มากิน “ส้มอินทรีย์” (organic) กันเถอะ

ผมจำได้ว่า สมัยเมื่อสี่ห้าสิบปีก่อน ส้มเขียวหวานตามตลาดบ้านนอกของภาคกลางเป็นผลไม้ราคาถูกมากๆ บ้านเรากินกันเป็นประจำ โดยเลือกซื้อลูกที่ยิ่งกระดำกระด่าง เป็นฝ้า เพราะจะยิ่งมีรสหวานแหลมอมเปรี้ยวกว่าลูกที่ผลสวยๆ เอามาคั้นน้ำกินก็สดชื่น ผมชอบเอาใส่ในถาดทำน้ำแข็ง ได้ก้อนส้มเย็นจัดเป็นน้ำแข็งอมเล่นชุ่มคอ คลายร้อนได้ดีมาก

พอโตขึ้นมา ส้มเขียวหวานกลายเป็นแพงอย่างน่าตกใจ แถมผลการสุ่มตรวจส้มในท้องตลาด จากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อย่าง ThaiPAN ก็พบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แล้วว่า ส้ม ครองอันดับหนึ่งมาตลอด พบการตกค้างของสารเคมีพิษในระดับสูงแทบทุกตัวอย่างที่เก็บ แถมใครเคยไปแถวสวนส้มในบางอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ย่อมจะสัมผัสรับรู้ถึงกลิ่นผิดปกติในอากาศได้ชัดเจน

ความกังวลนี้ยิ่งมีอยู่มากในกลุ่มองค์กรรณรงค์อาหารปลอดภัย ดังเช่นโครงการกินเปลี่ยนโลก Food4change ที่ได้พยายามเสาะหา “ส้มอินทรีย์” (organic) ปลอดสารเคมีตกค้างในสวนเมืองไทย และในที่สุดก็ได้รวบรวมข้อมูล (เท่าที่พบในเวลานี้) ว่ามีส้มอย่างน้อย 5 สวน ที่เจ้าของพยายามหันมาปลูกและดูแลด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ คือ

สวนส้มอุดมพันธุ์ อำเภอดอยเต่า เชียงใหม่ (คุณพศิน อุดมพันธุ์ โทร. (081) 659-3414)

สวนส้มสายน้ำผึ้งไร้ควัน อำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่ (คุณสุทัศน์ ยงศักดิ์วัฒน์ โทร. (063) 178-9466)

กลุ่มปลูกส้มโชกุน อำเภอพะโต๊ะ ชุมพร (คุณจรัสศรี อินทรสุวรรณ โทร. (095) 018-5830)

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผลเพื่อเศรษฐกิจ อำเภอทุ่งช้าง น่าน (คุณบุญเหลื่อม จันต๊ะวงษ์ โทร. (083) 940-9508)

สวนส้มอินทรีย์คลองสิบสาม อำเภอหนองเสือ ปทุมธานี (คุณกัลย์ทิพา วสุรัฐเดชาพงศ์ โทร. (093) 324-2799)

ที่น่าสนใจคือ เมื่อเย็นวันที่ 18 ธันวาคม 2563 มีการชวนพูดคุยกันเรื่องส้มๆ โดยกลุ่มคนทำสวนส้มอินทรีย์ ในงาน “มหาส้มมุทร” ออกร้านจำหน่ายสินค้าประมงทะเลพื้นบ้านและส้มอินทรีย์ ที่สวนครูองุ่น ปากซอย 3 สุขุมวิท 55 กรุงเทพฯ

ความรู้เกี่ยวกับส้มอินทรีย์นี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของคนรักส้ม แล้วก็รักสุขภาพตัวเอง ที่จะได้กลับมากินส้มอย่างเต็มปากเต็มคำอีกครั้ง ผมเลยจะขอสรุปบางส่วนมาเล่าตามความเข้าใจของผมเองให้ฟัง โดยเฉพาะส่วนที่ คุณพศิน อุดมพันธุ์ สวนส้มเชียงใหม่, คุณบุญเหลื่อม จันต๊ะวงศ์ สวนส้มน่าน, คุณกัลย์ทิพา วสุรัฐเดชาพงศ์ สวนส้มปทุมธานี ได้คุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันครับ

………………

ส้มพันธุ์ที่ปลูกกันมาก ที่มีชื่อต่างๆ กัน ที่จริงก็คือส้มเขียวหวาน เพียงแต่ทางภาคใต้ เรียกส้มโชกุน ทางภาคเหนือ เรียกส้มสายน้ำผึ้ง ทางน่าน อากาศเย็นทำให้ผิวส้มเหลือง จึงเรียกส้มสีทอง ส่วนพันธุ์เก่าแก่ คือพันธุ์บางมดนั้นเป็นต้นเค้าเดิมที่คนนำไปปลูกเพาะพันธุ์กระจายอยู่ในพื้นที่หลายแห่งทั่วประเทศ เช่น พันธุ์เขียวดำเนิน ที่ปลูกอยู่ที่สวนปทุมธานี ก็คือส้มบางมดที่เอาพันธุ์ไปจากอำเภอดำเนินสะดวก ราชบุรี

ความแตกต่างทางกายภาพระหว่างส้มเหล่านี้ อยู่ที่ดินฟ้าอากาศที่ปลูกเป็นสำคัญ

เฉพาะเรื่องพันธุ์ส้มดั้งเดิมนี้ คงมีเรื่องให้สืบค้นไปได้อีกมากนะครับ เพราะเรามักรู้กันอยู่แค่ว่า บางมดเป็นแหล่งปลูกส้มอร่อย แต่ถ้าดูในเอกสารเก่าๆ มีชื่อพันธุ์ส้มมากมายที่เดี๋ยวนี้ไม่รู้จักกันแล้ว เช่น ส้มเทพรส เป็นต้น จึงน่าจะมีการเสาะหาพันธุ์ดั้งเดิมกันต่อไปครับ

ความที่ส้มมีระยะการเก็บเกี่ยวยาวนานร่วม 10 เดือน จึงมีปัญหาศัตรูพืชค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี คำบอกเล่าของคนทำสวนส้มมายาวนานตรงกันที่ว่า สมัยก่อนดินดี อากาศดี จึงไม่ต้องใช้ยาเคมีฉีดพ่นในปริมาณมากเท่าทุกวันนี้ สาเหตุมาจากดินเริ่มเสื่อมคุณภาพ โรคแมลงเพิ่มขึ้น ต้องฉีดยาเพิ่ม แต่กลับเป็นว่าสถานการณ์ยิ่งแย่ลงทุกทีๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ปลูกในเนื้อที่ 100-200 ไร่ นั้น จำเป็นต้องใช้สารเคมีอย่างเต็มที่ทุกระยะ เพื่อรักษาสภาพผลส้มให้สมบูรณ์ที่สุด

คุณบุญเหลื่อม ตั้งข้อสังเกตว่า ในภาคเหนือ หากเป็นสวนขนาดเล็ก เนื้อที่ราว 4-5 ไร่ จะใช้ยาเคมีน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การเลือกซื้อส้มจากชาวบ้านเกษตรกรที่ทำสวนส้มขนาดเล็กจึงพอจะเลี่ยงสารเคมีในส้มได้ระดับหนึ่ง

ส่วนคุณพศิน สารภาพว่า ช่วงแรกปลูกส้มด้วยวิธีเคมีเต็มรูปแบบ ความที่รู้ว่า ตนใช้ “ยา” มากแค่ไหน ถึงกับไม่ยอมให้ลูกๆ เข้าสวน ไม่ให้คนที่บ้านกินส้มเด็ดขาด จนกระทั่งลูกๆ มารบเร้าขอพาเพื่อนนักเรียนไปเที่ยวสวนหลายครั้งเข้า จึงตัดสินใจเลิกใช้สารเคมีโดยเด็ดขาดในที่สุด

………………

คนทำสวนส้มอินทรีย์ล้วนเคยทำเคมีมาแล้วทั้งสิ้น สาเหตุที่ทำให้เปลี่ยนใจนั้นคล้ายคลึงกัน

คุณกัลย์ทิพา บอกว่า ร่างกายอ่อนแอลงเรื่อยๆ เป็นโรคที่หาสาเหตุไม่ได้ ติดเชื้อง่าย เพราะว่าดินในสวนเต็มไปด้วยสารเคมีพิษ เลยคิดได้ว่า ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตคงจะไปไม่รอด จึงเลิกใช้สารเคมีทั้งหมดทันที ปรากฏว่า ภายใน 1 ปี ต้นส้มแข็งแรงขึ้นมาก เช่นเดียวกับคนปลูก ส่วนปัญหาศัตรูพืช ก็ใช้น้ำปลาหมักรดกำจัดหนอนชอนใบได้อย่างเด็ดขาด โดยผลผลิตของสวนไม่ลดลงแต่อย่างใด

คุณพศิน นั้น หลังจากยอมให้ลูกๆ เข้าสวนได้แล้ว ก็กินส้มที่ตนปลูกได้อย่างสบายใจ สุขภาพดีขึ้น ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลอีกเลย

ส่วนที่น่าน สวนของคุณบุญเหลื่อมเองมีขนาด 10 ไร่ คุณบุญเหลื่อม บอกว่า ตนคิดถึงทั้งสุขภาพของตัวเอง ของผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมที่ควรจะดีขึ้นของจังหวัดน่าน ซึ่งพื้นที่ปลูกส้มเคมี/อินทรีย์ของน่านยังอยู่ที่ 6,000/300 ไร่ คุณบุญเหลื่อมยังได้แนะวิธีป้องกันแมลงวันทอง ศัตรูร้ายในช่วงก่อนเก็บเกี่ยวผลส้มว่า ให้ใช้แกลลอนเปล่าใส่กากน้ำตาลที่ทางสำนักงานเกษตรแจก ผสม “ปลาร้า” เอาไปตั้งวางไว้ตามจุดต่างๆ แมลงวันทองจะตามกลิ่นเข้าไปตอม แล้วก็ติดอยู่กับกับดักเหนียวๆ นี้ นอกจากนั้น ก็เอาไปทาบนแผ่นวัสดุ ปักไว้เป็นระยะทุก 10-15 เมตรรอบๆ สวน วิธีนี้จะกำจัดแมลงวันทองได้อย่างเด็ดขาด

คงไม่ผิดนัก ถ้าจะบอกว่า คนที่รู้ดีที่สุด ว่าสวนส้มคือผืนดินอาบยาพิษขนาดไหน ก็คือชาวสวนส้มนั่นเอง

คนปลูกส้มที่เปลี่ยนใจจากสวนเคมีมาเป็นอินทรีย์ เปลี่ยนวิถีและวิธีทำสวน ยอมแบกรับภาระความยุ่งยากในขั้นตอนการผลิตเพิ่มขึ้น จึงควรได้ชื่อว่าเป็นผู้เริ่มการเปลี่ยนแปลงจากภายในตนเอง ที่จะส่งผลไพศาลต่ออนาคตของลูกหลานอย่างแท้จริง

………………

ผมสังเกตว่า ความรู้สึกต่อสภาพแวดล้อมที่ทุกคนพูดเหมือนกันหมด คือ “แต่ก่อนดินดี น้ำดี อากาศดี เดี๋ยวนี้ไม่ดีแล้ว” จนเป็นเหตุให้จำต้องหันมาใช้สารเคมี แต่เรื่องนี้ จะว่าไปมันก็แปลกนะครับ ผมเคยได้ยินเพื่อนที่คุ้นเคยกับสวนส้มบางมดดี พูดอย่างเดียวกันนี้มานานตั้งกว่า 20 ปีแล้ว

หรือจะให้ย้อนไปไกลกว่านั้นก็ได้ ในหนังสือประติทินบัตรแลจดหมายเหตุ เดือนมกราคม พ.ศ. 2433 มีคำกลอนกล่าวถึงตำบลที่เกิดผลไม้อย่างดี ตอนหนึ่งมีว่า

“..ซ่มเขียวหวานบางมดรศเปนจอม  เดี๋ยวนี้ย่อมสูญทรามเพราะน้ำเคม

ราษฎรขุดคลองทำนาเกลือ            น้ำจึงเหลือไหลล้นค่นเค่ม

ต้นก็ตายคลายรศเพราะดินเคม       ถึงอย่างนั้นรศยังเค่มภอรับประทานฯ”

เมื่อลองนึกเปรียบเทียบสัดส่วนของเวลาและเรื่องเล่า ก็ดูเหมือนเราต่างตกอยู่ใน “ตำนานแห่งความเสื่อมถอย” อย่างแท้จริง คือความรู้สึกต่อสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวในแต่ละยุคสมัย เหมือนมันมีแต่ขาลง อดีตเรืองรองถูกเอามาเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งๆ ที่ถ้านับเหตุการณ์ในประติทินบัตรฯ เป็นอดีตของคนอีกหลายๆ ชั่วอายุหลังจากนั้น คนรุ่น พ.ศ. 2433 เอง เขาก็ยังรู้สึกว่า แผ่นดินได้เริ่ม “เสื่อมรส” ไปก่อนหน้านั้นแล้วด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี เจตนารมณ์ร่วมในการพูดคุยเรื่องส้มๆ ในวันนั้น ที่ว่า การปลูก การซื้อพืชผักผลไม้ ตลอดจนผลผลิตประมงอินทรีย์ (organic) นั้น หากเรามองไปไกลๆ ย่อมคือการปลูก การซื้ออนาคตที่ดีของสภาพแวดล้อมโลกกลับคืนมาด้วยเช่นกัน ดังนี้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงปัญหา มุ่งแก้ไขอย่างมีสติ ก็อาจทำให้เรื่องเล่าอันเป็นตำนานแห่งความเสื่อมถอยนี้ ค่อยๆ เลือนราง กระทั่งหมดไปจากความทรงจำของเราในสักวันหนึ่งก็เป็นได้