คุกกี้จิ้งหรีด ผลิตภัณฑ์แปรรูป สร้างรายได้เสริม ของหญิงเก่งเมืองอุบลฯ

“แมลง” นับเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้การยอมรับ ถือเป็น “สินค้าส่งออกดาวรุ่ง” ที่มีอนาคตไกล ในปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการไม่น้อยที่เล็งเห็นโอกาสจากตรงนี้ พัฒนาแปรรูปแมลงไทยสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะจิ้งหรีดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด สำหรับการนำมาแปรรูปเป็นอาหารทั้งคาวและหวาน จนถึงขั้นมีการส่งเสริมให้เลี้ยงจิ้งหรีดในฐานะเป็นสัตว์เศรษฐกิจกันเลยทีเดียว

คุณณิชชา เมืองสนธิ์ หรือ พี่นุช อยู่บ้านเลขที่ 196/200 หมู่ที่ 6 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี รองประธานบิสคลับ จังหวัดอุบลราชธานี มีงานอดิเรกเป็นการแปรรูปสินค้าการเกษตร ทำทั้งที่ไม่มีพื้นฐานด้านการแปรรูปมาก่อน อาศัยเพียงความมีใจรัก และตั้งใจศึกษาหาข้อมูลจนเกิดเป็นความรู้และความชำนาญกลายเป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกรในการแปรรูปสินค้าเกษตรได้หลากหลาย

คุณณิชชา เมืองสนธิ์ หรือ พี่นุช

พี่นุช เล่าถึงที่มาการแปรรูปสินค้าการเกษตรว่า ตอนนี้ตนเองทำหลายหน้าที่ เป็นทั้งรองประธานบิสคลับ สมาชิกหอการค้า และสมาพันธ์ SMEs จังหวัดอุบลราชธานี มีงานอดิเรกเป็นการแปรรูปสินค้าเกษตรต่างๆ ส่วนจุดเริ่มต้นของการแปรรูปนั้น เกิดจากที่ส่วนตัวเป็นคนชอบทำอะไรใหม่ๆ การที่ได้เข้าใกล้ชิดกับเกษตรกรหลายๆ กลุ่ม จึงได้มองเห็นถึงปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่คือปลูกได้ขายเป็น แต่ยังขาดความรู้ที่จะต่อยอดพัฒนาสินค้าของตนเองให้ออกมานอกเหนือจากการขายผลสด จนทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดอยู่บ่อยครั้ง จึงอาศัยความมีใจรักและใช้ความเพียรในการศึกษาหาความรู้ หาวิธีช่วยเกษตรกรด้วยการแปรรูป

โดยเริ่มจากการแปรรูปฟักข้าว เพราะได้มีการศึกษาข้อมูลทั้งในและต่างประเทศแล้วว่า ฟักข้าวเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์มากมาย สามารถนำมาแปรรูปได้เป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ จึงเลือกฟักข้าวมาแปรรูปเป็นอย่างแรก จากนั้นค่อยๆ ศึกษาต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์อย่างอื่นเพิ่มเติม ถึงปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์แปรรูปตัวใหม่ที่ภูมิใจนำเสนอมากก็คือ “คุกกี้จิ้งหรีด” ซึ่งก็ยังไม่ทิ้งคอนเซ็ปต์เดิมเน้นช่วยเหลือเกษตรกร จากการที่ได้มีโอกาสเข้าไปดูวิธีการเลี้ยงจิ้งหรีดของกลุ่มเกษตรกรของจังหวัดอุบลราชธานี และได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงพูดคุยถึงปัญหาที่เกษตรกรพบเจอบ่อยๆ นั่นก็คือปัญหาจิ้งหรีดล้นตลาด ตนเองจึงใช้ปัญหาเหล่านี้พลิกให้เป็นโอกาสด้วยการนำจิ้งหรีดมาแปรรูป แต่ในตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าจะแปรรูปเป็นอะไร และบังเอิญได้รับรู้ข่าวสารมาว่าที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีงานวิจัยนำจิ้งหรีดมาทำเวย์โปรตีน จึงได้ทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและได้ค้นพบว่ากระบวนการทำเวย์โปรตีนจะต้องใช้จิ้งหรีดเป็นจำนวนมาก ยังไม่เหมาะกับการเริ่มต้น คิดไปคิดมาจนได้ไอเดียจากลูกสาวที่เปิดร้านเบเกอรี่ว่าให้ลองนำจิ้งหรีดมาทำเป็นคุกกี้ ก็ได้มีการทดลองทำตั้งแต่นั้นมาถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว

คุกกี้จิ้งหรีด โปรตีนสูง

คุกกี้จิ้งหรีด โปรตีนสูง
ช่วยลดน้ำหนักได้

พี่นุช บอกว่า ตนเองและลูกสาวใช้เวลากว่า 1 ปี ในการคิดค้นสูตรจนลงตัว ผ่านอุปสรรคในการทำมากมาย ทำไปแล้วคุกกี้ไม่จับตัวบ้าง มีกลิ่นเหม็นหืนบ้าง เนื้อคุกกี้ไม่แห้ง ทิ้งไว้ข้ามคืนกลายเป็นผงเพราะไล่ความชื้นออกไม่หมดบ้าง ซึ่งอุปสรรคที่พูดมาทั้งหมดนี้ทุกอย่างล้วนมีต้นทุน แต่ตนเองก็ยังไม่ทิ้งความฝันกลับมาตั้งหลักใหม่ คิดปรับสูตรมาเรื่อยๆ จนได้สูตรที่ลงตัว ออกมาเป็นในรูปแบบคุกกี้สิงคโปร์ สีสันสวยงามน่ารับประทาน แต่ยังคงความเป็นจิ้งหรีดไว้ในส่วนของกลิ่นและความมัน

เตรียมลงมือทำ

ขั้นตอนการแปรรูป

ถ้าจะให้ดีก่อนจับจิ้งหรีดมาแปรรูปควรงดอาหารหรือเปลี่ยนอาหารที่จิ้งหรีดกิน โดยเปลี่ยนจากหัวอาหารมาเป็นอาหารธรรมชาติ 2-3 วันก่อนจับ เพื่อให้จิ้งหรีดถ่ายมูลออกหมดและทางเดินอาหารสะอาด วิธีการนี้สามารถลดลดกลิ่นหัวอาหารไม่พึงประสงค์ในจิ้งหรีดได้ จากนั้นนำจิ้งหรีดไปล้างอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก การล้างน้ำให้สะอาด แล้วบรรจุถุง

หลังจากนั้น นำน้ำแข็งโปะทับถุงบรรจุจิ้งหรีดทันทีเพื่อทำให้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว หากบรรจุจิ้งหรีดในถุงปริมาณมาก ความเย็นจะเข้าถึงจิ้งหรีดที่อยู่ตรงกลางได้ช้า ผู้ผลิตควรพิจารณาใช้ถุงขนาดใหญ่ขึ้นแล้วเกลี่ยจิ้งหรีดให้กระจายเพื่อให้ถุงแบนลง ความเย็นจะเข้าถึงจิ้งหรีดที่อยู่ด้านในได้ง่าย หากต้องการเก็บรักษาจิ้งหรีดต้มควรเก็บในสภาพแช่เย็นหรือแช่แข็ง

วัตถุดิบในการทำคุกกี้จิ้งหรีด

เมื่อถึงขั้นตอนการแปรรูปจะแกะจิ้งหรีดที่แช่แข็งมาล้างน้ำให้สะอาดอีกครั้ง แล้วผ่านกระบวนการทำให้แห้ง ด้วยวิธีการอบหรือตากแดดก็ได้ ซึ่งตนเองเลือกใช้วิธีการอบให้แห้ง เนื่องจากเคยทดลองทำแบบวิถีชาวบ้านมาแล้วไม่ได้ผล คือการนำจิ้งหรีดมาคั่วแล้วตากแดด คุกกี้ออกมาไม่ได้ผลเท่าที่ควร

วัตถุดิบที่ต้องใช้

จากนั้นเข้าสู่กระบวนการบดให้ละเอียดด้วยวิธีการปั่น แล้วนำจิ้งหรีดที่บดแล้วเทผสมกับแป้งและวัตถุดิบที่เตรียมไว้ตามสูตร โดยมีข้อแม้ว่าขั้นตอนการบดจิ้งหรีดให้ละเอียดแต่ยังให้คงเท็กเจอร์ความเป็นจิ้งหรีดไว้ คือมีกลิ่นและรสชาติความมันของจิ้งหรีดอยู่ด้วย

โดยที่ผ่านมาทดลองทำมาแล้วหลายแบบมาก แต่คุกกี้ที่มีส่วนผสมของแมลงเมื่ออบแล้วตัวคุกกี้จะร่อนเป็นผงง่าย ปัจจุบันจึงปรับสูตรทำออกมาในรูปแบบของคุกกี้สิงคโปร์ แล้วได้ผลดี ตัวคุกกี้คงตัวไว้ได้นาน เก็บไว้ได้ประมาณ 1 อาทิตย์ เพื่อคงรสชาติเท็กเจอร์และกลิ่นของจิ้งหรีดให้คงอยู่

เทวัตถุดิบทั้งหมดเข้าด้วยกัน

การสร้างมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันรับซื้อจิ้งหรีดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 150 บาท จิ้งหรีด 1 กิโลกรัม สามารถนำมาทำคุกกี้ได้เป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคุกกี้ได้กว่าเท่าตัว จากเดิมเคยขายคุกกี้ได้กระปุกละ 35 บาท แต่พอมีการนำมาแปรรูปใส่จิ้งหรีดเข้าไปสามารถเพิ่มมูลค่าได้เป็นกระปุกละ 69 บาท ซึ่งตรงนี้ถือเป็นประโยชน์ทั้งกับเกษตรกรและผู้บริโภค ในส่วนของเกษตรกรคือการแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดและเป็นการสร้างรายได้เพิ่ม ในส่วนของผู้บริโภคก็ถือเป็นขนมเพื่อสุขภาพโปรตีนสูง เหมาะสำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนัก

ซึ่งนอกจากการนำจิ้งหรีดมาทำเป็นคุกกี้แล้ว ยังมีในส่วนของการนำจิ้งหรีดมาอบกรอบปรุงรส เป็นจิ้งหรีดรสหม่าล่า รสบาร์บีคิว และรสสาหร่ายอีกด้วย จะเห็นได้ว่าการแปรรูปมีประโยชน์มากมาย ซึ่งก็อยากฝากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเกษตรกรในส่วนนี้ด้วย เพราะยังมีเกษตรกรอีกมากมายที่พร้อมจะเรียนรู้แต่ยังขาดเงินทุนและความรู้ในการต่อยอด หรือในบางครั้งมีการแนะนำให้เกษตรกรกู้เงินมาลงทุน แต่พอกู้มาแล้วไปต่อไม่ได้ ปัจจุบันก็เป็นหนี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญกับการแปรรูปส่งเสริมเกษตรกรให้มากกว่านี้

ยอดขาย ถือว่าเป็นงานอดิเรกที่สร้างรายได้ดีในช่วงระยะเวลาสั้นๆ สามารถสร้างรายได้ถึงหลักหมื่น เพราะส่วนใหญ่จะทำขายแค่เฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ ขายเป็นของฝากของดีประจำจังหวัด ถ้าไม่ใช่ช่วงเทศกาลก็ไม่ได้กิน แต่ในอนาคตอยากที่จะทำให้เป็นของฝากที่มีคุณค่า ใครมาอุบลราชธานีจะต้องกินคุกกี้จิ้งหรีด ส่วนเรื่องของการส่งออกนั้นถือว่าเป็นความฝันที่อยากไปให้ถึงแต่คงยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะด้วยกำลังการผลิตที่น้อย สู้ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ได้ ซึ่งตรงนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาเพื่อผ่านวิกฤตตรงนี้เพื่อทำให้คุกกี้จิ้งหรีดกลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคให้ได้ และถ้าหากมีนายทุนมาสนับสนุนคิดว่าคุกกี้จิ้งหรีดนี้น่าจะไปได้อีกไกล เพราะตลาดต่างประเทศให้ความสนใจจิ้งหรีดที่เป็นอาหารแห่งอนาคตเป็นอย่างมาก

มาเริ่มทำกันเลย

การแปรรูปสินค้าเกษตร
อีกหนึ่งทางรอดของเกษตรกร

“ฝากถึงเกษตรกรทุกท่านที่ผลิตทั้งพืชผัก ประมง และปศุสัตว์ ถ้าคุณมองว่าคุณขายแค่ผลผลิตมันก็เหมือนการย่ำอยู่กับที่ ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลง จึงอยากให้เกษตรกรหันมาศึกษาข้อมูลและเริ่มทำ เพราะตอนนี้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้เองแล้ว พยายามศึกษาว่าสินค้าที่มีอยู่ในมือสามารถแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง ตั้งแต่อาหาร เครื่องสำอาง เวชสำอาง เพราะพี่นุชก็แปรรูปมาแล้วหลายอย่าง ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง รวมถึงน้ำยาอเนกประสงค์ต่างๆ และอยากให้มั่นใจว่าผลผลิตของเรามีคุณภาพ ถ้าคุณแปรรูปจากที่เคยขายได้ 5-10 บาท คุณจะขายได้เพิ่ม อาจจะมากจากเดิมหลายเท่าตัว ซึ่งมันจะเปลี่ยนทั้งชีวิตเพราะว่าเราอยู่ต้นน้ำอยู่แล้ว ถ้ากระบวนการทุกอย่างจบที่เรา นั่นหมายถึงความยั่งยืนในชีวิตเรา” พี่นุช กล่าวทิ้งท้าย

หากท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลหรืออยากปรึกษาการแปรรูปสินค้าการเกษตร พี่นุชยินดีให้คำปรึกษา ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (098) 239-9409