จับปูนาใส่แบรนด์ “ปูนาอาร์เธอร์” ที่ขอนแก่น ยกระดับฟาร์มปูนาเชิงพาณิชย์ครบวงจร

ทุกวันนี้ปูที่อาศัยตามท้องนาอย่างสมัยดั้งเดิมคงหาได้ไม่ง่าย เพราะหมดสิ้นไปกับปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้ปลูกข้าว เมื่อปูหายากแล้วยังไม่ปลอดภัยทำให้เดือดร้อนชาวบ้านที่นำปูไปใช้ประกอบอาหาร ขณะที่ตลาดทั่วไปยังมีความต้องการบริโภคปูนาอยู่ตลอด ดังนั้น จึงเกิดเป็นอาชีพเลี้ยงปูนาขึ้น

ผู้ประกอบอาชีพส่วนมากหันไปเพาะพ่อ-แม่พันธุ์ขายมากกว่า ใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติเป็นปูนาระบบน้ำใสในวงบ่อหรือบ่อซีเมนต์ทำให้สามารถเลี้ยงได้ทุกแห่ง เลี้ยงเป็นรายได้หลักหรือรายได้เสริม ลงทุนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละราย ได้ผลตอบแทนดี

คุณวธชสิทธิ์ ศรีสร้อย หรือคุณต้าเจ้าของฟาร์มปูนาอาเธอร์ปาร์ค
กระดองปูเปล่าส่งขายตามร้านอาหาร

อาชีพปูนาไม่ได้หยุดเพียงการซื้อ-ขายพ่อแม่พันธุ์เท่านั้น เนื่องจากผู้เลี้ยงรุ่นใหม่ยังก้าวหน้าไปอีกระดับด้วยการดึงเทคโนโลยีออนไลน์ร่วมกับการตลาดเปิดคอร์สอบรมการเลี้ยงปูนาเชิงพาณิชย์ขึ้นหวังบูรณาการอาชีพเลี้ยงปูนาให้มีความทันสมัยและครบวงจรเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขาย

คุณวธชสิทธิ์ ศรีสร้อย หรือ คุณต้า เจ้าของฟาร์มปูนาอาเธอร์ปาร์ค หมู่บ้านเลคไซด์วิว ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ฟาร์มแห่งนี้ระยะแรกเลี้ยงปูเพื่อขายพ่อ-แม่พันธุ์ ต่อมาพัฒนาระบบการเลี้ยงอย่างมีคุณภาพจนนำไปสู่การขยายตลาดเพื่อแปรรูปปูนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหลายประเภท พร้อมเปิดคอร์สอบรมการทำอาชีพเลี้ยงปูนาระยะสั้นและยาว ในรูปแบบโนว์ฮาวและการตลาดเพื่อสร้างฐานผู้เลี้ยงปูนาที่มีคุณภาพให้เพิ่มมากขึ้น

ลูกชิ้นมันปูนา
ส่งพ่อ แม่พันธุ์ให้ลูกค้า

คุณต้าทำฟาร์มเลี้ยงปูนาได้ราวปีเศษ ก่อนหน้านั้นคลุกคลีอยู่ในวงการเลี้ยงปูนากับเพื่อน แล้วยังเปิดตลาดออนไลน์ขายปูนาให้กับเพื่อนจนมีรายได้ดี

คุณต้ามองว่าการเลี้ยงปูนาขายพ่อ-แม่พันธุ์อย่างเดียวคงน้อยเกินไป แล้วอาจถึงทางตัน จนทำให้ราคาต่ำในอนาคต อีกทั้งยังมองเห็นว่าปูนายังสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกหลายอย่างจึงได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ปูนาอีกหลายชนิดแบรนด์ “ปูนาอาร์เธอร์” ส่งขายเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า

ฟาร์มปูนาของคุณต้ามีรูปแบบธุรกิจครบวงจร โดยศึกษาหาข้อมูลวิธีเลี้ยงปูนาทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการวางแผนธุรกิจ จนไปลงตัวที่รูปแบบฟาร์มแบบบูรณาการ 2 ส่วน คือการทำฟาร์มเลี้ยงปูนาแบบเกษตรกรรม และการแปรรูป ดังนั้น ฟาร์มปูนาอาร์เธอร์จึงมีทั้งการเพาะเลี้ยงขายพ่อ-แม่พันธุ์ แปรรูปเป็นสินค้า เป็นศูนย์เรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว พร้อมกับเปิดหลักสูตรอบรมคอร์สการเลี้ยงปูนาเชิงธุรกิจ 

การเลี้ยงปูนาแบบเกษตรกรรม

คุณต้ามีฟาร์มปูนา 2 แห่ง แห่งแรกอยู่ในตัวเมืองมีพื้นที่ประมาณ 2 งาน เป็นฟาร์มที่ไม่ได้เน้นเลี้ยงปูขาย แต่ต้องการจัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว อีกแห่งมีพื้นที่จำนวน 4 ไร่ อยู่อำเภอโคกโพธิ์ไชย สร้างเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงอย่างเดียว เป็นฟาร์มบ่อดินทั้งหมด ผลิตและขายพันธุ์ปูได้ 3-4 เดือนในรอบปี

กระชังบกเลี้ยงปูนา
ซาลาเปามันปูนา แป้งนุ่ม หอม

ฟาร์มที่จัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้ แบ่งพื้นที่ 50 เปอร์เซ็นต์เป็นบ่อเลี้ยงจำนวน 14 บ่อ มีทั้งบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชังบก

บ่อดิน จะมีลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียงธรรมชาติ ลักษณะการสร้างบ่อดินจะทำแนวล้อมคอกจากวัสดุ อาทิ กระเบื้อง ฟิวเจอร์บอร์ด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปูไต่หนี ด้านในให้ขุดเป็นร่อง เป็นบ่อใส่น้ำแล้วปลูกพืชน้ำในบ่อให้มากที่สุด ความลึกบ่อดินถ้าอยู่ในเขตเมืองควรลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ส่วนความกว้าง ยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่แต่ละแห่ง อย่างบ่อของฟาร์มคุณต้ามีขนาด 4 คูณ 8 เมตร

ข้อดีของบ่อดินคือมีอัตรารอดสูง การขยายพันธุ์สูง ส่วนข้อเสียคงเป็นเรื่องความสะอาดตัวปูเพราะปูที่เลี้ยงในบ่อดินจะไม่สะอาด กับบ่อดินไม่เหมาะกับในเมืองเพราะในเมืองไม่ค่อยมีพื้นที่ดิน ขณะเดียวกัน การเลี้ยงปูนาในบ่อดินเหมาะกับพื้นที่แบบทุ่งนาซึ่งจะต้องดูแลเรื่องระบบน้ำ ไฟ รวมถึงการป้องกันความปลอดภัยหากมีพวกมิจฉาชีพ

บ่อซีเมนต์น้ำใส และกระชังบก เป็นวิธีเลี้ยงปูนาที่ได้รับความนิยมเพราะดูแลจัดการง่าย ใช้พื้นที่ไม่มาก ตัวปูสะอาด สะดวกและรวดเร็วต่อการจับขาย บ่อที่แนะนำควรมีขนาด 2 คูณ 3 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร สำหรับการเลี้ยงในแบบกระชังเหมาะสำหรับผู้เลี้ยงมือใหม่หรือยังไม่มีความแน่นอนในเรื่องสถานที่เลี้ยง โดยกระชังสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกหากมีการเปลี่ยนแปลง กระชังบกหาซื้อได้ง่าย มีผลิตจำหน่ายทั่วไป

ปูท้องแก่พร้อมคลอด

ฟาร์มคุณต้าจะเลี้ยงปูขายพ่อ-แม่พันธุ์ ปูนาที่เลี้ยงมี 2 สายพันธุ์คือ พันธุ์พระเทพ มีกระดองเป็นสีพื้น สีม่วงคล้ำเข้ม กับพันธุ์กำแพง มีกระดองเป็นลายกระสีน้ำตาลอ่อน โดยทั้งสองพันธุ์มีจุดเด่นเรื่องขนาดใหญ่ ให้จำนวนลูกได้มากเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ตัวโตเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 1 ขีด มีอายุ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 ปี

คุณต้าบอกว่าเวลาเลี้ยงไม่ได้แยก จะเลี้ยงรวมทั้งสองพันธุ์ ดังนั้น ลูกปูทุกรุ่นจึงมีลักษณะสีและแบบแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือมีขนาดใหญ่ ปูที่พร้อมจะผสมพันธุ์หรือได้เวลาขายจะใช้วิธีวัดกระดองที่มีขนาด 4.5 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีอายุเกือบ 6 เดือน

วิธีดูเพศให้สังเกตใต้ท้องปู ถ้าเป็นตัวผู้บริเวณกลางหน้าอกจะมีแท่งแหลมซึ่งเป็นอวัยวะเพศ ส่วนตัวเมียใต้ท้องจะเรียบเป็นทรงป้าน

พ่อ แม่พันธุ์บรรจุกล่องเตรียมส่งตามออเดอร์
เลี้ยงในบ่อซิเมนต์

ช่วงฤดูผสมพันธุ์จะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ส่วนการผสมพันธุ์และวางไข่ของปูนา ถ้าเป็นบ่อดินจะเลี้ยงรวมตั้งแต่เล็กไปจนมีลูก แต่บ่อซีเมนต์หรือกระชังจะแยกตัวเมียออกเมื่อท้องแก่ ทั้งนี้ การจัดระบบนิเวศในบ่อแต่ละชนิด ถ้าเป็นบ่อดินจะปลูกพืชน้ำให้มากเพื่อคลุมบ่อให้มีลักษณะเป็นธรรมชาติ ส่วนบ่อซีเมนต์และกระชังจะใช้กระบอกไม้ไผ่เพื่อให้ตัวเมียท้องแก่เข้าไปวางไข่ ควรตรวจกระบอกไม้ไผ่อาทิตย์ละครั้ง หรือสังเกตใต้ท้องปูถ้ามีสีเทาเข้มแสดงว่าใกล้คลอด แล้วจึงแยกแม่ปูออกมาไว้อีกแห่งหนึ่ง

ระดับน้ำในบ่อซีเมนต์และกระชังควรสูงประมาณ 8-15 เซนติเมตร ต้องเปลี่ยนน้ำในบ่อเลี้ยงทุก 3 วัน ตัวเมียที่ผสมพันธุ์แล้วจะไปอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ที่ตั้งวางอยู่ด้านบน โดยมีแผ่นกระเบื้องที่วางไขว้เป็นกากบาทอยู่ด้านล่าง แล้วให้ปิดทับด้วยใบตาลหรือใบลาน ส่วนตัวเมียที่ผสมพันธุ์ตั้งท้องแล้วในบ่อดินจะขุดรูแล้วเข้าไปอยู่ในรูแล้วเขี่ยดินปิดปากรู

ปูนากินอาหารได้หลายชนิด

คุณต้าบอกว่าอาหารที่ใช้เลี้ยงปูนาที่ต้องมีติดไว้อย่าให้ขาดคือ อาหารปลาดุกเบอร์เล็ก นอกจากนั้น อาจใช้ผลไม้สุกรสหวาน เช่น มะละกอ มะม่วง หรือกล้วย แล้วยังมีปลาสด โครงไก่ต้ม และพืชน้ำ โดยจะให้ปูกินสลับกันไปทีละอย่างเวียนไปจนครบ ทั้งนี้ อาหารและผลไม้อาจขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ แต่ควรต้องมีอาหารปลาดุกเบอร์เล็กติดไว้อย่าให้ขาด

การให้อาหารปูเพียงวันละครั้ง ในช่วงก่อนค่ำ ปริมาณการให้ถ้าเป็นปลาสดให้สับเป็นชิ้นขนาดนิ้วโป้ง ถ้าเป็นอาหารเม็ดให้จำนวน 8-10 เม็ด

ตัวเมียที่ผสมพันธุ์แล้วจะไปอยู่ใต้แผ่นกระเบื้องที่วางไขว้เป็นกากบาท

จำนวนปูกับขนาดพื้นที่ควรมีสัดส่วนที่สมดุลกัน เพราะเมื่อปูที่ความเป็นอยู่อย่างสะดวก ไม่แออัด ไม่ทำให้ปูเครียด จะช่วยเพิ่มคุณภาพความสมบูรณ์ให้มากขึ้น คุณต้าชี้ว่าจำนวนกับขนาดที่เหมาะสมคือพื้นที่ 1 ตารางเมตรให้เลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์จำนวนไม่เกิน 30 ตัวสำหรับบ่อน้ำใสและกระชัง ส่วนบ่อดินพื้นที่ 1 ตารางเมตรควรเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์เพียง 20 ตัว

อย่างไรก็ตาม ระหว่างเลี้ยงจะมีทั้งปูตายและเกิดใหม่ หากเป็นบ่อน้ำใส อาจสังเกตประชากรปูได้ง่าย แต่ถ้าเป็นบ่อดินคงยาก ดังนั้น ควรต้องประเมินประชากรในบ่อดินทุก 3 เดือน โดยเฉพาะหน้าฝนจะมีลูกปูเกิดใหม่จำนวนมากกว่าปกติ หากพบว่ามีประชากรมากเกินไปควรจับขายหรือขยายบ่อใหม่

ตัวเมียที่ตั้งท้องจะขุดรูเข้าไปอยู่ในบ่อดิน
ผลิตภัณฑ์อ่องมันปูนา

โดยเริ่มขายปูตั้งแต่อายุ 2 เดือนซึ่งถือเป็นพ่อ-แม่พันธุ์รุ่น ขายราคาตัวละ 7 บาท ซึ่งบางแห่งจะซื้อไปเพื่อเลี้ยงขุนต่ออีก 3 เดือนเพื่อให้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์แล้วขายต่อในราคาที่สูง คุณต้ามีรายได้ขายพ่อ-แม่พันธุ์ตก 3-4 แสนบาท ต่อเดือน โดยใช้ปูจากฟาร์มตัวเองและเครือข่ายที่มีอยู่จำนวน 200 แห่งทั่วประเทศ

การแปรรูป

การแปรรูปปูนาเป็นผลิตภัณฑ์ถือเป็นการต่อยอดอาชีพเลี้ยงปูอีกระดับและจำเป็นต้องใช้ปูเป็นจำนวนมากเพื่อให้กระบวนการผลิตและสินค้าไม่ขาดตอน ลำพังปูในฟาร์มอาร์เธอร์ไม่เพียงพอ คุณต้าจึงไปซื้อปูนาจากหลายแหล่งที่มีกระดองใหญ่จากพ่อค้าที่ไปจับตามธรรมชาติมาเข้ากระบวนการผลิตแปรรูปคราวละ 500 กิโลกรัม

มันปูนาแท้เข้มข้น
ผลิตภัณฑ์น้ำพริกและซอสมันปูนา

โดยการแปรรูปจะจ้างวิสาหกิจชุมชนให้ชำแหละตัวปูแยกออกเป็นส่วนเพื่อส่งเข้าตามโรงงานแต่ละแห่งเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด ได้แก่ กลุ่มอาหาร อาทิ จ่อมมันปูนา น้ำพริกมันปูนา ลูกชิ้นมันปูนา ปูนาสามรส ปูนาเขย่า และข้าวเกรียบปูนา

นอกจากนั้นแล้ว ยังนำกระดองจากปูที่ตายแล้วมาสร้างมูลค่าด้วยการขายเพื่อใช้เป็นภาชนะใส่จ่อมตามร้านอาหาร ขายราคากิโลกรัมละ 300 บาท อกปูแปรรูปขายได้ตั้งแต่กิโลกรัมละ 350 บาทใช้ทำปูทอด ปูชุบแป้ง ปูสามรสหรือน้ำพริกปู หากเป็นมันปูมีร้านอาหารมารับซื้อกิโลกรัมละ 1,300 บาท

เมนูอาหารหลากหลายชนิดจากปูนา
ให้คำแนะนำลูกฟาร์มในเรื่องวิธีเลี้ยงและการจัดทำบ่อเลี้ยงที่ถูกต้อง

คุณต้ามองว่าการทำเกษตรกรรมควรปรับรูปแบบให้ทันยุคสมัย เกษตรกรควรคิดใหม่ อย่าเป็นเพียงผู้ผลิต แต่ควรเปลี่ยนทัศนคติใหม่ด้วยการเป็นผู้ขายด้วย ควรนำผลผลิตมาใส่แบรนด์เป็นสินค้าตัวเอง ทำตลาดเอง ใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่า

ไม่ว่าคุณต้องการซื้อปูนาเพื่อกินหรือเป็นตัวแทนขาย รวมถึงกำลังมองหาอาชีพใหม่ ขอให้นึกถึง “ฟาร์มปูนาอาร์เธอร์” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณอิ๊ก โทรศัพท์ (084) 659-7899 เพจ-ปูนาอาร์เธอร์ฟาร์มขอนแก่น