“ ‘จั๊บ จั๊บ’ SME ก๋วยจั๊บอุบล กึ่งสำเร็จรูป” ขายผ่านเซเว่นฯ ช่วยชุมชนไม่ตกงาน

พบผู้ประกอบการ SME รายเล็กๆ ก็สามารถผลิตกวยจั๊บกึ่งสำเร็จรูปได้ โดยอดีตผู้แทนยานำเมนูอาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อจากเมืองอุบล อย่าง “กวยจั๊บ” มาให้คนทุกภาคได้ลิ้มลองสุดฟิน แค่เติมน้ำร้อน 5 นาที ก็ทานได้ทันที บรรจุในรูปแบบซองและแบบถ้วย สร้างแบรนด์ “จั๊บ จั๊บ” (JUB JUB) ทานด่วนๆ สะดวกสบายทันใจ น้ำซุปกลมกล่อม เส้นทั้งเหนียวและนุ่ม นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมอาหารไทยที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตรีบเร่ง อีกทั้งยังสามารถสร้างเงินล้านให้กับเจ้าของธุรกิจท่ามกลางยุคโควิดอีกด้วย


น.ส.มนัสชญาณ์ อู่สมบัติชัย หรือ ยุ้ย คือ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เจ้าของธุรกิจ “SME ก๋วยจั๊บอุบล กึ่งสำเร็จรูป ‘จั๊บ จั๊บ’ ” ที่นำงานวิจัยมาต่อยอดกลายเป็นธุรกิจสุดปัง

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เล่าที่มาว่า ราวปี 2559 เห็นข่าวงานวิจัยเส้นกวยจั๊บกึ่งสำเร็จรูป ของ ผศ.ดร.จิตรา สิงห์ทอง อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะศิษย์เก่าและโปรดปรานเมนูนี้มาก เลยคิดต่อยอดทำธุรกิจ ด้วยการขอซื้อสิทธิบัตรงานวิจัยดังกล่าว ใช้เงินทุน 60,000 บาท คณะอาจารย์เล็งเห็นถึงความตั้งใจจริง มอบสิทธิ์ทางการค้าให้ ส่วนเครื่องเคียงมาเพิ่มเองทีหลัง

“ตอนแรกไม่มั่นใจเลยว่ากวยจั๊บกึ่งสำเร็จรูปจะขายได้ อาศัยใจรักเมนูนี้ ถ้าไม่สำเร็จอย่างที่คิด ก็ถือว่าได้ลองทำแล้ว จะให้ไปขายอย่างอื่นก็ไม่อยากทำ และกว่าที่สินค้าจะออกวางจำหน่าย ใช้เวลาพัฒนาต่ออีก 6 เดือน อาทิ ลดขนาดเส้นให้เล็กลง เพิ่มเติมเครื่องเคียง อาทิ น้ำซุป หอมเจียว หมูยอ บรรดาเครื่องเคียงที่หญิงสาวใช้ในระยะเริ่มต้นธุรกิจ เธอบอกว่า น้ำซุปใช้ผงสำเร็จรูปซื้อจากร้านทั่วไป หมูยอฟรีซดรายและหอมเจียวจ้างโรงงานผลิต เปิดตัววางจำหน่ายราวปี 2560 ขายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ส่งร้านของฝาก ทั้งในจังหวัดอุบลฯ และจังหวัดใหญ่ๆ ทางภาคอีสาน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ นักท่องเที่ยวซื้อกลับไปเป็นของฝาก คนอุบลไกลบ้านที่อยากกินเมนูท้องถิ่น ทว่าในช่วงแรกยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ลูกค้าติว่าน้ำซุปหวานไป กว่ารสชาติจะเหมือนต้นตำรับกวยจั๊บอุบล ใช้เวลาปรับปรุงนานเกือบ 2 ปี”

“เราไม่เคยทำธุรกิจอาหารมาก่อน ฉะนั้น ต้องหาข้อมูลเยอะมาก วิธีที่เลือกใช้ คือ ออกบู๊ธขายสินค้า ไปทุกงานเกือบทั่วจังหวัดอุบลฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าว่า ชอบ หรือไม่ชอบอะไร อดทนตระเวนออกงานแสดงสินค้าต่างๆ อยู่เกือบปี พยายามให้ลูกค้าได้ชิม และนำผลตอบรับนั้นมาปรับปรุง กวยจั๊บขายดีขึ้นเรื่อยๆ เกิดกระแสบอกต่ออย่างกว้างขวาง ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ปัจจุบัน “ก๋วยจั๊บอุบล กึ่งสำเร็จรูป จั๊บ จั๊บ” มีแบบถ้วย และแบบซอง มีรสดั้งเดิม กับ รสต้มยำกุ้ง ภายในบรรจุด้วยเส้นกวยจั๊บอบแห้งปราศจากสารกันเสีย ผงน้ำซุป หมูยอ กระเทียมเจียว ต้นหอมซอย เทน้ำร้อนเดือดจัด ทิ้งไว้ 5 นาที พร้อมทาน อายุการเก็บรักษานาน 6 เดือน จุดเด่น เส้นกวยจั๊บเหมือนกับเส้นต้มสด น้ำซุปกลมกล่อม หอมพริกไทย
เจ้าของธุรกิจ เผยวัตถุดิบที่ใช้ว่า เส้นกวยจั๊บ ทำจากแป้งข้าวเจ้า จ้างโรงงานในชุมชนผลิตเป็นเส้นสด จากนั้นนำมาอบให้เป็นเส้นแห้งกึ่งสำเร็จรูปภายในโรงงานของตัวเอง ปัจจุบัน ผลิตวันละ 400 กิโลกรัม หมูยอฟรีซดรายทำเอง หอมเจียวยังคงจ้างโรงงานผลิต กำลังผลิตประมาณ 25,000 – 30,000 ซอง และถ้วยต่อเดือน

แม้สินค้าจะเป็นที่รู้จักดีในจังหวัดอุบลฯ แต่ก็แค่เฉพาะกลุ่ม หนทางแห่งความสำเร็จที่จะทำให้คนทั้งประเทศรู้จักได้ คือ รางวัลจากเวที เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ ปี 2017 ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมและให้โอกาสแก่ผู้ประกอบการ SME นับว่ารางวัลดังกล่าวช่วยสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ให้กับธุรกิจตามมา

“ปี 2560 ตัดสินใจเข้าประกวด เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ ปรากฏได้รับรางวัล เสมือนเป็นใบเบิกทางให้ธุรกิจ เพราะเวทีดังกล่าวช่วยให้คนทั้งประเทศรู้จัก “ก๋วยจั๊บอุบล กึ่งสำเร็จรูป จั๊บ จั๊บ” หลังประกวดยอดขายก็เพิ่มขึ้น ตลาดกว้างขึ้น หลายๆ อย่างถูกพัฒนาไปในทิศทางที่ดี ความสำเร็จนี้เกิดจากทีมงานเซเว่น เข้ามามีบทบาท นับตั้งแต่ช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิต จนได้รับเครื่องหมาย GMP, HACCP, Codex ช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ช่วยโปรโมท ตลอดจนสินค้าได้ไปวางจำหน่ายในเซเว่น กว่า 3,600 สาขา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางเขตในพื้นที่กรุงเทพฯ

ปัจจุบัน ตลาดหลักของสินค้า 70 เปอร์เซ็นต์ นักธุรกิจสาวส่งเข้าห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และขายผ่านออนไลน์ ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ ส่งขายผ่านร้านเซเว่น หรือเดือนละประมาณ 16,000 ห่อ แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด ยอดขายก็ไม่ลดลง กลับเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
“ช่วงโควิดในปีที่ผ่านมา ยอดส่งร้านเซเว่นดีขึ้น จากเดิมส่งสินค้าสัปดาห์ละครั้ง ขยับเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพิ่มขึ้นราว 4,800 ซอง ต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากเซเว่น ที่กระตุ้นยอดขายด้วยโปรโมชั่น มีบริการ 7 Delivery อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าอยู่บ้านก็สามารถทำอาหารทานเองได้ง่ายๆ”

คุณมนัสชญาณ์ อธิบายเพิ่มว่า ช่วงวิกฤตโควิด -19 พนักงานที่มีอยู่ 25 คน ไม่มีใครตกงานเลย คนงานในโรงงานที่ส่งวัตถุดิบให้ก็มีงานทำ เกษตรกรที่ส่งข้าวเจ้าให้ก็มีรายได้

ถามถึงคู่แข่งทางการค้า ผู้ประกอบการสาว เผยว่า ปัจจุบันมีเพียงรายเดียว แต่ทว่าตลาดคนละกลุ่ม และจากการที่ได้เป็นคู่ค้ากับทางเซเว่น ซึ่งตนเป็นผู้ประกอบการรายย่อย มีความมั่นใจว่าจะได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย เพราะเซเว่นมีทีมงานมืออาชีพ ที่สำคัญให้โอกาสแก่ SME และเน้นสร้างความยั่งยืน สินค้าต้องขายได้ด้วยตัวเองแม้จะเจอวิกฤต

ทุกวันนี้อาณาจักร “ก๋วยจั๊บอุบล กึ่งสำเร็จรูป จั๊บ จั๊บ” บริหารงานโดย 5 พี่น้อง ตระกูล “อู่สมบัติชัย” โดยมี คุณมนัสชญาณ์ เป็นหัวเรือใหญ่ ธุรกิจอาหารที่เกิดขึ้นจากความชอบ เอาสิ่งใกล้ตัวมาเพิ่มมูลค่า สร้างแบรนด์ จนกลายมาเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน