ภาคธุรกิจเสนอแนวทางผนึกกำลัง ยกระดับตลาดน้ำมันปาล์มไทยสู่วิถียั่งยืน

วงสัมมนาธุรกิจปาล์มชี้ชัด ภาครัฐ นักธุรกิจ และผู้บริโภค เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนน้ำมันปาล์มยั่งยืน ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ด้วยการเรียกร้องบริษัทสินค้าโปรดของพวกเขา และช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้เข้าถึงตลาดโลกผ่านการรับรองมาตรฐานสากลของ RSPO

ดร.แบนท์ คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตฝ่ายอาหารและการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจําประเทศไทย

เวทีการสัมมนาเชิงธุรกิจเรื่อง เส้นทางสู่การยกระดับตลาดปาล์มน้ำมันยั่งยืนในประเทศไทย ที่โรงแรมนิโก้ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์กรเจรจาระหว่างประเทศ ว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน (RSPO) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (Sustainable and Climate-Friendly Palm Oil Production and Procurement: SCPOPP) มีการอภิปรายใน หัวข้อ “ถึงเวลา…ยกระดับ น้ำมันปาล์มไทยสู่วิถียั่งยืน” โดยมีผู้แทนภาคธุรกิจ องค์กรระหว่างประเทศ และเกษตรกรรายย่อย ราว 70 ราย เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ผ่านแนวคิด “ความรับผิดชอบร่วมกัน” (Shared Responsibility) เพื่อตอกย้ำความสำคัญของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้บริโภคในประเทศที่ล้วนมีส่วนร่วมในการผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันรายย่อยสามารถเข้าถึงมาตรฐานการรับรองระดับโลกเพื่อยกระดับน้ำมันปาล์มไทยสู่วิถียั่งยืน

ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และแรงงาน จึงเกิดกระแสเรียกร้องให้ภาคธุรกิจปรับระบบการผลิตและการใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน สำหรับประเทศไทยผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม ยั่งยืนส่วนใหญ่คือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตยังมีข้อจำกัดด้านโอกาส รวมทั้งการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อปรับเปลี่ยนและยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันจากวิถีดั้งเดิมไปสู่มาตรฐาน RSPO

คุณปราการ วีรกุล ที่ปรึกษา สํานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ดร.แมทเทียส บิกเคล ผู้อำนวยการกลุ่มการเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวว่า องค์กรให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวและส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนของไทย เดินหน้าขับเคลื่อนการผลิตน้ำมันปาล์มด้วยวิถียั่งยืนผ่านโครงการ SCPOPP ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน มีการจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรรายย่อยให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดน้ำมันปาล์มยั่งยืนของไทย สามารถเข้าถึงตลาดโลกได้

“การสนับสนุนแหล่งเงินทุนและการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันรายย่อยและชุมชนในพื้นที่เพื่อยกระดับการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปรับปรุงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้สอดคล้องกับความต้องการอาหารโลก และเพื่อลดผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม” ดร.แมทเทียส กล่าว

คุณสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส

โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (SCPOPP) ดำเนินงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยกว่า 3,000 ราย ทั่วประเทศ ผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ถึงสิงหาคม พ.ศ. 2565 โครงการคาดว่าจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 9,600 ตัน จากการปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ประมาณ 20% ภายในปี 2565 นี้

ด้าน มิสซิสเบฟเวอร์ลี่ พอสท์มา ประธานกรรมการบริหารของ RSPO ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเกษตรกรว่า การผนึกกำลังของเกษตรกรชาวสวนปาล์มรายย่อยเพื่อนำไปสู่วิถียั่งยืน จะเกิดผลดีต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวของพวกเรา RSPO ทั้งฝ่ายเลขานุการและสมาชิก เพราะพวกเราตระหนักดีว่าเกษตรกรรายย่อยมีบทบาทสำคัญในการยกระดับตลาดปาล์มน้ำมัน

และมองเห็นว่า นี่คือ การแบ่งปันความรับผิดชอบที่ผู้เล่นทุกภาคส่วนในห่วงโซ่ธุรกิจปาล์มน้ำมันจะต้องให้คำมั่นสนับสนุน อย่างไรก็ตาม การผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศไทย หลักๆ ผลิตโดยเกษตรกร ชาวสวนปาล์มรายย่อย ที่ยังขาดโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนสนับสนุน ขาดทักษะและองค์ความรู้ด้านการจัดการสวนอย่างยั่งยืน และการรับรองมาตรฐานสากลที่จะช่วยให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้

“ปีที่แล้ว เรานำมาตรฐานเกษตรกรรายย่อยอิสระของ RSPO ฉบับใหม่มาใช้ โดยมุ่งหมายเพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อยได้รับการรับรองผ่านกลไกที่เป็นขั้นเป็นตอน และสอดคล้องกับหัวใจสำคัญของความยั่งยืน แม้ว่าปี 2563 จะเป็นปีที่มีความท้าทายสำหรับทุกคน ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก แต่พวกเรายังคงเห็นความก้าวหน้าที่ดีในส่วนการรับรองมาตรฐานเกษตรกรรายย่อยอิสระ และหวังว่าจะเห็นเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย ได้รับการรับรองมากยิ่งขึ้น ในอนาคตอันใกล้” ประธานกรรมการบริหารของ RSPO กล่าวทิ้งท้าย

ในปัจจุบัน น้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองจาก RSPO คิดเป็นร้อยละ 19 หรือประมาณ 17.11 ล้านตันของผลผลิตน้ำมันปาล์มทั่วโลก ซึ่งในส่วนของประเทศไทย มีน้ำมันปาล์มยั่งยืนที่ได้รับการรับรองจาก RSPO เพียงแค่ 2.8% จากผลผลิตน้ำมันปาล์ม รวมทั้งประเทศเท่านั้น

คุณศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และกรรมการบริษัท น้ำมันพืชปทุม จํากัด

คุณศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และกรรมการบริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด กล่าวว่า ผู้บริโภคมีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นผู้ผลิตให้ดำเนินการตามมาตรฐาน RSPO จากกรณีศึกษาของประเทศในฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกาพบว่า มีผู้บริโภคจำนวนมากปฏิเสธการสนับสนุนหรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่มีแหล่งมาจากการปลูกรูปแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานความยั่งยืน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายสำคัญของโลก อย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียจึงเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการในการปลูกปาล์มน้ำมันตามแนวปฏิบัติด้วยวิถีที่ยั่งยืนและเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างการยอมรับต่อผู้บริโภค แม้ว่าอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยจะไม่ได้รับแรงกดดันโดยตรงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเวทีโลก อย่างเช่นประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยยอมรับว่าภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม ในมุมมองของผู้บริโภคในประเทศยังค่อนข้างติดลบ โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพ ครั้งรัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ไขมันทรานส์ (Trans fat) เมื่อมกราคม พ.ศ. 2562 เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ เกิดความเข้าใจผิดว่า ให้ยกเลิกการบริโภคน้ำมันปาล์มเป็นวงกว้าง

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว น้ำมันที่ผลิตจากพืชทั้งหมด รวมทั้งน้ำมันปาล์มปราศจากไขมันทรานส์ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเด่นคือไม่มีกลิ่นหืนและมีความเสถียรต่อความร้อนสูง จึงเหมาะที่จะนำไปประกอบอาหาร บทเรียนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคควรได้รับข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มในทุกๆ ด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกซื้อ

“นอกจากความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม ผู้ผลิตกับภาครัฐเพื่อบูรณาการนโยบายการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน แล้วการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติคือ ก้าวสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมปาล์มไทยสามารถทำได้ทันทีเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยและสร้างมาตรฐานสากลด้านการผลิตปาล์มยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย” คุณศาณินทร์ กล่าว