ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

นอกจากคุณพันธ์ศักดิ์ จะมีไร่กาแฟเป็นของตนเองแล้ว ยังดำเนินกิจการตั้งแต่การปลูก การดูแล การเก็บผล การสีผลกาแฟ

จนมาเป็นผู้แปรรูปเมล็ดกาแฟสาร ตามคำสั่งซื้อ (Order) และนำมาจำหน่ายเอง ด้วยการคั่วเมล็ดกาแฟสารภายในไร่กาแฟ มีโรงคั่วกาแฟถึง 2 โรง มีกำลังการผลิตถึง 20 ตัน ต่อเดือน ควบคุมการคั่วโดยผู้เชี่ยวชาญ แต่ก่อนที่จะนำเมล็ดกาแฟสารมาคั่วนั้น ต้องมีการคัดคุณภาพเมล็ดกาแฟสารก่อนโดยการตรวจสอบสีของเมล็ดกาแฟสาร สายพันธุ์ของกาแฟ คัดแยกเอาเมล็ดที่บกพร่องออกก่อน แล้วทำการผสมเมล็ดกาแฟ (blend coffee) จากสายพันธุ์ต่างๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามสูตรของตนเอง เพื่อสร้างรสชาติที่แตกต่างและซับซ้อนขึ้น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งกำหนดระดับการคั่ว คั่วอ่อน คั่วกลาง คั่วเข้ม เพื่อให้ได้สี กลิ่น รสชาติ เฉพาะตัว เมื่อคั่วเมล็ดกาแฟสารเสร็จสิ้นก็ต้องมาคัดแยกคุณภาพของเมล็ดกาแฟอีกครั้งว่ามีเมล็ดดำ เมล็ดผสมเศษสิ่งปลอมปนติดมาหรือไม่ พร้อมบรรจุในถุงวาล์วได้มาตรฐาน ตามขนาดน้ำหนักที่กำหนดของแต่ละผลิตภัณฑ์

เครื่องคั่วกาแฟเครื่องที่ 1

ยกระดับธุรกิจกาแฟปางมะโอจากไทยสู่สากล

คุณพันธ์ศักดิ์ ดำเนินธุรกิจกาแฟแบรนด์ “กาแฟปางมะโอ” ทั้งเปิดร้านกาแฟที่บ้านปางมะโอ ออกบู๊ธ (Booth) เปิดร้านค้ากาแฟสดในสถานที่ต่างๆ จำหน่ายทั้งค้าปลีกและค้าส่งเมล็ดกาแฟคั่วบด ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จำหน่ายอุปกรณ์การทำธุรกิจร้านกาแฟอีกด้วย

เครื่องคั่วกาแฟเครื่องที่ 2

ด้วยนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเมนยู หรือเมนู (Menu) มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟคั่ว ชนิดเมล็ดและบดภายใต้แบรนด์ มิสเตอร์คอฟฟี่ โดยใช้วัตถุดิบจากไร่กาแฟปางมะโอ และจากเครือข่าย พร้อมกับมีเครื่องหมาย อย. ใบอนุญาต 5220184720009
กาแฟรสชาติเข้ม
– French Blend กาแฟคั่วผสม เหมาะสำหรับทำกาแฟเย็น และผสมเป็นสูตรพิเศษรสชาติอื่นๆ
– Ice Coffee Blend กาแฟคั่วผสมระหว่างอาราบิก้าและโรบัสต้า รสชาติค่อนข้างเข้มเหมาะสำหรับนำไปทำกาแฟเย็น
– Espresso กาแฟคั่วเข้ม รสชาติเข้มไปทางอิตาลี เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบดื่มกาแฟรสเข้มข้น นุ่ม และมีกลิ่นหอม
กาแฟรสชาติค่อนข้างไปทางเข้ม
– Original Blend กาแฟคั่ว รสชาติค่อนข้างเข้มข้น ออกขมเล็กน้อย
– German Blend กาแฟคั่วผสม ระดับปานกลาง รสชาติค่อนข้างเข้มข้นพอดี มีกลิ่นหอม
– Special Blend กาแฟคั่วผสมระหว่างอาราบิก้าและโรบัสต้าที่ได้สัดส่วน รสชาติเข้มข้นกลมกล่อมลงตัว รสชาติพิเศษเฉพาะตัวสำหรับคอกาแฟร้อนและเย็น
– Continental Blend กาแฟคั่ว รสชาตินุ่มนวลกลมกล่อม สไตล์ยุโรป
กาแฟรสชาติไม่เข้มไม่อ่อนจนเกินไป (กลางๆ)
– Blue Mountain กาแฟคั่ว รสชาติหวาน มีกลิ่นหอมละมุน นุ่มลึก
– Colombia กาแฟคั่วรสชาติกลมกล่อมออกเปรี้ยวอมหวาน กลิ่นหอม
– Brazil กาแฟคั่ว รสชาติกลางๆ นุ่มละมุน มีกลิ่นหอม
– Arabica กาแฟคั่ว กาแฟสายพันธุ์ทางภาคเหนือ รสชาตินุ่มละมุนกลิ่นหอมโดดเด่นเป็นพิเศษ
กาแฟรสชาติอ่อน
– Mocha กาแฟคั่ว รสชาติคล้ายไวน์ ดื่มด่ำ เข้มข้น ออกหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมนวลเฉพาะตัว
– American Blend กาแฟคั่ว ผสมระหว่างอาราบิก้าและโรบัสต้า รสชาติไม่อ่อนหรือแก่เกินไป กลิ่นหอมละไมในตัว ได้รับความนิยมมาก

ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แบรนด์ “กาแฟปางมะโอ”

ยกระดับธุรกิจกาแฟทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ในประเทศ จำหน่ายผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟแปรรูปคั่วบดแบรนด์กาแฟปางมะโอ ทั้งปลีกและส่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เช่น ภาคกลาง/ตะวันออก ที่กรุงเทพฯ จังหวัดนครสวรรค์ ชลบุรี ฯลฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-จังหวัดขอนแก่น ฯลฯ ภาคเหนือ-จังหวัดลำปาง เชียงราย ฯลฯ

ออกบู๊ธกาแฟสดตามห้างสรรพสินค้า งานแฟร์ สำนักงาน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ อาคาร A, B ต่างประเทศ ส่งผลิตภัณฑ์กาแฟแบรนด์ปางมะโอ (Pang Ma O Coffee) ไปจำหน่ายที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (พม่า)
ยกระดับสร้างอาชีพธุรกิจร้านกาแฟที่ได้มาตรฐานโดยนำโนว์ฮาว (know-how) จากประเทศญี่ปุ่น ตามที่คุณพันธ์ศักดิ์ได้ไปศึกษาและฝึกอบรมมาให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจจะเปิดร้านกาแฟ โดยจำหน่ายอุปกรณ์การทำธุรกิจร้านกาแฟ พร้อมเป็นคู่ค้าระหว่างกัน หากมียอดการสั่งซื้อเมล็ดกาแฟ จะใช้ชื่อร้านปางมะโอหรือชื่อร้านอะไรก็ได้ แต่การันตี (guarantee) ว่าใช้เมล็ดกาแฟจากบ้านปางมะโอ

ออกบู๊ธในห้างสรรพสินค้า

การเดินทางไปพิสูจน์รสชาติกาแฟที่ไร่กาแฟปางมะโอ ตามทางหลวงสายลำปาง-แพร่ กิโลเมตรที่ 39 บ้านปางมะโอ หรือต้องการติดต่อคุณพันธ์ศักดิ์ ศรีวงษ์ เพื่อขอเข้าชมไร่กาแฟปางมะโอหรือจะนำกลุ่มเกษตรกรไปศึกษาดูงานได้ที่เบอร์โทร. (081)492-7745 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางอื่น
Facebook ไร่กาแฟปางมะโอ
Instagram pangmaocoffee
www.pangmaocoffee.com

………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2563