“คุกกี้ถั่วลายเสือ” ผลิตภัณฑ์แปรรูปสร้างมูลค่า ของกลุ่มวิสาหกิจเกษตรทางเลือก จังหวัดแม่ฮ่องสอน

“ถั่วลายเสือ” หรือ “ถั่วลิสงพันธุ์กาฬสินธุ์ 2” ได้รับการปรับปรุงและรับรองพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น ถั่วราชินี ถั่วพระราชทาน ถั่วจัมโบ้ลาย และถั่วลายเสือ โดยในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานราชการตามโครงการตามพระราชดำริฯ สำหรับถั่วลายเสือ นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจุดเด่นถั่วลายเสือของแม่ฮ่องสอน จะมีความแตกต่างจากถั่วลายเสือที่ปลูกในจังหวัดอื่น คือรสชาติและเมล็ดที่ใหญ่ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นหุบเขา ดินอุดมสมบูรณ์ ทำให้ถั่วลายเสือเจริญเติบโตได้ดีและมีรสชาติอร่อยกว่าถั่วที่ปลูกในพื้นราบ

คุณเพ็ญพิกา เตือนชะวัลย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรทางเลือก

คุณเพ็ญพิกา เตือนชะวัลย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรทางเลือก อยู่ที่ 15/1 หมู่ที่ 3 ตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าถึงความเป็นมาของการเริ่มต้นปลูกถั่วลายเสือสร้างรายได้เสริมว่า ก่อนที่จะมีการปลูกถั่วลายเสือเป็นอาชีพเสริม อาชีพส่วนใหญ่ของคนในชุมชนคือการปลูกพืชไร่เศรษฐกิจทั่วไป เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ งา ถั่วเหลือง แต่เนื่องด้วยที่พืชหลักค่อนข้างมีราคาผันผวนและตกต่ำลงเรื่อยๆ ส่งผลไปถึงรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในครอบครัว จึงได้มีการระดมความคิดหาทางออกร่วมกันด้วยวิธีการรวมกลุ่มปลูกถั่วลายเสือขึ้นมาในปี 2545 มีจำนวนสมาชิกประมาณ 20 คน ปลูกคนละ 2-3 ไร่ ปลูกเรื่อยมาจนกลุ่มเริ่มมีความเข้มแข็ง จนกระทั่งในปี 2549 ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจเกษตรทางเลือกขึ้นมา ถือเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ร่วมกันขาย ช่วยกันทำ ผู้สูงอายุได้มีรายได้เข้ามาด้วย จนถึงปัจจุบันถั่วลายเสือได้กลายเป็นพืชเสริมที่สร้างรายได้แซงพืชหลักไปแล้ว

 

“ปลูกถั่วลายเสือ 5 ไร่”
สร้างรายได้ดี แซงพืชหลัก

คุณเพ็ญพิกา เล่าว่า ตนเองมีอาชีพปลูกพืชไร่เป็นหลัก ปลูกถั่วลายเสือเป็นอาชีพเสริมบนพื้นที่ 5 ไร่ โดยส่วนใหญ่แล้วในพื้นที่จังหวัดเชียงรายนิยมปลูกในช่วงฤดูฝนและช่วงหลังการทำนา แบ่งได้เป็น 3 ช่วง ดังนี้ 1. ช่วงต้นฤดูฝน ปลูกเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วลายเสือเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2. ช่วงปลายฤดูฝน ปลูกเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วลายเสือเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 3. ช่วงฤดูหลังจากการทำนา มีการปลูกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วลายเสือเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งพื้นที่ปลูกถั่วลายเสือในปลูกช่วงฤดูหลังจากการทำนาต้องอาศัยพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำหรือชลประทาน

ในส่วนของตนเองนั้น 1 ปี ปลูก 2 ครั้ง คือช่วงปลายฤดูฝนและช่วงฤดูหลังจากการทำนา มีขั้นตอนการปลูกที่ไม่ยุ่งยาก มีโรคและแมลงรบกวนน้อย เหมาะกับการปลูกบนพื้นที่ดินร่วน หรือร่วนเหนียว ชอบอากาศเย็น ขอบเขตพื้นที่ปลูก “ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน” และแปรรูปถั่วลายเสือคั่วเกลือ ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า อำเภอขุนยวม และอำเภอปาย

คุณเพ็ญพิกา เตือนชะวัลย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรทางเลือก

วิธีการปลูก

ลักษณะดินที่เหมาะสม…ในการเพาะปลูก คือดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนปนเหนียว

การเตรียมพื้นที่ปลูก…ไถกำจัดวัชพืช แล้วตากดินทิ้งไว้ 7-10 วันก่อนปลูก จากนั้นขุดหลุมเตรียมหยอดเมล็ด ในกรณีพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงให้ขึ้นร่องก่อนปลูก แต่ของที่นี่ไม่ต้องขึ้นร่องปลูกสามารถปลูกได้เลยเนื่องจากเป็นพื้นที่ดอน

ระยะปลูก…ควรเว้นระยะห่างระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 35-40 เซนติเมตร ระยะการปลูกถึงเก็บเกี่ยวของถั่วลายเสืออยู่ที่ประมาณ 90-100 วัน

เมล็ดพันธุ์ถั่วลายเสือเตรียมปลูก

การเตรียมเมล็ดพันธุ์ปลูก…ต้องคัดเมล็ดตอนที่เก็บเกี่ยวครั้งแรก โดยดูที่ความสมบูรณ์ของฝักที่มี 3 เมล็ดขึ้นไป และเลือกลักษณะทรงฝักให้มีขนาดหัวท้ายเท่าๆ กัน

การหยอดเมล็ดลงหลุม…หลุมลึก 3-5 เซนติเมตร หยอดหลุมละ 2-3 เมล็ด ก่อนหยอดเมล็ดปลูกให้ดูความชุ่มชื้นของดินด้วย หากปลูกช่วงที่ฝนไม่ตกก่อนปลูกให้รดน้ำทิ้งไว้ให้ดินมีความชุ่มชื้นก่อน 1 วัน ถึงค่อยหยอดเมล็ด หรือถ้าหากปลูกในฤดูฝนก็ต้องระวังอย่าให้ดินแฉะจนเกินไป

ระบบน้ำ…เลือกปลูกในช่วงฤดูฝนอาศัยน้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก แต่ถ้าปลูกในช่วงหลังการทำนาในเดือนแรกจะให้น้ำทุก 7 วัน หลังจากนั้น ปรับการให้น้ำจาก 7 เป็น 10 วัน ห้ามขาดน้ำช่วงถั่วอายุ 30-60 วัน

ปุ๋ย…เพื่อเป็นการเพิ่มธาตุอาหารและปรับปรุงดินในช่วงก่อนปลูกจะมีการไถกลบปุ๋ยพืชสด จากนั้นอีกประมาณสัก 2 เดือน จะมีการใส่ปุ๋ยรอบที่สอง เป็นปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือสูตร 13-13-21 ใส่ไม่ต้องมาก ปลูก 5 ไร่ ใช้ปุ๋ยเพียง 3 กระสอบ ต่อ 1 รอบการผลิต ต้นทุนต่ำ แต่จะลำบากในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ถอนต้น และการปลิดฝักถั่วออกจากต้นสักหน่อย

แครกเกอร์ถั่วเน่า และสเปรดถั่วลายเสือ

ปัญหาและอุปสรรคที่พบเจอ

ที่เจอบ่อยๆ คือปัญหาไส้เดือนฝอยทำลายราก วิธีป้องกันคือ ใช้น้ำหมักฉีดพ่น แต่วิธีที่ดีที่สุดและประหยัดที่สุดคือ การควบคุมและป้องกัน ควรมีการคลุมเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกเพื่อป้องกันแมลง หากเกิดหรือมีปัญหาก็สามารถผ่อนหนักให้กลายเป็นเบาได้

 

ต้นทุนการผลิตต่อไร่

ต้นทุนการผลิตต่อไร่ประมาณ 2,000 บาท ต่อไร่ แบ่งเป็นต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ปลูก แต่ขอแนะนำว่าจะต้องหาซื้อแหล่งที่น่าเชื่อถือมีการรับรองขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน ต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่เพราะถั่วเป็นพืชที่มีน้ำมันเยอะถ้าหากเก็บไว้ข้ามปีจะส่งผลต่ออัตราการงอกต่ำ หรือถ้าหากท่านใดสนใจทดลองสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ไปปลูกลองโทร.มาปรึกษาทางกลุ่มได้ โดยราคาขายทั่วไปจะอยู่ที่ปี๊บละประมาณ 300 บาท เมื่อนำมาแกะเปลือกออกแล้วจะเหลือเมล็ดอยู่ที่ประมาณ 2 กิโลกรัม เมื่อนำมาคัดไซซ์ คัดความสมบูรณ์แล้วที่เหลือจะปลูกได้ประมาณครึ่งไร่ต่อ 1 ปี๊บ

ออกบู๊ธ “งานมหัศจรรย์ ผลิตภัณฑ์ แม่ฮ่องสอน”

“คุกกี้ถั่วลายเสือ” ผลิตภัณฑ์แปรรูป
เพิ่มมูลค่า สะอาด อร่อย มีประโยชน์

เจ้าของบอกว่า จุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์คุกกี้ถั่วลายเสือ เกิดขึ้นจากที่ทางกรมพัฒนาชุมชนเข้ามาให้การสนับสนุนโครงการ โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มจะแปรรูปเป็นถั่วคั่วเกลือแค่อย่างเดียว แต่พอทางกรมพัฒนาชุมชนเข้ามาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ ถ่ายทอดกระบวนการผลิต นับว่าเป็นประโยชน์กับทั้งทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและคนในชุมชน ในเรื่องของการเพิ่มรายได้ ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีรายได้จากที่เคยนั่งอยู่บ้านเฉยๆ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการที่วิสาหกิจชุมชนได้เกิดการพัฒนาไปอีกขั้น รู้จักวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น ถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

กระบวนการแปรรูปคุกกี้ถั่วลายเสือ

วัตถุดิบ

  1. ถั่วลายเสือคั่วเกลือ
  2. เมล็ดอัลมอนด์
  3. งาขาว
  4. งาดำ
  5. แก้วมังกรอบแห้ง
  6. กล้วยอบแห้ง
  7. น้ำผึ้ง
  8. ไข่ขาว 5 ฟอง

ขั้นตอนการทำ

  1. นำถั่วลายเสือที่คั่วเกลือแล้วมากะเทาะเปลือกออก จากนั้นนำเมล็ดถั่วลายเสือที่กะเทาะเปลือกเสร็จแล้วไปบด
  2. นำวัตถุดิบธัญพืชที่เตรียมไว้มาผสมกับถั่วลายเสือ 100 กรัม ที่บดแล้วเรียบร้อย
  3. แล้วเอาเฉพาะไข่ขาวจำนวน 5 ฟอง ตีใส่ลงไปเป็นตัวผสาน
  4. โดยคุกกี้จะมี 2 สูตร คือสูตรสำหรับคนรักสุขภาพจะไม่ใส่น้ำผึ้ง และสูตรสำหรับคนทั่วไปจะผสมน้ำผึ้งลงไปเพื่อเพิ่มความหวานหอมเข้าไปด้วย
  5. จากนั้นนำไปเข้าแม่พิมพ์กดแผ่น
  6. นำไปอบประมาณ 20 นาที แล้วเอาออกมาผึ่ง แล้วนำกลับเข้าไปอบอีกครั้งในเวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นนำมาบรรจุในถุงซีล (ในขั้นตอนการบรรจุใส่ถุงต้องรีบทำให้ไว ถ้าปล่อยไว้นานมันจะไม่กรอบ) แล้วบรรจุใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วติดสติ๊กเกอร์แบรนด์ “อิ่มสุข”

จุดเด่นของคุกกี้ลายเสือ…กินง่ายเหมาะกับทุกเพศทุกวัย อุดมไปด้วยคุณประโยชน์จากธัญพืช รสชาติหวานธรรมชาติจากถั่ว อุดมไปด้วยไขมันดี มีสรรพคุณบำรุงประสาทตา บำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญ อีกทั้งยังมีเส้นใยอาหาร เป็นประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย และพิเศษสำหรับสตรีที่ต้องให้นมบุตร ถั่วลายเสือจะช่วยบำรุงน้ำนมได้ดี

การเพิ่มมูลค่า…จากเดิมขายถั่วลายเสือคั่วเกลืออย่างเดียวในราคาถุงละ 50 บาท บรรจุ 150 กรัม ถุง 100 บาท บรรจุ 300 กรัม และถุง 350 บาท บรรจุ 1 กิโลกรัม แต่เมื่อมีการนำมาแปรรูปแล้วใช้ถั่วลายเสือเพียงอัตรา 100 กรัม นำมาผสมกับธัญพืชต่างๆ สามารถทำคุกกี้ออกมาได้ประมาณ 70-80 ชิ้น ราคาชิ้นละ 15-20 บาท 1 กระปุก บรรจุ 3 ชิ้น ขายในราคา 50 บาท มาเทียบกันแล้วการแปรรูปออกมาเป็นคุกกี้สามารถเพิ่มมูลค่าได้เยอะมาก จึงถือเป็นช่องทางการสร้างรายได้ที่คุ้มค่า และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีมากๆ สำหรับกลุ่มเรา

รายได้…จากการขายผลผลิตทั้งหมดหากเป็นฤดูท่องเที่ยวหรือได้ไปออกบู๊ธขายตามงานเทศกาลต่างๆ สามารถสร้างรายได้ครั้งละประมาณ 40,000-50,000 บาท ต่อการออกบู๊ธ 1 ครั้ง และได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าทุกครั้ง ถั่วลายเสือปลูกแล้วไม่ต้องวิ่งหาตลาด ตลาดวิ่งเข้ามาเอง มีพ่อค้ามาจองถึงที่

ถั่วลายเสือคั่วกรอบ

ฝากถึงเกษตรกร หันมาเห็นความสำคัญของการแปรรูป

“ก็อยากให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มแปรรูป มองเห็นว่าตลาดการแปรรูปดียังไง ถ้าเราเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวเราจะไม่สามารถมีกำลังต่อรองกับพ่อค้าไม่ได้เลย ราคาก็อยู่ที่พ่อค้า พันธุ์ก็อยู่ที่พ่อค้า พ่อค้าจะเข้ามาผูกขาดหมดเลย แต่ถ้าคิดกลับกัน เรามาลองยืนด้วยขาตัวเองให้ได้ ปลูกเอง ขายเอง แปรรูปเอง หรือมีการรวมกลุ่มให้เกิดความเข้มแข็ง มีอำนาจในการต่อรอง ยกตัวอย่างที่กลุ่มพ่อค้ามาซื้อแล้วขอลดราคา ทางกลุ่มจะมีการปรึกษากันแล้วว่าจะไม่มีการลดราคาเกิดขึ้นเพราะถือเป็นการตัดช่องทางของคนอื่น แต่จะเป็นวิธีการแถมให้มากกว่า ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องมีน้ำใจให้กัน สุดท้ายก็อยากฝากบอกกับเกษตรกรทุกคนว่า ถ้าชุมชนไหนพอที่จะมีกำลังจัดตั้งกลุ่มให้รีบทำ ทำให้กลุ่มของตัวเองเข้มแข็งให้ได้ เมื่อถึงวันนั้นแล้วความเจริญต่างๆ จะเข้ามาหาเราเอง โดยที่เราไม่ต้องไปดิ้นรนเลย” คุณเพ็ญพิกา กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณข้อมูลจาก : “คู่มือฉบับนี้เป็นลิขสิทธิ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน”

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ถั่วลายเสืออิ่มสุข สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (095) 867-3927