หมวกใบลานทอง วังม่วง สระบุรี งามเก๋ไก๋ ทำขายสร้างรายได้มั่นคง

หมวก…เมื่อสวมใส่จะช่วยคลายร้อนจากแสงแดด ป้องกันน้ำหรืออากาศเย็นหนาว หมวกทำด้วยกระดาษ ผ้า หนังสัตว์ หรือใบไม้ ในด้านการผลิตที่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านท่าฤทธิ์ ได้ตัดใบลานทองพืชในท้องถิ่นมาจักสานทำเป็นหมวกหลายรูปทรงหลายขนาด เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สวยงามน่าสวมใส่ที่มีผู้สนใจมาเลือกหาเลือกซื้อไปใช้หรือนำไปเป็นของฝาก ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้และมั่นคงในการยังชีพ วันนี้จึงนำเรื่อง หมวกใบลานทอง งามเก๋ไก๋ ทำขายสร้างรายได้มั่นคง มาบอกเล่าสู่กัน

คุณบานเย็น สอนดี ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านท่าฤทธิ์ เล่าให้ฟังว่า ทุกครั้งที่เกษตรกรลงไปทำงานในไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และทำไร่อ้อย ส่วนใหญ่จะสวมหมวกเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดหรือน้ำฝน

คุณบานเย็น สอนดี

เมื่อหลายสิบปีก่อนพื้นที่ทำการเกษตรบ้านท่าฤทธิ์ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี น้ำท่วมนานทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหาย ต่อมาสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวังม่วง อุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอวังม่วง และสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี และอีกหลายหน่วยงานภาครัฐได้มาตรวจเยี่ยม พร้อมกับส่งเสริมให้นำใบลานทองที่มีในท้องถิ่นมาจักสานเป็นหมวกหรือของใช้อื่นๆ ขายเป็นรายได้ ทำให้หมวกใบลานทองที่ผลิตออกมาวางขายเป็นที่ต้องการของตลาดและเสริมสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่ม

การดำเนินงาน คณะกรรมการได้แบ่งและมอบหมายให้สมาชิกทำงานตามความสามารถของแต่ละบุคคล ส่วนกรรมการและสมาชิกท่านอื่นก็ทำหน้าที่หรืองานแตกต่างกันไป โดยประธานกลุ่มจะดูแลเรื่องงานทั่วไป

การผลิตหมวกใบลานทอง กลุ่มแบ่งการทำงาน 2 ลักษณะคือ สมาชิกมารวมกันจักสานหมวกที่กลุ่ม และวิธีที่ 2 สมาชิกจักสานอยู่ที่บ้าน ทำงานตามความสามารถหรือฝีมือของแต่ละคน ก็จะมีรายได้แตกต่างกันไป เช่น

สมาชิกที่ผลิตกล่องใส่เพชรพลอยจะมีรายได้ 1,500-2,500 บาท ต่อเดือน ต่อคน ส่วนสมาชิกที่จักสานหมวกแบบต่างๆ จะมีรายได้ 2,500-3,000 บาท ต่อเดือน ต่อคน ส่วนสมาชิกที่ทำกิจกรรมอื่นๆ ก็จะมีรายได้ 500-800 บาท ต่อเดือน ต่อคน

ได้นายแบบกิตติมศักดิ์

คุณบานเย็น เล่าให้ฟังอีกว่า การจักสานหมวกใบลานทองเป็นงานที่ต้องทำด้วยความประณีต ใช้ความตั้งใจ อดทนหรือขยัน ก็จะได้หมวกใบลานทองที่งดงามน่าสวมใส่ ซึ่งขั้นตอนการทำมี ดังนี้

1. จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ ใบลานทอง กรรไกร มีดเลาะก้านลาน เครื่องเลียดใบลานทอง หุ่นหมวก วงใน สารฟอกขาวหรือสีย้อมใบลานทอง

2. ตัดยอดลาน นำส่วนใบมาตาก 3-5 แดดให้แห้ง จากนั้นใช้มีดเลาะเอาใบออกจากก้าน นำใบลานทองมาเลียดเป็นเส้นให้ได้ขนาดแตกต่างกัน 3 ขนาด คือ ใหญ่ กลาง และเล็ก

3. จากนั้นนำใบลานทองไปแช่ในสารฟอกขาว 3 คืน การเตรียมสารฟอกขาว จะใช้สารฟอกขาวอัตรา 1 กิโลกรัม ใส่ลงไปผสมกับน้ำสะอาด 60 ลิตร ใช้ไม้กวนผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำใบลานทองลงไปแช่ 4.5 กิโลกรัม ต่อครั้ง เมื่อแช่ใบลานทองครบตามกำหนดเวลาแล้ว ได้นำใบลานทองไปล้างน้ำ นำไปผึ่งลมหรือตากแดดให้แห้ง

4. นำใบลานทองที่ตากแห้งแล้วมาขึ้นรูปกับฐานหมวก ทำการจักสานใบลานทองไปตามรูปแบบหมวกที่ได้ออกแบบลวดลายไว้ นำหมวกที่จักสานเสร็จมาทาด้วยแล็กเกอร์หรือน้ำยาเคลือบเงา ตากผึ่งให้แห้งแล้วตกแต่งให้สวย

5. ตกแต่งหมวกให้สวยงาม นำหมวกที่ทำเสร็จและตากแห้งแล้วมาตกแต่งลวดลายด้วยหนังหรือผูกโบเพื่อเติมแต่งให้ได้สีสันสวยสดงดงาม พร้อมนำไปสวมใส่ เป็นของฝาก หรือนำไปจำหน่าย

การเลียดใบลานทอง เป็นการจัดการทำใบลานทองให้เป็นเส้นที่แตกต่างกัน 3 ขนาด คือ เส้นใหญ่ เส้นเล็กทึบ และเส้นเล็กโปร่ง เพื่อให้หมวกที่จักสานมีความสวยงามต่างกัน ใบลานทองเส้นใหญ่เมื่อจักสานเป็นหมวกคาวบอยขายส่ง 300 บาท เส้นเล็กทึบขายส่ง 450 บาท และเส้นเล็กโปร่งขายส่ง 550 บาท

พร้อมกันนี้ ก็ได้จัดส่งหมวกไปขายตลาดต่างจังหวัดหลายขนาดและรูปแบบ ราคา 280-550 บาท ต่อใบ นอกจากนี้ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรก็ได้รับงานพิเศษจากบริษัทของคนไทยแห่งหนึ่งให้ช่วยจัดทำกล่องใส่เพชรพลอยกว่าหมื่นชิ้นเพื่อส่งไปขายประเทศสหรัฐอเมริกา ราคา 15-20 บาท ต่อชิ้น เป็นกล่องกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 เซนติเมตร และสูง 2 เซนติเมตร

การปลูกต้นลานทอง ที่หมู่บ้านมีพื้นที่ปลูกต้นลานทอง 5 ไร่ ในราว 400 ต้น ใช้ประโยชน์ได้ต่อเนื่องหลายปี ต่อมาสมาชิกได้ปลูกต้นลานทองเพิ่ม 400 ต้น ด้วยการนำเมล็ดไปเพาะในถุงจากนั้นในราว 45 วัน เมล็ดจะงอกเป็นต้น มี 1 ใบ อีก 15 วันจะเริ่มมีใบที่ 2 และทุกๆ 15 วันจะแตกใบใหม่ออกมาอีกไปกระทั่งเป็นได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์จึงนำไปลงปลูก เมื่อปลูกต้นลานทอง 7 ปีได้ต้นที่สมบูรณ์ก็เริ่มตัดใบมาใช้ประโยชน์ และจะใช้ได้นาน 80 ปี

ลักษณะต้นลานทอง ใบสีขาว อ่อนนุ่ม ไม่แตกหักง่าย ต้นลานเขียว ใบสีขาวอมเขียว เนื้อไม่ละเอียด ต้นลานป่า ใบเปราะทำอะไรได้ไม่ดี มีเกษตรกรจากจังหวัดสุพรรณบุรีและสมุทรปราการมาซื้อใบลานทอง 160-180 บาท ต่อกิโลกรัม เพื่อนำไปจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ขายเพื่อเสริมสร้างรายได้

การพัฒนาผลิตภัณฑ์หมวก สำนักงานเกษตรอำเภอวังม่วง สำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี ได้นำสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรไปดูงานด้านการทอผ้าและการจักสานที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสุโขทัย และอีกหลายแห่ง ทำให้สมาชิกได้เรียนรู้วิธีการออกแบบลวดลาย การใช้สีที่เหมาะสม หรือการใช้เทคนิคต่างๆ แล้วนำมาพัฒนางานการจักสานใบลานทองให้ได้คุณภาพเพื่อสนองตอบความต้องการผู้ซื้อ

และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านท่าฤทธิ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของสมาชิกแม่บ้านเกษตรกรในเขตพื้นที่ข้างเคียงทั้งภายในจังหวัดและจากต่างจังหวัด มีสมาชิกมาเรียนรู้ 15-20 คน ต่อครั้ง ใช้ระยะเวลาการเรียนรู้และฝึกอบรม 30-60 วัน

คุณบานเย็น สอนดี ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านท่าฤทธิ์ เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า คุณสมบัติของใบลานทองคือ มีเนื้อละเอียดอ่อนและเหนียว ไม่อมความชื้น ไม่สกปรกง่าย ไม่มีเชื้อรา เมื่อผ่านกระบวนการอบ สีที่ฟอกจะขึ้นมันเงา สวยงาม พร้อมให้ท่านได้เลือกซื้อหมวกใบลานทองไปสวมใส่หรือนำไปเป็นของฝาก

คุณทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กับมาตรการโครงการช่วยเหลือเกษตรกรฤดูแล้งปี 2564

จากเรื่องราว หมวกใบลานทอง งามเก๋ไก๋ ทำขายสร้างรายได้มั่นคง เป็นหมวกใบลานทองที่สวมใส่แล้วเท่ หรือใช้กล่องใส่เพชรพลอยสวยงามเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ มีความมั่นคง สอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านท่าฤทธิ์ เลขที่ 11/3 หมู่ที่ 1 บ้านท่าฤทธิ์ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี 18220 โทร. (081) 852-6354 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี โทร. (036) 359-021 หรือที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี โทร. (036) 211-443 ก็ได้ครับ