ซีพี ออลล์ ขานรับไทยแลนด์ 4.0 เดินหน้าส่งเสริม SME ภาคเกษตร เปิดช่องทางขายสินค้าแปรรูปพืชผลการเกษตรผ่านเซเว่นฯ

ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีสอดรับนโยบายไทยแลนด์4.0 พาเปิดบ้านชมกระบวนการผลิตทุเรียนแปรรูปชื่อดังของประเทศไทย ผลผลิตจากสวนเกษตรกรสู่ผลิตภัณฑ์ทุเรียนทอด “ชายน้อย” ของฝากขึ้นชื่อเมืองชุมพร กับกลยุทธ์และการพัฒนาช่องทางจำหน่ายผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรจากการรับซื้อทุเรียนสดปีละ 1,000 ตัน


นายบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าจากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอีที่สามารถผลิตสินค้าได้คุณภาพมาตรฐานและเป็นที่นิยมจากประชาชนมาโดยตลอด โดยบริษัทจะเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อส่งสินค้าตรงถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศผ่านสาขาร้านเซเว่นฯ ที่มีอยู่กว่า 9,700 สาขาทั่วประเทศ และผ่านบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ที่มีช่องทางการจำหน่ายผ่านนิตยสารทเวนตี้โฟร์ แคตตาล็อก ร้านสาขา ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ช้อปปิ้งสะดวกตลอด 24 ชั่วโมง

ปัจจุบันทั้งเซเว่น อีเลฟเว่น และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จัดจำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอีรวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 25,000 รายการ และมีการเพิ่มปริมาณสินค้าเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง

“สินค้าเอสเอ็มอีที่จำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นและทเวนตี้โฟร์ แคตตาล็อกมีหลากหลายประเภท โดยมีสินค้าหลายประเภทที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เช่น ผลไม้แปรรูป,เครื่องดื่ม,เบเกอรี่,ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และผลิตภัณฑ์ชุดเครื่องนอน โดยเฉพาะสินค้าการเกษตรที่นำมาแปรรูปเป็นสินค้าที่น่าสนใจและได้รับความนิยมจากประชาชนหลายรายการ เป็นการช่วยยกระดับพืชผลการเกษตรที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0” นายบัญญัติ กล่าว

นายสุรพงษ์ ณรงค์น้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายน้อยฟู้ด จำกัด

ด้านนายสุรพงษ์ ณรงค์น้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายน้อยฟู้ด จำกัด เจ้าของทุเรียนและกล้วยเล็บมือนางแปรรูป แบรนด์ “ชายน้อย” เล่าความเป็นมาในการทำธุรกิจว่า พื้นเพของครอบครัวเป็นคนจังหวัดชุมพร และคุณแม่ประกอบอาชีพเป็นแม่ค้าผลไม้ ไปซื้อผลไม้จากภาคต่างๆ แล้วนำมาขายที่ภาคใต้ รวมถึงรับซื้อทุเรียนแบบเหมาสวน ไปขายที่ตลาดสี่มุมเมืองกรุงเทพฯ

กระทั่งปี 2545 ราคาทุเรียนตกต่ำเหลือกิโลกรัมละไม่กี่บาท แม่จึงมีความคิดว่าน่าจะนำทุเรียนมาแปรรูปเป็น “ทุเรียนทอด” ในขณะนั้นจึงได้ตัดสินใจลาออกจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนหันหลังให้กับอาชีพพนักงานขาย และกลับมาที่บ้านเกิด
“ในปี 2546 ผมมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจทุเรียนทอด ซึ่งเป็นขนมที่นำไปเป็นของฝากได้ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ มีรสชาติอร่อย เนื่องจากชุมพรเป็นจังหวัดที่มีการปลูกทุเรียนที่มีชื่อเสียงอันดับที่สองของประเทศ และเป็นของฝากที่สามารถเก็บไว้ได้นาน

ด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงทำบรรจุภัณฑ์ มีโลโก้แบรนด์บ้านทุเรียนชายน้อยและส่งร้านขายของฝาก โดยได้รวมกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชนทุเรียนบ้านชายน้อยขึ้น และสินค้าได้รับเลือกให้เป็นโอทอป 4 ดาว จากเดิมที่ส่งสินค้าร้านขายของฝาก จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ค่อยๆขยายช่องทางการจำหน่ายไปที่จ.เพชรบุรี,จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงร้านขายของฝากต่างๆ” นายสุรพงษ์ เล่า


เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ตลาดขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการ SME ทุเรียนทอดจึงไม่หยุดในการมองหาช่องทางการขายใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทั่วถึง นั่นคือร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในปี 2552 ทุเรียนทอดแบรนด์ชายน้อยจึงเข้ามาวางขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี จากนั้นไม่นานสินค้าของ SME รายนี้จึงวางจำหน่ายในร้านเซเว่นฯ ทั่วประเทศ


“ทุเรียนทอดชายน้อย ขนาด 25 กรัม เป็นสินค้าชิ้นแรกที่นำเข้ามาขายในเซเว่นฯ จากนั้นได้ทำบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ผู้บริโภคสามารถซื้อไปเป็นของฝากได้ และยังได้พัฒนาทุเรียนทอดชิ้นเล็ก โดยนำมาทำเป็นเเครกเกอร์หน้าทุเรียน ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมด้านอาหาร นอกจากนี้ ยังมีสินค้ากล้วยเล็บมือนางอบแห้งแบรนด์ชายน้อยอีซี่ที่นำมาวางจำหน่ายผ่านร้านเซเว่นฯ อีกด้วย” ผู้ประกอบการ SME บอก


ผู้ประกอบการ SME ผลไม้แปรรูปกล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจผลไม้แปรรูป แบรนด์ “ชายน้อย” ว่า ส่วนหนึ่งมาจากทีมที่มีประสบการณ์ของเซเว่นฯที่คอยให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจ เริ่มตั้งแต่เข้ามาช่วยควบคุมดูแลการสร้างโรงงาน ดูแลสายการผลิตให้ถูกต้องได้มาตรฐาน และผลักดันให้บริษัทได้รับโอกาสในการอบรมผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับทีมงานของเซเว่นฯ อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเพิ่มเติม นอกจากนี้การเข้ามาเป็นคู่ค้ากับเซเว่นฯ ทำให้ผลิตภัณฑ์ “ชายน้อย” เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทำให้โรงงานได้รับการพัฒนาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ


“โรงงานของเรามีกระบวนการผลิตที่ควบคุมด้วยระบบ GMP และ HACCP ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพสูง รสชาติดีสม่ำเสมอถูกปากผู้บริโภค และปลอดภัย สำหรับวัตถุดิบที่ใช้เป็นผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง

ปัจจุบันบริษัทได้ส่งเสริมเกษตรกรด้วยการรับซื้อผลทุเรียนสดจากเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกทุเรียน อาทิ กลุ่มเกษตรกรพันวาล กลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกทุเรียนและผลไม้ สหกรณ์การเกษตรทะเลทรัพย์ เป็นต้น โดยรับซื้อจำนวน 1,000 ตันต่อปี และสามารถนำมาแปรรูปเป็นทุเรียนทอด 100 ตัน นับเป็นการช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างแท้จริง ที่สำคัญช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรในท้องถิ่น มีรายได้ที่มั่นคงและอยู่ได้อย่างยั่งยืน” นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีรายใดที่สนใจนำสินค้ามาจำหน่ายที่เซเว่น อีเลฟเว่น เหมือนผลไม้แปรรูปชายน้อยสามารถติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ www.cpall.co.th หรือ www.7eleven.co.th หรือติดต่อผ่านสำนักจัดซื้อของเซเว่นฯ เบอร์โทรศัพท์ 0-2677-9000 นอกจากนี้ บริษัท 24 Shopping จำกัด ในกลุ่ม ซีพี ออลล์ ยังได้ทำการตลาดผ่านทเวนตี้โฟร์ แคตตาล็อก ซึ่งเป็นระบบเมลล์ออร์เดอร์ที่ทันสมัย และผ่านช่องทางร้านสาขา รวมไปถึงเว็บไซต์ www.24catalog.com, www.Shopat24.com และให้บริการลูกค้าผ่าน Call Center 0-2711-7666 ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย